สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มองตลาดส่งออกปี 2557 ในอีกมุมหนึ่ง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ถึงแม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้อาจจะไม่ดีนัก และอาจจะเห็นตัวเลขการส่งออกทั้งปีไม่เพิ่มขึ้นหรือเติบโตได้ไม่ถึงร้อยละ 1 โดยการส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นบ้าง แต่เราก็ยังไม่สามารถทำได้ดีนัก

โดย จารุพัฒน์ พานิชยิ่ง ผอ.ฝ่ายรับประกันการส่งออก ธสน.

ส่วน ปีใหม่ที่จะก้าวเข้ามานี้ ผมว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในตลาดหลัก เช่น สหรัฐ ที่คาดว่า GDP Growth จะอยู่ประมาณร้อยละ 2.6 รวมทั้งยูโรโซนก็เริ่มเห็นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงบวก ขณะที่ตลาดใหม่ เช่น จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย และประเทศในกลุ่มอาเซียนยังมีเศรษฐกิจที่เติบโตสูงอยู่เช่นกัน และมีการประมาณการว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก

ปี 2557 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.5-3.6 สูงกว่าปีนี้เกือบร้อยละ 1 ทำให้ปริมาณการค้าโลกเติบโตประมาณร้อยละ 4.5 อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกไทยในปี 2557 จะขยายตัวในระดับที่ร้อยละ 5 แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะดูดี แต่นี่คือการคาดการณ์ซึ่งอาจยังไม่แน่นอนนัก

วันนี้ผมจึงขอนำบท วิเคราะห์ของฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงในตลาดหลักของไทยมาให้ผู้อ่านได้พิจารณา

เริ่ม จากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน ท่านคงทราบว่าประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่มีการส่งออกไปยังตลาดจีนเป็นสัดส่วน ที่สูง ดังนั้นหากรัฐบาลจีนมีนโยบายปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ อาจส่งผลกระทบให้ความต้องการสินค้าของจีนลดลง และการซื้อสินค้าจากอาเซียนก็จะลดลงตามไปด้วย

ความเสี่ยงต่อมาคือ การที่ธนาคารกลางของสหรัฐลดวงเงินมาตรการซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการผ่อน คลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 หรือที่เรียกกันว่า QE3 ในปีหน้า จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับสหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในอาเซียนอ่อนค่าลง ทำให้ต้องแบกรับหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้น และปัจจัยเสี่ยงสุดท้ายของอาเซียน คือ ภาวะฟองสบู่ จากการที่ราคาอสังหาริมทรัพย์และหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการลง ทุนของต่างชาติ

จีน Economist Intelligence Unit : EIU คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2557 มีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยจากร้อยละ 7.7 ในปี 2556 เหลือร้อยละ 7.3 จากนโยบายปรับสมดุลทางเศรษฐกิจเพื่อลดความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้การลงทุนและการใช้จ่ายภายในประเทศชะลอตัวลง และน่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านทางอาเซียนและ ญี่ปุ่น

สหรัฐ EIU คาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวจากร้อยละ 1.7 ในปีนี้ และเป็นร้อยละ 2.6 ในปีหน้า แต่เศรษฐกิจสหรัฐมีกระดูกก้อนใหญ่ คือ การเจรจาระหว่างรัฐบาลและพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาเรื่องการเพิ่มเพดานหนี้ สาธารณะยังมีความไม่แน่นอน หากทั้งสองไม่สามารถตกลงกันได้จะส่งผลให้สหรัฐผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกใน ประวัติศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีนซึ่งเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ

สหภาพ ยุโรปได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และค่อย ๆ เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1 แต่นักวิเคราะห์หลายแห่งยังไม่มั่นใจว่าการฟื้นตัวครั้งนี้จะเป็นเพียงระยะ สั้นหรือไม่ เพราะสหภาพยุโรปยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสถานะทางการเงินที่อ่อนแอของรัฐบาล

ญี่ปุ่น ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Abenomics ช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจซบเซาและภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่องของญี่ปุ่น แต่มาตรการดังกล่าวทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยตรงเพราะสินค้าไทยจะมีราคาสูงขึ้นเมื่อ เทียบเป็นเงินเยน ขณะเดียวกันญี่ปุ่นมีการปรับขึ้นอัตราภาษี Sales Tax จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2557 อาจทำให้การใช้จ่ายในประเทศชะลอตัวลง และความต้องการสินค้าอาจชะลอตัวลงตาม

หาก ต้องการทราบข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.exim.go.th สุดท้ายนี้ผมขอถือโอกาสสวัสดีปีใหม่ และขอให้ทุกท่านประสบผลสำเร็จทางธุรกิจในปีหน้า โชคดีทุกท่านครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มองตลาดส่งออก ปี 2557 อีกมุมหนึ่ง

view