สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จาก Egypt Spring ถึงประเทศไทย

จาก Egypt Spring ถึงประเทศไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




คำถามที่อยู่ในใจของคนไทยทั้งประเทศเวลานี้ คือวิกฤติการเมืองที่เรากำลังเผชิญอยู่จะจบลงได้อย่างไร

และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะจบลงอย่างตรงธรรม สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในทิศทางที่ดีกว่า ประเทศไทยหลุดออกจากระบอบทักษิณได้ ไม่เสียแรงมวลมหาประชาชนที่ลุกขึ้นมาแสดงพลังต่อสู้ร่วมกันอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

ไม่ประหลาดใจที่เราคาดเดาไม่ออกว่าการต่อสู้ของประชาชนรอบนี้จะจบลงอย่างไร เพราะรอบนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมไทย เป็นการต่อสู้ของประชาชนกับระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ใช้อำนาจขัดกับหลักนิติรัฐและนิติธรรม ขาดหิริ?โอตัปปะและความรู้สึกผิดชอบชั่วดี รวมทั้งเป็นระบอบเผด็จการที่ต้องการยึดอำนาจต่างๆ ของประเทศโดยเบ็ดเสร็จ หาประโยชน์จากการคอรัปชั่น และที่น่ากลัวที่สุดคือมุ่งเอาชนะเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและ พวกพ้องด้วยการสร้างความแตกแยกให้แก่สังคมไทยอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

การต่อสู้ของประชาชนรอบนี้ ต่างจากการต่อสู้รอบก่อนๆ ในหลายมิติ อาทิเช่น social media ได้เป็นกลไกหลักที่เร่งให้เกิดอารมณ์ร่วมและสื่อสารข้อมูลกันได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่สื่อมวลชนกระแสหลัก กลับขาดประสิทธิภาพและอิสระภาพ อารยะขัดขืนกลายเป็นคำที่คนไทยนับล้านรู้จักและต้องการมีส่วนร่วม นักศึกษาและคนรุ่นใหม่กลับมาสนใจเรื่องการเมืองและแสดงพลังอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่หายไปนาน เกิดผู้นำประชาชนที่คนไทยไม่เคยคิดว่าเขาเหล่านี้จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของมวลมหาประชาชนได้ และที่สำคัญข้อเรียกร้องของการต่อสู้ครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ยุบสภา หรือให้นายกรัฐมนตรีออกนอกประเทศ เหมือนกับการต่อสู้ในอดีตที่ผ่านมา แต่เป็นข้อเรียกร้องที่ต้องการล้มล้างระบอบทักษิณและระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งฝังรากลึกในประเทศไทยมาหลายปี ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบอบการเมือง และการปฏิรูปด้านต่างๆ ของสังคมและเศรษฐกิจไทย เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าร่วมกันได้อย่างมั่นคง ไม่ไหลลงเหวเรื่อยๆ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา

การต่อสู้ครั้งนี้ยังต่างไปจากการต่อสู้ในอดีตตรงที่ประชาชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยรักษารัฐธรรมนูญ ไม่ต้องการเห็นทหารเข้ามาปฏิวัติยึดอำนาจ แต่ประชาชนต้องการเห็นทหารอยู่ข้างประชาชน มีบทบาทในการคานอำนาจกับรัฐบาล และควบคุมตำรวจให้ทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมและไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้

การลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนในลักษณะนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศในช่วงห้าปีที่ผ่านมา มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว ผมคิดว่าการลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนอียิปต์ หรือ Egypt Spring ในต้นปี 2554 น่าสนใจเป็นพิเศษ ประชาชนอียิปต์ลุกขึ้นต่อสู้ด้วยเหตุผลคล้ายกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทางรัฐสภา การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการทุจริต การคอรัปชั่นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตำรวจเป็นกลไกทางการเมืองที่ลุแก่อำนาจ ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นมากในขณะที่ความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ อียิปต์ตกต่ำลง จนประชาชนต้องการล้มล้างระบอบเดิม และวางระบอบการเมือง การเลือกตั้งใหม่ ประชาชนอียิปต์หลายล้านคนลุกขึ้นแสดงพลังทั่วประเทศ เดินขบวน ยึดสถานที่ราชการ ใช้วิธีอารยะขัดขืน จนสามารถล้มล้างรัฐบาลของประธานาธิบดีมูบารักได้ในช่วงเวลาไม่กี่เดือน

แม้ว่าการต่อสู้ของประชาชนอียิปต์รุนแรงกว่าการต่อสู้ในประเทศไทยในขณะนี้มาก เพราะระบอบมูบารักฝังรากลึกปกครองอียิปต์มานานกว่า 30 ปี แต่ถ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์ช่วงสามปีที่ผ่านมา อาจจะทำให้เห็นภาพเลาๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยในระยะข้างหน้านี้ รวมทั้งมีบทเรียนอะไรบ้างที่เราต้องตระหนัก เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะสามารถล้มล้างระบอบทักษิณได้ สามารถวางรากฐานการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้นและตรงธรรม เราคงไม่อยากตกอยู่ในสถานะเดียวกับอียิปต์ เพราะผ่านไปเกือบสามปีแล้ว อียิปต์ยังไม่หลุดจากวงจรความขัดแย้ง ประชาชนยังต้องลุกขึ้นต่อสู้กัน ยังใช้ความรุนแรงในการแย่งอำนาจระหว่างผู้นำฝ่ายต่างๆ และยังไม่เห็นทางออกว่าการเปลี่ยนแปลงในอียิปต์จะวางรากฐานให้สังคมและเศรษฐกิจอียิปต์ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงได้อย่างไร

ผมคิดว่ามีอย่างน้อยสี่มิติที่เราต้องให้ความสำคัญ มิติแรก การต่อสู้ของประชาชนไทยในวันนี้และในวันข้างหน้าจะต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรงทุกรูปแบบ ต้องระวังให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุดโดยเฉพาะความสูญเสียต่อชีวิต Egypt Spring ส่งผลให้มีคนตายเกือบพันคน และบาดเจ็บอีกหลายหมื่นคน ความสูญเสียเหล่านี้ไม่มีทางเรียกกลับคืนมาได้ เปลี่ยนแปลงชีวิตของคนจำนวนมาก สร้างรอยร้าวในใจของคนในสังคม ส่งผลให้คนที่คิดต่างเห็นต่างอยู่ร่วมกันได้ยากขึ้น สังคมแตกแยกกันมากขึ้น และเมื่อใดที่เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ ความรุนแรงมักกลับมาให้เห็นอยู่เรื่อยไป

ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการเห็นใครเจ็บใครตาย ในการขับเคลื่อนประชาชนหลักแสนหลักล้านให้ลุกขึ้นต่อสู้กับผู้มีอำนาจรัฐนั้น อารมณ์ร่วมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราต้องช่วยกันควบคุมอารมณ์ร่วมของประชาชนให้ปฏิเสธความรุนแรง ลดความเกลียดชังโดยขาดสติ เพราะทุกครั้งที่ประชาชนลุกขึ้นต่อสู้ ย่อมมีคนใจร้อนเห็นต่าง และมีคนคอยกระตุ้นยั่วยุ เพื่อให้เกิดความรุนแรง เพื่อใช้เป็นเหตุผลในการสลายการชุมนุมด้วยกำลัง

มิติที่สองผู้นำพลังประชาชนและทหารจะต้องร่วมกันกำหนดบทบาทของทหารให้เหมาะสม การต่อสู้ภาคประชาชนจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยทหารให้ยืนอยู่ข้างเดียวกัน โดยเฉพาะการต่อสู้ที่เรียกร้องให้เว้นวรรคเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์กติกาการเลือกตั้งและปฏิรูปการเมือง ในอดีตเมื่อเกิดการปฏิวัติรัฐประหาร ทหารไทยคุ้นเคยกับการยืนอยู่ข้างหน้าหรือข้างประชาชน แต่การต่อสู้รอบนี้ ทหารอาจจะต้องยืนอยู่ข้างหลังประชาชน ต้องรู้บทบาทที่จะออกมาป้องกันและยุติความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สังคมไทยและสังคมโลกไม่ต้องการให้ทหารมีบทบาทเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และต้องการให้ทหารลดบทบาทลงเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ไม่ยึดติดกับอำนาจและไม่เพลี่ยงพล้ำตกอยู่ในสถานะที่ถอยไม่ได้

ในอียิปต์ทหารเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีมูบารักได้ในช่วงต้นปี 2554 ทหารยืนเคียงข้างรัฐบาลรักษาการในช่วงร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จนกระทั่งมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีมอร์ซีได้ในช่วงกลางปี 2555 แต่เมื่อประธานาธิบดีมอร์ซีพยายามที่จะออกกฎหมายรวบอำนาจไว้ที่ตนเอง รวมทั้งใช้กระบวนการรัฐสภาอย่างไม่เป็นธรรม เกิดการเดินขบวนประท้วงของประชาชนรอบใหม่ในช่วงกลางปี 2556 ทหารได้กลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่งในการปฏิวัติล้มรัฐบาลมอร์ซี

โจทย์ใหญ่ของอียิปต์คือจะลดบทบาทของทหารลงได้อย่างไร เพราะตราบใดที่ทหารยังคงมีบทบาทยืนเคียงข้าง หรือชักเงารัฐบาลอยู่ข้างหลัง มีโอกาสสูงมากที่อำนาจของทหารจะลงรากฝังลึก โดยเฉพาะในกรณีที่ทหารเข้าไปมีส่วนใช้ความรุนแรงจนทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต ถ้าไม่สามารถสร้างพันธะสัญญาระหว่างผู้นำประชาชนกับทหารถึงบทบาทของทหารที่เหมาะสม รวมทั้งไม่สามารถบังคับให้ทหารรักษาสัญญาได้แล้ว อาจเกิดระบอบอำนาจใหม่ในสังคม ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิรูประบบการเมืองและสังคมได้อย่างแท้จริง

มิติที่สาม ถ้าคิดจะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์กติกาการเมืองการปกครองก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งใหม่ เราไม่ควรล้มล้างระบบเดิมทั้งหมด ความสำคัญอยู่ที่ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ในเวลาที่ไม่นานนัก การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไม่มีทางลัด ระบบการเมืองการปกครองที่พัฒนามาจนถึงทุกวันนี้มีที่มาที่ไป และมีกลไกต่างๆ เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะกลไกการตรวจสอบ ถอดถอน และลงโทษคนที่ทำผิด ในช่วงที่ผ่านมา กลไกเหล่านี้อาจถูกแทรกแซงให้ทำหน้าที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จำเป็นที่ต้องเลือกปรับปรุงเฉพาะกลไกที่สำคัญบางเรื่อง และกลับไปสู่การเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว

การวางระบบการเมืองการปกครองใหม่ให้ครบถ้วนสมบูรณ์จะต้องใช้เวลานาน และหนีไม่พ้นว่าในช่วงเวลาดังกล่าว จะเกิดการประท้วงและก่อกวนกันมากมายโดยกลุ่มคนเห็นต่าง ซึ่งอาจจะทำให้ทหารต้องออกมายืนอยู่ด้านหน้าในบางครั้ง ซึ่งจะเป็นอันตรายมากสำหรับการปฏิรูปประเทศในระยะยาว เราอาจจะต้องผ่านการเลือกตั้งอีกสองสามรอบกว่าจะได้รัฐบาลและระบบการเมือง การปกครองที่จะเป็นฐานสำหรับการปฏิรูปประเทศได้อย่างจริงจัง ไม่มีทางลัดสำหรับเปลี่ยนแปลงประเทศที่มีคนหกสิบกว่าล้านคน ในยุคที่สังคมแตกแยก และ social media มีบทบาทสูง

เราต้องตระหนักว่าประเทศไทยวันนี้มีกลไกใหม่เกิดขึ้นมาอีกหนึ่งกลไก คือพลังประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น เราควรเร่งหาทางรักษาพลังของประชาชนให้คงอยู่ต่อเนื่อง และต่อยอดพลังเหล่านี้ให้ทำหน้าที่กำกับดูแล และตรวจสอบกลไกทางการเมืองที่มีอยู่ให้เกิดความชอบธรรม โดยอาจไม่ต้องล้มล้างระบบการเมืองการปกครองเดิม รวมทั้งต้องใช้พลังประชาชนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงไปทำความเข้าใจ ให้ความรู้กับกลุ่มคนที่เห็นต่างหรือยังนิยมระบอบเดิม เพื่อลดความขัดแย้งแบบสุดขั้วในสังคมไทย

การต่อยอดพลังประชาชนที่จุดติดรอบนี้ให้เกิดผลต่อเนื่องในระยะยาวเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จำเป็นที่จะต้องมีกลไกเพื่อส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และตำรวจ ในต่างประเทศมีกลไกมากมายที่ส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานราชการ การใช้กลไก social media ให้ประชาชนรายงานเรื่องทุจริตคอรัปชั่นได้ง่าย มีกฎหมายคุ้มครองคนเป่านกหวีดเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล (whistle blower) หรือการส่งเสริมให้สื่อสาธารณะและสื่อมวลชนประเภทสืบสวนสอบสวนมีบทบาทมากขึ้น ผมคิดว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมาอียิปต์ไม่ได้พัฒนากลไกเหล่านี้เท่าไหร่ ทำให้พลังของประชาชนที่จุดติดขึ้นมาไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ประชาชนต้องออกมาประท้วงและใช้ความรุนแรงต่อสู้กันเรื่อยไป

มิติที่สี่การล้มล้างระบอบอำนาจเก่าจะต้องทำอย่างรวดเร็ว จริงจัง และโปร่งใส โดยเฉพาะนักการเมือง รัฐบาล และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีหลักฐานเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น หรือใช้กำลังรุนแรงจนเกิดความสูญเสียต่อชีวิตของประชาชนที่ต่อสู้โดยสันติ ประธานาธิบดีมูบารักและพวกพ้องถูกดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว หลายคนคงจำภาพที่ประธานาธิบดีมูบารักขึ้นศาลในเตียงคนไข้ได้ ภายในระยะเวลาไม่ถึงสามปี ประธานาธิบดี รัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของอียิปต์จำนวนมากถูกลงโทษจำคุก และยึดทรัพย์ที่ได้มาจากการทุจริตคอรัปชั่น

โจทย์สำคัญสำหรับประเทศไทย คือถ้าเราจะล้างระบอบอำนาจเก่าให้สำเร็จ เราควรใช้กลไกใดจึงจะทำได้รวดเร็ว จริงจัง และโปร่งใส กลไกการพิจารณาคดีทุจริตคอรัปชั่นของไทยขาดประสิทธิภาพอย่างแรง ใช้เวลานานมากกว่าที่จะเกิดผล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิรูปกลไกเหล่านี้อย่างเร่งด่วนและจริงจัง ทำอย่างไรเราจึงจะลงโทษนักการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้มูลความผิดแล้วว่าใช้เผด็จการรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำอย่างไรเราจึงจะลงโทษนักการเมืองและข้าราชการที่มีส่วนสร้างความสูญเสียในโครงการรับจำนำข้าว และโครงการขนาดใหญ่ที่มีข่าวทุจริตคอรัปชั่นอีกหลายโครงการ การเร่งกลไกการตรวจสอบและลงโทษนักการเมืองและข้าราชการในคดีเหล่านี้ให้ เกิดผลโดยเร็ว อาจจะสำคัญกว่าการปฏิรูปการเมืองการปกครองในภาพใหญ่ด้วยซ้ำไป

ยังไม่มีใครรู้ว่าวิกฤติการเมืองที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้จะจบลงได้อย่างไร แต่บทเรียนจาก Egypt Spring อาจจะช่วยให้เราตั้งหลักได้ถูกต้อง และจัดลำดับความสำคัญของการก้าวต่อไปเพื่อให้เกิดการปฏิรูปได้อย่างแท้จริง เราต้องตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศไม่มีทางลัด ต้องไม่หวังใช้อำนาจพิเศษเป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงนานเกินควร การเปลี่ยนแปลงจะต้องกลับไปสู่ที่เสียงของประชาชน และต้องหาวิธีที่จะต่อยอดพลังของประชาชนที่จุดติดรอบนี้ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Egypt Spring ประเทศไทย

view