สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไทยกับการเป็นศูนย์กลางธุรกิจการบินอาเซียน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ พร้อมรับ "AEC" หรือยัง?

มีการศึกษาภาพรวมธุรกิจการบินไทยในปี 2556-2558 ว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และจากการขยายตัวของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline) ทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2556 จะมีจำนวนเที่ยวบินมาทำการบินผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักและรองของประเทศ รวมทั้งสิ้น 440,178 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีตัวเลขจากการพยากรณ์ทางการ ตลาดโลก หรือโกลบอล มาร์เก็ต ฟอร์คาสต์ (GMF) ของบริษัทผลิตอากาศยานค่ายยุโรประบุว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า (ระหว่าง พ.ศ. 2556-2575) อัตราการเดินทางทางอากาศจะเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 4.7 ต่อปี โดยอากาศยานที่มีในปัจจุบันประมาณ 17,740 ลำ ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 36,560 ลำ ภายในปี 2575 ซึ่งภายในปีดังกล่าวภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะมีอัตราการเดินทางทางอากาศเพิ่ม สูงขึ้น แซงหน้าภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ

โดยที่ปัจจุบันการเดิน ทางทางอากาศเฉลี่ยทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 5.5 ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความต้องการอากาศยานโดยสารใหม่สูงถึงร้อยละ 36 ตามมาด้วยยุโรป ร้อยละ 20 และอเมริกาเหนือ ร้อยละ 19

สำหรับ ภูมิภาคอาเซียนนั้นกระแสการตื่นตัวรับการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน (AEC) ก่อให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งอำนาจซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นของประชากรในภูมิภาค ก่อให้เกิดความเป็นเมืองตามมา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ส่งผลให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศอาเซียนมากยิ่งขึ้น และเกิดการขยายตัวของตลาดการท่องเที่ยวในประเทศอาเซียนอีกด้วย

นอก จากนี้การเปิด AEC ยังก่อให้เกิดปัจจัยสนับสนุนธุรกิจการบินอีกปัจจัยหลัก คือ การเปิดเสรีการบินอาเซียน ในปี 2556 โดยเป็นกรอบความตกลงพหุภาคีเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถขนส่งทางอากาศ ระหว่างกันโดยไม่จำกัดจำนวน ความจุความถี่ แต่ทั้งนี้ยังคงเผชิญอุปสรรคจากกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับภายในประเทศของ แต่ละประเทศสมาชิกอยู่

อย่างไรก็ตามกระแสการรวมเป็น AEC ก็ได้ส่งผลให้เกิดความคึกคักต่อธุรกิจการบินในภูมิภาคเป็นอย่างมาก โดยทำให้เกิดการเพิ่มเที่ยวบินและขยายเส้นทางการบินมายังประเทศอาเซียน และเส้นทางการบินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะ อย่างยิ่งการเติบโตของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งมีแรงดึงดูดทางด้านราคา ทั้งนี้ในระหว่างปี 2554-2556 มีการเปิดตัวสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาคอาเซียนกว่า 7 สายการบิน ใน 6 ประเทศอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมาร์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

นอกเหนือจากนี้ยังมีการขยายเส้นทางการบินไปยังจุด หมายปลายทางระหว่างเมืองต่าง ๆ ในอาเซียนมากยิ่งขึ้น เช่น การขยายเส้นทางการบินของสายการบินต่าง ๆ ที่มีฐานการบินในไทย ไปยังเมืองต่าง ๆ ของเมียนมาร์ อาทิ ย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์-เนย์ปิดอว์ และการขยายเส้นทางการบินไปยัง สปป.ลาว การเพิ่มขึ้นของจำนวนสายการบินซึ่งทำการบินเส้นทางกรุงเทพฯ-เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เนื่องจากได้มีการยกเลิกการสงวนเส้นทางไว้ให้เฉพาะบางสายการบิน การขยายเส้นทางบินของสายการบินแห่งชาติกัมพูชามายังไทยและไปยังเวียดนาม เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยแล้วนับว่ามีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง ที่มีพรมแดนติดกับประเทศอาเซียนถึง 4 ประเทศ และมีจุดแข็งจากการเติบโตของธุรกิจการบินอย่างโดดเด่นในภูมิภาค พิจารณาจากจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางมาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปี 2555 คับคั่งเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค รองจากท่าอากาศยานซูการ์โน่ฮัตตา ของอินโดนีเซีย อีกทั้งไทยยังมีอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนเครื่อง บินที่แข็งแกร่ง โดยที่ผ่านมามีบริษัทต่างชาติให้ความสำคัญในการเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิต ชิ้นส่วนเครื่องบินเพื่อการส่งออก โดยในปี 2555 ประเทศไทยมีมูลค่า การนำเข้า-ส่งออกเครื่องบินและชิ้นส่วนเครื่องบิน มูลค่ากว่า 142,241 ล้านบาท และในปี 2556 ระหว่างเดือน ม.ค.-ส.ค. มีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกเครื่องบินและชิ้นส่วนเครื่องบินกว่า 137,224 ล้านบาท เติบโตกว่าร้อยละ 93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับธุรกิจการบินที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากประเทศไทยมีความมุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาคแล้ว ยังมีเป้าหมายที่จะเป็น "ศูนย์กลางซ่อมบำรุงอากาศยานของภูมิภาค" เพื่อรองรับปริมาณเครื่องบินที่จะเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

สิ่งที่ไทยต้องลงมือทำอย่างจริงจัง ก็คือควรเร่งพัฒนาศักยภาพเพื่อดึงดูดปริมาณเครื่องบินต่าง ๆ โดยเฉพาะเครื่องบินจากกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีการเติบโตทางด้านธุรกิจการบิน แต่ยังขาดความพร้อมทางด้านวิศวกรรมการบิน ควรวางแผนด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ซึ่งปัญหาดังกล่าวต้องได้รับการพิจารณาและเร่งดำเนินการแก้ไข เนื่องจากการเติบโตอย่างมากของธุรกิจการบินอาเซียนได้ทำให้รัฐบาลของประเทศ ต่าง ๆ เล็งเห็นถึงโอกาสเช่นกัน เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียนก็มีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางซ่อมบำรุงอากาศยานของ ภูมิภาคด้วยเช่นกัน เหนืออื่นใดคือควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสายการบินต่างสัญชาติที่มีฐาน การบินในไทยให้มาใช้บริการศูนย์ซ่อมอากาศยานของไทย ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าการซ่อมบำรุงอากาศยานทั่วโลก ในปี 2562 จะมีมูลค่าถึง 63,000 ล้านเหรียญสหรัฐ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไทย ศูนย์กลางธุรกิจการบิน อาเซียน

view