สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำไมการศึกษาไทยไปไม่ถึงฝั่งฝัน

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ

สังคมไทยตื่นเต้นทุกครั้ง เมื่อมีการจัดอันดับการศึกษาไทยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านประกาศออกมา

ล่าสุดสภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF (World Economic Forum) ประกาศผลการจัดการศึกษาว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับ 8 ของอาเซียน โดยเรียงลำดับดังนี้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม และไทย

พอเห็นว่าการศึกษาไทยอยู่ตั้งอันดับ 8 ต่ำกว่ากัมพูชา และเวียดนาม ยิ่งทำให้ผู้อยู่ในแวดวงการศึกษาจิตตกไปตามๆ กัน โดยไม่สนใจว่าการจัดอันดับการศึกษาครั้งนี้ใช้เกณฑ์อะไรเป็นตัวชี้วัด จะได้พิจารณาสาเหตุว่าทำไมคุณภาพการศึกษาไทยจึงไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว แล้วมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร ไม่ใช่พอเห็นอันดับรีบสรุปเลยว่า นั่นไงเพราะครูสอนไม่ดี และลามปามไปถึง "ครูมีเงินเดือนสูง ใช่ว่าจะมีความสามารถในการสอนสูงไปด้วย"

คำถามคือ "หากครูมีเงินเดือนต่ำ ใช่ว่าจะมีความสามารถในการสอนสูงไปด้วยใช่ไหม" จริงๆ เงินเดือนไม่ใช่ตัวชี้วัดคุณภาพการสอนก็จริง แต่หากเงินเดือนครูต่ำมาก ใครจะอยากมาเป็นครู อีกทั้งการที่ครูมีเงินเดือนสูงขึ้น เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ไม่ต้องไปสนใจหารายได้เพิ่มขึ้น จะได้ทุ่มพลังที่จะสอนเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ การสอนดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับคนที่จะมาเป็นครู หากได้คนที่มีความรับผิดชอบ กระตือรือร้น มีหัวใจให้กับการมุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาแล้ว ก็จะเป็นครูที่เอาใจใส่การเรียนการสอนเด็ก ตั้งแต่เป็นครู รุ่นเด็กๆ เงินเดือนน้อยๆ ไปจนแก่มีเงินเดือนสูงๆ

แต่หากระบบการคัดกรองคนเป็น ครูไม่ดี วัดกันแค่ความรู้ทางวิชาการว่าใครเก่ง ก็ต้องเสี่ยงดวงว่าอาจได้ครูดีหรือไม่ดีก็ได้ ส่วนที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ กระบวนการผลิตครู การหล่อหลอมกล่อมเกลาคนมาเป็นครูของมหาวิทยาลัยต่างๆ หากเราได้ครูของครูที่ดี เอาใจใส่หล่อหลอมให้เด็กเรียนครูที่ผลิตออกมาแต่ละคนมีจิตสำนึกความเป็นครู เอาใจใส่อบรมให้เด็กมีความรู้ทางวิชาการ และสำนึกความเป็นคนที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ในสังคมแล้ว เราก็จะได้ครูที่มีความรับผิดชอบ การเรียนการสอนก็จะดีขึ้น

ดังนั้น หากจะโทษว่าครูสอนไม่ดี ต้องไปดูกระบวนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วยว่า มีคุณภาพหรือยัง ปริมาณกับคุณภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่

แต่นั่นก็ยังไม่ร้ายเท่ากับ การปล่อยหรือหละหลวมให้เกิดปัญหาทุจริตสอบเข้าเป็นครู จนไปตัดโอกาสให้คนดีๆ ได้เข้ามาเป็นครู

บรรยากาศในโรงเรียนมีส่วนพัฒนาคุณภาพครู หากเริ่มต้นการเป็นครูในโรงเรียนที่มีแต่ครูที่ เอาใจใส่รับผิดชอบการสอน ประสบการณ์การทำงานจะช่วยหล่อหลอมให้ครูมีความตั้งใจ และมีความสามารถในการสอนมากขึ้น

แต่หากได้ไปสอนในโรงเรียนที่ให้ความ สำคัญกับเรื่องอื่นมากกว่าการเรียนการสอน เช่น การให้ความดีความชอบ ที่ไม่สนใจว่าใครสอนดีหรือสอนไม่ดี แต่ใช้ระบบใครทำงานให้กับใคร ใช้ระบบพรรคพวกเป็นสำคัญแล้ว เชื่อว่าสภาพแวดล้อมอาจมีส่วนที่จะทำให้ครูที่ควรจะดี มีความตั้งใจทำงานอาจไขว้เขวไปได้

ดังนั้นนอกจากต้องปฏิรูปกระบวนการ ผลิตครูแล้ว ยังต้องปฏิรูประบบการให้ความดีความชอบ ควรเน้นที่คุณภาพการสอนมากกว่าระบบประจบสอพลอแล้วได้ดี

รวมทั้งต้องมีการนิเทศ กำกับ ติดตามครูที่ย่อหย่อนต่อการสอน ให้ได้รับการส่งเสริมพัฒนาเป็นรายบุคคล ส่วนคนที่ดีอยู่แล้วควรได้รับการสนับสนุนพัฒนา อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนยิ่งๆ ขึ้นไป

การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนจะพัฒนาได้ดีเพียงใด ครูและผู้บริหารจะต้องทำงานร่วมกันอย่างกัลยาณมิตร งานถึงจะราบรื่นเรียบร้อย เนื่องจากภาระงานของครูยุ่งยากซับซ้อนเหนื่อยหนัก ต้องผจญกับเด็กหลากหลายรูปแบบ ส่วนผู้บริหารมีหน้าที่บริหารจัดการ อำนวยความสะดวกให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามแผนที่วางไว้

หากบรรยากาศการทำงานร่วมกันของคน 2 กลุ่มนี้ไม่ราบรื่นเรียบร้อยเชื่อว่ามีผลต่อการพัฒนาการศึกษาอย่างแน่นอน จึงจำเป็นที่คนสองกลุ่มต้องหันหน้ามาพิจารณาตนเองว่ามีหน้าที่อะไร แล้วทำหน้าที่นั้นได้ดีเพียงใด มองตัวเองให้มากกว่ามองข้อผิดพลาดของคนอื่น บางทีการพัฒนาการศึกษาจะดีกว่านี้

ครูจะสอนดีไม่ได้ หากภาระหน้าที่ของครูไม่ใช่แค่เรื่องการสอนอย่างเดียว แต่ภาระงานอื่นที่ทำให้ครูต้องละทิ้งห้องเรียน สอนไม่เต็มที่ ทั้งการประชุม อบรมธรรมะ ประเมินโรงเรียนนั่นนี่ปีหนึ่งกี่ครั้ง การประกวดประขันประชันโรงเรียน การกรอกข้อมูล การทำแฟ้มเอกสารเพื่อรายงานผลการทำงาน และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย แล้วครูจะเอาเวลาที่ไหนไปเตรียมการสอน

อีกทั้งงานเด่นเวลาประเมิน ความดีความชอบกลับเป็นงานพิเศษที่โดดเด่น มากกว่าความตั้งอกตั้งใจสอนที่ไม่มีใครมองเห็นความสำคัญ แล้วคุณภาพการเรียนการสอนจะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด?

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษาต่อมาคือ ระบบการเรียนเพื่อสอบ ทั้งการสอบในโรงเรียน สอบแข่งขัน สอบระดับท้องถิ่น ระดับชาติ สอบ LAS O-Net GATT PATT PISA และสอบอะไรต่อมิอะไรให้ยุ่งไปหมด จนเหนื่อยเมื่อยล้า ครูและเด็กต้องเตรียมความพร้อมในการสอบ เมื่อล้าและเบื่อมาก เด็กจึงไม่พร้อมที่จะสอบ โดยเฉพาะเด็กที่คิดว่าการสอบเหล่านี้ไม่ได้มีผลอะไรต่อตนเอง หรือมีผลก็มีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่สนใจเท่าที่ควร

การวัดคุณภาพการ ศึกษาโดยคำนึงถึงตัวเลขคะแนน ทำให้แต่ละโรงเรียนมุ่งยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การจัดการเรียนจึงเน้นไปที่การทำข้อสอบให้ได้ จนจัดติวกันอย่างมโหฬารในโรงเรียน ถึงขนาดต้องจ้างครูจากโรงเรียนกวดวิชามาติวให้กับนักเรียนในโรงเรียนเพียง ไม่กี่วัน ด้วยเงินจำนวนมาก เมื่อคะแนนสูงขึ้น กลายเป็นความสามารถของคนมาติวเพียงไม่กี่วัน

หลายโรงเรียนอาจนำระบบ โรงเรียนไปสู่โรงเรียนกวดวิชา ระบบการเรียนรู้ที่ควรปูพื้นฐาน ค่อยๆ ฝึกกระบวนการคิดในห้องเรียน การทำกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรมความประพฤติไปด้วย อาจต้องชะงัก เพราะวิธีการเหล่านี้ไม่ส่งผลต่อการทำข้อสอบเฉพาะหน้าได้อย่างชัดๆ แล้วคุณสมบัติของคนที่จบการศึกษาควรเป็นแบบไหน? ระหว่างคนที่ทำข้อสอบเก่ง กับคนที่มีทักษะการคิดที่นำไปใช้ในชีวิตจริงได้

ปัจจัยต่อมาคือ สภาพผู้เรียนที่ความเอาใจใส่ในการเรียนลดลง พิจารณาได้จากนักเรียนแต่ระดับชั้นเรียน จำนวนห้องเรียนที่สนใจเรียนมีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง แต่ละห้องเรียนมีนักเรียนที่สนใจเรียนโดยเฉลี่ยไม่ถึงครึ่งห้องเรียน หรือบางห้องเรียนไม่สนใจเรียนหนังสือ เบื่อหน่ายการเรียน และหาคำตอบไม่ได้ว่า ควรจะทำสิ่งใดดีกว่าการเรียน คือยังค้นหาตัวเองไม่พบว่าควรทำอะไรนอกจากมาโรงเรียนไปวันๆ

นอกจากนี้ สื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขณะที่นักเรียนไม่รู้จักควบคุมสื่อให้นำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่กลับถูกสื่อเทคโนโลยีควบคุมจนตกเป็นทาส ดังจะเห็นว่าเมื่อเข้าไปในสถานศึกษาหลายแห่ง แทบไม่พบเด็กนักเรียนนั่งอ่านหนังสือ จำนวนมากเท่ากับนักเรียนนั่งกดโทรศัพท์ เล่นอินเตอร์เน็ต โพสต์ข้อความ หรือรูปภาพในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กที่ไม่ได้สื่อว่าได้ฝึกกระบวนการคิดมาก่อน หรือรู้จักใช้สื่อเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์

พฤติกรรมของเด็กที่ไม่สนใจเรียน ใช้เวลาว่างไม่เป็นประโยชน์ มีผลต่อคุณภาพการศึกษา ใครควรมีส่วนรับผิดชอบ คงหนีไม่พ้นครูที่ไม่รู้จักสอนให้เด็กรู้เท่าทันเทคโนโลยี แต่หากสังเกตจริงๆ พบว่า เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่อ่อนแอ ทั้งพ่อแม่มัวทำงานหาเงิน ไม่มีเวลาดูแลลูกนอกจากหาเงินให้ใช้ หาสิ่งที่ทำให้ลูกทัดเทียมกับเพื่อน เด็กจำนวนไม่น้อยมาจากครอบครัวแตกแยก และพ่อแม่มีอายุน้อย แสดงถึงความไม่พร้อมของครอบครัว ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมความเอาใจใส่ต่อการเรียนด้วยเช่นกัน

หากจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาจริงๆ คงไม่อาจปฏิรูปการเรียนการสอนในโรงเรียนอย่างเดียวได้ คงต้องพัฒนาสังคมกันทั้งระบบ ที่ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการแต่เพียงกระทรวงเดียว เพราะหากครอบครัวเข้มแข็ง เด็กก็จะมีภูมิต้านทานและรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก และอาจมีเป้าหมายในการเรียนมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ การศึกษาจึงอาจพัฒนาไปได้มากกว่านี้

สิ่งที่มักถูกวิจารณ์ไม่น้อยกว่าครู เวลาอันดับการจัดการศึกษาของไทยตกต่ำคือ ประเด็นที่กระทรวงศึกษาฯ เป็นกระทรวงที่เปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยมากเปลี่ยนคน นโยบายเปลี่ยน จนบางครั้งนึก ไม่ออกว่านโยบายเด่นๆ ที่เป็นหัวใจของการพัฒนาการศึกษาจริงๆ แต่ละสมัยคืออะไร

บางทีนโยบายยุ่งกันไม่กี่เรื่อง เช่น การแก้ปัญหาหนี้สินครู วิธีการประเมินวิทยฐานะครูทำยังไงให้ยากขึ้น ต้องใช้คะแนนสอบของเด็กมาประเมินบ้าง ทั้งที่รู้ว่าเด็กที่มีคะแนนดีๆ กระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนดังๆ ไม่กี่โรง

แนวคิดนี้จะสร้างปัญหาต่อไป ในเรื่องอัตรากำลังของแต่ละโรงเรียนขาดเกินไม่สมดุลกัน เพราะครูส่วนหนึ่งจะดิ้นรนไปอยู่โรงเรียนดังๆ ที่เด็กมีคะแนนดีๆ แล้วจะยุติธรรมกับครูที่สอนเด็กไม่เก่งอยู่แล้วอย่างไร ทั้งที่การสอนเด็กไม่เก่ง ไม่พร้อมเป็นความยากลำบากของครูกลุ่มนี้อยู่แล้ว กลับจะต้องยากลำบากในยกระดับวิทยฐานะของตนเองมากขึ้นไปอีก

รวมทั้งการใช้คะแนนสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระดับชาติของเด็ก ที่ข้อสอบถูกวิจารณ์แต่ละปีว่ามีปัญหา การใช้คะแนนสอบจากข้อสอบที่มีข้อวิจารณ์และเป็นข้อสอบที่ไม่คำนึงถึงความแตก ต่างของเด็กที่มาจากโรงเรียนที่มีความพร้อมในการจัดการศึกษาต่างกันแล้ว คะแนนเหล่านี้จะแสดงถึงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนตรงไหน?

ทำไมไม่ส่งเสริมให้ครูได้นำสิ่งที่เสนอผลงานไปใช้จัดการเรียนการสอนจริงๆ ไม่ใช่วัดกันที่ตัวเลข

บางคนเสนอความคิดว่า เพราะรัฐมนตรีไม่เคยเป็นครู เลยไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แนวคิดนี้อาจไม่ได้ผล เพราะเคยมีรัฐมนตรีที่เคยเป็นครูมาก่อนเหมือนกัน แต่กลับนึกไม่ออกว่าได้วางนโยบายอะไรเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา ดีไม่ดีการเป็นครูหรือเป็นข้าราชการมานานอาจติดกรอบอะไรบางอย่าง จนทำให้การพัฒนาการศึกษาถูกกรอบครอบเอาไว้ การศึกษาไทยจะไปไม่ถึงไหน

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ที่บ่งชี้ว่าการศึกษาของไทยยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน จนกระทั่ง WEF สรุปว่าการศึกษาไทยอยู่อันดับ 8 ของอาเซียน ทั้งที่หากพิจารณาว่าองค์กรนี้ใช้อะไรเป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์ แม้จะพบว่า เกณฑ์การประเมินไม่ได้เกี่ยวกับการวัดความรู้ของนักเรียนโดยตรง ไม่ได้ดูคะแนน O-Net ไม่ได้ดูคะแนน PISA แต่อย่างใด

แต่สอบถามจากผู้ บริหารบริษัทชั้นนำราว 160 คน ด้วยแบบสำรวจผ่านระบบ online จำนวน 97.7% จากการสัมภาษณ์เพียง 2.3% ข้อมูลที่สอบถาม เช่น อัตราการเข้าเรียนระดับประถม มัธยม มหาวิทยาลัย

ข้อมูลที่สำคัญในแบบสำรวจคือ ถามความคิดเห็นหรือทัศนคติที่มีต่อการศึกษาในประเทศ นั้นๆ ว่า ท่านเห็นว่าการศึกษาในประเทศของท่านสามารถตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่ต้องมีการแข่งขันได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งแบบสอบถามเน้นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการแข่งขันเป็นประเด็นสำคัญกว่าประเด็นด้านการศึกษาโดยตรง โดยที่แบบสอบถามให้ผู้ตอบเลือกระดับความคิดเห็น 7 ระดับ คือระดับ 7 เท่ากับดีมาก ระดับ 1 เท่ากับแย่มาก

อันดับการประเมินของ WEF ที่ออกมา แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารบริษัทในประเทศกัมพูชา เวียดนามมีความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของผู้ที่จบ การศึกษา มากกว่าผู้บริหารบริษัทในประเทศไทยที่มีต่อผู้ที่จบการศึกษาในประเทศของตน เอง ซึ่งอาจไม่เกี่ยวอะไรกับการที่เด็กไทยถูกมองว่า มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำแต่อย่างใด

แต่สะท้อนว่าความเชื่อมั่นต่อระบบการศึกษาที่จะผลิตคนออกมาให้มีทักษะในการทำงาน มีความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจโลกของเด็กไทย ที่ผ่านระบบการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยยังไม่ตอบสนองต่อความเปลี่ยน แปลงของโลก และมีความสามารถในการแข่งขันตามความคาดหวังอยู่ในระดับต่ำ

การขยับตัวในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ จึงไม่ใช่แค่การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยการสอบ แต่กระบวนการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ต้องคิดว่าทำอย่างไร เด็กจะมีทั้งความรู้ทางวิชาการ และมีทักษะในการทำงาน เมื่อหลุดพ้นจากโลกแห่งการศึกษาในทันที เมื่อนั้นอันดับการศึกษาที่ถูกจัดโดย WEF ของไทยในอาเซียนถึงจะไม่แพ้กัมพูชา และเวียดนาม



ที่มา : นสพ.มติชน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การศึกษาไทย ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

view