สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การต่อต้านคอร์รัปชันของ UN และมาตรการ ติดตามทรัพย์สินคืน

การต่อต้านคอร์รัปชันของ UN และมาตรการ ติดตามทรัพย์สินคืน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




จากการที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง

การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …. หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีการแปรญัตติให้รวมถึงการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตด้วย หลายฝ่ายเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติที่มีการแปรญัตติ มีเจตนาช่วยเหลือคนโกง จึงมีการออกมาคัดค้านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ องค์กรเอกชนองค์กรหนึ่งที่ร่วมกันต่อต้านพระราชบัญญัตินี้อย่างแข็งขัน คือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เช่น ร่วมกับภาคีภาคธุรกิจ การเงินและการลงทุน ออกแถลงการณ์ต่อต้านคัดค้าน โดยเห็นว่าการล้างผิดในคดีทุจริตเป็นการทำลายระบบคุณธรรมและจริยธรรมของสังคมอย่างร้ายแรง และรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อ หนึ่งล้านชื่อสู่ปฏิบัติการคว่ำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ล้างผิดคดีโกง ยื่นหนังสือแถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อสถานทูตประเทศที่สำคัญๆ หลายประเทศ

นอกจากนี้ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะตัวแทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และสมาชิกในภาคธุรกิจ การเงินและตลาดทุน เข้าพบตัวแทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office on Drugs and Crime - UNODC) ที่สำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อยืนหนังสือแถลงการณ์ คัดค้านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ประเด็นสำคัญ คือกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยกำลังดำเนินการขัดต่ออนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (UNCAC 2003) ซึ่งจะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อกระบวนการต่อสู้คอร์รัปชันของทุกภาคส่วนในสังคมไทย

สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office on Drugs and Crime - UNODC) มีหน้าที่ที่สำคัญประการหนึ่งคือการต่อต้านคอร์รัปชัน ได้จัดตั้งสาขา คอร์รัปชันและอาชญากรรมขึ้น เพื่อให้แนวทางและช่วยเหลือการป้องกันและการต่อสู้กับการคอร์รัปชัน สำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย

ในปี 2546 องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน ค.ศ. 2003 ขึ้น อันสืบเนื่องมาจากมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่ได้เล็งเห็นถึงความร้ายแรงของปัญหาและการคุกคาม อันเกิดจากการคอร์รัปชันต่อความมั่นคงปลอดภัย ของสังคม กัดกร่อนสถาบันและคุณค่าของประชาธิปไตย คุณค่าทางศีลธรรมและความยุติธรรม และเป็นอันตรายต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและหลักนิติธรรม จึงได้มีมติจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อการพิจารณากำหนดเครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านคอร์รัปชัน จนในที่สุดที่ประชุมระหว่างประเทศได้ตกลงร่วมมือ จัดทำเป็นอนุสัญญาขึ้น ซึ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่ได้มีมติให้การรับรองแล้วคืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน ค.ศ. 2003 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญานี้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 และได้ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554

หลักการที่ สำคัญๆ ของ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน ค.ศ. 2003 เช่น กำหนดให้ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ บัญญัติในกฎหมายหรือมาตรการอื่นให้การกระทำต่างๆ ต่อไปนี้เป็นความผิดทางอาญา ถ้าเป็นการกระทำโดยเจตนา เป็นต้นว่า การติดสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ การยักยอกหรือการฉ้อฉลทรัพย์สินโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ การปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ การร่ำรวยผิดปกติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ การติดสินบนในภาคเอกชน การยักยอกทรัพย์สินในภาคเอกชน การฟอกทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด เช่น การเปลี่ยนแปลงยักย้ายทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดเพื่อช่วยปกปิดการกระทำความผิด หรือซ่อนเร้นปกปิดหรือทำให้หลงผิดถึงสภาพอันแท้จริง ที่มา ที่ตั้งหรือที่เก็บทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด และให้กำหนดให้นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามอนุสัญญานี้ต้องรับผิดด้วย ทั้งทางอาญา หรือทางแพ่ง หรือทางปกครอง

ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้บังคับกฎหมาย ก็ให้มีการอายัด ยึด หรือริบทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกจะต้องดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้กรอบกฎหมายของประเทศตนให้สามารถริบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดตามที่บัญญัติในอนุสัญญานี้หรือทรัพย์สินอื่นที่มีราคาเท่ากับทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด รวมทั้งทรัพย์สิน เครื่องมือ อุปกรณ์อื่นใดที่ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิดตามอนุสัญญานี้ด้วย การให้ริบทรัพย์ตามมาตรานี้ ให้รวมถึง รายได้ ผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด หรือทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงหรือแปรสภาพมาจากทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดด้วย

การบังคับใช้กฎหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ให้มีการติดตามทรัพย์สินที่คอร์รัปชันกลับคืน โดยให้มีมาตรการป้องกันและการติดตามการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด เช่น การกำหนดมาตรการในการติดตามธุรกรรมทางการเงินที่มีข้อน่าสงสัย ในสถาบันทางการเงิน การให้มีการเปิดเผยหรือยื่นบัญชีทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

มาตรการในการติดตามทรัพย์สินที่คอร์รัปชันคืน ดังกล่าว UNODC ได้ร่วมกับธนาคารโลก จัดทำโครงการ The Stolen Asset Recovery Initiative (StAR) ขึ้น จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการร่วมมือระหว่างประเทศในการขจัด แหล่งสวรรค์สำหรับการซุกเงินทุนคอร์รัปชัน ร่วมงานกับประเทศกำลังพัฒนาและศูนย์กลางการเงิน ในการป้องกันการฟอกเงิน และอำนวยความสะดวกในการทำให้การติดตามทรัพย์สินที่คอร์รัปชันคืนให้เป็นระบบยิ่งขึ้น StAR ช่วยประเทศต่างๆ ในการจัดให้มีเครื่องมือทางกฎหมายและหน่วยงาน ในการติดตามทรัพย์สินที่คอร์รัปชันคืนตามที่ประเทศต่างๆ ร้องขอ ช่วยถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้จากคดีการติดตามทรัพย์สินคืน เพื่อพัฒนาความชำนาญเฉพาะด้านอันจำเป็นต่อการติดตามทรัพย์สินคืนให้แก่หน่วยงานของประเทศต่างๆ ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย

บทส่งท้าย ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าประเทศไทยมีการดำเนินมาตรการติดตามทรัพย์สินที่คอร์รัปชันคืนอย่างไรหรือไม่ แต่มาตรการดำเนินคดีกับผู้ร่ำรวยผิดปกติและยึดทรัพย์ที่ร่ำรวยผิดปกติ นั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ได้มีการดำเนินคดีและยึดทรัพย์เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่ำรวยผิดปกติหลายรายแล้ว อันเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาประชาชาติฉบับนี้ที่ให้มีการดำเนินคดีและยึดทรัพย์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ร่ำรวยผิดปกติ ดังนั้น การที่รัฐบาลใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ล้างผิดให้ผู้ทุจริตคอร์รัปชันด้วย นอกจากเป็นการส่งเสริมการทุจริตคอร์รัปชัน การทำลายหลักนิติธรรม ทำลายความเป็นนิติรัฐ และล้มล้างอำนาจตุลาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นการดำเนินการที่ขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน ค.ศ. 2003 ตามที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ออกแถลงการณ์ดังกล่าวข้างต้นอย่างแจ้งชัด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การต่อต้านคอร์รัปชัน UN มาตรการ ติดตามทรัพย์สินคืน

view