สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พิรุธ-แก๊สน้ำตาผสมสารเคมี

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวในประเทศ

แก๊สน้ำตา 3 ชนิด ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ควบคุมฝูงชน ประกอบด้วย 1.ชนิดแป้งฝุ่น (MP-BD2-OC BLAST DISPERSION OC POWDER) 2.ชนิดกระป๋องขว้าง (GT6-AR A1 CS) 3.สารเคมีผสมน้ำ

ตลอดระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาควบคุมการชุมนุม เกิดข้อเคลือบแคลงถึงความถูกต้องในขั้นตอนปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามหลักสากล ความปลอดภัยของแก๊สน้ำตา รวมทั้งผลกระทบต่อร่างกายผู้ชุมนุม

“แก๊สชนิดแป้งฝุ่น” ข้างกระป๋องแจ้งคำเตือนไว้ว่า 1.ใช้เฉพาะพื้นที่ภายนอกอาคารและอาจจะทำให้เกิดไฟ 2.อย่าขว้างใส่บุคคลโดยตรง 3.ห้ามใช้ในพื้นที่แคบ 4.สำหรับใช้เฉพาะบุคลากรทหารหรือตำรวจที่ผ่านการฝึกมาอย่างเหมาะสม

คำถามคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเป็นไปตามคำเตือนหรือไม่ โดยเฉพาะข้อห้ามที่ 2 และ 4

สำหรับ “สารเคมีผสมน้ำ” แม้ว่า พ.ต.อ.ณัฐพล โกมินทรชาติ ผู้กำกับการกองบังคับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน จะอธิบายว่า ผู้ที่สัมผัสจะไม่ได้รับอันตราย มีเพียงอาการแสบตาชั่วครู่และแสบระคายเคืองผิวหนังเท่านั้น พร้อมยืนยันว่าไม่มีการผสมสารเคมีประเภทกรดอย่างแน่นอน

ขณะที่ “สีม่วง-สีน้ำเงิน-สีเขียว” ที่ใช้ผสมลงไปในน้ำเป็นเพียงสีธรรมดาเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการใช้จิตวิทยาให้ผู้ชุมนุมเกิดความกลัว และสีดังกล่าวล้างออกยากทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถแยกผู้ชุมนุมออกจากประชาชนทั่วไปได้ โดยในหลายประเทศก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน

ทว่า ข้อเท็จจริงอีกซึกหนึ่งจากบุคลากรด้านสาธารณสุขกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยหลายแหล่งที่มาตั้งสมมุติฐานตรงกันว่า น้ำที่ฉีดใส่ประชาชนมีความ “ผิดปกติ” และ “อันตราย” เนื่องจากผู้ที่สัมผัสน้ำสีม่วงดังกล่าวมีอาการระคายเคืองผิวหนังอย่างรุนแรง บางรายผิวหนังลอก พุพอง

“แพทย์อาสา” ที่ตั้งหน่วยแพทย์สนามบริเวณสนามม้านางเลิ้ง ได้ทดสอบหาค่าพีเอช (pH) และพบการแสดงค่าอยู่ที่ 4 นั่นหมายถึงสารสีม่วงดังกล่าวมีฤทธิ์เป็นกรด โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็น “กรดกำมะถัน” หรือ “กรดซัลฟุริก”

หรือแม้แต่มีสมมุติฐานว่า เป็นไปได้สูงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะผสม “ฟีนอล” หรือกรดคาร์บอลิก โดยจะออกฤทธิ์กัดทำให้ระคายเคืองเยื่อเมือกต่างๆ เช่น เยื่อบุในปาก หลอดลม หลอดอาหาร ลำไส้ และที่อันตรายคือฟีนอลปริมาณเข้มข้น สามารถกัดผิวหนังและซึมเข้ากระแสเลือด เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนแล้วชา

อีกหนึ่งความน่าจะเป็นคือสารจำพวกโพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต หรือด่างทับทิม ซึ่งหากสัมผัสทางผิวกายะทำให้แห้งเป็นขุย หากสารเข้มข้นจะทำให้เกิดผื่นแดง ปวด แผลไหม้อย่างรุนแรง เป็นจุดด่างสีน้ำตาลบริเวณที่สัมผัสและผิวหนังจากด้านขึ้น

นพ.สวรรค์ กาญจนะ ผู้ประสานงานเครือข่ายแพทย์พยาบาลอาสา ซึ่งตั้งหน่วยแพทย์สนามบริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ระบุว่า แผลในลักษณะพุพองสามารถเกิดได้จากน้ำร้อน กระแสไฟฟ้า รังสี และสารเคมี โดยเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้รับส่งต่อผู้ป่วยมาจากบริเวณยมราช 10 ราย โดย 2 ใน 10 รายนี้ มีเนื้อหลุดลอก มีตุ่มพอง แต่ยังไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นสารชนิดใด เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากความร้อนหรือสารเคมี

ไม่สามารถบอกได้ว่าสารเคมีดังกล่าวมีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่าง เพราะไม่ว่าจะเป็นอย่างไรหากมีปริมาณที่เข้มข้นย่อมทำให้เกิดอาการพุพองได้” นพ.สวรรค์ กล่าว

สำหรับอาการที่เกิดจากแก๊สน้ำตาโดยทั่วไป นพ.สวรรค์ อธิบายว่า ผู้ที่สัมผัสจะมีอาการแสบเคืองตาและตาแพ้แสง หรือเยื่อบุตาแดง หรือกระจกตาบวม หรือมีแผลถลอกที่กระจกตา หรือกระจกตาอักเสบ ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการล้างบริเวณผิวหน้าด้วยน้ำเกลือหรือน้ำเปล่า

สอดคล้องกับข้อมูลทางการแพทย์ที่บ่งชี้ว่า ถ้าใช้น้ำเปล่าหรือน้ำเกลือล้าง “แก๊สน้ำตา” จะมีอาการบรรเทาลงอย่างมากหรือหายเป็นปกติได้ภายใน 10-15 นาทีเท่านั้น

คำถามคือ เหตุใดผู้ชุมนุมที่สัมผัส “แก๊สน้ำตาที่ใช้สารเคมีผสมน้ำ” จึงมีอาการรุนแรงกว่าข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ดังกล่าว

สำหรับข้อเคลือบแคลงเรื่องขั้นตอนการดำเนินการเป็นไปตามหลักสากล หากอ้างตาม Code of Conduct for Law Enforcement Officials และ Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials ของสหประชาชาติแล้ว มีการกำหนดหลักในการยุติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ การใช้กำลัง และการใช้อาวุธ

ส่วนการใช้กำลัง ใช้ได้กับการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่สร้างความรุนแรง ส่วนการใช้อาวุธจะทำได้ก็ต่อเมื่อใช้เพื่อป้องกันตนเองหรือบุคคลอื่นให้พ้นจากอันตราย หรือเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิดอาญาร้ายแรงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตเท่านั้น

ขณะที่ขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่ใช้สามารถแบ่งออกได้ 7 ระดับ จากเบาไปหาหนัก เริ่มตั้งแต่ 1.ตั้งแนวแสดงกำลังข่มขู่ผู้ชุมนุม 2.ใช้โล่ดัน 3.ใช้น้ำฉีด 4.ใช้เครื่องกระจายเสียงระดับสูง 5.แก๊สน้ำตา 6.ใช้กระบอง 7.ใช้กระสุนยาง

คำถามคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการตามหลักที่ถูกควรตามบรรทัดฐานที่ทั่วโลกใช้กันหรือไม่?


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พิรุธ แก๊สน้ำตา ผสมสารเคมี

view