สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไทยจะเลี่ยงการเป็นชาติที่ล้มเหลวได้อย่างไร

ไทยจะเลี่ยงการเป็นชาติที่ล้มเหลวได้อย่างไร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หัวเรื่องในสัปดาห์นี้ เป็นคำถามที่ผู้คนที่เป็นห่วงเป็นใยบ้านเมืองถามกันและกันตลอดเวลา ไม่มีใครให้คำตอบได้

ทุกคนรู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลง แต่จะเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนอย่างไร และใครจะเป็นผู้เปลี่ยน

ดิฉันได้พบหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งให้คำตอบเรื่องนี้ได้กระจ่างกว่าคำตอบอื่นๆ หนังสือเล่มนั้นชื่อ โลกเปลี่ยน ไทยปรับ และมีโปรยหัวว่า หลุดพ้นจากกับดัก พ้นจากชาติที่ล้มเหลว เขียนโดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ต้องอ่านสำหรับผู้รักชาติและอยากหาทางออกให้กับไทย

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ไม่เพียงแต่เขียนในสิ่งที่วิเคราะห์และมีข้อเสนอแนะ แต่ดร.สุวิทย์ได้พาผู้อ่านย้อนไปมองประวัติศาสตร์เพื่อวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นสาเหตุของการที่เราต้องตกอยู่ในสภาวะที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้ สภาวะที่เราอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ รู้ตัวว่าอ่อนแอลงไป แต่ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร

ดร.สุวิทย์ได้ค้นคว้า และรวบรวมการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญในหลายด้านทั้งทางมานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์มาไว้ในที่เดียว เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาและการก่อตัวของปัญหา

โดยวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาวะการทรุดตัวลงของทั้งระบบ ไล่ตั้งแต่คุณภาพของคน คุณภาพของนักการเมืองค่านิยมและคุณค่าของผู้คนในสังคม ความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคม คุณภาพชีวิต ไปจนถึงคุณภาพการศึกษา

เพื่อให้หลุดพ้นจากสภาวะดังกล่าวเราต้องทำการยกเครื่องทั้งระบบ โดยการปรับรากวัฒนธรรมไทยให้สอดรับกับพลวัตโลก สร้างสังคมที่เป็นธรรมมีความยุติธรรม ธรรมาภิบาล และความเท่าเทียม มีการปลูกจิตสำนึกที่พอเพียง มีการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยแบบผสมผสาน พร้อมกับปลูกฝังจิตวิญญาณประชาธิปไตยเพื่อหลุดพ้นจากอิทธิพล อำมาตยาธิปไตย กับ ธนาธิปไตย ที่ไม่พึงปรารถนา ยกเครื่องภาครัฐ ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และเตรียมคนไทยให้พร้อมเพื่อตอบโจทย์การเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่

แต่เดิม ธุรกิจทุนนิยมในไทยต้องเผชิญกับข้อจำกัดและอุปสรรคมาจากภาครัฐมากมาย และพบทางออกในช่วงหลัง ด้วยการเข้ากุมอำนาจรัฐ ผ่านกลไกการเลือกตั้ง โดยสร้างความชอบธรรมให้กับรูปแบบประชาธิปไตยของตน โดยใช้ประชาชนเป็นฐานความเป็นธรรมให้กับประชาธิปไตย(ในทางรูปแบบ) ผ่านการออกเสียงเลือกตั้ง

ผลกระทบจากการรุกเข้ามาของกระแสทุนนิยมโลก ทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่และเพิ่มคนกลุ่มใหม่ในสังคม คือกลุ่มทุนใหญ่ที่เชื่อมกับเศรษฐกิจโลก และคนจนกับคนชายขอบ เกิดความไม่สมดุลและความเหลื่อมล้ำระหว่างเศรษฐกิจและสังคมในเมืองและในชนบท ระหว่างภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม และระหว่างผู้ได้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ

ปัจจุบันไทยอยู่ในทศวรรษแห่งความมืดมน คือไม่สามารถก้าวพ้นทั้งการเมืองที่มีปัญหาและไร้เสถียรภาพ ไปสู่การเป็นประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพ ทั้งยังไม่สามารถก้าวพ้นสภาวะเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง อ่อนไหว ไปสู่เศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพได้

ภาวะเสี่ยงของไทยประกอบด้วย ความขัดแย้งที่รุนแรง วิกฤติที่ซ้ำซากขีดความสามารถที่ชะงักงัน และรัฐที่ไม่น่าเชื่อถือ

ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มมีอคติ มีผู้ผลักดันให้เลือกข้าง และมีสื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้เกิดสังคมที่ไม่ไว้วางใจกัน ประกอบกับการมีรากฐานที่ไม่มั่นคง มีความเหลื่อมล้ำที่เรื้อรัง มีคุณธรรมจริยธรรมที่เสื่อมทราม มีทุนสังคมที่อ่อนด้อย มีทุนมนุษย์ที่อ่อนแอ มีทุนธรรมชาติที่เสื่อมโทรม และมีรัฐที่ไม่น่าเชื่อถือ ทำให้ไทยเกิดความอ่อนไหวง่ายต่อวิกฤติ ขีดความสามารถชะงักงัน

ดร.สุวิทย์เสนอทางออกไว้ว่า การมี ความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลง และการสร้าง ความสามารถในการปรับเปลี่ยน จะทำให้ไทยสามารถก้าวพ้น รัฐที่กำลังล้มเหลว ไปสู่ รัฐที่ล้ำหน้า ได้

เราต้องสร้างพลเมืองที่ตื่นตัว มีความคิดอุดมการณ์เพื่อชาติเพื่อส่วนรวม เปิดใจกว้าง มีความกระตือรือร้น มีความรู้สึกหวงแหน อยากทำสิ่งดีๆให้กับประเทศรวมถึงเป็นพลเมืองที่ดีของโลก

ดร.สุวิทย์แนะนำถึง การกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ที่จะรับมือกับความผันผวนและภัยคุกคามของโลก การให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ และพัฒนาขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ มีความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ภาครัฐและภาคประชาชน และภาคเอกชนกับภาคประชาชน

สังคมต้อง Clear, Fair, Care, Share หมายถึงมีธรรมาภิบาลที่ดี มีความยุติธรรมบังคับใช้กฎหมาย ใส่ใจในผู้ด้อยโอกาส พยายามลดความเหลื่อมล้ำ และมีระบบคุณค่าและจิตสำนึกร่วมของคนในชาติ

การทำรัฐให้น่าเชื่อถือ ดร.สุวิทย์ยกตัวอย่างสิงคโปร์ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีลีกวนยู มองว่าต้องมีคนมีความสามารถพิเศษ มีคุณธรรมและจริยธรรมขับเคลื่อนรัฐบาล ภาครัฐและสถาบันสำคัญๆ เพราะหากปราศจากคนเหล่านี้ ประเทศจะค่อยๆ ถดถอยลง

ดร.สุวิทย์เสนอการซ่อมวัฒนธรรมเดิมและสร้างวัฒนธรรมใหม่ โดยลดทอนระบบอุปถัมภ์ ระบบศักดินา อภิสิทธิ์ชน อำนาจนิยม ลดยึดรูปแบบเนื้อหา ลดความฉาบฉวย และการแสดงออกที่เกินงาม

รักษาความมีน้ำใจ อัธยาศัยไมตรี ความเกรงใจ และความสนุกสนาน

ปลูกฝังคุณค่าปัจเจกนิทัศน์ คุณค่าจิตสาธารณะ คุณค่าการวิจารณ์ตนเอง และคุณค่าที่เน้นการปฏิบัติอย่างมีเป้าหมาย

สร้างสังคมเป็นธรรม สังคมแห่งความเท่าเทียม ทั้งความเท่าเทียมในการใช้อำนาจ เท่าเทียมในโอกาส สร้างพลเมืองที่ตื่นตัว มีความรับผิดชอบ ไว้วางใจและเชื่อมั่นในกติกา เปลี่ยนการบริหารจัดการภาครัฐให้เน้นผลงาน และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหรือเทียบเท่าภาคเอกชน เน้นความยืดหยุ่นในการบริหารงาน ข้าราชการทำงานแบบกลยุทธ์มากขึ้น เน้นสนับสนุนส่งเสริมและสร้างภาคประชาชนให้เข้มแข็งมากขึ้น

ท้ายที่สุด ดร.สุวิทย์ เสนอเปลี่ยนกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นแบบเศรษฐกิจสร้างมูลค่า เชื่อมโยงเทคโนโลยีกับอุตสาหกรรม ปรับการศึกษาให้สอดรับ

สิ่งสำคัญคือ คนไทยต้องเชื่อมั่นความสามารถของตนเอง ที่จะเป็นผู้ปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไทย เลี่ยง ชาติที่ล้มเหลว

view