สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำนิ กาง 4 ข้อต้องห้าม จับผิดแผนนิรโทษฉบับแดง ทักษิณ-อภิสิทธิ์-สุเทพ ไม่เกี่ยว

จากประชาชาติธุรกิจ

เมื่อวาระนิรโทษกรรม ฉบับวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ถูกส่งสัญญาณให้เดินหน้าต่อทันทีที่เปิดสภา พลอตเกมการเมืองจึงเริ่มร้อนระอุตามสถานการณ์

ฟากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ฝ่ายค้าน-เสียงข้างน้อย ประกาศเดินหน้าค้านสุดตัว สู้สุดแรง ทั้งเวทีในสภา และสนามริมถนน ผ่านเวที "ผ่าความจริง"

ที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ฝั่ง รัฐบาล-หน่วยงานความมั่นคง ออกคำสั่ง พ.ร.บ.ความมั่นคง 10 วัน ครอบคลุมพื้นที่เขตดุสิต พระนคร และป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นสัญญาณที่ประเมินแล้วว่า สถานการณ์ส่อเค้าจะรุนแรง หากกระบวนการในสภาเริ่มต้น

ท่ามกลางการเมืองที่ร้อนระอุ ท่ามกลางความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงรอบใหม่ "ประชาชาติธุรกิจ" สนทนากับ "ชำนิ ศักดิเศรษฐ์" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้าน คู่ขัดแย้งของแนวร่วมฝ่ายรัฐบาล

บรรทัดต่อจากนี้ คือคำบอกเล่า-หลักการ-เสียงค้านของ "ชำนิ" ในฐานะผู้เห็นต่าง ที่เคยผ่านประสบการณ์ "นิรโทษกรรม" มาแล้วในอดีต

- ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย แตกต่างจากเงื่อนไขนิรโทษกรรมในอดีตอย่างไร

แม้ ประเทศจะเคยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมมาแล้ว 22 ฉบับ แต่เหตุการณ์วันนี้มันไม่ใช่การเผชิญหน้าต่อสู้กันระหว่างระบอบประชาธิปไตย กับเผด็จการเหมือนในอดีต แต่มันเป็นปมความขัดแย้งระหว่างระบบการเมือง 2 ชุด ชุดแรกเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อเรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข กับอีกกลุ่มถูกนำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าระบอบทักษิณ ที่ต่อสู้ยืดเยื้อกันมากว่า 7-8 ปีที่ผ่านมา

หลังจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แม้รัฐบาลจะพยายามสร้างกระบวนการปรองดองให้เกิดขึ้น มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธานคณะกรรมาธิการปรองดอง แต่มันก็เป็นเพียงวาทกรรมอำพราง ที่ต่อยอดมาถึงการนิรโทษกรรมในวันนี้ สุดท้ายก็มีความพยายามสอดแทรกความผิดบางประเภท ที่เรามิอาจนิรโทษกรรมเข้าไปผสมปนเป จนทำให้กระบวนการมันเดินต่อไปไม่ได้

- ความผิดประเภทไหนที่ไม่เคยได้รับการนิรโทษกรรม


ขอ เริ่มต้นที่ประเภทความผิดที่เคยได้รับการนิรโทษที่เรียกว่าความผิดทางการ เมือง มีผลพวงมาจากการชุมนุม การต่อต้านรัฐ ยึดกุมสถานที่ ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน หรือฝ่าฝืนกฎหมายในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน

แต่ ในยุครัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับมีการรวบเอาความผิด 5 ประเภท เพื่อมาขอรับการนิรโทษกรรม ประกอบด้วย 1.การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2.การเผาทำลายทรัพย์สิน 3.การฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่น 4.การกระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 5.คดีที่เกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งผมยืนยันตรงนี้ว่า 4 จาก 5 ฐานความผิด ไม่เคยได้รับการนิรโทษกรรมให้มาก่อน

และเมื่อ กลับมาดูผู้ที่เสนอร่างกฎหมายเข้ามาในสภาวันนี้พบว่ามี 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่ใช่เจ้าของปัญหา แต่เสนอเรื่องเข้ามา เพราะรับงานเขาไว้ ได้แก่ ฉบับ พล.อ.สนธิ ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง (รมว.แรงงาน) และฉบับนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มเจ้าของปัญหา ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ฉบับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และฉบับนางพะเยา อัคฮาด ที่ยังไม่ได้เสนอเป็นร่างกฎหมาย ส่วนกลุ่มสุดท้ายก็เป็นประเภทอยากออกทีวี ก็ของนายนิยม วรปัญญา ส.ส.เพื่อไทย ผมขอเรียนว่า ทั้ง 3 กลุ่มที่ผมจำแนกประเภทให้เห็น ต่างก็ไม่มีหน้าที่ในการเสนอกฎหมายตามหลักการนิรโทษกรรม เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของรัฐ

- ทำไมกระบวนการควรเริ่มต้นจากรัฐ

ความ ผิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นวันนี้ ไม่ใช่ความผิดประเภทบุคคล แต่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นต่อรัฐ ดังนั้น รัฐบาลในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร ก็ต้องเข้ามาเจ้าภาพ หรือเป็นตัวกลางในการเริ่มต้นกระบวนการ แต่เราก็ต้องยอมรับว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีเธอยังทำตัวประเภทที่เรียกว่า หนูไม่รู้ หนูไม่เกี่ยว ทั้งที่หน้าที่นี้ ควรจะเป็นปัญหาของเธอ

ที่ ผ่านมามีความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า กระบวนการนิรโทษกรรมจะช่วยแค่ผู้ชุมนุม ไม่เกี่ยวกับพวกแกนนำ แต่ในฐานะคนที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้มาแล้ว ไม่เคยมีครั้งใดที่เรามานั่งแยกว่าใครเป็นแกนนำหรือผู้ชุมนุม ทุกครั้งที่เราทำก็เพียงแต่คุยกันว่า ความผิดแบบไหนจะได้รับการนิรโทษบ้าง ถ้าเห็นควรว่าได้ก็ต้องได้ทุกคน แต่ถ้าเห็นควรว่าไม่ได้ก็ต้องไม่ได้ทุกคน นี่คือความเป็นจริง

- นิรโทษกรรมประชาชน ไม่เกี่ยวกับแกนนำ ก็เป็นสิ่งที่ ปชป.เห็นด้วยมาตลอด

นั่น เป็นแค่คำอธิบาย แต่ข้อเท็จจริงของการทำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มันต้องชัดเจนว่า ความผิดแบบไหนได้รับผลพวงบ้าง ไม่อย่างนั้นจะถูกตีความขยายผลอีก และมาถึงวันนี้สิ่งที่ ปชป.ยืนยัน คือเราไม่คัดค้านกระบวนการนิรโทษกรรม แต่สิ่งที่เราคัดค้าน คือประเภทความผิดที่ควรได้รับนิรโทษกรรมต่างหาก และที่เรียกร้องเพิ่มเติม ก็คือควรจะต้องถอนร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกไปให้หมด แล้วไปเริ่มต้นกันใหม่ที่รัฐ นั่นคือวิธีการที่ถูกต้อง

และตราบใดที่ เราไม่จำแนกประเภทความผิดกันให้ชัด ผมเชื่อว่าคุณทักษิณก็ยังจับคนเสื้อแดงเป็นตัวประกันต่อไป เพื่อให้ตัวเองไปด้วยกัน อย่างนี้ผมคิดว่าไม่ได้ประโยชน์

- จะอธิบายความผิดบางประเภทที่ควรได้รับนิรโทษกรรมอย่างไร เมื่อเหตุการณ์ในอดีตของคนเดือนตุลาฯ และพฤษภาทมิฬ ต่างก็มีความวุ่นวายประเภทเผาทำลายเกิดขึ้นเช่นกัน


นี่คือสิ่งหนึ่ง ที่มีคนพยายามลากมาเป็นเคสตัวอย่างในยุคนี้ ในอดีตที่มีความรุนแรง หรือการเผาทำลายเกิดขึ้น มันเป็นความต่อเนื่องมาจากการชุมนุม ผมยกตัวอย่างเหตุการณ์ 14 ต.ค.นักศึกษาเดินขบวนที่อนุสาวรีย์ฯ ขณะเดียวก็เกิดเหตุไฟไหม้ที่สำนักงานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการ ปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) แบบนี้มันเป็นผลพวงต่อเนื่องกัน ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ มีการปลุกระดมให้เผา หรือสั่งให้ขนน้ำมันกันเข้าไปเผาเหมือนในยุคนี้ ที่ผมมองว่านั่นคือความตั้งใจและจงใจทำลายทรัพย์สิน

แน่นอนว่าความ ผิดทางการเมืองที่เกิดขึ้นต้องได้รับการนิรโทษกรรม แต่ถ้าวันนี้เรายังเถียงกันอยู่ว่าใครผิดหรือไม่ผิด ไม่มีใครยอมรับเสียที ทุกอย่างมันก็เดินหน้าไม่ได้หรอก

- แต่ ปชป.เองก็ไม่เคยยอมรับผิด

(สวน ทันที) จะว่าอย่างไรก็ได้ แต่ผมไม่เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของเรา มันไม่มีทางเลย ที่รัฐจะไปออกคำสั่งให้ใครทำอย่างนั้น รัฐเพียงแต่ประกาศใช้อำนาจตามสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งคนสั่งคือนายกรัฐมนตรี และผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง ผู้บังคับใช้กฎหมาย ก็คือรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง

มันไม่มีทางหรอกครับ ที่รัฐจะไปสั่งให้ไปยิงใคร นั่นมันจ้างวานฆ่านะครับ แม้ตอนนี้จะมีคนพยายามใช้วาทกรรมนี้ปลุกระดมว่า ปชป.จ้างวานฆ่าก็ตาม แต่เอาเข้าจริง เราไม่ได้หวาดหวั่นต่อเรื่องคดีสั่งหรือไม่สั่งอะไรแบบนี้เท่าไร

- หมายความว่าคุณอภิสิทธ์ (เวชชาชีวะ) และคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ไม่ได้อยู่เงื่อนไขนิรโทษกรรมตั้งแต่ต้น

(สวน ทันที) ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขแน่นอน และไม่เกี่ยวข้องอะไรกับกระบวนการนิรโทษกรรมแน่นอน เพียงแต่ว่าหลังเหตุการณ์ความวุ่นวาย มีคนมาแจ้งความ กล่าวหาถึงคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพ ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย สอบสวนสืบสวนกันไป แต่ประเด็นนี้ พรรคไม่เคยคิดว่าพวกเขาจะถูกจับ หรือต้องได้รับการนิรโทษกรรมด้วยซ้ำ

ส่วนคุณทักษิณเอง ตลอด 7 ปีที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ก็ชัดเจนแล้วว่าเป็นเพราะผลพวงจากคดีทุจริตที่ศาลได้ตัดสินไปแล้ว ไม่ได้เป็นเพราะคดีการเมืองอย่างที่เข้าใจ ฉะนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการนิรโทษกรรมตามเงื่อนไข

l หลักการแบบนี้อาจถูกขยายผลไปถึงคนเสื้อแดงว่าเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ยอมยุติความขัดแย้งเสียเอง

ยืน ยันว่าการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่เป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ปชป.ไม่เคยปฏิเสธ หรือคัดค้าน จะเห็นว่าการชุมนุมในสมัยที่เราเป็นรัฐบาล ไม่เคยมุ่งร้ายต่อประชาชน เพียงแต่เมื่อสถานการณ์มันต่อเนื่อง กระทั่งพื้นที่
ราชประสงค์ถูกยกระดับเป็นศูนย์กลางสงคราม เหตุการณ์จึงบานปลายจนถึงวันนี้

ผมเป็นหนึ่งใน 3 ของตัวแทนรัฐบาล ที่เปิดโต๊ะเจรจาออกทีวีวันนั้น ผมยืนยันได้เลยว่า ทางเราได้คุยกับแกนนำคนเสื้อ แดงทั้ง 3 คน และตกลงยุติปัญหาตั้งแต่การเจรจานอกรอบแล้ว เงื่อนไขคือยุบสภาทันที แต่มีประเด็นนิดเดียวครับ ถ้าจบแบบนั้น บางคนที่อยู่ต่างประเทศจะไม่ได้อะไรเลย และนั่นคือต้นเหตุที่ทำให้ทุกอย่างไม่จบ ที่สุดก็บานปลายอย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว

- ในสภา ปชป. จะสู้เสียงข้างมากอย่างไร

สำหรับ ปชป.คงทำอย่างอื่นมากไปกว่าการทำหน้าที่ในสภาไม่ได้ แต่อาจแสดงความเห็นต่อประชาชนได้ ส่วนการแสดงออกถึงการคัดค้านของประชาชน นั่นเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญที่เขากระทำได้

ส่วนหน้าที่ในสภาก็ควรเป็นที่ประจักษ์กันอยู่แล้ว เราก็ต้องคัดค้านและแสดงจุดยืนเหมือนที่เราทำในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ผม เชื่อว่าความขัดแย้งครั้งนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างคนไทยกับคนไทย มันไม่มีทางออกเป็นอย่างอื่นหรอกครับ มันต้องประนีประนอมกัน ผู้ที่ถืออำนาจต้องไม่คิดว่าจะได้ประโยชน์ทั้งหมด มันอาจจะได้ครึ่งเสียครึ่งก็ต้องยอมกัน ไม่อย่างนั้นประเทศไม่มีทางออก

ถาม ว่าทำไมกระบวนการนิรโทษกรรมครั้งนี้ถึงยืดเยื้อยาวนานกว่า 22 ฉบับที่เคยเกิดขึ้น นั่นเป็นเพราะเงื่อนไขของความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ มันไม่ยุติ มันมีคำถามนิดเดียวเองครับ ว่าทำไมคุณทักษิณถึงยังกลับประเทศไม่ได้ ทั้งที่วันนี้เป็นทั้งเจ้าของรัฐบาล เป็นเจ้าของพรรคการเมืองที่เป็นเสียงข้างมากในสภา นั่นเพราะเขามีความผิดต่อรัฐที่ยังติดตัวอยู่ และคดีทุจริตรัฐก็ต้องจัดการแน่ เมื่อเขากลับมา

- สรุปว่านิรโทษกรรมฉบับที่ 23 ยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในรัฐบาลยุคนี้หรือไม่

ผม ว่าความพยายามคงมีอยู่แล้ว แต่เมื่อผ่านกระบวนการตามรูปแบบที่ว่านี้ หากทำไม่เสร็จก็ไปเลือกตั้งใหม่ และผมคิดว่าประเทศไทยอย่าไปกังวลเลยจะช้าหรือเร็วก็ต้องมีการเลือกตั้งแน่ นอน แต่ในอนาคตเสียงข้างมากมันอยู่เพื่อปกป้องผลประโยชน์คนทั้งประเทศ ไม่ใช่เพื่อพวกพ้องตนเอง

ตราบใดที่รัฐยังถือธงแบบนี้ แม้แต่การแก้รัฐธรรมนูญวันนี้ก็ไม่ได้มุ่งไปเพื่อสร้างประชาธิปไตย คนเขาจับทางได้ว่าต้องการแก้ไขเพื่อล้างกับดักที่ตนติดอยู่ ถ้ายังทำแบบนี้ ความขัดแย้งก็ยังไม่มีวันจบสิ้น และ ปชป.ก็ไม่มีที่จะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น นอกเสียจากการเป็นพรรคฝ่ายค้าน และเป็นพรรคคู่แข่งอย่างนี้ต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ชำนิ ข้อต้องห้าม จับผิด แผนนิรโทษฉบับแดง ทักษิณ อภิสิทธิ์ สุเทพ ไม่เกี่ยว

view