สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ท่านประธานที่เคารพ-สว-กว่า-80คนประท้วงอะไร

จาก โพสต์ทูเดย์

ตอนท่านประธานแสดงวิสัยทัศน์เพื่อขอให้พวกเราเลือกข้อแรกที่ท่านเน้นมากคือ"ความเป็นกลาง" แต่วันนี้ท่าน “เป็นกลาง” ไม่มากพอ

หมายเหตุ : ข้อความดังต่อไปนี้ เป็นการอภิปรายของนายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ สว. ซึ่งได้อภิปรายเรื่องร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยให้เหตุผลถึงสาเหตุที่สว.มากกว่า80คน ประท้วงพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ท่านประธานวุฒิสภาที่เคารพ กระผมนายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ สมาชิกวุฒิสภา สรรหาภาคอื่น จากกระทรวงสาธารณสุข และพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์

ผมขอบคุณประธานวุฒิสภา รองประธานสุรชัย และ สว.เกชา ศักดิ์สมบูรณ์ มาก ที่กรุณาพักการปรึกษาหารือ สว.จำนวน 69 คน ในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา แล้วเดินไปพบปะกับผมและเพื่อนสว.อีกจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมประชุมกรณีพิเศษตามที่ท่านประธานเรียก และชุมนุมปรึกษาหารือเรื่องวิกฤต พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกันอยู่ที่ห้อง 306-308 อาคาร 2 ทำให้เกิดความรู้สึกว่า โอกาสที่เรา สว.จะยังเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน ไม่แตกแยกกันจนเกิดเยียวยายังมีอยู่ จะมีอะไรน่าเสียใจไปกว่าการที่ สว. ซึ่งมีเพียง 149 คน ไม่สามารถจะรักษาความเป็นเอกภาพเพื่อทำหน้าที่ของวุฒิสภาให้สมบูรณ์ต่อไปได้

ท่านประธานครับ ผมไม่ได้เข้าร่วมประชุมเพราะเหลืออดและทนไม่ไหวแล้วครับ การลุกลี้ลุกลนของท่านประธานครั้งนี้เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายบนหลังผม

ภาพลักษณ์ของวุฒิสภาตกต่ำลงเป็นลำดับตั้งแต่ท่านประธานไปร่วมลงชื่อขอแก้รัฐธรรมนูญกับเขาด้วย ท่านประธานดำเนินการประชุมหลายโอกาสด้วยอารมณ์ ด้วยอำนาจ จนวุฒิสภาของเราถูกดูแคลน ถูกหาว่าเป็นเครื่องมือ เป็นบริวาร หรือแม้แต่เป็นสภาทาสของรัฐบาล หรือของเสียข้างมากในสภาผู้แทน ในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง ผมรู้สึกอึดอัดมาก รู้สึกเสียเกียรติภูมิ และรู้สึกเสียใจที่เราเป็นที่ผิดหวังของประชาชนเมื่อฟางเส้นสุดท้ายหล่นลงบนหลังผม ด้วยการลุกลี้ลุกลนของท่านประธานที่เปรียบเสมือนจะเอาใจ (Please) รัฐบาลจนเกินงาม ผมจึงตัดสินใจประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อท่านประธานครับ ผมร่วมทำอารยะขัดขืนกับเพื่อนสมาชิกอีกเกือบ 80 คน ด้วยการไม่เข้าประชุม

ไม่ใช่ว่าผมไม่สนใจช่วยแก้ปัญหาบ้านเมืองตามที่ถูกกล่าวหา มันอยู่ที่การให้ความหมายของคำว่า “ปัญหาบ้านเมือง” ต่างกันครับ ผมเห็นว่าท่านประธานสับสน ไปเอาปัญหาของรัฐบาลมามองเป็นปัญหาบ้านเมือง ผมเห็นว่ามวลมหาประชาชนกำลังแก้ปัญหาบ้านเมืองด้วยซ้ำไป ม็อบไม่ได้เป็นปัญหา แต่ม๊อบกำลังแก้ปัญหาครับ ถ้าเราติดตามเวทีประชาชนโดยละเอียด จะเข้าใจได้ชัดเจนว่า ประชาชนเขายกระดับการชุมนุมไปนานแล้ว แม้นว่าวุฒิสภาคว่ำกฎหมายได้วันที่ 8 พ.ย. เขาก็ไม่เลิกชุมนุมหรอกครับ เขารู้ดีว่ากฎหมายเพียงสลบเท่านั้น แต่เขาเรียกร้องให้กฎหมายตาย เขาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง ปฎิรูปประเทศแล้วครับ ไม่ใช่เพียงแต่ยับยั้งกฎหมายอัปยศฉบับนี้

วันที่ 8 พ.ย. นั้น เริ่มมีเสียงด้วยซ้ำว่ารัฐบาลให้วุฒิสภา รับไว้แก้ไขให้กลับไปเป็นร่างของนายวรชัย เหมะ และยังให้แก้ไข 3 วาระรวดอีกด้วย ยิ่งไปใหญ่เลยครับ ผมรู้สึกว่ารัฐบาลเอาแต่ได้ เห็นเราเป็นอะไร มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการแก้ไขจนทะลุซอย หรืออัปลักษณ์ยิ่งกว่าเดิม ไว้ใจใครในรัฐบาลและคนของรัฐบาลในวุฒิสภาไม่ได้เลย

ในทางเทคนิคแล้ว กฎหมายอัปยศนี้ยิ่งไม่มีทางผ่าน เพราะกรรมาธิการได้แก้ไขหลักการของร่างกฎหมายซึ่งการแก้ไขหลักการนี้ผิดรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม

ท่านประธานจะเห็นว่าผมมีเหตุ มีผลที่ไม่เข้าประชุม เพื่อน สว.คนอื่นก็มีเช่นกัน แต่เราไม่ได้แลกเปลี่ยนกัน เพราะประธานไม่จัดให้มีการหารือ ไม่จัดเวทีพูดคุยครับ ความเห็นต่างเลยกลายเป็นการขัดแย้งน่ารังเกียจ

ผมไม่เสียใจ ไม่โกรธที่ถูกเพื่อน สว.69 คน ในที่ประชุมตำหนิ ติเตียน เหยียดหยาม ถึง 4-5 ชั่วโมง ออกอากาศไปทั่วประเทศนะครับ (ทั้งไทยพีบีเอสและช่อง 11 ถ่ายทอดสดทั้งที่ไม่ได้เป็นการประชุมครับ) เพราะเข้าใจความรู้สึกของเพื่อน สว. และเคารพในความเห็นต่าง คนหมู่มากจะไม่มีความคิด ความเห็นต่างย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เป็นเรื่องปกติของหมู่คนครับ สภาก็มีไว้เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นต่างนี่แหละ ความเห็นต่างมีมากๆยิ่งดี จะได้รอบคอบและครบถ้วนทุกมุมมอง สำคัญที่ประธานครับ ต้องกลั่นความเห็นต่างนี้ออกมาให้เป็นครีม นำไปใช้ประโยชน์ได้ ถ้าประธานไม่ทำหน้าที่ให้ดี โอกาสที่ความเห็นต่างจะกลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง โกรธเคือง ก็มีสูง นำไปสู่การเสียเกียรติภูมิ ภาพลักษณ์ขององค์กร ประธานสำคัญมากครับ

ตอนท่านประธานแสดงวิสัยทัศน์เพื่อขอให้พวกเราเลือกท่านเป็นประธานนั้น วิสัยทัศน์ข้อแรกที่ท่านเน้นมากคือ “ความเป็นกลาง” ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่แล้วมาถึงวันนี้ผมว่าท่าน “เป็นกลาง” ไม่มากพอครับ เหตุเดียวนี้แหละทำให้เกิดวิกฤติครั้งแล้ว ครั้งเล่า ทั้งในวุฒิสภาและในรัฐสภา ภาพลักษณ์ของวุฒิสภาตกต่ำลงเป็นลำดับ แล้วฟางเส้นสุดท้ายก็หล่นลงมาด้วยกรณีกฎหมายอัปยศฉบับนี้เอง ยังมีโอกาสครับ ผมมองโลกแง่ดีว่า  ท่านประธานไม่ได้เป็นคนไม่ดี ไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อวุฒิสภาและเพื่อนสมาชิก แต่เป็นเพราะประธาน หลุด ประธานพูดเองในห้องประชุม 306 วันที่ 8 พ.ย. ว่า “ผมไม่มีอะไรหรอก ผมเป็นคนชอบช่วยเหลือเพื่อน เพื่อนขออะไร ให้ช่วยอะไร ผมยินดีทำทุกอย่าง” ผมเชื่อครับ ประกอบกับท่านประธานเป็นคนใจเร็ว ชอบเห็นความสำเร็จของงานเร็ว จึงสั่งการและพูดออกไปโดยใช้ความรอบคอบไม่พอ บางครั้ง ลืมคิด ลืมหลักการไปทีเดียว ท่านประธานลืมไปว่าในสภานี้มีคนหลายกลุ่ม หลายความคิด หลายสาย ก่อนจะสั่งการหรือพูดใดๆออกไป ต้องฟังให้ครบทุกสาย ทุกฝ่ายเสียก่อน หาจุดกลาง หรือจุดลงตัวให้ได้ จึงเริ่มเดิน ท่านประธานเร็วไปครับ

วันที่ 8 พ.ย.ในห้อง 306 ประธานก็รับปากกับพวกผมเร็วไป (ว่าจะเลื่อนไปประชุมวันที่ 11 พ.ย.) ประธานลืมไปว่า สว. 69 คนในห้องประชุมจะคิดอย่างใด สื่อคนหนึ่งถามท่าน ประธานก็ยังอุตส่าห์ยืนยันว่าไม่มีปัญหาครับ ผมคุยแล้ว ทุกฝ่ายเห็นตรงกันหมด ผมว่าจะเตือนแล้วก็เตือนไม่ทัน (นักข่าวแห่เข้ามาในห้องมืดฟ้ามัวดิน) และท่านประธานก็โดนจนได้ กลับมาถึงห้องประชุม พอแจ้งผลการพบปะเสร็จก็ถูกตำหนิติเตียนอย่างรุนแรงอีกหลายยก ประธานโดยทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะ “เร็ว” ไปครับ (อยากให้พวกผมดีใจ อยากให้เรื่องจบดี)

ท่านประธานครับ จากวันที่ 11 พ.ย. ไป จะเริ่มดีขึ้นครับ ดาวเสาร์ กับ ดาวราหู ก็จะโคจรจากกันแล้ว ประเทศเราจะเริ่มสงบเย็น ท่านประธานกอบกู้ภาพลักษณ์วุฒิสภานะครับ ผมขอเสนอดังนี้ 1.คิดนานๆ ทุกครั้งก่อนพูด 2.ฟังทุกฝ่ายก่อนสั่งการ 3.เป็นตัวประสานการทำงานครับ ไม่ใช่เป็นผู้นำความคิด 4.ที่สำคัญที่สุดท่านประธานควรชวนทุกฝ่ายในบ้านเมือง “ปฏิรูปประเทศ” ครับ โดยเฉพาะภาค “การเมือง”
4-5 เดือนที่เหลือของเรา ทันครับ ทันก่อนหมดวาระแน่ ผมคิดว่าวุฒิสภาอยู่ในฐานะที่จะเป็นตัวกลางปฎิรูปประเทศได้ เริ่มไว้ก็ยังดีครับ แม้จะไม่เสร็จ แต่เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ครับ งานไม่ยากจนเริ่มไม่ได้ การปฏิรูปประเทศภาคการเมืองนี้ จะเป็นมรดกของท่านประธานที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุกฎหมายอัปยศนี้ขึ้นมาอีกได้ และจะป้องกันระบอบทุนสามานย์ไม่ให้มามีอำนาจครอบงำการเมืองไทยครับ ให้การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็ง ถ้าทำได้มีอานิสงส์สูง เป็นบุญใหญ่ครับ แต่ถ้าไม่ทำ เพราะประธานไม่เห็นด้วยกับผมว่าภาพลักษณ์เราตกต่ำ หรือไม่เห็นด้วยว่า ประธานเป็นต้นเหตุสำคัญของวิกฤตหลายครั้ง ผมขอด้วยความรักท่านประธานพิจารณาตนเอง ลาออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาเสีย (แม้จะเหลือเพียง 4-5 เดือน) เป็นการแสดงความรับผิดชอบเยี่ยง “รัฐบุรุษ” ของนานาอารยประเทศครับ

ขอบพระคุณ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ท่านประธานที่เคารพ สว 80คน ประท้วงอะไร

view