สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจปี 2014 และประเด็นที่ธุรกิจควรระวัง

เศรษฐกิจปี 2014 และประเด็นที่ธุรกิจควรระวัง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ปลายเดือนพฤศจิกายนที่แล้ว ผมได้ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจปี 2014 จะท้าทายมาก เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เอื้ออำนวย

แม้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้มากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ ข้อจำกัดของเศรษฐกิจไทยหลักๆ ปีนี้มีสามเรื่อง หนึ่ง เงินทุนต่างประเทศปีนี้ที่สุทธิแล้วมีโอกาสที่จะเป็นการไหลออกมากกว่าไหลเข้า เพราะผลของการลดทอนการอัดฉีดสภาพคล่องของมาตรการคิวอี ที่การลดทอนจะเร่งขึ้นในปีนี้ ทำให้สภาพคล่องในประเทศถูกกระทบ กดดันอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ปรับสูงขึ้น กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สอง การส่งออกอาจจะไม่ขยายตัวมากแม้เศรษฐกิจโลกปีนี้จะดีขึ้น เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ในภาคส่งออกไทย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกไทยอาจไม่ดีพอที่จะผลักดันการส่งออกให้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากนี้สถานการณ์การเมืองอาจมีผลให้คำสั่งซื้อสินค้าจากไทยชะลอ เพราะความไม่มั่นใจเรื่องการส่งมอบ สาม สถานการณ์ในประเทศเองอาจกระทบความเชื่อมั่นของธุรกิจ ผู้บริโภค รวมถึงการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ ทำให้การใช้จ่ายในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนจะชะลอ สามข้อนี้จะทำให้เศรษฐกิจปีนี้มีข้อจำกัด

สองเดือนที่ผ่านมาตั้งแต่พฤศจิกายนภาวะแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกก็ได้เปลี่ยนไปพอควรโดยเฉพาะสถานการณ์ในประเทศ ด้านเศรษฐกิจโลก อย่างที่เขียนไปอาทิตย์ที่แล้ว แม้เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อ แต่การฟื้นตัวก็มีความเสี่ยงที่อาจไม่ต่อเนื่องหรือ Sustain เพราะประเทศอุตสาหกรรมหลักทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ต่างมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไข ถ้าแก้ไม่ได้หรือการแก้ไขไม่มีความก้าวหน้าก็จะส่งผลให้ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมมีข้อจำกัด ขณะที่เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ขณะนี้ก็ล้วนชะลอ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้น

ข้อเขียนวันนี้ อยากจะให้ความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปีนี้อีกครั้ง พิจารณาจากพัฒนาการของสถานการณ์ต่างๆ ล่าสุด และแนววิเคราะห์เศรษฐกิจไทยจากตลาดการเงินขณะนี้ ว่าการเติบโตและเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศปีนี้ มองกันอย่างไร

จุดเปลี่ยนสำคัญของปัจจัยกระทบเศรษฐกิจปีนี้จากเดือนพฤศจิกายน ก็คือ สถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อ ณ จุดนี้แม้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะไม่สามารถให้ความเห็นได้ว่าสถานการณ์การเมืองปัจจุบันจะลงเอยในรูปแบบใด แต่แนวการวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าไม่ว่าผลจะออกมาในรูปใด ความต้องการของประชาชนหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีมากขณะนี้ จะผลักดันให้การปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังต้องเกิดขึ้น และการมีรัฐบาลที่จะสามารถทำงานได้จริงๆ เหมือนปรกติ จะเป็นเรื่องที่ใช้เวลา ซึ่งอาจลากยาวไปถึงช่วงตั้งแต่ครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป

จากความเป็นไปได้ดังกล่าว เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ (หรืออาจเกินไปถึงไตรมาสสาม) คงจะเป็นเศรษฐกิจที่ให้การประคับประคองภาวะธุรกิจได้อย่างไม่เต็มที่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน ไม่มีการดำเนินนโยบายใหม่จากภาคทางการ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ประเด็นที่ภาคธุรกิจต้องตระหนัก มีอยู่สามประเด็น

หนึ่ง อย่าหวังพึ่งการใช้จ่ายของภาครัฐปีนี้ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่จะต้องหยุด เพราะจะไม่สามารถดำเนินต่อได้ตามกฎหมาย อันนี้จริงๆ แล้ว จะดีเพราะจะทำให้ประเทศมีโอกาสทบทวนโครงการการลงทุนต่างๆ ว่าจำเป็นจริงๆ หรือไม่ต่อเศรษฐกิจ และจะคุ้มในแง่ประโยชน์และต้นทุนที่จะมีต่อเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งการทบทวนหรือลดทอน จะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องการสร้างหนี้ให้กับประเทศ ถึงแม้การไม่ใช้จ่ายจะทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถพึ่งพานโยบายคลังเพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สอง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในประเทศ อาจเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมต่อเงินทุนต่างประเทศ นอกเหนือจากผลกระทบของมาตรการคิวอี การไหลออกของเงินทุนจะกระทบค่าเงินบาท และสภาพคล่องในประเทศ กดดันให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับสูงขึ้น ความผันผวนดังกล่าวจะเป็นข้อจำกัดทั้งต่อการทำธุรกิจ และต่อการชำระหนี้ของครัวเรือน ประเด็นเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจจะต้องระวัง เพราะจะกระทบการทำธุรกิจของบริษัทเอกชนโดยตรง แต่แรงกดดันต่อเงินทุนต่างประเทศน่าจะผ่อนคลาย หรือกลับมาเป็นปัจจัยบวก เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย หรือมีความชัดเจน

สาม ในภาวะของความไม่แน่นอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะอ่อนแอ ขณะที่สถาบันการเงินจะระมัดระวังการปล่อยกู้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนจะชะลอและจะไม่สามารถเป็นปัจจัยพึ่งพาของภาคธุรกิจได้เหมือนก่อน ที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายปีนี้ให้เติบโตอย่างที่ผ่านมา

ภายใต้สถานการณ์ของความไม่แน่นอน สิ่งหนึ่งที่พูดได้ว่าจะเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจก็คือ ความสามารถของภาคธุรกิจที่จะปรับตัวต่อสถานการณ์และภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เห็นได้จากการปรับตัวในด้านการเดินทาง การติดต่อและปรับตัวในการทำธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อได้อย่างเป็นปกติมากที่สุด ความเข้มแข็งนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจในภาพรวมสามารถประคับประคองการขยายตัวให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้จะไม่เร่งตัวมาก และกลับมาฟื้นตัวได้เข้มแข็งขึ้น เมื่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในประเทศผ่อนคลายลง

สะท้อนสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเหล่านี้ การประเมินเศรษฐกิจไทยล่าสุด โดยนักวิเคราะห์ต่างประเทศและในประเทศ มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว แต่ในอัตราการขยายตัวที่ปรับลดลงจากเดิม เช่น ธนาคาร HSBC ล่าสุดปรับอัตราการขยายตัวปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3.5 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์ปรับลงเหลือร้อยละ 3.2 ธนาคารกสิกรไทยเหลือร้อยละ 2.2 ถึง 3.7 ขณะที่สถาบันการเงินระหว่างประเทศ ประมาณการขยายตัวปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 2.8 ความเป็นไปได้ของการประมาณการว่าในที่สุดจะออกมา เท่าไรจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการในสามปัจจัย คือ (1) ความยืดเยื้อของสถานการณ์ (2) การปรับตัวของภาคธุรกิจในแง่การทำธุรกิจ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และ (3) การดำเนินนโยบายในช่วงต่อไปว่าจะสามารถมีบทบาทประคับประคองเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน

สำหรับด้านนโยบาย นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยจากนี้ไปคงจะสำคัญที่สุดในแง่บทบาทการดูแลเศรษฐกิจ เพราะข้อจำกัดทางกฎหมายของการใช้นโยบายการคลังเป็นเครื่องมือ ความท้าทายของนโยบายการเงินจะอยู่ที่การหาจุดสมดุลระหว่างการดูแลการเติบโตของเศรษฐกิจและการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจภายใต้ความไม่แน่นอนที่มีอยู่ ล่าสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 ก็สะท้อนความพยายามที่จะใช้นโยบายการเงินอย่างสมดุลในสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองของประเทศขณะนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจปี 2014 ประเด็นที่ธุรกิจควรระวัง

view