สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถึงเวลาทบทวนกองทุนบริหารความมั่งคั่งแห่งชาติ

ถึงเวลาทบทวนกองทุนบริหารความมั่งคั่งแห่งชาติ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ต้องขอโทษท่านผู้อ่านที่หายหน้าหายตาไปหนึ่งสัปดาห์ เนื่องจากติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ

ต้องขอโทษท่านผู้อ่านที่หายหน้าหายตาไปหนึ่งสัปดาห์ เนื่องจากติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ เมื่อกลับมาก็ได้ทราบเรื่องการเสนอให้ทบทวนการจัดตั้งกองทุนบริหารความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ Sovereign Wealth Fund (SWF)

ดิฉันเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไปแล้วตั้งแต่ 31 สิงหาคม และ 7 กันยายน 2552 ในชื่อเรื่อง “ถึงเวลาจัดตั้งกองทุนบริหารความมั่งคั่งของรัฐแล้วหรือยัง (1) และ (2)” ว่ากองทุนบริหารความมั่งคั่งของรัฐ คือการจัดการเงินลงทุนที่มีรัฐเป็นเจ้าของที่มีวัตถุประสงค์พิเศษในการดูแลเงินลงทุนในรูปของกองทุนโดยมีวัตถุประสงค์ลงทุนระยะยาว เป็นเงินของสาธารณะและตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจมหภาค ท่านสามารถอ่านเพื่อเป็นข้อมูลปูพื้นได้ในเว็บไซต์ของกรุงเทพธุรกิจที่ www.bangkokbiznews.com ค่ะ

ข้อมูลจาก SWF Institute แสดงว่า ณ เดือนกันยายน 2556 กองทุนบริหารความมั่งคั่งในโลกมีจำนวน 70 กองทุน มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 5.887 ล้านล้านดอลลาร์ โดยกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1

Government Pension Fund-Global ของนอร์เวย์ มีขนาด 737,200 ล้านดอลลาร์ 2. SAMA Foreign Holdings ของประเทศซาอุดีอาระเบีย มีขนาด 675,900 ล้านดอลลาร์ 3. Adu Dhabi Investment Authority ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขนาด 627,000 ล้านดอลลาร์ 4. China Investment Corp ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ขนาด 575,200 ล้านดอลลาร์ และ 5. SAFE Investment Company ของจีน ขนาด 567,900 ล้านดอลลาร์

ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีการตั้งกองทุนบริหารความมั่งคั่งแล้วคือ สิงคโปร์ 2 กองทุนคือ Temasek Holdings ตั้งเมื่อปี 1974 ขนาด 173,300 ล้านดอลลาร์ และ Government of Singapore Investment Corporation หรือ GIC ตั้งเมื่อปี 1981 ขนาด 195,000 ล้านดอลลาร์

บรูไน ตั้งกองทุน Brunei Investment Agency เมื่อปี 1983 ขนาดกองทุน 40,000 ล้านเหรียญ สำหรับมาเลเซีย มีกองทุนชื่อ Khazanah Nasional ตั้งเมื่อปี 1993 ขนาด 39,000 ล้านเหรียญ เวียดนามมีกองทุน State Capital Investment Corporation ตั้งเมื่อปี 2006 ขนาด 500 ล้านดอลลาร์ และ อินโดนีเซีย มีกองทุน Government Investment Unit ตั้งเมื่อปี 2006 เช่นเดียวกับเวียดนาม ขนาดกองทุน 300 ล้านดอลลาร์

ดิฉันอยากเสนอให้มีการบริหารจัดการกองทุนบริหารความมั่งคั่งแห่งชาติ เพื่อนำผลประโยชน์ไปใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมค่ะ

จากการศึกษาของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ Asian Development Bank (ADB) พบว่า นักการเมืองมักจะใช้ข้ออ้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ออกนโยบายประชานิยมเพื่อหวังได้คะแนนจากผู้เลือกตั้งซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย เมื่อเป็นดังนี้มากๆ นโยบายประชานิยมก็กลายเป็นสิ่งเสพติดของประชาชน และเป็นสิ่งที่กัดกร่อนงบประมาณของประเทศเป็นอย่างมาก

ยกตัวอย่างนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ดิฉันขออนุญาตหยิบยกเอาข้อมูลที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรวบรวมไว้มาแสดงให้ดู ก่อนหน้าปี 2554 เราทราบว่าการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทยเป็นไปอย่างเชื่องช้า และไม่สัมพันธ์กับอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีทักษะ (unskilled labor) มีรายได้ที่แท้จริงลดลง (ดูจากเส้นสีฟ้าในกราฟ) เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น (เส้นสีเขียว) ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ในขณะที่ผู้มีรายได้จากเงินเดือนโดยเฉลี่ย ได้รับการปรับเพิ่มรายได้ในอัตราที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ (เส้นสีแดง)

อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลนำนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท มาใช้ในบางจังหวัดปี 2555 ค่าแรงขั้นต่ำกลับปรับเพิ่มขึ้นไปแซงหน้าอัตราเงินเฟ้อ และแซงหน้าผู้รับรายได้เป็นเดือน โดยดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 120 ในปี 2554 เป็น 180 ในปี 2555 และคาดว่าจะเป็น 225 ในปี 2556 นี้ ในขณะที่ดัชนีค่าครองชีพยังอยู่ที่ประมาณ 128 หมายความว่าเรายกระดับฐานะของผู้มีรายได้น้อยแรงเกินไปหน่อย และภาระเหล่านี้กลับมาตกอยู่กับผู้ประกอบการที่ต้องใช้แรงงาน โดยบางส่วนถูกผลักออกไปสู่ผู้บริโภค และผู้ประกอบการบางส่วนที่ปรับตัวไม่ได้ ก็ล้มหายตายจากไป ถ้าจะลดผลกระทบในระยะถัดไป ค่าแรงขั้นต่ำควรจะถูกคงไว้ที่ระดับนี้ไปอีกนานค่ะ

จะดีกว่าไหมที่จะกำหนดให้มีการดูแลผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสในระบบ โดยไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ที่จะนำมาขู่ประชาชนว่า “หากไม่เลือกฉันให้มาทำงานต่อ ก็อย่าหวังเลยว่าจะได้ใช้ประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้ต่อไป”

การดูแลลดความเหลื่อมล้ำต้องใช้งบประมาณ ซึ่งดิฉันอยากเสนอให้มีการบริหารเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่รัฐถือครองอยู่อย่าง active และใช้ประโยชน์จากความผันผวนของราคา

หากรัฐสามารถแบ่งบางส่วนของหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่รัฐถืออยู่ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาด ณ 30 กันยายน 2556 ประมาณ 741,000 ล้านบาท มาบริหารจัดการ โดยนำส่วนที่เกินจากที่กำหนดให้ต้องถือครองไม่ต่ำกว่าระดับหนึ่ง เช่น ส่วนที่เกิน 51 หรือ 55% ไปบริหารจัดการ เพื่อให้มีการซื้อขายบ้าง จะสามารถนำเงินรายได้ส่วนนี้มาใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมได้

การลดความเหลื่อมล้ำที่ดีที่สุด คือการให้การศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ให้โอกาสในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะมีความยั่งยืนกว่า ส่วนการให้เข้าถึงทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่นการสาธารณสุข การสื่อสาร การคมนาคม จะช่วยให้ชีวิตของผู้มีรายได้น้อยสามารถดำรงได้อย่างสุขสบายขึ้น

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2546-2555) มีค่าความผันผวนเฉลี่ยปีละ 17.09% และใน 9 เดือนแรกของปีนี้มีค่าความผันผวน 18.46% ค่าความผันผวนนี้มากพอที่จะทำการซื้อขายทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคา และจะมีผลพลอยได้คือ ช่วยทำให้หุ้นไม่ผันผวนจนเกินไป คือไม่ปรับตัวขึ้นรุนแรงตามแรงซื้อ และไม่ปรับตัวลดลงรุนแรงตามแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศด้วย

แต่การบริหารจัดการต้องเป็นไปอย่างมีหลักการและปราศจากการแทรกแซงจากผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วย ดิฉันหวังว่าจะได้เห็นกองทุนบริหารความมั่งคั่งของประเทศไทยภายในปี 2015


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ถึงเวลาทบทวน กองทุนบริหารความมั่งคั่งแห่งชาติ

view