สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไอซ์แลนด์: ประเทศที่ผู้หญิงมีความเท่าเทียมมากที่สุด

ไอซ์แลนด์: ประเทศที่ผู้หญิงมีความเท่าเทียมมากที่สุด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา World Economic Forum ได้ออกรายงานการวิจัยเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างหญิงชายประจำปี 2013

โดยประเทศที่ได้รับการจัดอันดับที่หนึ่งคือไอซ์แลนด์ ได้รับคะแนน 0.8731 จากคะแนนเต็ม 1.0

ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเป็นที่หนึ่งมาตั้งแต่ปี 2009

ก่อนหน้านั้นไอซ์แลนด์เคยได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 4 ทั้งในปี 2006, 2007 และ 2008 แต่ได้ปรับปรุงดีขึ้นจนได้อันดับที่หนึ่งมาเป็นเวลา 5 ปีต่อเนื่อง

ไอซ์แลนด์ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ เป็นประเทศเกาะ ตั้งอยู่ระหว่างทะเลกรีนแลนด์และมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ มีพื้นที่ 103,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ภูเขา ทุ่งน้ำแข็ง ภัยธรรมชาติที่คุกคามคือแผ่นดินไหวและการปะทุของภูเขาไฟ ท่านอาจจะยังจำกันได้ว่า เมื่อปี 2010 การปะทุของภูเขาไฟ Eyjafjallajokull ซึ่งสูง 1,666 เมตร ทำให้การคมนาคมทางอากาศในยุโรป หยุดชะงักไปหลายวัน

ไอซ์แลนด์เป็นอิสระจากการปกครองของเดนมาร์กเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 1944 ปัจจุบันปกครองระบอบสาธารณรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ประธานาธิบดีจะได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทุก 4 ปี คนส่วนใหญ่มีเชื้อสายนอร์ส และเซลท์(หรือเคลท์)

ขนาดของเศรษฐกิจวัดด้วยจีดีพีของไอซ์แลนด์ เท่ากับ 13,650 ล้านเหรียญ ในปี 2012 เศรษฐกิจหลักของไอซ์แลนด์ เป็นภาคบริการ โดยภาคบริการมีสัดส่วนถึง 70.7% ของจีดีพี ส่วนภาคการเกษตร จะมีการประมงเป็นหลัก เชื่อหรือไม่ว่าปลาและผลิตภัณฑ์ปลา เป็นสินค้าส่งออกหลักที่มีมูลค่าถึง 40% ของการส่งออกทั้งหมด

เช่นเดียวกับไอร์แลนด์ที่ดิฉันเคยเขียนไปก่อนหน้านี้ ประชากรของไอซ์แลนด์อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกาและแคนาดากันค่อนข้างมากในช่วงหลังสงครามโลก จึงทำให้จำนวนประชากรค่อนข้างน้อย ปัจจุบันมีประชากร 315,281 คน

วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ทำให้ค่าเงินของไอซ์แลนด์ตก และธนาคารใหญ่ 3 แห่งล้ม จนประเทศต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก ไอเอ็มเอฟ กว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปัจจุบันเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว แต่หนี้สาธารณะยังสูงถึง 124.7% ของ จีดีพี

กลับมาถึงการจัดอันดับความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายต่อนะคะ การจัดอันดับนี้มีปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณา 6 ปัจจัย คือ การมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ สุขภาพและการอยู่รอด การเข้าถึงการศึกษา และ การได้รับอำนาจและการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยศึกษาทั้งหมด 136 ประเทศ

ประเทศฟินแลนด์มาเป็นอันดับที่สอง ตามด้วยนอร์เวย์ สวีเดน ที่น่าแปลกใจคือ ฟิลิปปินส์ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 5 จากอันดับที่ 8 ในปีก่อน

ท่านคงจะสงสัยว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่เท่าไร คำตอบคือ 65 ค่ะ เท่ากับปีที่แล้ว โดยได้คะแนน 0.6928 แต่เมื่อมองย้อนกลับไป 7 ปี เราเคยอยู่ในอันดับที่ 40 เมื่อปี 2006 ด้วยคะแนน 0.6831

คะแนนเราเพิ่มขึ้น 0.0099 หรือ 1.4% แต่อันดับเราตกลงมา 25 อันดับ ในความจริงก็มีประเทศที่เขานำมาจัดอันดับเพิ่ม แต่ก็ไม่มากนัก ในที่นี้ดิฉันขอข้ามไปไม่นำปัจจัยนี้มาวิเคราะห์

เราจะพบเหมือนที่เราพบในกรณีการจัดอันดับอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการแข่งขัน หรือการพัฒนาประเทศ ฯลฯ ว่าประเทศไทยก็มีการปรับปรุงขึ้น มีการพัฒนาดีขึ้น แต่จะดีขึ้นเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาพัฒนาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เขาจึงมีอันดับที่สูงขึ้น

เราอาจจะมองอีกด้านหนึ่งคือ วัฒนธรรมของเราไม่ชอบการแข่งขัน จึงทำให้เราต้องการอยู่อย่างสงบๆ แต่ทุกๆ คนต้องปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะทุกๆ วันที่ผ่านไป มาตรฐานใหม่ก็จะสูงขึ้น ถ้าเราไม่ปรับปรุง เราก็ถอยหลัง ดังที่เกิดขึ้นมาประมาณ 2 ทศวรรษแล้วค่ะ

ยกตัวอย่างการวิจัยนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2006 ประเทศไทยมีคะแนนดีขึ้น 1.4% ในขณะที่สวิตเซอร์แลนด์มีคะแนนดีขึ้น 10.6% อินเดีย ดีขึ้น 9% จีนและนอร์เวย์มีคะแนนดีขึ้น 5.3% เกาหลีใต้ดีขึ้น 3.1% เป็นต้น

ที่ดิฉันยกเรื่องนี้ขึ้นมา อยากจะเตือนว่า ในการพัฒนา ไม่ว่าจะพัฒนาบุคคล หรือประเทศ ทุกอย่างล้วนต้องมองแบบเปรียบเทียบ (relative) อย่ามองเฉพาะตัวเราเองว่าดีแล้วและใช้เวลาชื่นชมพอใจกับสิ่งที่เราทำมาได้ดี จนลืมไปว่าจะต้องปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่เราทำคะแนนได้ดีที่สุดคือ เรื่องสุขภาพและการอยู่รอด ซึ่งเราได้อันดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 0.9898 โดยมีประเทศที่ได้อันดับหนึ่งรวม 32 ประเทศ ทั้งนี้ต้องให้คะแนนกับนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่บุคลากรทางสาธารณสุขใช้เวลาผลักดันกันหลายปี จนสามารถตราพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ในพ.ศ. 2545 สมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร

เรื่องการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่หนึ่งคือนอร์เวย์ สหรัฐอเมริกาได้อันดับที่ 6 สปป.ลาว ได้ที่ 8 และไทยได้ที่ 50

การเข้าถึงศึกษา มีลำดับที่หนึ่งอยู่ 25 ประเทศ ส่วนไทยเราได้ลำดับที่ 78 ค่ะ

เรื่องของการได้รับอำนาจและการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไอซ์แลนด์ ได้อันดับที่หนึ่ง ด้วยคะแนน 0.7544 ส่วนไทยเราได้อันดับที่ 89 ด้วยคะแนน 0.0992 คะแนนต่างกับที่หนึ่งเยอะมาก

รายงานยังให้ข้อมูลว่า การที่รัฐมีนโยบายและการดำเนินการที่จะลดช่องว่าง เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้แต่ละประเทศมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงพัฒนาในเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย

เมื่อพิจารณาแล้ว หากเราต้องการให้อันดับของเราดีขึ้น เราน่าจะเพิ่มจำนวนผู้หญิงที่มีส่วนร่วมในภาคการเมืองก่อน อาจจะกำหนดสัดส่วนเหมือนบางประเทศ ดิฉันขอยกตัวอย่างเช่น ในช่วงแรก อาจกำหนดว่าอย่างน้อยต้องมีผู้หญิงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา 30% เป็นต้น เพื่อช่วยให้มีแต้มต่อ เมื่อถึงเวลาที่มีผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มขึ้นแล้ว เราก็อาจจะยกเลิกเกณฑ์นี้ไป

***ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเทศไอซ์แลนด์จาก World Fact Book ของ CIA


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไอซ์แลนด์ ประเทศ ผู้หญิงมีความเท่าเทียม มากที่สุด

view