สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

4 ข้อคิดสำหรับประเทศไทย จาก โครงการ 2 ล้านล้าน ของมาเลเซีย (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มายาการเงิน โดย สันติธาร เสถียรไทย

santitarn.sathirathai@gmail.com


หัวข้อเรื่องเศรษฐกิจที่คนถกเถียงกันอย่างร้อนแรงที่สุดในประเทศไทยตอนนี้คงหนี ไม่พ้นเรื่อง โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท หรือที่มีชื่อใหม่ว่า "พ.ร.บ.เพื่อการลงทุน เพื่อสร้างอนาคตของประเทศไทย" โดยฝ่ายสนับสนุนบอกว่าโครงการยักษ์นี้สำคัญนักในระยะยาว เพราะประเทศไทยไม่ได้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นเวลานานแล้ว จึงทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ในระยะสั้น เพราะเศรษฐกิจกำลังต้องการการกระตุ้นในยามอ่อนแอ เมื่อส่งออกมีแรงจำกัด และการบริโภคยังถูกฉุดโดยปัญหาหนี้และรายได้จากการเกษตรที่ไม่ดีนัก

โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของไทยนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยกระตุ้นการลงทุนของเอกชนมากขึ้น และเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ในขณะที่แรงงานของไทยเรามีแต่จะขาดแคลนขึ้นเรื่อย ๆ

4 ประเด็นใหญ่ที่คนเป็นห่วง

แน่นอนทุกนโยบายมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้าน จากที่ศึกษาและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่หลายคน ผมคิดว่าเราสามารถแบ่งข้อกังวลเกี่ยวกับโครงการ 2 ล้านล้านได้เป็น 4 กลุ่มคร่าว ๆ ดังนี้

ประเภทแรกคือ นักเศรษฐศาสตร์ที่กังวลด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น ภาระทางการคลังของรัฐบาลจากการใช้จ่ายที่สูงขึ้น และการขาดดุลทางการค้าที่อาจจะหนักขึ้น ถ้าโครงการเหล่านี้ทำให้การนำเข้าสินค้าโตขึ้นมากอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้นสอง-กลุ่ม ผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนแสดงความกังวลว่า บางโครงการในแผนสร้างอนาคตไทยจะตอบโจทย์เศรษฐกิจของเรา และเข้ากับบริบทของประเทศจริงหรือไม่ ? โดยเฉพาะถ้าเราต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก ต้องเลือกทำโครงการที่จะสามารถเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจในระยะยาวได้จริง

หลายคนคงจะเคยเห็น โครงการขนาดยักษ์ที่ไม่ค่อยได้ประโยชน์ ที่กลายเป็น Road to Nowhere (ถนนที่ไม่มีใครใช้) Unconnected Railway Lines (เส้นทางรถไฟที่ไม่ต่อกับอะไรเลย) หรือ Ghost Town (เมืองที่ไม่มีใครอยู่) เป็น "อนุสาวรีย์แห่งความผิดพลาด" อยู่ในหลายประเทศ เลยเกรงว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย

สาม-กลุ่มที่อาจเห็นด้วยกับโครงการ ต่าง ๆ และแผนการของรัฐบาล แต่ห่วงเรื่องความโปร่งใส และตั้งคำถามในอนาคตว่า เมื่อ พ.ร.บ.นี้คลอดออกมาเรียบร้อยแล้ว จะมีใครสามารถตรวจสอบ ติดตาม และวัดผลการดำเนินงานโครงการเหล่านี้ได้หรือไม่ว่าเป็นไปตามแผนและเจตนารมณ์ ที่รัฐบาลตั้งไว้วันนี้หรือไม่ ทั้งในด้านต้นทุนที่อาจสูงกว่าที่คาด หรือผลประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อโครงการอยู่นอกกรอบของงบประมาณ (Off-Budget) และหลายโครงการก็ยังขาดรายละเอียด เมื่ออายุโครงการยาวถึง 7 ปี ความเชื่อมั่นในรัฐบาลปัจจุบันยังไม่พอ ต้องให้เชื่อรัฐบาลในอนาคตที่จะเข้ามาทำต่อด้วยว่าจะสามารถทำได้ตามที่วาง แผนไว้หรือไม่

กลุ่มสุดท้าย คือหลายคนที่บอกว่า "เกิดไม่กลัว-กลัวแต่จะไม่เกิด" คือเห็นด้วยกับโครงการและไม่ได้กังวลนักถึงปัญหา 3 ข้อแรก แต่กลัวว่าการลงทุนพื้นฐานขนาดยักษ์จะไม่เกิด หรือเกิดความล่าช้าเพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ไม่ได้มี Track Record ที่ดีนักในการทำโครงการขนาดใหญ่ ๆ ยิ่งเห็นหลายโครงการยังไม่ได้ทำ Detailed Design หรือแม้แต่ Feasibility Study และถึงมีทำแล้วก็ยังไม่ได้ผ่าน Environmental and Health Impact Assessment หรือการประเมินผลด้านผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เลยคิดว่าควรรอดูท่าทีก่อนดีกว่า แล้วค่อยลงทุนทีหลัง

ผมไม่ได้มีคำ ตอบว่า ข้อกังวลเหล่านี้มีมูลมากน้อยเพียงใด และก็ไม่ได้มีทางออกที่จะแก้ข้อกังขาต่าง ๆ ที่ว่านี้ได้ทั้งหมด แต่จากการมีโอกาสติดตามนโยบายเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างค่อนข้าง ใกล้ชิด ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่รับผิดชอบดูแลกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน อยากจะตั้งข้อสังเกตว่าจริง ๆ แล้วเพื่อนบ้านใกล้ตัวเรานี้เอง (และบางคนอาจจะเรียกว่าคู่แข่งตลอดกาล) คือ มาเลเซีย ก็มีโครงการ "2 ล้านล้าน" ของเขาเหมือนกัน โดยรัฐบาลเขาได้ดำเนินการโครงการลงทุนพื้นฐานขนาดยักษ์ที่ชื่อ ETP หรือ Economic Transformation Program มาได้ประมาณ 3-4 ปีแล้ว และเขาต้องตอบโจทย์หลายข้อที่เรากำลังเผชิญอยู่เหมือนกัน ผมจึงคิดว่าเราน่ามาลองกลั่นบทเรียนที่สำคัญจากประสบการณ์เขากันบ้าง

ผมเคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องรายละเอียดของแผน ETP นี้มาแล้วตอนต้นในบทความของประชาชาติธุรกิจ ที่ชื่อ "พลิกแผนกู้เศรษฐกิจรัฐบาลมาเลเซีย เผยสูตรลับที่ชื่ออีทีพี" (google หาอ่านได้ครับ) เพราะฉะนั้น วันนี้จะเน้นเรื่องบทเรียนกับข้อคิดจากประสบการณ์ของเขาที่อาจนำมาช่วยใน ประเด็นที่คนเป็นห่วงทั้ง 4 ข้อ

4 ข้อคิดสำหรับ 4 ประเด็นห่วง

1.ห่วงว่าโครงการต่าง ๆ ตอบโจทย์ของประเทศหรือไม่ ?

หลักหนึ่งของ ETP ที่น่าสนใจ คือ การดึงภาคเอกชนมาร่วมอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ต้น เพราะคนที่จะรู้ว่าแต่ละโครงการจะแก้ปัญหาของประเทศได้แค่ไหน ดีที่สุดคนหนึ่งคือคนที่ต้องเผชิญปัญหาเหล่านั้น และคิดหาทางออกอยู่ทุกวัน โดยการที่รัฐบาลดึงภาคเอกชนมาร่วมตั้งแต่เนิ่น ๆ เปรียบเสมือนกับการที่บริษัททำแบบสำรวจความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภค ก่อนที่จะสร้างผลิตภันฑ์หรือบริการใหม่ ๆ

เช่น ถ้าอยากรู้ว่าแต่ละโครงการจะมีส่วนช่วยตอบโจทย์โลจิสติกส์ของประเทศมากแค่ ไหน คงต้องถามผู้ประกอบการธุรกิจขนส่ง เดินรถเดินเรือว่ามีจุดไหนบ้าง โครงการแบบใดบ้างจะช่วยแก้ปัญหาคอขวด ลดต้นทุนโลจิสติกส์กับการพึ่งพาน้ำมันได้มากที่สุด ถ้ามีเงินและทรัพยากรจำกัดก็ต้องเลือกมาแค่บางโครงการ คือโครงการอะไรน่าทำที่สุด และไม่ลืมถามบริษัทต่างชาติด้วยว่า อะไรที่ประเทศอื่นมีแต่เรายังขาด และอะไรบ้างจะทำให้บริษัทขนาดใหญ่อยากมาลงทุนในประเทศของเรามากขึ้น

รัฐบาลมาเลเซียได้รวบรวมทั้งธุรกิจ

ต่างชาติบริษัทในประเทศขนาดใหญ่และขนาดเล็กจากหลายภาคอุตสาหกรรม รวมแล้วประมาณ 400 กว่าคน จากมากกว่า 200 บริษัท (เช่น Shell, Air Asia, PriceWaterhouseCoopers-PWC) มาเพื่อทั้งเสาะถามความเห็นว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร และโครงการแบบไหนบ้างที่น่าจะได้ประโยชน์ตอบโจทย์ได้จริง

นอกจากนี้ เขายังดึงสำนักงานกฎหมาย บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจและบัญชีมาร่วมด้วย เพราะ บริษัทเหล่านี้มักเป็น นักแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการหลายภาคอุตสาหกรรม จึงมีความเข้าใจถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญอีกข้อคือ เวลาองค์กรนานาชาติจัดอันดับความน่าลงทุนของแต่ละประเทศ เช่น Doing Business Ranking ของ World Bank เขามักจะถามความเห็นจากบริษัทเหล่านี้เช่นกัน เพราะฉะนั้น หากตอบโจทย์ที่เขามีจึงได้โอกาสที่จะก้าวขึ้นอันดับสูง ๆ และการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนก็มีสูงเช่นกัน

อีก ข้อหนึ่งที่น่าสนใจของ ETP คือ การที่เขามีการลงรายละเอียดของแต่ละโครงการไว้อย่างชัดเจนมาก ว่าต้นทุนของแต่ละโครงการน่าจะเป็นเท่าไร ประโยชน์ได้รับเชิงรายได้ประชาชาติกับการสร้างงาน และมีแผนการดำเนินการอย่างไรบ้างทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยข้อมูลส่วนใหญ่จะอยู่ในเว็บไซต์ของแผนการที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ แน่นอนผลประโยชน์เหล่านี้เป็นเพียงการประเมินเบื้องต้น แต่การที่มีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมดูอย่างต่อเนื่องก็ทำให้ตัว เลขนั้นมีน้ำหนักมากขึ้น และทำให้คนเข้าใจได้ว่าแต่ละโครงการมีประโยชน์และต้นทุนอย่างไร ดูสมเหตุสมผลหรือไม่

จากการลงรายละเอียดที่มีเอกชนร่วมเช่นนี้ กลายเป็นการที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของมาเลเซียที่ถูกปกป้องมานานตกออก นอกกรอบอุตสาหกรรมหลักที่ประเทศเขาจะเน้นการพัฒนา เพราะมองแล้วว่าอย่างไรก็ตามศักยภาพเขาไม่มีทางสู้ประเทศอย่างไทยได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 4 ข้อคิด ประเทศไทย โครงการ 2 ล้านล้าน มาเลเซีย (1)

view