สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หลักนิติธรรมกับการมีส่วนร่วม

หลักนิติธรรมกับการมีส่วนร่วม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เป็นที่ทราบกันดีว่า การพัฒนาประชาธิปไตยควรควบคู่ไปกับการพัฒนาหลักนิติธรรม โดยถือว่าทั้ง 2 เรื่องนี้มีความสัมพันธ์กัน

กล่าวคือการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่ดีจะต้องเป็นการปกครองที่มีการส่งเสริมหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมนั้นอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนสังคมนิติธรรมที่แท้จริงจะต้องมีความชัดเจนในการใช้หลักนิติธรรมเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ชัดเจนเช่นกัน แต่ทั้งการพัฒนาประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมนั้นจะต้องใช้กลไกการมีส่วนร่วมเป็นกระบวนการในขับเคลื่อนเป็นสำคัญ

ในมิติของสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์นั้น การมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเมืองและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะสิทธิในชีวิตและร่างกายถูกจัดว่าเป็นสิทธิของความเป็นพลเมืองในสังคมนั้นๆ ซึ่งย่อมหมายความว่า พลเมืองทุกคนควรได้รับการยอมรับและเคารพในสิทธิการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม

การมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักนิติธรรมในสังคมไทยจะต้องถือว่าเป็นสิทธิตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ หากมองในมุมนี้จึงมีประเด็นว่าในทางนโยบายและการปฏิบัติ รัฐจะต้องส่งเสริมและคุ้มครองให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอย่างไร นอกเหนือไปจากการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติทั้งในระดับชาติและในระดับชุมชนท้องถิ่นได้มากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ เพื่อให้โครงการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งควรให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างแท้จริงจึงเป็นสิทธิของประชาชนทั้งผู้ที่จะต้องรับผลกระทบหรือได้ประโยชน์โดยตรง และประชาชนโดยทั่วไปหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือได้ประโยชน์โดยอ้อมได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยรัฐจะต้องมีมาตรการและวิธีการอย่างไรเพื่อแสดงให้เห็นการเคารพและยอมรับในสิทธิความเป็นพลเมืองในมิตินี้

เมื่อมาถึงตรงนี้จะเห็นว่าแนวทางการพัฒนาหลักนิติธรรมมีได้มากมายหลายรูปแบบและวิธีการ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับคุณค่า แนวคิด ทัศนคติ และความเข้าใจในความหมายและขอบเขตของหลักนิติธรรมที่ขอย้ำตรงนี้ว่ากว้างขวางกว่าตัวบทกฎหมายที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรตามที่เข้าใจกันส่วนมาก แต่หัวใจสำคัญที่หยิบยกมา ณ ที่นี้ด้วยเห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนจะเป็นทั้งกลไก กระบวนการ และทิศทางของการพัฒนาหลักนิติธรรม

หลักนิติธรรมไม่ได้มีความหมายแบบลอยๆ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเขียนคำนิยามไว้ให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรจนถึงขนาดที่ต้องบัญญัตินิยามไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กระบวนการมีส่วนร่วมจะสร้างความชอบธรรมให้กับการเขียนกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการตีความกฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม

ในอีกความหมายหนึ่งหลักนิติธรรมจะมีพัฒนาการจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการนิติบัญญัติ การบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายบริหาร และในการตีความของฝ่ายตุลาการ หากสังคมไทยมีทัศนคติให้ความสำคัญกับสิทธิการมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง

ปัญหามีอยู่ว่าจะมีกลไกและวิธีการใดในทางปฏิบัติที่จะอำนวยการหรือสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนได้จริงและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิภาพ เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าแม้จะมีหลายมาตรการและหลายช่องทางที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ในการร่วมกันทำงานและในการกำหนดนโยบาย แต่ยังไม่เพียงพอและยังคงต้องส่งเสริมการสร้างความตระหนักในสิทธิการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากขึ้นกว่าที่เป็นปัจจุบัน

กลไกสำคัญในการจัดการการมีส่วนร่วมของประชาชนตามโครงสร้าง จะเห็นว่าโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีความเหมาะสมมากที่สุดเพราะน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ส่วนกระบวนการนิติบัญญัติจะมีกระบวนการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นให้เห็นเป็นรูปธรรม

สำหรับรูปแบบอย่างไม่เป็นทางการ แต่เป็นกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่ถือว่าเป็นกระบวนการส่งเสริมหลักนิติธรรมที่ดีก็คือ กระบวนการขับเคลื่อนของกลุ่มประชาสังคมในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ประเด็นปัญหาสุขภาวะ ประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ กลุ่มประชาสังคมเหล่านี้จะสะท้อนความคิดเห็นและความต้องการ รวมทั้งอาจมีการขับเคลื่อนทางสังคมอย่างเป็นระบบในเรื่องต่างๆ โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรก็ได้

หลักนิติธรรมอาจเป็นสิ่งที่ปฏิบัติแล้วในสังคม และอยู่ในบริบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมทั้งในระดับภายในประเทศและในระดับสากล หรือแม้กระทั่งเป็นแนวการดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชนขนาดเล็ก หลักนิติธรรมจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนในแต่ละสังคมเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์

ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นพลเมืองที่ทุกคนจะพัฒนาหลักนิติธรรมไปด้วยกัน ไม่ว่าใครหรือกลุ่มใดจะผูกขาดไว้ไม่ได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หลักนิติธรรม การมีส่วนร่วม

view