สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุณธรรมกับการลงทุน

คุณธรรมกับการลงทุน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การลงทุนในอนาคต คือการแสวงหา "กำไรที่ยั่งยืน" ควบคู่ไปกับการใช้หลัก "คุณธรรม"

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมฟังการสัมมนาในหัวข้อ "บทบาทของผู้ลงทุนสถาบันกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน" จัดโดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับเกียรติจาก ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม(CSRI) มาเป็นวิทยากรในงานดังกล่าว

การสัมมนาในวันนั้นแสดงให้เห็นว่าการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น ไม่เพียงจำกัดอยู่ที่โครงการกิจกรรมเพื่อสังคม หรือการบริจาคเท่านั้น

แต่กระบวนการในการดำเนินธุรกิจนั้นจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย โดยประเด็นที่บริษัทจดทะเบียนควรคำนึงถึงในกระบวนงานมีอยู่ด้วยกัน 10 ประการ ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน การเคารพสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม การจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตเรียกสั้นๆ ว่าเป็นการใช้ "หลักคุณธรรม" ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหากองค์กรต่าง สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้หลักคุณธรรมนี้ได้

นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาวแล้ว องค์กรเหล่านั้นยังจะได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า คู่ค้า พนักงาน นักลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศที่ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถส่งผลด้านบวกที่เป็นรูปธรรมกลับมาสู่องค์กรนั้นๆ ได้ในที่สุด แต่การจะเริ่มต้นกระทำสิ่งที่ดีและถูกต้องได้นั้นก็ต้องอาศัยความกล้าหาญของผู้นำ ผู้บริหาร รวมถึงพนักงานของบริษัทและองค์กรด้านการลงทุนต่างๆ ที่จะทำให้เกิดขึ้นได้

การสัมมนาในวันนั้นทำให้ผู้เขียนหวนรำลึกไปในช่วงวัยเด็กอายุประมาณเกือบ 10 ขวบได้ ผู้เขียนได้สังเกตเห็นหน้าสุดท้ายของปฏิทินตั้งโต๊ะที่จัดทำโดยคุณลุง คุณป้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ (สิงห์ดำรุ่น 16) เป็นรูปเทียนไขที่ถูกจุดสว่างอยู่ในความมืด พร้อมถ้อยคำใต้ภาพสั้นๆว่า "จงเป็นดั่งเทียนไขที่ไฟลน ละลายตนเพื่อชนทั้งปวง" ซึ่งสำหรับเด็กวัยนั้น ผู้เขียนจำได้ว่าไม่เข้าใจความหมายของถ้อยคำดังกล่าว และได้ตั้งคำถามกับมารดาของผู้เขียน ซึ่งท่านได้กรุณาอธิบายให้ฟังว่าการที่สังคมอันมืดมนจะเกิดแสงสว่างได้นั้น ก็ต้องมีผู้ที่เสียสละตนเป็นเทียนไขซึ่งพร้อมที่จะหลอมละลายตนเองเพื่อเป็นเปลวไฟส่องทางให้กับผู้คนในสังคมเพราะมิเช่นนั้นแล้วสังคมก็จะตกอยู่ภายใต้ความมืดมนนั้นตลอดกาล

นับจากวันนั้นผู้เขียนยังคงจดจำถ้อยคำสั้นๆ แต่ความหมายยิ่งใหญ่นี้ได้ไม่มีวันลืม แต่สิ่งที่ต่างไปในวันนี้คือการเสียสละของผู้คนในสังคมนั้นอาจไม่จำเป็นต้องแลกด้วยชีวิตหรือเลือดเนื้อเฉกเช่นวีรชนในอดีต แต่เราอาจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสียสละได้ ด้วยความกล้าหาญที่จะสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องให้กับสังคม ผ่านการสนับสนุนผู้ที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงบริษัทจัดการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในต่างประเทศนั้นได้มีการจัดทำดัชนีชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็อยู่ในระหว่างการพัฒนาดัชนี (SETSI) นี้เช่นกัน

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าการลงทุนในอนาคต คือการแสวงหา "กำไรที่ยั่งยืน" ควบคู่ไปกับการใช้หลัก "คุณธรรม" ซึ่งคำว่าคุณธรรมนี้ที่จริงแล้วแพร่หลายอยู่ในแวดวงข้าราชการและนักวิชาการมาเนิ่นนานแล้ว ส่วนตัวผู้เขียนเองรู้จักกับคำนี้ครั้งแรกก่อนปี พ.ศ. 2528 จาก ผศ. สุวดี ปภาพจน์ ผู้ริเริ่มและเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร "คุณธรรมและสมรรถภาพข้าราชการ" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ซึ่งมีข้าราชการระดับสูงหลายท่านเคยเข้ารับการอบรมในอดีต

หากพวกเราช่วยกันเสมือนหนึ่ง "เทียนไขที่ไฟลน เพื่อชนทั้งปวง" ในวันนี้ เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มแสงสว่างแห่งความหวังและความยั่งยืนที่จะโชติช่วงต่อเนื่องไปในอนาคต


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คุณธรรมกับการลงทุน

view