สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หนี้ท่วม-ของแพงซ้ำอัดฉีดญี่ปุ่นระทมวิกฤตซ้ำซ้อน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

นับว่าออกมาย่ำแย่เกินกว่าที่คาดไปไกลสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ที่เติบโตได้เพียง 2.6% เท่านั้น จากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไปไกลถึงเฉลี่ย 3.6% และยังห่างชั้นจากไตรมาสแรกที่เพิ่งขยายตัวได้สูงถึง 3.8% อีกด้วย

นอกจากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ออกมาผิดรูปผิดร่างแล้ว ญี่ปุ่นยังถูกซ้ำเติมด้วยภาวะ “หนี้ท่วม” ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อระดับหนี้สาธารณะพุ่งทะยานขึ้นไปถึง 1,000 ล้านล้านเยน (เกือบ 330 ล้านล้านบาท)

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นโยบาย “อาเบะโนมิกส์” หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ถูกตั้งคำถามตามมาทันทีว่า การโหมใช้มาตรการอัดฉีดทั้งทางด้านการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นการขยายตัว ทางเศรษฐกิจ ซึ่งแทบจะเป็นสูตรสำเร็จที่หลายประเทศใช้ตามๆ กันอยู่นั้น เป็นการตอบโจทย์ที่ดีพอจริงหรือ

รัฐบาลญี่ปุ่นได้เดินหน้านโยบายอัดฉีดทางการเงินครั้งใหญ่ พร้อมทั้งทุ่มงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐ เพื่อหวังฉุดให้ประเทศฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดที่กัดกินญี่ปุ่นมานาน

นโยบายอาเบะโนมิกส์นั้นส่งผลบวกถล่มทลายทันทีให้กับตลาดทุนและภาคการส่ง ออกสภาพคล่องที่อัดฉีดมหาศาลยังช่วยให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงฮวบถึงกว่า 20% กลายเป็นปัจจัยหนุนให้บริษัทส่งออกมีตัวเลขการค้าฟื้นตัวดีขึ้นอย่างท่วมท้น จนสะท้อนออกมาเป็นตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ถึง 3.8%

อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ญี่ปุ่นก็เริ่มมีสัญญาณหลายด้านที่บ่งบอกถึง “ปัญหาทับซ้อน” ทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากสารพัดมาตรการกระตุ้น ทำให้รัฐบาลต้องผละจากเป้าหมายขยายจีดีพีและเพิ่มเป้าเงินเฟ้อ ไปเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ตามมาเสียก่อน

ไม่อย่างนั้นแล้ว ญี่ปุ่นอาจต้องล่มจมด้วย “สึนามิกองหนี้”

เพราะระดับหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นนั้นจะขยายตัวขึ้นไปแตะระดับ 230% ของจีดีพี ภายในปี 2557 หรือสูงที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เฉพาะตราสารหนี้ของรัฐบาลก็สูงถึง 830 ล้านล้านเยน ท่ามกลางการขาดดุลงบประมาณถึง 5.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

หากญี่ปุ่นยังคงตัดสินใจเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิถีทางเดิมต่อไป ปัญหาดังกล่าวจะยิ่งทวีความเสี่ยงหนักขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นใน “ตลาดพันธบัตร” ในประเทศ ปัญหาที่ว่านี้จะเป็นชนวนไปสู่ภาวะต้นทุนกู้ยืมระยะยาวที่พุ่งขึ้น จนกลายเป็นหายนะของธุรกิจและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นตามมา

สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องงลงมือทำในขณะนี้ จึงเป็นการหารายได้เพื่อลดหนี้และการขาดดุลงบประมาณ จนนำไปสู่แผนการเตรียมขึ้นภาษีการขายเป็น 2 เท่า จากเดิมที่ 5% ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10% ภายในปี 2558

การหารายได้ด้วยการขึ้นภาษีการขายนี่เอง ที่กำลังกลายเป็นชนวนสำคัญกระทบต่อ “ความเชื่อมั่น” ทั้งการบริโภคของประชาชนและการลงทุนของภาคเอกชน

ขณะเดียวกัน อีกปัญหาทับซ้อนภายใต้มาตรการอาเบะโนมิกส์ ก็ยังรวมถึงผลด้านลบจากการอ่อนค่าอย่างหนักของเงินเยน ที่ทำให้ภาคการนำเข้ามีภาระต้นทุนพุ่งสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะการนำเข้าพลังงาน รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่แพงขึ้น ซึ่งเมื่อรวมกับแนวโน้มการขึ้นภาษีแล้ว ก็มีแนวโน้มสูงที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และต่อเนื่องไปยังแผนการลงทุนของภาคเอกชนตามมาเช่นกัน

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเพิ่งจะเริ่มเห็นสัญญาณความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกระเตื้องขึ้น 0.8% ในไตรมาสที่แล้ว ทว่าในส่วนการใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยนั้นยังลดลง 0.2% ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนก็ยังปรับตัวลง 0.1% โดยภาคเอกชนซึ่งมักวางแผนการใช้จ่ายและลงทุนในระยะยาวนั้น ต้องการเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้นกว่านี้ก่อนในปี 2557 โดยเฉพาะสัญญาณจากฝั่งสหรัฐซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่

มาตรการโหมอัดฉีดอย่างเป็นระบบ จึงช่วยดึงเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะถดถอยได้ แต่ไม่สามารถตอบโจทย์การเติบโตที่ยั่งยืนพอ ดังที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญปัญหาอันทับซ้อนไปมาในวันนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หนี้ท่วม-ของแพงซ้ำ อัดฉีด ญี่ปุ่นระทม วิกฤตซ้ำซ้อน

view