สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่อนรถคันแรกไม่ไหว-ทำอย่างไรดี

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ดำรงเกียรติ มาลา

ภาระค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากงวดผ่อนชำระปกติที่ตามมาจากการซื้อรถ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าล้างรถ ค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน ค่าต่อทะเบียนและค่าจิปาถะอีกสารพัดสารเพ ซึ่งรวมๆแล้วอาจคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่  6,000-10,000 บาทต่อเดือน นับว่าเป็นภาระของผู้ซื้อรถที่หนักไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อในโครงการรถแรกของภาครัฐที่จำนวนไม่น้อยเป็นผู้มีรายได้ระหว่าง 15,000 -25,000 บาทต่อเดือน

จึงไม่น่าแปลกใจที่ในเวลานี้เราจะเริ่มได้ยินเสียงโอดครวญถึงค่าใช้จ่ายที่ตึงตัวจากกลุ่มผู้ซื้อรถคันแรกที่ดังขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าข้อมูลล่าสุดจากสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยยังระบุว่า ยอดรถคันแรกที่ถูกยึดเพื่อนำไปขายทอดตลาดทั้งระบบจะมีจำนวนอยู่เพียง 300 คัน จากจำนวนผู้ที่รับสิทธิ์ทางภาษีไปแล้ว 5 แสนราย แต่สถาบันการเงินแทบทุกแห่งต่างก็ออกมายอมรับว่าเริ่มเห็นปัญหาการชำระหนี้ของลูกค้าเพิ่มขึ้นจริง

ยิ่งกว่านั้นหลายสถาบันการเงินยังแสดงความกังวลถึงภาวะเวียนหนี้ของผู้บริโภคบางกลุ่มที่มักจะหาทางออกง่ายๆเมื่อผ่อนชำระค่างวดไม่ไหวด้วยวิธีกดเงินสดจากบัตรกดเงินสดหรือบัตรเครดิตซึ่งมีดอกเบี้ยสูงมาหมุนโปะหนี้ไปก่อน เรียกได้ว่ายอมเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่อยากผิดนัดชำระให้เสียประวัติ

ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ปัญหาการผ่อนชำระไม่ไหวที่เกิดขึ้นมักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่ไม่ได้คำนวณค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก่อนซื้อรถ เพียงมั่นใจว่าค่างวดแค่นี้ฉันผ่อนไหวประกอบกับการอยากได้สิทธิทางภาษีก็ตัดสินใจซื้อทันที ซึ่งแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ที่มักเลือกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ง่ายและเร็วด้วยการกดเงินสดจากบัตรที่มีอยู่มาใช้

โดยคนกลุ่มนี้มักจะไม่ตระหนักว่าวิธีดังกล่าวเป็นทางเลือกที่อาจพาตัวเองไปสู่หายนะได้ในระยะยาว เพราะดอกเบี้ยสินเชื่อไร้หลักประกันเหล่านี้สถาบันการเงินจะเรียกเก็บอยู่ที่ 20-28% สูงกว่าดอกเบี้ยการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อรถยนต์ซึ่งอยู่ที่ เอ็มอาร์อาร์+10 หรือราว 18% เองด้วยซ้ำไป ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่คนที่เลือกวิธีนี้จะต้องเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยที่พอกหางหมู จนท้ายที่สุดผ่อนชำระไม่ไหวทั้ง 2 ประเภทและเป็นหนี้ก้อนโตกว่าเดิม

ฉัตรพงศ์ ให้คำแนะนำว่า ในกรณีที่เริ่มรู้สึกว่าเรากำลังเริ่มมีปัญหาการผ่อนชำระแล้ว สิ่งแรกที่ควรจะทำคือรีบสำรวจตัวเองทันทีว่าความรุนแรงของปัญหาอยู่ในระดับใด หากวิเคราะห์แล้วว่าเป็นเพียงภาวะเงินตึงมือชั่วคราว ควรรีบควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองในทันที เช่น ลดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยต่างๆ การซื้อเสื้อผ้า การกินข้าวนอกบ้าน เพื่อให้มีสัดส่วนเงินเก็บออมมาชำระหนี้ได้เพิ่มขึ้น

แต่หากสถานการณ์รุนแรงกว่านั้น เช่น รู้ตัวว่าขืนผ่อนต่อไปไม่ไหวแน่ๆ กรณีนี้ควรต้องทบทวนถึงความจำเป็นในการใช้รถยนต์ในชีวิตประจำ เช่น หากมีบ้านอยู่ตามแนวรถไฟฟ้าหรือไม่ห่างไกลจากสถายที่ทำงานมากนัก การตัดใจขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ไปให้คนอื่นเพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้ที่เกินกำลังก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

สำหรับกรณีเลวร้ายที่สุดคือผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว เมื่อมาถึงจุดนี้เชื่อว่าลูกหนี้ทั้งหลายจะเลือกหลบหน้าเจ้าหนี้ ทำตัวเงียบหายไป ไม่รับโทรศัพท์ ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ผิดเพราะพฤติกรรมดังกล่าวนอกจากจะไม่ช่วยให้ยอดหนี้ลดลงแล้วยังสร้างความเครียดในการใช้ชีวิตอีกด้วย วิธีที่ถูกต้องคือการเดินเข้าไปหาเจ้าหนี้พร้อมอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นแบบตรงไปตรงมา ซึ่งวิธีเช่นนี้อาจทำให้ลูกหนี้ได้รับการยืดหรือลดหย่อนก็เป็นได้เพราะไม่มีเจตนาจะหลบหนี

ฉัตรพงศ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งวิธีแก้ปัญหาที่อาจเป็นทางเลือกให้กับผู้ซื้อรถได้คือ การใช้สินเชื่อประเภทบ้านแลกเงิน หรือพูดง่ายๆคือนำบ้านมาตึ๊งกับแบงก์เอาไว้เพื่อแลกกับสินเชื่อก้อนใหญ่ที่สามารถนำไปโปะหนี้รถหรือหนี้ก้อนอื่นๆได้ เพราะดอกเบี้ยของสินเชื่อประเภทนี้จะอยู่ที่เพียง 7-8% ต่อปีและมีระยะผ่อนยาวนานกว่า 10 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ดี ตัวเลือกนี้ยังมีข้อจำกัดตรงที่ผู้กู้จะต้องมีบ้านที่ปลอดจำนองนั่นเอง

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องไม่ลืมสำหรับผู้ที่ซื้อรถในโครงการรถคันแรก คือ เงื่อนไขในการครอบครองรถตามกำหนด 5 ปี เพื่อแลกกับการคืนเงินภาษีสูงสุด 1 แสนบาท ที่ผู้ซื้อจะได้รับคืนเมื่อครอบครองรถครบ 1 ปี ซึ่งเงื่อนไขนี้จะส่งผลให้ผู้ที่ต้องโอนขายรถก่อนครบกำหนดไม่สามารถทำได้

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เพราะในกรณีที่เราต้องการขายรถจริงๆ ทางกรมสรรพสามิตมีการเปิดช่องให้ผู้ที่ต้องการขาย-โอนรถก่อนครบกำหนด สามารถยื่นหนังสือยินยอมสละสิทธิ์การโอนรถยนต์คันแรกได้ ซึ่งผู้ที่ต้องการสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพสามิต

แม้ว่าคำแนะนำข้างต้นอาจจะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นไปแล้วได้บ้าง แต่ต้องไม่ลืมว่ามันเป็นเพียงการมาตามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่รับประกันว่าทุกคนที่นำไปใช้จะประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะหัวใจสำคัญที่สุดในการจัดการปัญหาหนี้สินทุกกรณีคือ วินัยทางการเงินของแต่ละบุคคล หากบุคคลนั้นๆคิดอย่างรอบคอบก่อนก่อนกู้และไม่สร้างภาระหนี้ที่เกินกำลังตัวเอง ปัญหาเหล่านี้ย่อมไม่เกิดขึ้น

6 เทคนิคง่ายๆ ไม่ให้รถถูกยึด โดย K-Expert

-     ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสังสรรค์กับเพื่อนๆ ที่เคยมีทุกเย็น ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน หากลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลง จะช่วยให้มีเงินเหลือในแต่ละเดือนเพื่อสามารถนำไปผ่อนรถได้มากขึ้น

-    ลดปริมาณการใช้รถ วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีการเดินทางไปทำงานไกลบ้าง ใกล้บ้าง ดังนั้น หากวันไหนทำงานในที่ใกล้ๆ หรือเข้าทำงานในออฟฟิศที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่าน ก็สามารถลดการใช้รถเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายได้

-    หารายได้เสริมจากงานที่ทำ เช่น การทำงานล่วงเวลา หากบริษัทต้องเร่งงานให้เสร็จทันกำหนด เราอาจเป็นคนแรกๆ ที่เสนอตัวเข้ารับทำงาน เพื่อให้งานเสร็จทันเวลา และที่สำคัญยังได้รับค่าแรงล่วงเวลาอีกด้วย หรือการหารายได้เสริมอื่นๆ จากความถนัดความชอบของตนเอง

-    ปล่อยเช่า ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ทำให้เสียโอกาสในการใช้รถของตัวเองด้วย ที่สำคัญหากเลือกวิธีนี้ต้องดูว่าคุ้มค่ากับเงินค่าเช่าที่ได้รับหรือไม่ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชน หรือสภาพภายในของรถเสื่อมเร็วกว่าการใช้งานเอง

-    ขับรถติดโฆษณา เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เจ้าของรถยังสามารถใช้รถของตัวเองได้ แต่จะมีสติ๊กเกอร์โฆษณาติดรอบคันรถ ซึ่งอาจทำให้รถของเราดูแปลกตาไป ซึ่งการใช้วิธีนี้อาจมีเงื่อนไข เช่น ต้องขับรถไป-กลับในเส้นทางเดิมและเวลาเดิมทุกวัน 600 กิโลเมตรต่อเดือนและต้องจอดในที่ที่มีคนพลุกพล่าน

-    เปิดท้ายขายของ หากในบ้านมีของเหลือใช้ ที่มีสภาพดีอยู่ สามารถเพิ่มรายได้ของเราโดยนำสิ่งของเหล่านั้นมาใส่ท้ายรถคันโปรด เพื่อเปิดท้ายขายของตามตลาดนัด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผ่อนรถคันแรก ไม่ไหว ทำอย่างไรดี

view