สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

10ข้อคิดสำหรับการวางแผนเกษียณอายุ

10ข้อคิดสำหรับการวางแผนเกษียณอายุ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




(ตอนที่ 3)วางแผนการเงินก่อนเกษียณต้องจัดสรรเงินอย่างเหมาะสม การไม่รู้จักนำเงินไปลงทุนถือเป็นความเสี่ยง และขาดไม่ได้

เราได้พูดถึงเรื่องการวางแผนเกษียณอายุไปแล้ว 5 ข้อคิด และผ่านไปแล้ว 2 ตอน มาถึงตอนที่ 3 เรามาต่อกันที่อีก 3 ข้อ ได้แก่

ข้อคิดที่ 6 แผนการเงินสำหรับการเกษียณต้องจัดสรรสินค้าการเงินอย่างเหมาะสมสำหรับการเกษียณอายุเป้าหมายการเงินเพื่อการเกษียณอายุ นับว่าเป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญมากเป็นเป้าหมายที่ทุกคนจะต้องเดินไปถึง ไม่ว่าเราจะพร้อม หรือไม่พร้อมก็ตาม วัยเกษียณจะเป็นช่วงเวลาที่ ไม่มีรายได้จากการทำงานแล้ว แต่ยังคงมีรายจ่ายที่ใช้ในการดำเนินชีวิตอยู่ การวางแผนเงินกองทุนก้อนนี้ต้องวางแผนอย่างใส่ใจ ยิ่งใกล้วัยเกษียณยิ่งต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะไม่มีเวลาให้แก้ตัวอีกแล้ว

คนส่วนใหญ่จึงเลือกวิธีการออมเงินผ่านการฝากเงินธนาคาร เนื่องจากคิดว่ามีความเสี่ยงต่ำ เบิกถอนได้ง่าย จากข้อดีของการฝากธนาคาร เลยกลายเป็นข้อเสียของการวางแผนเกษียณทันที เพราะการเบิกถอนง่าย ทำให้เงินก้อนนี้ไปไม่ถึงเป้าหมายเกษียณสักที รวมถึงการที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็จะน้อยลงไปด้วยเช่นกัน บางคนก็นำเงินไปซื้อประกันแบบสะสมทรัพย์ เพราะตัวแทนประกันชีวิตมาเสนอแผนเกษียณอายุ แล้วก็ให้ซื้อประกันเพื่อออมทรัพย์ไว้ เนื่องจากระยะเวลาของสัญญาที่ยาวนาน ผู้เอาประกันต้องส่งเบี้ยประกันทุกๆ ปี ถ้าปิดกรมธรรม์ก่อนก็ขาดทุน ถือเป็นการบังคับให้เรามีวินัยในการออมที่ดี ถอนเอาออกมาใช้ก่อนก็ไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีทั้งหมด เพราะความเสี่ยงที่ต่ำก็ทำให้ผลตอบแทนที่ผู้เอาประกันจะได้รับค่อนข้างต่ำด้วย เงินที่ได้จากกรมธรรม์เมื่อครบสัญญาไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังเกษียณอยู่ดี

แล้วจะเอาเงินไปทำอะไรดีเพื่อวางแผนสำหรับเป้าหมายนี้ ซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งนอกจากจะตอบโจทย์เรื่องเป้าหมายการเกษียณแล้ว ยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย หรือจะเอาไปซื้อพันธบัตรดีกว่า คำตอบก็คือไม่มีถูกไม่มีผิดครับ แต่ที่ถูกต้องก็คือ ต้องกระจายเงินของเราลงไปในสินค้าหลายๆ ตัว ที่ความเสี่ยงโดยรวมเรายังยอมรับได้ คำว่ายอมรับได้ในที่นี้คือ เวลาราคาของหลักทรัพย์เหล่านั้นผันผวนขึ้นๆ ลงๆ เรายังกินได้นอนหลับอยู่ถ้าอายุยังน้อยก็รับความเสี่ยงได้มากหน่อย พออายุมากเข้าก็ปรับลดสินค้ากลุ่มเสี่ยงสูงลง เพิ่มสัดส่วนในสินค้ากลุ่มเสี่ยงต่ำให้มากขึ้นและปรับสัดส่วนในพอร์ตเป็นประจำทุกปี

ข้อคิดที่ 7 การไม่ลงทุนคือความเสี่ยงบางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ขาดทุนมาก่อน บางคนอาจจะยังติดดอยอยู่ บางคนเข็ดขยาดการลงทุนไปเรียบร้อยแล้ว กลายเป็นโรคกลัวความเสี่ยงไปเลยทีเดียว แล้วก็บอกกับตัวเองว่าจะไม่ลงทุนอีกแล้ว เอาเงินไปฝากธนาคารดีกว่า ถึงดอกเบี้ยน้อยก็ยังดีกว่าขาดทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การนำเงินไปฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว เราได้ขาดทุนไปแล้ว ยิ่งฝากนานก็ยิ่งขาดทุน ขาดทุนจากอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง เพราะค่าของเงินไม่ได้อยู่ที่เรามีเงินเท่าไร แต่ค่าของเงินอยู่ที่เราเอามันไปซื้อสินค้าแล้วได้อะไรกลับมาบ้างต่างหาก

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยหลังหักภาษีแล้วเท่ากับ 2% ต่อปี นั่นคือเงิน 100 บาทของเรา ก็จะโตขึ้นเป็น 102 บาทในปีถัดไป ส่วนด้านราคาสินค้าถ้าอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 3% ต่อปี ปีนี้ราคาสินค้าเท่ากับ 100 บาท พอปีถัดไปราคาสินค้าชิ้นเดียวกันก็จะปรับราคาขึ้นเป็น 103 บาท เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี เงินของเราที่ฝากธนาคารไว้ก็ไม่สามารถซื้อของชิ้นนั้นได้หรือซื้อได้ในปริมาณที่ลดลง เพื่อไม่ให้ขาดทุนเราต้องลงทุนเพื่อให้พอร์ตการลงทุนของเราได้ผลตอบแทนขั้นต่ำไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปีเพื่อคงมูลค่าของเงินไว้ไม่ให้ขาดทุน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยย้อนหลังตั้งแต่ปี 2538 ถึงปี 2555 เท่ากับ 3.33%

ข้อคิดที่ 8 ชีวิตหลังเกษียณ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลน่ากลัวที่สุดที่น่ากลัวเพราะเราไม่สามารถประมาณการหรือวางแผนได้เลย ว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะมากหรือน้อยอย่างไร ถ้าไม่เป็นอะไรก็ถือว่าโชคดี แต่ถ้าเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง คงต้องเตรียมเงินไว้หลักล้านบาท โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง ล้วนใช้เงินมากในการรักษา จากสถิติประชากรผู้สูงอายุปี 2551-2552 พบว่า 48.1% เป็นโรคความดัน 26.1% โรคไขมันในเลือดสูง 15.9% โรคเบาหวาน โรคเหล่านี้ดูไม่รุนแรง แต่เป็นโรคเรื้อรัง ที่ต้องกินยาต่อเนื่องตลอดชีวิต ค่ายาก็คงไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้นเราต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับปัญหาด้านสุขภาพแต่เนิ่นๆ

อย่างแรกคือเตรียมร่างกายให้พร้อม ดูแลร่างกายให้ลดความเสี่ยงจากโรคภัยต่างๆ เตรียมที่สองคือเตรียมเงิน ไม่ว่าจะเตรียมเป็นเงินก้อนเพื่อเป็นกองทุนค่ารักษาพยาบาล หรือทำประกันสุขภาพ หรือเตรียมทั้งสองอย่างก็ได้ การเตรียมเงินก้อนต้องเพิ่มเป้าหมายของเงินส่วนนี้ลงไปในเป้าหมายเงินกองทุนเพื่อการเกษียณอายุจะได้วางแผนการลงทุนได้ ส่วนประกันสุขภาพก็ต้องซื้อก่อนที่จะมีปัญหาสุขภาพ และต้องเตรียมเงินเพื่อใช้จ่ายเบี้ยประกันยามที่เราเกษียณอายุไปแล้วด้วย

เตรียมสุดท้ายคือเตรียมใจให้พร้อมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรนั่นเอง จากสถิติประชากรผู้สูงอายุปี 2551-2552 พบว่าผู้สูงอายุมีอาการของโรคซึมเศร้าตั้งแต่ระดับน้อยถึงขั้นรุนแรงมากเท่ากับ 33.3% ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด การเตรียมใจจะทำให้เราไม่เครียด ไม่เป็นโรคซึมเศร้า

สำหรับอีก 2 ข้อคิดที่เหลือจะขอเล่าต่อในฉบับหน้า...แล้วพบกันครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 10ข้อคิด การวางแผนเกษียณอายุ

view