สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญรัฐสวัสดิการเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน

ทางออกประเทศไทยในห้วงวิกฤติ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผมใช้เวลาคิดอยู่นานพอสมควรว่าผมควรจะเขียนข้อเสนอในประเด็นทางออกประเทศไทยเพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทยในห้วงวิกฤติ

รัฐบาลนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ยืนยันว่า สภาประชาชนทำไม่ได้ ไม่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ยินดีที่จะยุบสภาหรือลาออกหากมีความจำเป็น สวนทางกับกลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนมวลมหาประชาชนที่นำโดยคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณที่ต้องการให้การจัดตั้งสภาประชาชนและจัดตั้งรัฐบาลจากตัวแทนประชาชนเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองและการเลือกตั้งและอ้างอีกด้วยว่าฝ่ายตนมีสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 และ 69 จึงไม่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลชุดนี้เพราะไม่ยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และแม้นายกยิ่งลักษณ์ลาออกหรือยุบสภา ฝ่ายคุณสุเทพก็จะยังไม่หยุดจนกว่าจะได้ชัยชนะ

ผมขอเรียนว่า การเสนอให้มีสภาประชาชนนั้น โดยไม่มีแผนชัดเจนในกระบวนการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประชาชนรวมทั้งผมเองก็ไม่ทราบว่าคุณสุเทพมีแผนการรูปแบบอย่างไรของการปฏิรูปรูปแบบการเมืองการปกครองโดยสภาประชาชนที่ว่านี้

ฝ่ายรัฐบาลที่อ้างว่า พร้อมเจรจากับฝ่ายประท้วงแต่ก็อ้างว่าไม่มีกฎหมายที่จะให้จัดตั้งสภาประชาชนได้ตามกฎหมายและรัฐบาลก็มาจากการเลือกตั้ง ข้อเสนอคุณสุเทพจึงกลายเป็นกบฎ ล้มล้างรัฐบาลตามกฎหมาย ทำให้ประเทศไทยต้องถึงทางตันเพราะแต่ละฝ่ายต่างมีจุดยืนของตัวเอง

ในขณะที่เขียนบทความนี้ ต่างฝ่ายต่างยื่นเงื่อนไขที่ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้จะจบลงอย่างไร ใครที่จะได้รับผลกระทบความขัดแย้งเช่นว่านี้

มีนักวิชาการจำนวนมาก หน่วยงานต่างๆ ได้เสนอให้มีการเจรจาพูดคุยกันเพื่อหาทางออก ไม่ว่าจะมีตัวกลางระดับ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือภาคเอกชนหรือรัฐบาลต่างประเทศที่พร้อมเป็นตัวกลาง แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันได้เลย แม้จะมีการหยุดพักรบไป 2 วันเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

แต่อนาคตจะจบอย่างไร ไม่มีใครรู้ได้ ผู้เสียหายคือประเทศไทยของเรานั่นเอง

ผมเองไม่ใช่นักกฎหมายมหาชน ที่มีความรู้ความชำนาญ ผมเป็นเพียงนักฎหมายภาคเอกชนที่อาจจะมีประสบการณ์การสอนหนังสือเรื่องการเจรจาต่อรอง และการทำสัญญาทางธุรกิจมาบ้าง เคยเป็นนิสิตที่ได้มีส่วนในการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย จึงอยากเสนอความเห็นในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งเท่าที่คิดว่าจะมีสติปัญญญาจะมีเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

โดยผมเห็นว่าการเจรจาความขัดแย้งที่ดีที่สุดคือ การเจรจาที่เป็นการที่ทุกฝ่ายต้องชนะ (Win-Win) ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยใช้อารมณ์แทนที่จะใช้เหตุผล โดยผมขอเสนอทางออกเพื่อให้ท่านผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณาดังนี้ คือ

1.หากรัฐบาลเห็นว่าข้อเสนอการตั้งสภาประชาชน เพื่อวางแนวทางการปฎิรูปการเมืองจะเป็นประโยชน์กับประเทศ ก็สามารถกระทำได้โดยรัฐบาลเอง โดยรัฐบาลสามารถออกเป็นพระราชกำหนด จัดตั้งสมัชชาประชาชนหรือสภาประชาชนแห่งชาติคล้ายกับจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่เคยมีการจัดตั้งมาแล้วโดยสมัชชาแห่งชาติภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549 ที่มีตัวแทนมาจากทุกภาคส่วน โดยไม่มีส่วนได้เสียกับรัฐบาลและรัฐสภา เช่น ควรมีตัวแทนจากหน่วยงาน องค์กร ภาครัฐเอกชน เช่น ผู้แทนจากสมาคมข้าราชการพลเรือน ตัวแทนจากที่ประชุมอธิการบดีจากมหาวิทยาลัย ทหาร ตำรวจ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร สภาตลาดทุน สมาคมบริษัทจดทะเบียน สภาเกษตรกร ฯลฯ

รวมทั้งแต่งตั้งอดีตนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา อดีตปลัดกระทรวง อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย และให้ผู้แทนจำนวนหนึ่งมาจากการสรรหาของประธานศาลฎีกาประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานองค์กรอิสระ เช่น ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐสภา โดยคัดเลือกจากประชาชนที่มาจากผู้แทนสาขาอาชีพจากทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 คน โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 200-300 คน ให้มีสำนักงานคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายหรือสำนักงารนคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเลขานุการเพื่อร่างกฎหมายได้รวดเร็วและถูกต้องโดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้

2.สมัชชาแห่งชาตินี้ มีอำนาจขอบเขตในการเสนอแนวทางการปฎิรูปการเมืองการปกครอง ไม่ว่าการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายป้องกันการทุจริต (โดยเน้นความสำคัญของการบังคับใช้และรักษาให้ได้มาตรฐานนานาชาติ) และกฎหมายลูกต่างๆ โดยรัฐบาลและรัฐสภา (พรรคการเมืองทุกพรรค วุฒิสมาชิก) รวมทั้งให้สัตยาบันว่าจะให้รัฐสภาอนุมัติพระราชกำหนดจัดตั้งสมัชชาหรือสภาประชาชนแห่งชาติและเสนอแก้ไขกฎหมายทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกฎหมายตามที่สมัชชาแห่งชาติเสนอ โดยนำเข้าพิจารณาแก้ไขสภาแบบ 3 วาระ โดยกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเเสร็จภายในเวลา 3-6 เดือน

3.รัฐบาลควรต้องมีความจริงใจในการเปิดโอกาสให้สมัชชาแห่งชาติดังกล่าว ทำหน้าที่โดยอิสระและประกาศเจตนารมณ์ที่จะปฎิบัติตามที่จะเสนอกฎหมายต่างๆ เข้ารัฐสภาภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้ง เช่น ทาบทามท่านอดีต นายกอานันท์ ปันยารชุน ที่ท่านเคยยินยอมเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ท่านเป็นประธานสมัชชาแห่งชาติและให้มีนักกฎหมายระดับแนวหน้าของประเทศ เช่น อาจารย์ มีชัย ฤชุพันธ์ อาจารย์ ดร.วิศณุ เครืองาม อาจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ดร.คณิต ณ นคร เข้ามาเป็นมือกฎหมายให้บรรลุเป้าหมายได้

4.เมื่อกฎหมายทุกฉบับ ฝ่ายรัฐสภาประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว รัฐบาลก็ให้มีการยุบสภาให้มีการเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่ พร้อมการลงประชามติกฎหมายที่เสนอ โดยสมัชชาแห่งชาติตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญพร้อมกันไปด้วยก็ได้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งและการลงประชามติ

5.รัฐบาลปัจจุบันอาจอยู่รักษาการหรือตั้งรัฐบาลแห่งชาติชั่วคราว 3-6 เดือน โดยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีหรือบุคคลในพรรคเพื่อไทยหรือบุคคลภายนอกที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเป็นรัฐบาลรักษาการ 3-6 เดือน ในช่วงที่สมัชชาแห่งชาติพิจารณาเสนอกฎหมายต่าง ๆ โดยมีคณะรัฐมนตรีจากคนนอกจนกว่าจะยุบสภาและเลือกคนใหม่ภายใต้กติกาใหม่ และจะงดการนำนโยบายที่มีปัญหาสำคัญ เช่น จำนำข้าวไว้ก่อน

6. ฝ่ายคุณสุเทพและผู้แทน กปปส. ก็อาจจะเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกสมาชิกสมัชชาหรือสภาประชาชน เช่นเดียวกับกลุ่ม นปช. (ที่ไม่ได้ลงเลือกตั้ง) เพื่อเสนอแนวทางหรือมีผู้แทนเข้าร่วมกำหนดแนวทางปฏิรูปการเมืองใหม่ ส่วนเรื่องการดำเนินคดีคุณสุเทพและพวกก็ว่ากันไปตามกระบวนการทางกฎหมาย

การออกพระราชกำหนดภายใด้รัฐธรรมนูญโดยชอบ โดยมีโครงสร้าง ขอบอำนาจหน้าที่ ภารกิจ กำหนดกรอบเวลาอย่างชัดเจน มีการประสานขัอตกลงที่รัฐบาลและพรรคการเมืองทุกฝ่าย วุฒิสมาชิก โดยทุกฝ่ายให้สัตยาบันว่าจะดำเนินการภายใต้กฎกติกาทึ่กำหนดขึ้นใหม่นี้อย่างจริงใจของทุกฝ่าย เราก็จะนำประเทศเราฝ่าวิกฤต โดยทุกฝ่ายย่อมเป็นผู้ชนะและไม่มีใครเป็นผู้แพ้แต่อย่างใด

ผมขอฝากให้ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายมหาชน นักรัฐศาสตร์ นักการเมือง นักสันติวิธีที่จะหาทางออกให้ประเทศในยามวิกฤตนี้ ให้พิจารณากำหนดรูปแบบกฎหมาย ไม่ว่าการกำหนดกระบวนการทำงานของสมัชชาแห่งชาติ ขอบเขตหน้าที่และกรอบเวลาที่จะเป็นทางออกที่ดี ให้บรรลุความปรองดองได้อย่างจริงจัง ท่ำสคัญต้องเน้นเรื่องการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบโดยการเสนอกฎมหายที่สมบูรณ์

ผมหวังว่าด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นที่รักเทิดทูนยิ่งของชาวไทยทุกคน จะทำให้ทุกฝ่ายจะหาทางออกให้ประเทศไทยเพื่อเป็นของขวัญที่ทูลเกล้าให้ในหลวงของเราในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ท่าน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พิมพ์เขียว รัฐธรรมนูญรัฐสวัสดิการ ความเป็นธรรมและยั่งยืน

view