สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กสม.ชี้ชัด นปช.ชุมนุมเกินขอบเขต รธน.ใช้เด็ก-สตรีโล่มนุษย์ อภิสิทธิ์ บกพร่องดูแลประชาชน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

กสม.ได้ฤกษ์เปิดรายงานสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 53 ชี้ นปช.ชุมนุมเกินขอบเขต รธน.พกอาวุธ ไม่เป็นไปโดยสงบ ใช้เด็ก สตรี เป็นโล่มนุษย์ ไม่เหมาะสม ละเมิดหลักมุนษยธรรมกรณีบุก รพ.จุฬาฯ เผยมีชายชุดดำจริง ส่วน 6 ศพวัดปทุมฯ ฝีมือ จนท.รัฐ ด้านรัฐมีความผิดฐานละเลยไม่ดูแลคุ้มครอง ปชช.ขาดมาตรการรับมือม็อบอย่างรอบคอบ เผยอุปสรรคการสอบสวน พยานไม่อยากเปิดปาก
       
       คลิกที่นี่ เพื่ออ่านรายงานผลการตรวจสอบ เพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 (92 หน้า)

       วันนี้ (8 ส.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.ที่มี นางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน ได้มีการเผยแพร่ผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายกรณีเหตุการณ์การ ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. 53 - 19 พ.ค. 53 หลังใช้เวลาการตรวจสอบเกือบ 2 ปี โดยรายงานดังกล่าวมีทั้งสิ้น 92 หน้า เนื้อหาแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.ความเป็นมา 2.บทบาท อำนาจ หน้าที่ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน ข้อจำกัดในการทำงาน 3.รัฐธรรมนูญ กฎหมายไทย พันธกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งประกาศ ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง 4.การดำเนินการตรวจสอบ พร้อมความเห็นในแต่ละเหตุการณ์ 5.บทสรุป และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
       
       ทั้งนี้ สาระสำคัญของรายงานดังกล่าว อยู่ในส่วนที่ 4 การดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในแต่ละเหตุการณ์ พร้อมความเห็นใน 8 กรณี คือ 1.กรณีสถานการณ์ก่อนวันที่ 7 เม.ย. 2553 ที่กลุ่ม นปช.ได้มีการเคลื่อนขบวนออกจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปยังสถานีดาวเทียมไทยคม ปิดล้อมและบุกเข้าอาคารรัฐสภา กสม.เห็นว่าการชุมนุมของ นปช.ตั้งแต่วันที่ 12-16 มี.ค. 53 เป็นการชุมนุมโดยสงบ อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีการขยายพื้นที่ชุมนุม มีการเคลื่อนตัวไปยังบริเวณราชประสงค์ พร้อมแสดงแนวโน้มการชุมนุมที่ไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด ความเดือดร้อนปรากฏโดยทั่วเป็นเวลาเนิ่นนานเกินความจำเป็น ส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การใช้กำลังความรุนแรงเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการตาม ข้อเรียกร้อง การชุมนุมดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการชุมนุมที่อยู่นอกเหนือขอบเขตที่รัฐ ธรรมนูญให้การรับรองคุ้มครองไว้
       
       2.กรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุก เฉิน หรือ ศอฉ.ในวันที่ 7 เม.ย. 2553 และกรณี ศอฉ.สั่งระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีเพิล แชนแนล และสั่งระวังการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเทอร์เน็ตบางส่วน กสม.เห็นว่าภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ได้เกิดเหตุหลายครั้ง โดยเฉพาะการระเบิดสถานที่สำคัญหลายแห่ง ตลอดเดือนมีนาคม ไปถึง เดือนเมษายน 35 อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข เป็นเหตุให้รัฐต้องขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคง ออกไปอีก 2 ช่วง และกลุ่ม นปช.เริ่มขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังบริเวณราชประสงค์ และพื้นที่ต่างๆ จึงเห็นว่าการที่นายกฯโดยความเห็นชอบของ ครม.ใช้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขต กทม.และจังหวัดใกล้เคียง พร้อมออกประกาศคำสั่งต่างๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเป็นกากรระทำที่อยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ และเมื่อพิจารณาเจตนารมณ์การใช้มาตรการดังกล่าวก่อให้เกิดผลต่อประโยชน์ส่วน รวมมากกว่าผลกระทบที่มีต่อบุคคลที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ จึงถือว่าเป็นความจำเป็นที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นการใช้อำนาจตามขอบเขตที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สามารถทำได้
       
       ส่วนการสั่งระงับการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์พีเพิล แชนแนล และสั่งระงับสื่อสิ่งพิมพ์และอินเทอร์เน็ต นั้น เห็นว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของสื่อ อยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้ไว้ โดยก่อนหน้าที่จะมีการสั่งระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวได้มีการ เผยแพร่สัญญาณ ภาพ เสียง การชุมนุมของกลุ่ม นปช.มาก่อนที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ลักษณะการถ่ายทอด การปราศรัยของแกนนำเป็นการยั่วยุปลุกระดมมวลชนให้ก่อความไม่สงบในบ้านเมือง ซึ่งรัฐไม่ได้มีมาตรการใดๆ เพื่อระงับเหตุหรือแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว จึงถือว่ารัฐมีความบกพร่องในการควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขาดการวางแผนที่ดีพอ และป้องกันแก้ไขสถานการณ์ ส่วนการปิดเว็บไซต์และสื่อสิ่งพิมพ์นั้น เห็นว่าเป็นการกระทำละเมิดเสรีภาพในการเสนอข่าว หรือแสดงความคิดเห็นของบุคคลหรือสื่อมวลชนเกินกรณีจำเป็น เพราะแม้รัฐจะใช้วิธีการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเขาถึงข้อมูล แต่ไม่ถึงขั้นปิดกิจการสื่อมวลชน แต่รัฐก็ไม่มีการแยกแยะเนื้อหาสาระว่าเนื้อหาใดในเว็บไซต์มีผลกระทบหรือไม่ กระทบต่อความมั่นคง ทำให้ข้อมูลบางส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องถูกปิดกั้นไปด้วย แม้เมื่อมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว บางเว็บไซต์ยังถูกปิดกั้นอยู่
       
       3.กรณีการชุมนุมและการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับ นปช.เห็นว่าการชุมนุมของ นปช.เป็นการชุมนุมเกินขอบเขต แสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่ใช่วิธีการปกติ เช่น บุกยึดรัฐสภา ปิดถนน ค้นรถประชาชน ขู่ บุก ยึดและเผาศาลากลางจังหวัด และมีการปรากฏตัวของชายชุดดำฉวยโอกาสทำให้สถานการณ์วุ่นวายด้วยการใช้อาวุธ สงคราม เครื่องยิงระเบิด มีคนบาดเจ็บล้มตาย ทรัพย์สินราชการเสียหาย ซึ่งแกนนำมีหน้าที่ต้องระมัดระวัง ป้องกันไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาแทรกแซงใช้ความรุนแรง เพื่อให้การชุมนุมกลายเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ ลุกลามไปสู่ความรุนแรง แต่กลับพบว่ามีการใช้อาวุธสงครามที่ร้ายแรง และจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถาการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการใช้และปิดกั้นพื้นที่เป็นการกระทำที่เกินกว่าความจำเป็น จึงถือเป็นการใช้สิทธิเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญประกาศไว้ และในบางสถานที่มีการใช้เด็ก สตรี เป็นโล่มนุษย์ เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ขาดความระมัดระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก สตรี จึงเห็นว่าเป็นการกระทำที่อยู่นอกเหนือที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ส่วนการสลายการชุมนุม การสั่งยุติการชุมนุม การขอคืนพื้นที่ของรัฐนั้น เบื้องต้นรัฐบาลได้ดำเนินการตามที่ประกาศไว้ก่อนที่จะมีการรุกคืบเข้าปิด ล้อมพื้นที่ โดยใช้การเจรจาประกาศเตือน ใช้มาตรการที่ประกาศไว้ คือ โล่ กระบอง น้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายกำหนดไว้
       
       แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการที่กลุ่ม ชุมนุมใช้เด็ก สตรี เป็นโล่มนุษย์ ใช้ไม้ปลายแหลม ก้อนอิฐตัวหนอน โดยพยานยืนยันว่าผู้ชุมนุมใช้อาวุธปืนทำการต่อต้านการปฏิบัติงานของเจ้า หน้าที่รัฐ มีกลุ่มชายชุดดำที่มีอาวุธพร้อมใช้ความรุนแรงได้ตลอดเวลาปะปนอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ทหารจึงมีความจำเป็นป้องกันตนเอง และผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายที่จะเกิดขึ้น โดยไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นได้ แต่แม้จะรับฟังได้ว่าเป็นการป้องกันตนเองและบุคคลอื่นให้พ้นจากภยันตรายต่อ ชีวิตและร่างกาย และป้องกันไม่ให้เกิดความผิดอาญาร้ายแรงเพื่อกระทำการจับกุมผู้กระทำอันตราย หรือต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานก็ตาม แต่ต้องไม่ทำเกินกว่าเหตุ นอกเสียจากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นแทนได้ แต่การกระทำที่เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตจำนวนมาก การกระทำของรัฐจึงเป็นการกระทำโดยประมาท ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดที่รับไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ และเมื่อรัฐมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขประชาชน ตามรัฐธรรมนูญและกกหมายอื่นจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากความ ประมาณนั้น ตลอดจนดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามความเหมาะสมแก่ผู้ที่ได้รับความ สูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวให้ครบถ้วน ทั่วถึงอย่างแท้จริง ทั้งในส่วนผู้ชุมนุมเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนบาดเจ็บเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ที่เป็นผลมาจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งรัฐมีหน้าที่ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม
       
       นอกจากนี้เหตุระเบิดในที่ชุมนุมในพื้นที่เขตทหาร ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงจากภาพและพยานว่ามีการชี้เป้าก่อนนั้น แสดงให้เห็นว่ามีการวางแผนเพื่อฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ในที่ประชุมใน วันนั้นเป็นผลให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และสิบโทภูริวัฒน์ ประพันธ์ ถึงแก่ความตาย เป็นการกระทำผิดอาญาฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งรัฐจะต้องดำเนินการหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ รวมถึงสอบสวนหาที่มาของอาวุธร้ายแรงต่างๆ ที่ใช้ในการชุมนุมเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่น สำนักข่าวรอยเตอร์ กสม.ไม่ได้มีการวินิจฉัย เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับไปสอบสวนแล้ว เช่นเดียวกับกรณีการเสียชีวิตของกลุ่ม นปช.ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย อย่างไรก็ตามกรณีชายชุดดำ กรณีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้สื่อข่าว และประชาชนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทุกราย รวมถึงผู้ได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินได้รับความเสียหายรัฐโดยหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องต้องใช้หลักวิชาตามกำลังความรู้ ความสามารถอย่างเต็มที่ไม่เลือกปฏิบัติ โดยควรดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้สังคมได้รับรู้ พร้อมลงโทษคนผิดตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำมาซึ่งความเป็นธรรมให้สังคม
       
       4.กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตจากการยิงระเบิดเอ็ม 79 ที่แยกศาลาแดงวันที่ 22 เม.ย.53 ซึ่งในจำนวนนี้มี พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง รวมอยู่ด้วย เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติดูแลความสงบเรียบ ร้อยในพื้นที่บริเวณศาลาแดง แต่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรง จนเกิดเหตุยิ่งลูกระเบิดเอ็ม 79 จนมีผู้เสียชีวิตนั้นเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่โดยรัฐและเจ้าหน้าที่ฝ่าย ปฏิบัติไม่มีการวางแผนที่ดีพอในการรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และมีลักษณะที่อาจทำให้ถูกมองได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งถือได้ว่ารัฐและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติเหตุการณ์ละเลยการละเมิด สิทธิมนุยชน ซึ่งรัฐบาลควรดำเนินการป้องกันสิทธิของประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ให้มากกว่านี้ โดยจากเหตุความรุนแรงดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 100 คน ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีหน้าที่ต้องสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีและรับโทษตามกฎหมาย
       
       ส่วนการชุมนุมของผู้ชุมนุมที่ใช้สิทธิเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไว้หรือไม่ เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีพยานหลักฐานแสดงให้เชื่อได้ว่าการชุมนุมของ กลุ่ม นปช.เป็นการชุมนุมให้เกิดผลความรุนแรง บาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย โดยในคืนวันที่ 22 เม.ย. 53 มีพยานบุคคลที่เห็นว่าลูกระเบิดเอ็ม 79 ถูกยิงมาจากทิศทางและบริเวณที่กลุ่ม นปช.ใช้เป็นที่ชุมนุม และยังมีพยานบุคคลได้ยินแกนนำกลุ่ม นปช.ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงในทำนองที่ทำให้เข้าใจได้ว่าแกนนำของกลุ่ม นปช.รับรู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะมีเหตุการณ์อันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตเกิดขึ้นใน บริเวณดังกล่าวในช่วงระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งภายหลังปรากฏว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการจับกุม นายเจมส์ สิงห์สิทธิ์ คนสนิท ของ เสธ.แดง โดยที่คดีดังกล่าวนายเจมส์ไม่รับสารภาพ และคดียังอยู่ระหว่างศาลอาญา จึงเห็นได้ว่าในเหตุการณ์นี้การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่แยกศาลาแดง มีการกระทำ ร่วมมือ ให้การสนับสนุนให้มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในชีวิต ร่างกาย และสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพต่อบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้ ในรัฐธรรมนูญ การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ในเหตุการณ์นี้จึงเป็นการชุมนุมที่เกินกว่าสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ ให้การรับรอง เพราะไม่ได้เป็นการชุมนุมที่สงบปราศจากอาวุธ ทั้งยังเป็นการชุมนุมที่มีการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายประการ ตลอดจนผลของความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้ถือได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มนปช.มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษย ชนของบุคคลอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม
       
       5.กรณีผู้ได้รับการบาดเจ็บเสียชีวิต บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติวันที่ 28 เม.ย. 53 เห็นว่า การที่รัฐใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารสกัดกั้นขบวนของกลุ่ม นปช.ที่เคลื่อนขบวนจากสี่แยกราชประสงค์เพื่อไปรวมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.ที่ตลาดไท แม้ ศอฉ.จะชี้แจงว่าเป็นการกระทำที่กฎหมายให้อำนาจไว้ โดยมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการดำเนินการใช้กฎหมายแบบเบาไปหาหนักก็ตาม แต่ผลการปะทะกันระหว่าง นปช.กับเจ้าหน้าที่ทหารในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 ราย จากอาวุธปืน ประชาชน 16 ราย และทหารอีก 3 นายได้รับบาดเจ็บ ก็ถือเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
       
       ส่วนกรณีการเสียชีวิตของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ นั้น เมื่อกรณีเป็นการไตร่สวนในชั้นศาลแล้วว่า พลทหารณรงค์ฤทธิ์ ถูกยิงด้วยกระสุปืนความเร็วสูงที่ยิงจากอาวุธของทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ในขณะนั้น โดยผลของกระสุนปืนทำลายเนื้อเยื่อสมองเป็นเหตุให้ถึงความตาย กสม.จึงไม่อาจก้าวล่วงไปในประเด็นนี้ นอกจากนี้ความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นความผิดกฎหมายอาญาที่รัฐ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต้องสืบสวนหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษและรัฐต้องดำเนินการเยียวยาผู้เสียหาย จากเหตุการณ์ดังกล่าวต่อไป
       
       6.กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.บริเวณรอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และการเข้าไปค้นโรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553 กสม.เห็นว่า จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เป็นพยานกลางไม่มีส่วนได้เสียในการชุมนุม เรียกร้องของกลุ่ม นปช.ระบุว่า กลุ่ม นปช.มีการขยายพื้นที่การชุมนุมจากแยกราชประสงค์ มาถึงถนนราชดำริ บริเวณสวนลุมพินี และข้างโรงพยาบาลจุฬาฯ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ได้รับผลกระทบ ต่อมามีการตรวจค้นกระเป๋าผู้ที่เดินทางเข้าออกของโรงพยาบาล มีการใช้พื้นที่ด้านหน้าตึก ภปร.เพื่อชุมนุมในเวลาค่ำคืน เป็นเหตุให้โรงพยาบาลต้องย้ายผู้ป่วยออกจากอาคาร ภปร.และอาคาร สก.ดังนั้นการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ในบริเวณที่ติดกับโรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมที่มีขอบข่ายกว้างขวางเกินควร ทั้งที่ย่อมเล็งเห็นอยู่แล้วว่าการชุมนุมจะเป็นการรบกวนความเป็นอยู่และอาจ ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วย อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพ ในชีวิตและร่างกาย สิทธิในการรับการบริการจากสาธารณสุข สร้างความหวาดกลัวความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการเดินทาง และปฏิบัติหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ช่วยเหลือชีวิตของผู้อื่น อันเป็นการละเมิดหลักมนุษยธรรมด้วย
       
       ขณะที่เมื่อผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช.บางส่วนบุกเข้าไปในโรงพยาบาล ก็ถือว่าเป็นสิทธิและเสรีภาพในลักษณะก้าวล่วงบุคคลอื่น ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ซึ่งการที่รัฐปล่อยให้ผู้ชุมนุมเข้าไปก่อความเดือดร้อนภายในโรงพยาบาล ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ถือได้ว่ารัฐละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย โดยการที่กลุ่ม นปช.ภายใต้การนำของ นายพายัพ ปั้นเกตุ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นพ.เหวง โตจิราการ ที่ได้ขอเข้าไปตรวจค้นภายในโรงพยาบาล โดยอ้างว่ามีกลุ่มทหารซ่อนตัวอยู่ในอาคาร ภปร.ทั้งที่ผู้บริหารโรงพยาบาลได้พยายามชี้แจงยืนยันแล้วว่าไม่มีกลุ่มทหาร มาแอบซ่อนตัวแต่อย่างใด และเมื่อได้เข้าไปตรวจค้นก็ไม่มีการปฏิบัติการตามที่ได้ตกลงกันไว้ การตรวจค้นมีการทำลายประตูกระจก จนอาคาร สก.ได้รับความเสียหาย เพราะฉะนั้นการกระทำของ นปช.มีลักษณะร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการในยามวิกาล ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินราชการที่ใช้ และมีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งเมื่อผู้บริหารโรงพยาบาลไม่มั่นใจในความปลอดภัยของผู้ป่วย จนต้องมีการย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นนั้น การกระทำของ นปช.ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่เคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น อีกทั้งยังเป็นการละเมิดต่อหลักมนุษยธรรมที่เป็นกติกาสากลที่สังคมอารยะพึง ยึดถือ เพราะแม้ในยามสงครามหรือมีความขัดแย้งระหว่างประเทศ โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ต้องได้รับการคุ้มครองจากทุกฝ่ายให้มีความปลอดภัย สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามหลักมนุษยธรรมได้ โดยทุกฝ่ายยังต้องเคารพเครื่องหมายกาชาดที่เป็นสัญลักษณ์สากล อันหมายถึงการช่วยเหลือด้านการแพทย์ และมนุษยธรรมอย่างเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ การกระทำของกลุ่ม นปช.ในกรณีนี้จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและยังควรมีการสืบสวนตาม กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไป
       
       7.กรณีการเกิดเหตุจลาจล ปะทะ และทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชนระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค. 2553 กสม.เห็นว่าการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของกลุ่ม นปช.บางส่วนเป็นเหตุที่สามารถส่งผลโดยตรง หรือโดยอ้อมให้เกิดการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ และทรัพย์สินราชการและเอกชนให้เสียหาย เห็นได้ชัดว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ ใช้อาวุธโดยข้อเท็จจริงปรากฏมีบุคคลใช้อาวุธยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ททหารเป็น ระยะ แม้ปัจจุบันยังไม่อาจพิสูจน์ได้แน่ชัดว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นฝ่ายใด แต่ลักษณะของการใช้อาวุธเป็นการกระทำต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ของการชุมนุม ซึ่งผลของการชุมนุมได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตร่างกาย และการประกอบอาชีพ ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลอื่น การใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
       
       ส่วนมาตรการต่างๆ ของรัฐที่ใช้ในการกระชับพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์และพื้นที่โดยรอบ ซึ่ง ศอฉ.อ้างว่ามีความมุ่งหมายเพื่อจำกัดพื้นที่การชุมนุม และปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่อาจถูกคุกคามต่อชีวิต เห็นว่าการที่รัฐใช้อำนาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเป็นการใช้อำนาจตามบท บัญญัติตามกฎหมายเฉพาะกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 63 บัญญัติให้กระทำได้ แต่เมื่อมีผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานดังกล่าวของรัฐ รัฐย่อมมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเยียวยา ส่วนประเด็นสิทธิในทรัพย์สินนั้นจากข้อเท็จจริงที่มีการเผาอาคาร สถานที่ต่างๆ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่มีพยานยืนยันว่าเกิดการปะทะกันระหว่างพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้าง และการ์ด นปช.และชายชุดดำ แล้วจึงเกิดการเผาห้าง การเข้าไปลักทรัพย์ในศูนย์การค้าดังกล่าว การเผาและทำลายทรัพย์สินดังกล่าวเป็นลักษณะการกระทำที่แกนนำเคยปราศรัยยั่ว ยุกับผู้ชุมนุมก่อนหน้านี้แล้ว และต่อมาพฤติกรรมการเผาทรัพย์สินขยายวงกว้างไปสู่การเผาทรัพย์สินไปหลาย จังหวัด แสดงให้เห็นว่าการกระทำของกลุ่ม นปช.ในกรณีนี้เป็นการละเมิดสิทธิทรัพย์สินผู้อื่น
       
       อย่างไรก็ตามสำหรับความมีอยู่จริงของชายชุดดำนั้น มีพยาน 5 คน ให้การสอดคล้องต้องกันว่ามีกลุ่มชายชุดดำอยู่ในพื้นที่ชุมนุมจริง โดยพยานบุคคลรายหนึ่งให้ข้อเท็จจริงว่ากลุ่มผู้ชุมนุม รวมถึงกลุ่มชายชุดดำจะมีการติดต่อสื่อสารกันโดยใช้วิทยุคลื่นความถี่ต่ำ มีการส่งเสบียงอาหาร รวมถึงยางรถยนต์ที่จะทำมาใช้เป็นบังเกอร์ และเชื้อไฟ มีการว่าจ้างให้เยาวชนจากนอกพื้นที่เป็นผู้เผายางรถยนต์และยิงพลุ สังเกตแล้วเห็นได้ชัดว่ามีการวางแผนการทำงานเป็นอย่างดี นอกจากนี้พยานบุคคลอีกรายให้ข้อเท็จจริงว่าก่อนเกิดเหตุเผาห้างเซ็นทรัล เวิลด์นั้น ปรากฏมีการปะทะกันระหว่างพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างกับกลุ่มชายชุดดำ โดยมีการโยนระเบิดเข้าไปในกลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัยด้วย
       
       8.กรณีมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บบริเวณวัดปทุมวนาราม ภายหลังจากแกนำกลุ่ม นปช.ประกาศยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจากลักษณะทิศทางของกระสุนที่ปรากฏบนศพบางศพในจำนวน 6 ศพ ที่เสียชีวิตบริเวณนี้ มีลักษณะถูกยิงจากบนลงล่าง น่าจะสันนิษฐานได้ว่าผู้ยิงอยู่ในตำแหน่งสูงกว่า เมื่อปรากฏเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า หน้าวัดปทุมวนาราม รวมถึงภาพถ่ายร่องรอยกระสุนปืนบนรถยนต์ และพื้นถนนภายในวัด จึงน่าเชื่อได้ว่าความเสียหายกรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น ส่วนหนึ่งย่อมเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ปฏิบัติการกระชับพื้นที่ในที่เกิดเหตุบริเวณวัดปทุมฯในบริเวณดังกล่าว
       
       ดังนั้นเมื่อมาตรการที่รัฐกำหนดปฏิบัติเป็นกรณีจำเป็นสมควรตามกฎหมาย แต่เมื่อปฏิบัติแล้วเกิดความเสียหายขึ้น และความเสียหายส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของรัฐ จึงถือว่าการดำเนินการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพต่อร่างกาย ซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการประกันและคุ้มครองดูแล แต่กลับไม่สามารถมีมาตรการ หรือใช้วิธีการในการประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลได้ รัฐบาลจึงไม่อาจปฏิเสธการที่จะเยียวยาความเสียหายที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้รัฐยังมีหน้าที่ในการที่จะสอบสวนหาข้อเท็จจริง และผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรับผู้ใดผู้หนึ่งหรือไม่ที่ได้กระทำเกิน ขอบเขตของมาตรการที่รัฐ โดย ศอฉ.กำหนดไว้ ส่วนการดำเนินคดีกรณีเสียชีวิต 6 ศพในวัดปทุมฯนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย ซึ่ง กสม.ไม่อาจไปก้างล่วงมีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้ได้
       
       บทสรุป คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่า จากเหตุการณ์การชุมนุมที่ผ่านมา จะต้องพิจารณาและสร้างบทเรียนให้สังคมได้รับทราบและเข้าใจคือ
       
       1.ผู้จัดการชุมนุมต้องสร้างเจตจำนงร่วมกันในการชุมนุมโดยสงบสันติ และดูแลให้มีอุดมการณ์ที่ถูกต้องในการรักษาระบอบประชาธิปไตย เพราะเห็นได้ชัดว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นในระยะต้นแกนนำจะสามารถควบคุมฝูงชน ได้ แต่ในระยะหลังมีการแยกกันดำเนินการจนแกนนำไม่สามารถควบคุมได้จนเป็นเหตุให้ รัฐบาลใช้เป็นเหตุผลในการควบคุมสถานการณ์ได้
       
       2.ผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุมต้องมีหน้าที่ร่วมกัน ทำให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ยึดแนวทางสันติวิธีและเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่ปลุกระดม หรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
       
       3.ผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุมต้องชุมนุมในลักษณะที่ไม่ก่อให้ เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั่วไป หรือให้เกิดน้อยที่สุด และจะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการชุมนุมด้วย อาทิ การชุมนุมของคนเสื้อแดงบริเวณสี่แยกราชประสงค์ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ จนก่อให้กระทบกับประชาชนในพื้นที่ทั้งในเรื่องการประกอบอาชีพและความเป็น อยู่ส่วนตัว
       
       ในส่วนของภาครัฐนั้นรัฐจะต้องดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบ เรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพของประชาชนทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงกรอบกฎหมาย มาตรฐานสากล รวมถึงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ นอกจากนี้รัฐควรหลีกเลี่ยงการประกาศใข้กฎหมายพิเศษเพื่อดูแลความสงบและความ เรียบร้อยในการชุมนุม เพราะไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลสถานการณ์การชุมนุมได้อย่างมี ประสิทธิภาพ รัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการกฎหมายที่เหมาะสมหรือกลไกเฉพาะเพื่อดูแลการชุมนุม เพราะที่ผ่านมาการใช้กฎหมายพิเศษอย่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน นั้น ยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอยู่ จนก่อให้เกิดความรุนแรงตามมา ทั้งนี้รัฐควรจะต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบเป็นการเฉพาะในการดูแลการชุมนุม ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวต้องมีแผนปฏิบัติการและขั้นตอนที่ชัดเจน มีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะในการทำงานด้านมวลชน รวมถึงเครื่องมือที่เหมาะสมด้วย โดยจะต้องคำนึงเสมอว่าวิธีการใช้กำลังและอาวุธจะต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียหายให้น้อยที่สุด
       
       ทั้งนี้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นว่า การใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ชุมนุมบางส่วนยังมีการใช้สิทธิ เสรีภาพที่เกินขอบเขตที่ได้บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ แม้รัฐบาลจะมีหน่วยงานเพื่อเข้าควบคุมความสงบ แต่ก็ยังไม่สามารถรักษาความสงบเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายได้ ซึ่งในสถานการณ์ปกติรัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซง หรือจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนได้ แต่รัฐสามารถควบคุมการชุมนุมให้อยู่ภายใต้กรอบที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและ คุ้มครอง รวมทั้งกรอบกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติไว้เท่านั้น โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและนำมา สู่ความแตกแยกทางสังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีข้อเสนอเป็นแนวทางการดำเนินการ คือ
       
       1.คณะรัฐมนตรีควรหลีกเลี่ยงการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เว้นแต่การชุมนุมจะแปรเปลี่ยนไปสู่สถานการณ์วิกฤต หรือการจลาจลที่กระทบต่อความมั่นคง หรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ควรจะต้องมีการกำหนดกรอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่ชัดเจน และมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นการกระทำต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน
       
       2.คณะรัฐมนตรีโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทบทวนถึงแนวทางปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 63 ที่ต้องส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
       
       3.คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการเผยแพร่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชน ว่า สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นตามรายงานฉบับนี้มีข้อค้นพบที่เป็นปัญหาความขัดแย้งที่ รุนแรงจากการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องร่วมกันหาทางออก โดยการลดการเอาชนะกันของพรรค กลุ่ม ครอบครัว บุคคล มาเป็นผลประโยชน์โดยรวม
       
       4.คณะรัฐมนตรีโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการสืบสวนหาข้อ เท็จจริงและติดตามผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ชุมนุม หรือบุคคลใดก็ตาม มาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมในเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
       
       5.คณะรัฐมนตรีควรตระหนักและหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่จะนำไปสู่การเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
       
       6.คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการสร้างความเป็นธรรมในระยะการเปลี่ยนผ่าน ของสังคม โดยต้องทำความจริงในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ปรากฏ และมีมาตรการในการลงโทษผู้กระทำความผิดโดยยึดหลักกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงการชดเชย เยียวยา และฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์
       
       7.คณะรัฐมนตรีต้องไม่สกัดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตามสิทธิใน กฎหมาย หรือเป็นการแทรกแซงหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของ ประชาชนและสื่อมวลชน
       
       ทั้งนี้ ในรายงานดังกล่าว กสม.ยังได้ระบุถึงแนวทางการตรวจสอบว่า มาจากการเชิญพยานบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชน ทั่วไป จำนวน 1,036 คน แต่ก็มีผู้มาให้ถ้อยคำเพียง 184 คน โดยผู้ที่เชิญมาเล่ายังที่จะให้ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญ หรือมีการกล่าวถึงเพียงเล็กน้อย เช่น กรณีกองกำลังติดอาวุธ ชายชุดดำ การเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่น ผู้สื่อข่าวชาวอิตาลี พล.ต.ขัตติยะ พล.อ.ร่มเกล้า การเผาทำลายหลักฐานทางราชการ ขาดประจักษ์พยานในเหตุการณ์ทั้งที่มีผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจอยู่ในเหตุการณ์จำนวนมาก ขณะที่การเดินทางไปตรวจข้อเท็จจริงในพื้นที่ต้องใช้ความระมัดระวัง รวมถึงไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ บางเหตุการณ์ไม่อาจชี้ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการ ละเมิดสิทธิ การเชิญแกนนำ นปช.มาให้ข้อมูลก็มีเพียงนายจรัล ดิษฐาอภิชัย คนเดียวที่มาให้ข้อเท็จจริง แต่เป็นการให้ข้อมูลภาพรวมที่ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดเหตุการณ์ ซึ่งการดำเนินการของ กสม.ในการพิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ คณะกรรมการได้ใช้เวลาในการปรึกษาหารือและให้ความเห็นกันอย่างต่อเนื่องจนถึง วันที่ 26 มิ.ย. 56 จึงได้มีมติให้เสนอรายงานและผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนยายไปยังคณะ รัฐมนตรี หน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตามกรอบหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 257 และ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มาตรา 15 บัญญัติไว้ โดยคำนึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนประกอบด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กสม. ชี้ชัด นปช. ชุมนุมเกินขอบเขต รธน. ใช้เด็ก สตรี โล่มนุษย์ อภิสิทธิ์ บกพร่อง ดูแลประชาชน

view