สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไทยจะก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้อย่างไร

ไทยจะก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้อย่างไร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การเมืองและความคิดเชิงอุดมการณ์ที่ระบาดในสังคมไทยตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาทำให้เราละเลย

เรื่องที่สำคัญขั้นพื้นฐานอื่นๆ ไปอีกหลายเรื่องอย่างน่าเสียดาย หนึ่งในเรื่องดังกล่าวคือการที่ประเทศไทยมีความเป็นไปได้สูงว่าได้ติดอยู่ในสิ่งที่หลายคนเรียกขานว่า "กับดักประเทศรายได้ปานกลาง" แล้ว และถ้ายังไม่ติดกับก็ใกล้เต็มที

อะไรคือกับดักประเทศรายได้ปานกลาง? นักวิชาการหลายคนให้นิยามเรื่องนี้ต่างกันออกไป แต่โดยสาระสำคัญคือปรากฏการณ์ที่ประเทศหนึ่งๆ สามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสามารถหลุดพ้นความยากจนได้ แต่เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางแล้ว กลับไม่สามารถก้าวต่อไปจนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง เกิดภาวะ "สุญญากาศของการพัฒนา" เพราะแนวทางแบบเดิมที่เคยใช้ได้ผลใช้ไม่ได้อีกต่อไป สิ่งที่สังเกตได้หรือ "อาการของโรค" กับดักรายได้ปานกลางนี้คือการลดลงอย่างมากของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเป็นการลดลงอย่างค่อนข้างถาวรด้วย ซึ่งประเทศไทยก็แสดงอาการนี้ เห็นได้จากรูปที่แสดงการลดลงของอัตราการขยายตัวเฉลี่ย (เฉลี่ย 11 ปี) ในระยะตั้งแต่ประมาณปี 2537-38 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

มีหลายเหตุผลว่าทำไมแนวทางการพัฒนาเดิมของไทยจึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป แต่หากกล่าวโดยสรุปคือที่ผ่านมาเราพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่มีการพัฒนา "ฐานความรู้" ควบคู่ไปด้วยอย่างที่ควรเป็น ในระยะแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวจากการเคลื่อนย้ายแรงงาน (ราคาถูก) จากภาคเกษตรมาภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งทั้งสองภาคหลังก็เป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับต้นถึงกลางเท่านั้น หากเป็นเทคโนโลยีระดับสูงขึ้นมาหน่อยก็ได้จากการซื้อหา มิใช่การคิดค้นขึ้นมาเอง แม้กระทั่งขั้นตอนแรกของการพัฒนาเทคโนโลยี คือการลอกเลียนแบบอย่างสร้างสรรค์ก็มิได้ทำอย่างเป็นระบบ การต่อยอดสู่การคิดค้นเทคโนโลยีระดับสูงของตนเองจึงไม่เกิดขึ้น ซึ่งต่างกับประเทศที่สามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากประเทศยากจนไปสู่ประเทศร่ำรวย อย่างเช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เป็นต้น

แล้วทำอย่างไรเราจึงจะพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ (และอย่างก้าวกระโดดด้วยถ้าเป็นไปได้) ได้? คำถามนี้ถ้าตอบแบบเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ก็อาจตอบได้ว่าต้องมีทั้งความต้องการ (อุปสงค์หรือดีมานด์) ต่อเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งอาจมาจากบริษัทห้างร้านที่ต้องการผลิตสินค้าเทคโนโลยี หรือกระทั่งคนทำงานที่ต้องการความรู้และทักษะขั้นสูง การตอบสนองต่ออุปสงค์นั้นประเทศต้องมีความสามารถในการจัดหา (อุปทานหรือซัพพลาย) เทคโนโลยีหรือความรู้ให้ได้ ความสามารถนี้อาจแสดงด้วยจำนวนนักวิจัย งบประมาณเพื่อการวิจัยของรัฐ อุปกรณ์และห้องวิจัย เป็นต้น

แต่การตอบแบบแยกส่วนข้างต้นไม่มีประโยชน์เท่าไร บทเรียนจากประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านเทคโนโลยีบ่งชี้ว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดคือความเป็นผู้นำ (leadership) ของผู้บริหารประเทศไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการ และผู้บริหารบริษัททั้งใหญ่และเล็กความเป็นผู้นำในเรื่องนี้คือการเห็นความสำคัญ มีความมุ่งมั่น จริงใจ ในการผลักดันประเทศหรือองค์กรให้สามารถยกระดับเทคโนโลยี (technological upgrading) ได้อย่างแท้จริง โดยต้องดำเนินนโยบายแบบบูรณาการที่ประกอบด้วยมาตรการที่หลากหลาย เช่น การปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ความรู้และเทคโนโลยี การสร้างแนวร่วมพัฒนาเทคโนโลยีระหว่างภาคส่วนต่างๆ การออกแบบนโยบายอุตสาหกรรมที่ให้คุณให้โทษชัดเจนกับบริษัทที่สร้าง/ไม่สร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การมีนโยบายระยะยาวและต่อเนื่องในการผลิตนักวิจัยชั้นยอดระดับโลก เป็นต้น

มีคำถามหนึ่งที่มักถามกันคือ หากผู้นำมีความสำคัญดังกล่าวข้างต้นแล้ว เราควรมีผู้นำที่เข้มแข็งและอยู่ในอำนาจต่อเนื่อง จนอาจเข้าข่ายผู้นำเผด็จการหรือไม่ หลายคนคงนึกถึงอดีตประธานาธิบดีปักจุงฮี ซึ่งสร้างรากฐานทางเทคโนโลยีให้ประเทศเกาหลีใต้จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีในหลายแขนงเช่นทุกวันนี้ เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่าไม่จำเป็น ด้วยสองเหตุผลคือ ประการแรกการจะมีผู้นำเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนจนฉวยโอกาสออกนโยบายพัฒนาเทคโนโลยีที่เอื้อตัวเองและพวกพ้องนั้นหาได้ยากมาก ประการที่สอง ในระบอบประชาธิปไตยเองก็สามารถมีพัฒนาการของเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องได้หากมีการสร้างระบบแรงจูงใจอย่างเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องระบุว่าใคร บริษัทไหน กลุ่มการเมืองกลุ่มใดจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากมาตรการส่งเสริม แต่ใช้ระบบประเมินผลสำเร็จที่ไม่สามารถปั้นแต่งตัวเลขได้ ตัวอย่างเช่นในกรณีเกาหลีใต้ กลุ่มบริษัทที่สามารถทำยอดส่งออกได้เท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ได้รับการส่งเสริมต่อเนื่อง น่าเสียดายว่าในกรณีของไทย ยังไม่มีระบบจูงใจที่มาพร้อมการประเมินผลอย่างเข้มงวดเช่นนี้

การจะมีระบบดังกล่าวได้ในระบบประชาธิปไตย ผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาระยะยาวเช่นนี้แทนการหวังผลประโยชน์ระยะสั้นจากการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้นักการเมืองต้องให้ความสนใจไปด้วยดังเช่นที่เป็นอยู่ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกที่มีการถกเถียงจริงจังเรื่องนโยบายเทคโนโลยีทั้งในการหาเสียงเลือกตั้งและในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาอย่างที่เมืองไทยไม่เคยเห็น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไทย ก้าวข้ามกับดัก ประเทศรายได้ปานกลาง ได้อย่างไร

view