สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดแนวคิดใหม่ พิชิตคอร์รัปชัน พัฒนาธรรมาภิบาล (1)

เปิดแนวคิดใหม่ พิชิตคอร์รัปชัน พัฒนาธรรมาภิบาล (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ต้นทุนของคอร์รัปชัน ไม่ได้เท่ากับจำนวนเงินที่ถูกฉ้อราษฎร์บังหลวงไปอย่างที่คิดกัน

แต่มูลค่าแท้จริง เป็นได้ทั้งน้อยกว่าและมากกว่าจำนวนเงินที่ถูกทุจริตไป ที่ว่าน้อยกว่า เพราะเงินจำนวนนั้นไม่ได้ถูกเผาทิ้งหรือหายไปไหน ส่วนใหญ่ก็ยังวนเวียนอยู่ประเทศไทย แต่ความเสียหายที่ใหญ่หลวงกว่านั้นมากคือ ความบิดเบือนผิดเพี้ยน ความอ่อนแอง่อยเปลี้ยในการให้บริการของภาคส่วนต่างๆ อุตสาหกรรมที่ไร้ประสิทธิภาพดำรงอยู่และกัดกร่อนสังคมต่อไป ความไว้วางใจต่อกันค่อยๆ ถูกกัดเซาะให้สึกกร่อน หายนะปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้น ความไม่สงบแผ่ขยายรุนแรงขึ้น ประเทศที่ผู้คนมีความรู้ความสามารถและเก่งกาจในทางการค้าไม่แพ้ใครในโลกที่เรียกว่าพัฒนาแล้ว อาจลงเอยจมปลักอยู่ในสภาวะตกต่ำไม่ต่างกับประเทศยากจนและมีการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวกันอย่างไม่ถูกต้อง

คอร์รัปชันที่แท้แล้วมีลักษณะเป็นระบบแห่งดุลยภาพ (equilibrium) และมีลักษณะแพร่กระจาย ซึ่งหมายความว่า ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ถ้ายังคงใช้วิธีการแบบเดิมแบบเดียวกับที่ใช้กันมา ต่อให้เพิ่มปริมาณความเข้มข้นหรือปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นกว่าเดิม ก็ยังไม่เพียงพอ เช่น แค่บอกว่าต้องมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการบริหารรัฐกิจที่ดีขึ้น และมุ่งเน้นในเชิงบวกแล้วจะสามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ ความพยายามที่จะจัดตั้งหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันแทบไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้นได้ อย่างเช่นที่ไทยจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้นเมื่อปี 2518 พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ายังไม่เพียงพอในการรับมือกับปัญหาคอร์รัปชัน ดังนั้น หนทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จะต้องปราบปรามระบบที่ก่อให้เกิดคอร์รัปชันชนิดถอนรากถอนโคน

ประเทศไทยจะใช้อะไรเป็นรากฐานในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้บ้าง

ความเกลียดชังที่มีต่อคอร์รัปชัน (ถึงแม้บางครั้งต้องจนใจยอมเพราะจำนนต่อระบบ)

สัญญาณที่ดีจากภาคเอกชนและประชาสังคม เช่น ความเคลื่อนไหวในการรวมตัวของภาคธุรกิจต่อต้านคอร์รัปชัน นำโดย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการ

ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศ เมื่อปี 2555

รัฐบาลใดก็ตาม หากต้องการเปลี่ยนความคาดหวังเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชัน จะต้องเริ่มสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาอย่างเป็นขั้นตอนที่ปฏิบัติจริงได้ นั่นคือ ต้องเชือดไก่ให้ลิงดู หรือถ้าเป็นปลาก็ต้องเป็นปลาตัวใหญ่ ไม่ใช่ปลาซิวปลาสร้อย และต้องแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ดำเนินการสามารถลดการทุจริตคอร์รัปชันในระดับล่างลงได้จริงและส่งผลให้บริการต่อประชาชนดีขึ้น ภารกิจนี้ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลฝ่ายเดียว รัฐบาลจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันต้องระดมพลังจากภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาสังคม และมีภาวะความเป็นผู้นำที่ไม่ย่นย่อต่ออุปสรรค นอกจากนี้ การสนับสนุนในด้านเงินทุนก็มีส่วนช่วยได้

ในระยะยาว รัฐบาลและภาคีระหว่างประเทศจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการปฏิรูปแรงจูงใจ นอกจากนี้ ก็ยังจำเป็นที่จะต้องพัฒนาขีดความสามารถในระดับสถาบันให้พร้อมกันไปทั้งองคาพยพ ทั้งในด้านฝึกอบรม คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ระบบสนับสนุนจากสื่อสังคมออนไลน์เพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน เป็นต้น

ในการกระตุ้นให้เกิดพลังร่วมในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ก่อนอื่น ต้องระดมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคธุรกิจ รัฐบาลและประชาสังคมให้เข้ามาร่วมคิดเกี่ยวกับระบบที่เกิดการทุจริตคอร์รัปชันและจะทำอย่างไรกับปัญหานั้น การมองหาบทเรียนที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากประเทศอื่นก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำได้ โดยใช้บทเรียนนั้นเป็นแรงบันดาลใจ เป็นแรงกระตุ้น แต่ไม่ใช่พิมพ์เขียวที่จะลอกเลียนแบบได้ทั้งหมด จากนั้น จะต้องหาผู้นำในการดำเนินการและภาคีเครือข่ายจากกลุ่มผู้นำในสังคม

ยังไม่สิ้นหวัง

รายงานข่าวต่อไปนี้เป็นเรื่องราวในจินตนาการถึงอนาคต แต่ลองคิดตามไปดู

รายงานข่าวสมมติจากปี 2561

“เราภูมิใจในประเทศไทย” ธรรมาภิบาลยอดเยี่ยม เศรษฐกิจเฟื่องฟู

กรุงเทพฯ - 7 ตุลาคม 2561 (สำนักข่าวรอยเตอร์ส) ภายในเวลาเพียง 5 ปี ประเทศไทยเริ่มปฏิรูปตามแนวทางการบริหารภาครัฐที่ดี โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

“บางคนบอกว่าเราหนีไม่พ้นหนทางคอร์รัปชันเหมือนในอดีต” นายกรัฐมนตรี อนพัทย์ พุตพิสุทธ์ กล่าว “แต่ดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เราสามารถขยายโอกาสการเติบโตของประเทศและลดปัญหาเรื้อรังของคอร์รัปชันลงได้”

ผู้นำเวทีเศรษฐกิจโลก เคลาส์ สไตเนอร์ กล่าวว่า “ในปี 2556 ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยถูกปัญหาคอร์รัปชันฉุดให้ล้าหลัง จาก 144 ประเทศทั่วโลก ไทยอยู่ที่อันดับ 101 ในแง่การกระจายเงินลงทุนสาธารณะ ความไม่ไว้วางใจต่อกันระหว่างนักการเมืองรุนแรงสูง แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง”

ปัจจุบัน ในปี 2561 ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในอันดับ 20 ของโลก นำหน้ามาเลเซีย ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันดีขึ้นขึ้น 20 จุด จัดได้ว่ามีการพัฒนาดีขึ้นมากเป็นอันดับสามของโลก

ผลพวงที่ตามมาประการหนึ่งคือ เกิดการลงทุนในภาคเอกชนมากขึ้น “จากรายงานศึกษาชิ้นหนึ่งชี้ว่า ธรรมาภิบาลเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุน” เอนริเก โลเปซ จากธนาคารโลกกล่าวว่า “ผลจากการศึกษาระบุว่า ในระยะยาว การลงทุนจากภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นมหาศาลภายใต้บรรยากาศที่เอื้ออำนวย ในประเทศไทย การลงทุนภาคเอกชนต่อสัดส่วน GDP เพิ่มขึ้น 5%”

ไทยทำสำเร็จได้อย่างไร

“สามเรื่องหลักๆ ที่เราทำ” รัฐมนตรีคลัง กุหลาบ ทรงวานิชย์เผย “ภาคธุรกิจมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง รัฐบาลและภาคธุรกิจร่วมมือกัน มองในภาพใหญ่ เต็มไปด้วยอุดมการณ์มากมาย เราเขียนแผนเชิงยุทธศาสตร์ที่ปฏิบัติได้จริงขึ้นมา โดยวิเคราะห์จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่และดูตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ ที่ทำสำเร็จมาแล้ว จากนั้นเริ่มลงมือทำในเชิงรูปธรรมสองสามเรื่องที่คาดว่าจะเห็นผลได้ในเวลารวดเร็ว หนึ่งในคำขวัญของเราคือ ‘เราต้องการภูมิใจในประเทศไทยอีกครั้ง’ และเราก็ทำได้จริงๆ”

การสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยแบ่งงานออกเป็นส่วนเป็นขั้นๆ ช่วยทำให้เป้าหมายของธรรมาภิบาลที่ดูยิ่งใหญ่ลดความน่ากลัวลง “ลองเจาะดูเป็นเรื่องๆ ที่ไทยได้ลงมือทำไปแล้ว เช่นการเพิ่มความโปร่งใส” เคิร์สติน โซเรนเซน แห่งองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ กล่าวว่า “มีการปรับปรุงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตให้ใช้งานได้มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับต่างๆ มาตรการจูงใจทางภาษีอากรและประโยชน์อื่นๆ ที่ให้แก่บริษัทต่างๆ การแปรรูปองค์กรของรัฐให้เป็นเอกชน การโอนที่ดินสาธารณะ เงินอุดหนุนและการยื่นประกวดราคา คำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับข้อพิพาทเชิงพาณิชย์ทั้งหลาย”

ไมเคิล เฮิร์สแมน แห่งแฟร์แฟ็กซ์ กรุ้ป กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติคนไหนที่นำเสนอบริษัทเอกชนรายใดให้แก่กระทรวงใดก็ตาม จะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรและข้อเสนอแนะทั้งหมดทำนองนี้จะต้องประกาศเป็นข้อมูลสาธารณะ”

นอกจากนี้ การไหลของข้อมูลข่าวสารเป็นไปแบบสองทาง “ประชาชนมีกลไกหลากหลายในการให้เสียงสะท้อน” นักวิชาการและนักเคลื่อนไหว สมชาญ วิริยะพันธ์พงศา อธิบายว่า “โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ ด้วยความร่วมมือจากภาคเอกชน รัฐบาลพัฒนาตัวชี้วัดขึ้นมาเพื่อประเมินการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ มีหน้าเฟซบุ๊คที่เราเข้าไปกด ‘like’ การปฏิบัติงานที่ดี และรายงานการปฏิบัติที่ไม่ดี และการตั้งสภาประชาชนทำหน้าที่สอดส่องการทำงานของแต่ละกระทรวงและหัวเมืองขนาดใหญ่ เราติดตามได้ว่ามีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้จริงๆ หรือไม่”

ชุมชนภาคธุรกิจยังมีส่วนช่วยด้วยการ “วินิจฉัย” ที่สร้างสรรค์ต่อระบบทุจริตคอร์รัปชัน สุชาติ สีช่วย แห่งสภาอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างความสำเร็จที่ผ่านมา “บริษัทรายใหญ่ที่รับสร้างถนนทุกรายจะถูกสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวเพื่อให้วินิจฉัยว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีช่องโหว่ตรงไหนบ้าง ตั้งแต่การตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น ไปจนถึงการเจรจาต่อรองด้านสัญญา จากการสัมภาษณ์บริษัทราว 15 แห่ง เราสามารถวิเคราะห์ปัญหาของระบบได้ว่าอยู่ตรงไหน และนำการวิเคราะห์นี้ไปหารือกับกระทรวงเพื่อร่างมาตรการอย่างชัดเจนในการปฏิรูป แต่ละปีเราจะดำเนินการวิเคราะห์แบบเดียวกันนี้เพื่อติดตามความก้าวหน้าและปรับปรุงการปฏิรูปให้รัดกุมยิ่งขึ้น”

ผลลัพธ์ที่ได้ : คอร์รัปชันลดลง ค่าใช้จ่ายในการสร้างถนนต่อกิโลเมตรลดลง และมาตรการควบคุมคุณภาพถนนสูงขึ้น

การคอร์รัปชันเชิงระบบ

การติดตามนำทรัพย์สินที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องจากการคอร์รัปชันกลับคืนมา เป็นเรื่องสำคัญแน่นอน “การติดตามนำกลับคืนมาเป็นเรื่องยากลำบากมากแม้แต่กับผู้ที่มีประสบการณ์อย่างยิ่งก็ตาม” ฌอง-ปิแอร์ เบริง ผู้ร่วมเขียนหนังสือเรื่อง Asset Recovery Handbook : A Guide for Practitioners (คู่มือการติดตามสินทรัพย์ : ข้อแนะนำสำหรับนักปฏิบัติ) กล่าวว่า “ในประเทศไทย ขบวนการติดตามทรัพย์สินเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือให้ง่ายขึ้นจากความร่วมมือของประเทศต่างๆ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ในการอายัดทรัพย์ แน่นอนว่ารัฐบาลใหม่ต้องการเงินที่ทุจริตไปกลับคืนมา แต่ที่น่าลำบากใจคือความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐหลายๆ คนในรัฐบาลเก่าที่มีส่วนรู้เห็นการโอนเงินที่ผิดกฎหมายดังกล่าว แม้กระทั่งพนักงานระดับเสมียนก็ยังเข้าไปมีสมรู้ร่วมคิด”

การเชือดไก่ให้ลิงดู หมายความว่าจะต้องลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนที่ทุจริตคอร์รัปชันโดยเฉพาะผู้กระทำผิดรายใหญ่ๆ เพื่อแสดงให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่า รัฐบาลจริงจังกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง

“สิ่งที่เราทำ ไม่ใช่ยึดติดกับอดีต” อัยการ กล้าหาญ เปาพิชิต กล่าวว่า “แต่เราเน้นป้องกันการคอร์รัปชัน เราเริ่มพัฒนาระบบกำกับดูแลและตรวจสอบ ตลอดจนกระบวนยุติธรรม ซึ่งรวมถึงการสร้างแรงจูงใจที่ดีขึ้น เราพัฒนาวิธีการใหม่ในการรับข้อมูลข่าวสารมาจากพลเมือง ผู้ประกอบธุรกิจและเจ้าหน้าที่รัฐ”

อ่านต่อหน้า A-16 ....... (หน้า A-16 ไม่มีอยู่จริงหรอก แต่ในอนาคตก็ไม่แน่)

อย่างไรก็ตาม ข่าวในจินตนาการแบบนี้ทำให้รู้สึกเบิกบานใจไม่น้อย ข่าวดังกล่าวบอกเราว่า จากนี้ไปอีกห้าปี ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จอย่างไม่คาดคิด ในข่าวบอกเป็นนัยๆ ถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ แต่ประเด็นสำคัญคือ ประเทศไทยลงมือปราบคอร์รัปชันและปัญหาทุจริตลดลงอย่างมาก

บางคนคงโวยขึ้นว่าเป็นไปไม่ได้ “อุปสรรคใหญ่ต่อการพัฒนาในประเทศไทยคือการคอร์รัปชัน” หลายคนเห็นตรงกัน “แล้วจะจัดการกับปัญหาอย่างไร โดยเฉพาะในประเทศไทย”

ความรู้สึกว่าทำไปก็ไร้ประโยชน์เป็นส่วนหนึ่งของความท้าทาย การเอาชนะความท้าทายนี้ เราจะต้องเริ่มต้นจากภาวะที่แท้จริงของไทยเอง “เรา” ในที่นี้หมายถึงคนไทยนั่นแหละสำคัญที่สุด จากนั้นเราควรเรียนรู้จากประสบการณ์ในประเทศอื่น โชคดีที่ไทยมีการดำเนินงานด้านพัฒนาเชิงระบบไปบ้างแล้ว แม้ว่าเป็นไปในสภาพแวดล้อมที่ไม่ง่ายนักก็ตาม

ตอนต่อไป เราจะมาดูกันว่า ภาวะที่แท้จริงในเรื่องธรรมาภิบาลของไทยตอนนี้เป็นอย่างไร

ข้อมูลนักเขียน :

ศาสตราจารย์ ดร. โรเบิร์ต คลิตการ์ด (Robert Klitgaard) นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่งประธาน Claremont Graduate University ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และอีกหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ปรึกษารัฐบาลของหลายประเทศเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปสถาบัน และมีผลงานวิจัยด้านนี้อย่างกว้างขวาง จนได้รับขนานนามว่า “ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของโลกด้านคอร์รัปชัน”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดแนวคิดใหม่ พิชิตคอร์รัปชัน พัฒนาธรรมาภิบาล

view