สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เจ็บใจไหม ไทยแพ้มาเลเซีย (อีกแล้ว)

เจ็บใจไหม ไทยแพ้มาเลเซีย (อีกแล้ว)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ช่วงปลายเดือนเมษายนปีที่แล้ว ชาวบ้านในตำบลหนองกะท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ต้องแตกตื่นจากปรากฏการณ์แผ่นดินลุกเป็นไฟ

เหตุเกิดจากการเผาไหม้ของก๊าซมีเทนที่รั่วขึ้นมาจากใต้ดิน สำหรับทางการเมืองที่คุกรุ่นในตอนนี้ ถ้าว่ากันตามหลักวิทยาศาสตร์ ก็เป็นผลจากของเสียทางการเมืองที่ถูกหมักหมมมาเป็นเวลา จนกลายเป็นก๊าซมีเทนทางการเมืองที่พร้อมจะเผาไหม้ให้แผ่นดินลุกเป็นไฟ หนึ่งในวัตถุดิบชั้นดีที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทนทางการเมืองก็คือปัญหาการคอร์รัปชันที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงและรุนแรงขึ้นของประเทศไทยนั่นเอง

สถิติที่น่าอายชุดหนึ่ง เป็นผลสำรวจชื่อว่า Enterprise Survey จัดทำโดยธนาคารโลก พบว่า สัดส่วนของบริษัทที่ระบุว่า ปัญหาการคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อธุรกิจในประเทศลาวคิดเป็นร้อยละ 17 ของบริษัทที่ถูกสำรวจ สำหรับประเทศไทย สัดส่วนของบริษัทตอบแบบนี้มีถึงร้อยละ 41 ที่น่าตกใจกว่าก็คือ ผลการสำรวจของประเทศลาว เป็นผลในปี 2555 ผลการสำรวจของไทยเป็นผลในปี 2551 ผลการสำรวจนี้ สวนทางกับความเชื่อที่ว่า ประเทศที่ล้าหลังจะมีปัญหาการคอร์รัปชันมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือว่า สำหรับประเทศไทย ความก้าวหน้าย่อมมาคู่กับการคอร์รัปชันเสมอ? ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราไม่ได้ดีขึ้นเลยใช่หรือไม่?

ผู้เขียนได้ใช้ข้อมูลการจัดอันดับปัญหาคอร์รัปชัน จัดทำโดยองค์การเพื่อความโปร่งใส (Transparency International) และข้อมูลรายได้ต่อหัวจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ของประเทศในอาเซียน (ยกเว้นพม่า) มาหาความสัมพันธ์ทางสถิติเพื่อสร้างเส้นแนวโน้ม โดยจุดแต่ละจุด คือ คะแนนของประเทศนั้น ยิ่งคะแนนสูง ประเทศนั้นยิ่งมีปัญหาคอร์รัปชันน้อยลง

เส้นประที่แสดงไว้ในรูป คือ เส้นแนวโน้มที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ต่อหัวของคนในประเทศกับคะแนนที่ได้ จุดที่อยู่สูงกว่าเส้นประ หมายความว่า ประเทศนั้นแก้ปัญหาการคอร์รัปชันได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศทั้งหมดในอาเซียน ประเทศไหนที่ต่ำกว่าเส้น แสดงว่า มีปัญหานี้รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น สิ่งที่เราเห็นจากรูปนี้ก็คือ ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวมากขึ้น จะได้คะแนนสูงขึ้นตามไปด้วย แสดงว่า ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจส่งผลให้มีการโกงกินน้อยลงจริง

พอมาดูจุดของประเทศไทย พบว่า เราอยู่เหนือกว่าเส้นแนวโน้ม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นข่าวดี แต่เราจะกล้าสรุปได้ไหมว่า จริงๆ แล้วตอนนี้เราก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ขนาดนั้น?

ในความเห็นของผู้เขียน ผลที่ออกมาว่าเราได้คะแนนมากกว่าที่ควรจะเป็นถึง 3 คะแนนนั้น ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เพราะมาเลเซีย เพื่อนบ้านที่เคยตามหลังเราเมื่อยี่สิบปีก่อน ตอนนี้มีคนของเขารวยกว่าคนของเราเกือบเท่าตัว แถมในด้านการคอร์รัปชัน เขายังได้คะแนนบวกเพิ่มไปกว่าที่ควรจะได้ถึง 9 คะแนน สูงกว่าคะแนนที่บวกเพิ่มของเราถึง 3 เท่า

แม้ว่าตอนที่ผลการเลือกตั้งของมาเลเซียก่อนหน้านี้ จะมีข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้ง แต่ก็ยังเป็นแค่ข้อกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานแน่นหนา ภาพที่ชัดเจนก็คือ ตอนนี้เราเดินตามหลังเขาทั้งในแง่เศรษฐกิจและพัฒนาการทางการเมือง มาเลเซีย (และสิงคโปร์) สามารถก้าวข้ามอดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนประเทศไทย เรายังเดินกันเป็นวัวพันหลักมาหลายปี จนตอนนี้หัวของวัวแทบจะกระทบกับหลักอยู่แล้ว

คำถามที่ชวนคิดก็คือ เมื่อไหร่เราจะมีรายได้ต่อหัวเท่ากับคนมาเลเซียเสียที คำถามที่เจ็บปวดกว่านั้นคือ สมมติว่า วันนี้รายได้ต่อหัวของเราสูงขึ้นจนเท่ากับมาเลเซีย เราจะได้คะแนนสูงกว่าที่ควรจะเป็นถึง 9 คะแนน เหมือนมาเลเซียหรือไม่?

ณ วันนี้ คำตอบคงจะเป็น “ไม่”

คอร์รัปชันเป็นต้นตอของการเจ็บป่วยของชาติ เราอาจจะคุ้นเคยกับนิยามของคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเงินๆ ทองๆ แต่ความจริงแล้ว คนเราสามารถโกงได้หลายแบบ ขับรถแซงคิวรถคันอื่นที่เข้าแถวรอเข้าห้างก็คือการคอร์รัปชัน ข้าราชการที่ยอมก้มหัวทำตามนายสั่งทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นเรื่องผิด ก็ถือว่าคอร์รัปชัน รัฐบาลที่ดึงดันทำโน่นทำนี่ โดยไม่สนใจเสียงของประชาชนก็คือการคอร์รัปชัน การเมินเฉยต่อความเดือดร้อนของประชาชน แล้วเลือกผลักดันนโยบายเพื่อพวกพ้อง ก็คือการคอร์รัปชัน ถ้าเรามองสังคมไทยการเมืองไทยด้วยกรอบที่กว้างขึ้นเช่นนี้ จะเห็นเลยว่า คอร์รัปชันในประเทศไทยนั้น ซึมลึกลงไปทุกหัวระแหงแล้ว ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเห็นประชาธิปไตยเบ่งบาน ใครที่ได้ดูการถ่ายทอดสดในสภาเมื่อวันพุธที่ผ่านมา คงเห็นว่า สภาไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดอีกต่อไป

ผู้เขียนเห็นด้วยกับท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่เสนอให้ใช้พลังภาคประชาชนมาขับเคลื่อนประเทศไทย ควบคุมนักการเมืองไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางเกินไป แม้จะเป็นหนทางที่ยากและใช้เวลานาน แต่หากเรามีน้ำอดน้ำทนพอ ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาในระยะยาวคุ้มค่าแน่นอน

สุดท้ายนี้ อยากจะฝากไปถึงท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทั้งหลายว่า ก่อนจะเดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ลองถามตัวเองว่า เจ็บใจไหม ที่ท่านเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ไทยแพ้มาเลเซีย (อีกแล้ว)


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เจ็บใจไหม ไทยแพ้ มาเลเซีย อีกแล้ว

view