สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Corporate Social Responsibility (CSR) ในยุโรปและผลกระทบต่อการค้าไทย-อียู

Corporate Social Responsibility (CSR) ในยุโรปและผลกระทบต่อการค้าไทย-อียู

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




Corporate Social Responsibility (CSR) เป็นแนวความคิดที่บริษัทและองค์กรธุรกิจต้องแสดงความตระหนักถึงความรับผิดชอบ

และมีส่วนร่วมทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินการทางธุรกิจ

สหภาพยุโรปหรืออียูให้คุณค่าและความสำคัญกับแนวคิด CSR ในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก และเร่งผลักดันแนวคิด CSR แบบของยุโรปให้เป็นที่ยอมรับและแพร่หลายมากขึ้นในเวทีโลกโดยเฉพาะกับประเทศที่ต้องการทำธุรกิจการค้ากับอียู พูดง่ายๆ ก็คือ อียูต้องการเป็น trend setter ในเรื่องความรับผิดชอบของบริษัทและองค์กรธุรกิจต่อประเด็นด้านสังคม ซึ่งตามแนวคิดของอียูแล้วรวมถึงประเด็นการเคารพสิทธิมนุษยชน สวัสดิภาพแรงงาน ความเท่าเทียมกัน การคุ้มครองแรงงานเด็ก และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในการทำธุรกิจด้วย แทนที่จะมองแนวคิด CSR เป็นเพียงการจัดกิจกรรมสนุกๆ เพื่อคืนกำไรแก่สังคมและประชาสัมพันธ์ของบริษัทแบบผิวเผินเท่านั้น

แต่เป็นเรื่องไม่ง่ายนักว่าเราจะวัดความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทและองค์กรธุรกิจได้อย่างไร และจะมีวิธีควบคุมความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทดังกล่าวได้อย่างไรว่าภาคธุรกิจไม่ได้ดำเนินธุรกิจแบบเอาแต่กำไรนำหน้า และทิ้งเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงาน และสวัสดิการสังคมไว้รั้งท้าย

ในสหภาพยุโรปหรืออียูยังไม่มีกฎหมายหรือกฎระเบียบที่บังคับใช้เพื่อกำหนดภาระหน้าที่ของบริษัทเกี่ยวกับเรื่องความรับผิดต่อสังคมโดยตรง แต่กำหนดให้ภาระหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปด้วยความสมัครใจของบริษัท อย่างไรก็ดี ต้องตั้งอยู่บนบรรทัดฐาน ข้อกำหนด และพันธกรณีต่างๆ ของอียูในระดับนานาชาติ อาทิ Guidelines for Multinational Enterprises ขององค์การ OECD, หลักการ 10 ประการตาม UN Global Compact และ Guiding Principles on Business and Human Rights ของสหประชาชาติ, Tri-partite Declaration of Principles on Multinational Enterprises and Social Policy ขององค์การแรงงานโลก และมาตรฐาน ISO 26000 Guidance Standard on Social Responsibility

แม้ในยุโรป บริษัทและองค์กรเอกชนยุโรปจะสามารถมีส่วนร่วมเรื่อง CRS ได้ตามความสมัครใจและในรูปแบบที่แตกต่างกันไป แต่กระแสการผลักดันและการจับตาจากกลุ่มประชาสังคมยุโรป ไม่ว่าจะเป็น NGOs หรือสหภาพแรงงาน ผ่านการรายงานประเด็นด้านสังคมเหล่านี้ต่ออียู ผ่านสภายุโรปนั้นมีมาก อาทิ มีการเรียกร้องให้อียูออกมาตรฐานหรือกฎระเบียบบังคับใช้แนวคิด CSR กับภาคธุรกิจ ให้มีการตรวจสอบว่าบริษัทใช้หลักการดังกล่าวจริงหรือไม่ ให้มีการจัดตั้งผู้ตรวจสอบอิสระเพื่อดำเนินการตรวจสอบกิจกรรม CSR ของบริษัท กระแสการกดดันจากกลุ่มประชาสังคมและ NGOs ส่งผลให้ภาคเอกชนยุโรปต้องจริงจังและเอาใจใส่เรื่อง CSR มากขึ้นและจริงจังขึ้น

เพื่อตอบรับต่อกระแส CSR ในยุโรปและประสานแนวปฏิบัติเกี่ยวกับ CSR ที่บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ (MNEs) กำหนดแตกต่างกันไป ภาคธุรกิจยุโรปจึงได้รวมตัวกันเพื่อเป็นเวทีหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ CSR ขึ้น อาทิ European Alliance for CSR (www.csreurope.org) ในระดับยุโรป ซึ่งอียูก็มีท่าทีสนับสนุนการรวมกลุ่มในลักษณะดังกล่าวของภาคธุรกิจเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนร่วมกันกำหนดแนวปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการตอบรับกระแสการผลักดันจากทั้งภาครัฐ กลุ่มประชาสังคม NGOs รวมทั้งความสนใจของผู้บริโภคยุโรปในประเด็น CSR ที่เพิ่มขึ้นในยุโรปแล้ว ภาคธุรกิจยุโรปเองก็เชื่อว่าCSR จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทและส่งผลดีต่อบริษัทในระยะยาว

กระแส CSR ในยุโรปมิได้ครอบคลุมแต่เพียงการใช้แนวคิด CSR ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทในยุโรปเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการดำเนินธุรกิจของบริษัทยุโรปในต่างประเทศ และการใช้แนวคิด CSR ในกระบวนการผลิตสินค้าของประเทศที่สามเพื่อส่งมาขายในตลาดอียู ประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าสำหรับตลาดยุโรปจึงอาจต้องปรับใช้แนวคิด CSR ในมาตรฐานเดียวหรือใกล้เคียงกับยุโรปด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายถึงบริษัทหรือโรงงานของไทยที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งมาขายในตลาดยุโรปอาจต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และแรงงานในระดับสากลตามที่สหภาพยุโรปเรียกร้องหากต้องการรักษาตลาดอียูเอาไว้

ปัจจุบัน ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ผู้ค้าปลีก รวมทั้ง ซูเปอร์มาเก็ตและห้างสรรพสินค้าใหญ่ของยุโรปก็หันมาปรับใช้แนวคิด CSR ในธุรกิจแบบ Supply Chain กันมากขึ้น โดยให้เหตุผลว่าเป็นการช่วยพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานด้านสังคมในประเทศที่สามที่บริษัทตนเข้าไปตั้งฐานการผลิตอยู่หรือสั่งซื้อสินค้า โดยอาจกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติ (Code of Conduct) หรือมาตรฐานด้านสังคมให้โรงงานและบริษัทผู้ส่งออกในประเทศที่สามปฏิบัติตามการปรับใช้ CSR ในธุรกิจ Supply Chain ดังกล่าวอาจทำให้หลายฝ่ายมองว่า CSR เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าจากยุโรป แต่อันที่จริงธุรกิจยุโรปเองก็มีความจำเป็นต้องปรับตัวและตอบรับกับกระแสความต้องการของผู้บริโภคและกลุ่มประชาสังคมยุโรปที่คอยจับตาความรับผิดชอบของบริษัทต่อสังคมทั้งในยุโรปและนอกยุโรป


ล่าสุด ประเด็นที่ได้รับการจับตามากโดยกลุ่มประชาสังคมและ NGOs ยุโรปคือเรื่องการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารมายังตลาดสหภาพยุโรป ดังนั้น หากผู้ผลิตและส่งออกของไทยต้องการรักษาตลาดอียูเอาไว้ก็ควรใส่ใจกับประเด็นด้านสังคมที่อาจส่งกระทบในเชิงธุรกิจการค้าได้อย่างคาดไม่ถึง

ในการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือเอฟ ที เอ ระหว่างอียูกับไทยที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจานี้ อียูมีท่าทีชัดเจนเกี่ยวกับการเรียกร้องให้มีการบรรจุข้อบทเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development ที่ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แรงงานและความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ในเอฟ ที เอด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบในการดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างไทยและอียูในอนาคตที่ประเด็นด้านสังคมถูกผูกรวมกับประเด็นด้านการค้า

แทนที่จะมองว่าประเด็นด้านสังคมที่อียูยกขึ้นผลักดันเหล่านี้เป็นการสร้างข้อกีดกันทางการค้า ไทยควรใช้โอกาสในการเจรจาข้อบทเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอฟ ที เอ กับ อียู ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยควรเน้นการสร้างโอกาสและช่องทางในการประสานความร่วมมือทั้งในระดับความร่วมมือภาครัฐและระหว่างภาคธุรกิจกันเองในประเด็นด้านสังคมหลายประเด็นที่อียูจับตาไทยอยู่อย่างเปิดอกและจริงจัง โดยมองว่าการพัฒนาและยกระดับตามข้อกำหนดที่สูงขึ้นของอียูก็หมายถึงการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานด้านสังคมของประเทศไทยเพื่อประโยชน์ประชาชนคนไทยเอง และไทยพร้อมจะดำเนินธุรกิจและการค้ากับอียูบนแนวทางและบรรทัดฐานเรื่อง CSR ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและในอียู


ข้อมูลนักเขียน :
ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.euหรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Corporate Social Responsibility CSR ยุโรป ผลกระทบ การค้าไทย-อียู

view