สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธรรมชาติกับตลาดทุน (3) : ความเสี่ยงของนักลงทุนจาก ฟองสบู่คาร์บอน

ธรรมชาติกับตลาดทุน (3) : ความเสี่ยงของนักลงทุนจาก "ฟองสบู่คาร์บอน"

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ซีรีส์ย่อยนี้ตอนแรกพูดถึงความสำคัญและความจำเป็นของการประเมิน“มูลค่า”ของธรรมชาติ ตอนที่สองพูดถึงความแตกต่างระหว่างสาธารณูปโภค“เขียว”กับ“เทา”

และยกตัวอย่างโครงการชนิด “เขียว” ที่ให้มูลค่าสูงกว่าโครงการ “เทา” อย่างชัดเจน

ประโยชน์ทางธุรกิจของโครงการที่อนุรักษ์และอยู่ร่วมกับธรรมชาติต้องใช้เวลานานกว่าจะปรากฏ ในทำนองเดียวกัน ต้นทุนจากการทำธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนก็ใช้เวลานานกว่าจะปรากฏเป็นต้นทุนจริงของบริษัท

ในเมื่อราคาในตลาดทุนสะท้อน “มูลค่าในอนาคต” ของหลักทรัพย์ที่นักลงทุนคาดหวังว่าจะได้รับ และในเมื่อวันนี้เรารู้อย่างแน่นอนแล้ว (ยกเว้นในโลกทัศน์อันคับแคบของคนที่ไม่อยากยอมรับความจริง) ว่า ตัวการสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือการเผาผลาญคาร์บอน ซึ่งมีอุตสาหกรรมพลังงานเป็นหัวหอกสำคัญปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จึงจับมือกับนักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ และนักวางแผนนโยบายสาธารณะ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายรวมทั้งนักลงทุนมองเห็น “ต้นทุน” ของถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งวันนี้นักลงทุนยังนับว่าเป็น “สินทรัพย์” ที่มีแนวโน้มสร้างรายได้ในอนาคต

ในปี 2013 องค์กรไม่แสวงกำไร Carbon Tracker ร่วมกับสถาบันวิจัย Grantham แห่ง London School of Economics อันโด่งดัง ออกรายงาน “Unburnable Carbon 2013” (http://www.carbontracker.org/wastedcapital) ชี้ว่า ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติสำรองราวร้อยละ 60-80 ของปริมาณสำรองทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกนั้น “ขุดขึ้นมาเผาผลาญไม่ได้” ถ้าหากโลกเราจะมีโอกาสยับยั้งภาวะโลกร้อนไว้ ไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส

ถ้าหากวันหนึ่งในอนาคต บ่อเกิดคาร์บอนเหล่านี้ถูกขุดขึ้นมาใช้ไม่ได้จริงๆ (ไม่ว่าจะจากแรงบังคับของกฎหมาย แรงกดดันของสังคม หรือปัจจัยอื่นใดก็ตาม) ก็แปลว่าบริษัทจะสร้างรายได้จากมันไม่ได้ ซึ่งย่อมหมายความว่ามันไม่ใช่ “สินทรัพย์” และราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ก็จะต้องลดลงหลายเท่าตัว เพื่อสะท้อนรายได้ในอนาคตที่หายไป เท่ากับว่าวันนี้โลกมี “ฟองสบู่คาร์บอน” เพราะราคาหุ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมพลังงานจากฟอสซิลรวมถึงอุตสาหกรรมอื่นที่อิงคาร์บอนยังไม่สะท้อนความเสี่ยงดังกล่าว

อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้โด่งดังจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Inconvenient Truth ประกาศว่าฟองสบู่คาร์บอนอาจเป็น “ฟองสบู่ที่ใหญ่ที่สุด” ในประวัติศาสตร์การเงิน จากการที่ “สินทรัพย์คาร์บอนสูง” (high-carbon assets) ยังถูกบันทึกมูลค่ามหาศาลบนงบดุลของบริษัทตามรายงานข่าวของ The Guardian (http://www.theguardian.com/environment/2013/nov/01/gore-warns-carbon-bubble) กอร์ประกาศต่อไปว่า “ผู้จัดการการลงทุนที่ไม่คำนึงถึงความเสี่ยงข้อนี้กำลังล้มเหลวในการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้นและนักลงทุน”

รายงาน “Stranded Carbon Assets : Why and How Carbon Risks Should Be Incorporated in Investment Analysis” (สินทรัพย์คาร์บอนที่ถูกปล่อยเกาะ : ความเสี่ยงคาร์บอนควรถูกผนวกรวมไว้ในการวิเคราะห์การลงทุนทำไมและอย่างไร, ดาวน์โหลดได้จาก http://genfound.org/media/pdf-generation-foundation-stranded-carbon-assets-v1.pdf) โดย Generation Foundation ขาไม่แสวงกำไรของ Generation Investment Management บริษัทจัดการลงทุนที่ส่งเสริม “ทุนนิยมที่ยั่งยืน” ซึ่งอัล กอร์ ก่อตั้งร่วมกับ เดวิด บลัด (David Blood) อดีตซีอีโอของ โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) บริษัทวาณิชธนกิจชื่อดังในปี 2004

รายงานฉบับนี้ระบุว่า “สินทรัพย์คาร์บอนที่ถูกปล่อยเกาะ” อย่างเช่นเหมืองถ่านหิน โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน รวมกันมีมูลค่าสูงถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ในงบดุลของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก และสินทรัพย์ลักษณะนี้ที่อยู่ในมือของบริษัทเอกชนที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ รัฐบาล และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติก็มีมูลค่ามากกว่านี้ถึงสองเท่า

The Guardian รายงานบริบทและความสำคัญของรายงาน Stranded Carbon Assets ว่า “ขณะที่อันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ และขณะที่กฎเกณฑ์เกี่ยวกับคาร์บอนและการลงมือคิดราคาคาร์บอนในหลายส่วนของโลกเริ่มออกฤทธิ์ สินทรัพย์เหล่านี้ก็จะถูกคุกคามจากกฎระเบียบ และความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงระบอบเศรษฐกิจให้เข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ไม่กี่ปีมานี้ ผู้นำทางความคิดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายคนได้ออกมาชี้ “ฟองสบู่คาร์บอน” แต่ข้อค้นพบเหล่านี้ยังส่งผลกระทบที่แท้จริงน้อยมากๆ ต่อพฤติกรรมของนักลงทุน

“วันนี้ กอร์และบลัด ผู้ร่วมก่อตั้ง Generation Investment Management ได้เสนอแผนสี่ข้อที่พวกเขาบอกว่า จะช่วยคุ้มครองนักลงทุนในอนาคต พวกเขา 1) เรียกร้องให้บริษัท นักลงทุน และผู้กำกับดูแลภาครัฐ ระบุความเสี่ยงจากคาร์บอนในพอร์ตการลงทุน 2) เรียกร้องให้ผู้จัดการบริษัทและคณะกรรมการบริษัทเปิดเผยความเสี่ยงเหล่านี้ต่อสาธารณะ 3) เสนอให้กระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังโครงสร้างคาร์บอนต่ำอย่างเช่นพลังงานหมุนเวียนและรถยนต์ไฟฟ้า และ 4) เสนอให้ย้ายเงินออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและสินทรัพย์คาร์บอนสูงชนิด หรือแปลงมันเป็นสินทรัพย์คาร์บอนต่ำ เช่น ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ดักจับและกักเก็บคาร์บอนในโรงไฟฟ้า

“กอร์กล่าวกับ The Guardian ว่า “ฟองสบู่นี้อาจเป็นฟองสบู่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ถ้าหากนักลงทุนพิจารณาดูดีๆ โดยใช้หลักการจัดการความเสี่ยงแบบดั้งเดิม พวกเขาก็หลีกเลี่ยงมันได้ทัน” เขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะรอให้รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกมาตกลงกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แบบที่เคยทำสมัยลงนามในพิธีสารเกียวโตซึ่งเขามีส่วนร่วมสร้างในปี 1997 กอร์บอกว่านักลงทุนต้องลงมือทำเร็วกว่านั้น เขาสนับสนุนให้นักลงทุนรายย่อยเรียกร้องให้กองทุนบำเหน็จบำนาญหรือผู้จัดการกองทุนของตัวเองลงมือประเมินขนาดของความเสี่ยงที่กำลังรับจากความเสี่ยงคาร์บอน

“สินทรัพย์ที่มีปริมาณคาร์บอนสูงสุด เช่น ทรายน้ำมันและถ่านหิน สะท้อนอันตรายที่ร้ายแรงที่สุด แต่โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อย่างเช่นภาคขนส่งและก่อสร้างก็มีส่วนเช่นกัน

“กอร์เตือนว่า ถ้าหากเรามองไม่เห็นความเสี่ยงที่มาพร้อมกับสินทรัพย์คาร์บอนสูง ผลพวงที่จะเกิดกับสินทรัพย์อื่นๆ ในระยะเวลาหนึ่งทศวรรษหรือนานกว่านั้น ก็จะรุนแรงมาก (จากผลพวงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขั้นรุนแรง) สินทรัพย์อื่นอย่างเช่น “ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคการเกษตร และสาธารณูปโภค” ตกอยู่ในความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมูลค่าที่ลดฮวบลงก็มองเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เวลาที่เกิดอุทกภัย ภัยแล้ง และพายุ

“บลัดเสริมว่า ในเมื่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นที่ประจักษ์ชัดมานานหลายปีแล้ว ผู้จัดการการลงทุนคนไหนก็ตามที่ยังไม่ประเมินความเสี่ยงด้านนี้ในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนก็เท่ากับว่า “ล้มเหลวในหน้าที่” ต่อนักลงทุนและผู้ถือหุ้นที่เขาหรือเธอทำงานให้ ประเด็นนี้อาจนำไปสู่การฟ้องร้องได้ในอนาคต ถึงแม้บลัดจะหวังว่าการฟ้องร้องน่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ ถ้าหากทุกฝ่ายทำตามข้อเสนอแนะในรายงาน เขากล่าวว่าวันนี้นักลงทุน “รู้สึกว่ากำลังถูกหลอกให้ตายใจ” ตราบใดที่ยังไม่คำนึงถึงความเสี่ยงจากคาร์บอนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

“ธุรกิจที่ชาญฉลาด” ในศตวรรษนี้ หาใช่ธุรกิจที่เน้นความมั่นคง ทำธุรกิจเดิมๆ แบบเดิมๆ อีกต่อไป หากแต่เป็นธุรกิจที่กล้า “กระโจน” ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนที่จะถูก “ผลัก” ให้เปลี่ยนโดยปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ภาครัฐ เสียงเรียกร้องจากผู้บริโภค หรือแรงกดดันจากผู้ถือหุ้นก็ตาม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธรรมชาติ ตลาดทุน ความเสี่ยงของนักลงทุน ฟองสบู่คาร์บอน

view