สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจเอเชียปี 2557 เท่ากับ ยุโรป

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มายาการเงิน โดย สันติธาร เสถียรไทย

santitarn.sathirathai@gmail.com


ช่วง เวลาต้นปีเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนเกือบทุกแห่งในโลกจะให้ความสนใจกับเรื่อง ภาพเศรษฐกิจมหภาค เป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องของความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังในปีนี้ (2557)

มีหลายคนถามว่า ถ้าให้ผมพูดแค่เรื่องเดียวว่า เรื่องไหนที่กังวลที่สุด ?

การหมดไปของ QE ? หรือจะเป็นการเลือกตั้งที่จะเกิดในหลายประเทศในเอเชียปีนี้ ? เศรษฐกิจจีนที่อาจสะดุดล้ม ?

คำตอบของผม สิ่งที่ผมกังวลที่สุดคือ "ยุโรป"

ยุโรปมีปัญหาอีกแล้ว ?

คำ ตอบคือ เปล่าครับ ไม่ได้มีสัญญาณเตือนภัยตัวไหนบอกเป็นพิเศษว่ายุโรปกำลังมีปัญหาหนักเหมือนปี 2554-2555 และไม่ใช่ว่าจะมีประเด็นเรื่องกรีซจะออกจากยูโรให้ปวดหัวกันอีกในปีนี้

จริง ๆ แล้วในทางกลับกัน ไม่ว่าใครก็มองว่า เศรษฐกิจยุโรปจะปรับตัวดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็ "ป่วยน้อยลง" จะเป็น IMF หรือนักเศรษฐศาสตร์ในสถาบันการเงินชั้นนำ ก็คาดว่ายูโรโซนจะกลับมาเห็นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ พลิกจาก
ติดลบมา นานมาเป็นบวกในปีนี้ เพราะมาตรการ "รัดเข็มขัดทางการคลัง" ชุดที่หนักที่สุดของรัฐบาลต่าง ๆ ในยูโรโซน ที่มีส่วนอย่างมากที่จะทำให้เศรษฐกิจเขาหกล้มหกลุกมาใน 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น สถานการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นได้ผ่านไปแล้ว

แน่นอนว่าปัญหาและ อุปสรรคยังมีอยู่อีกมาก ทั้งอัตราว่างงานที่สูงมากจนทำให้มีความเสี่ยงทางความไม่มั่นคงทางการเมือง ทั้งสุขภาพของภาคธนาคารที่เขากำลังตรวจเช็กกันว่าใครต้องได้รับความช่วย เหลือเพิ่มทุนบ้าง และปัญหาใหญ่การรวมตัวเป็นสหภาพการเงินที่ไม่สมบูรณ์ที่ผมเคยอธิบายไว้ในบท ความ "ยูโรโซน : สหภาพการเงินของจริง "Monetary Union" หรือหัวหอมใหญ่ "Onion" (กูเกิลหาอ่านได้ครับ)

ครั้งนี้ที่ผมจะเขียนถึงไม่ใช่เรื่อง ว่ายุโรป "มีปัญหาอย่างไร" แต่เป็นเรื่องที่ว่าในปีนี้และปีหน้ายุโรป "มีความสำคัญอย่างไร" ต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในเอเชีย

สองท่อเชื่อมเศรษฐกิจเอเชียกับโลกตะวันตก

ถ้า มองแบบง่าย ๆ เศรษฐกิจเอเชียเชื่อมอยู่กับโลกตะวันตกด้วยท่อน้ำ 2 ท่อ คือ ท่อการค้า (Trade) กับ ท่อการเงิน (Capital Flows) เม็ดเงิน หรือ "น้ำมัน" ไหลผ่าน 2 ท่อนี้มาเป็นเชื้อเพลิงให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ 2 ตัว คือ การส่งออก และกำลังซื้อภายในประเทศ

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากวิกฤต แฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 และโดยเฉพาะวิกฤตยูโรโซนปี 2554 ก็คือ ท่อแรกของการค้าเหือดแห้งไม่มีน้ำมันไหลมา เพราะเศรษฐกิจอเมริกาและยุโรปไม่มีกำลังซื้อ สถิติตัวหนึ่งที่น่าตกใจคือ ตั้งแต่ปี 2554 การส่งออกสินค้าของเอเชียโดยรวมใน 2 ปีกว่า ๆ จนถึงปัจจุบัน แทบจะไม่ได้โตเลย แย่กว่าหลังการฟื้นตัวจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เสียอีก

ใน ขณะเดียวกัน การที่ธนาคารกลางของอเมริกาหรือ Fed กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบาย QE กับการกดดอกเบี้ยให้ต่ำมาก มีผลทำให้ต้นทุนของเงินตราดอลลาร์ถูกวิ่งมาหาที่ที่มีผลตอบแทนดีกว่าในเอเชีย ทำให้ท่อการเงินนั้นเรียกว่าเกือบโอเวอร์โหลด

ผล ที่เกิดขึ้นคือ มันทำให้นโยบายการเงินและคลังในเอเชียค่อนข้างผ่อนคลายกว่าปกติ ดอกเบี้ยจะขึ้นสูงก็กลัวค่าเงินจะ แข็งไป การคลังผ่อนไปก็ไม่มีใครว่า เพราะนักลงทุนต่างชาติอยากช่วยไฟแนนซ์ซื้อพันธบัตรรัฐบาลกันเหลือเกิน แย่งกันจนอย่างที่บอกว่าท่อนี้มันโอเวอร์โหลด สรุปก็คือ "น้ำมัน" หรือเม็ดเงินที่มาจากท่อการเงินมันมาเป็นพลังงานให้กับ "เครื่องยนต์กำลังซื้อในประเทศ" ของเราผ่านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกทีถ้าถามว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี ก็ต้องตอบว่า
มันขึ้นอยู่กับว่าเงินที่ไหลเข้ามาถูกเอาไปใช้ทำอะไร แต่ส่วนใหญ่ผมต้องขอเรียนตรง ๆว่า ใน 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยเห็นรัฐบาลไหนในเอเชียเอาเงินนี้ไปใช้อย่างมีประโยชน์ เช่น สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น จัดตั้งระบบสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุม หรือการสนับสนุนนโยบายนวัตกรรมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เท่าไร ที่จะมีก็อาจเป็นภาคเอกชนที่ฉวยโอกาสนี้ขยายตัวทำ M&A ซื้อบริษัทในประเทศอื่น หรือในต่างภาคอุตสาหกรรมบ้าง

เราจึงเห็นว่าน้ำมันที่ว่านี้มักจะถูกนำไปใช้ในการ สร้างหนี้ ที่ไม่ค่อยก่อรายได้กับ ปั่นราคาสินทรัพย์ ทั้งหลายจนเข้าขั้นฟองสบู่ ทั้งยังทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจในประเทศของเอเชียหลายแห่ง Overheat อเมริกาคุมท่อการเงิน แต่ท่อการค้าพึ่งทั้งอเมริกาและยุโรป

สรุป คือท่อการเงินถูกคุมโดย Fed ของอเมริกาเกือบจะเต็ม ๆ และนโยบายของ Fed ก็ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิของอเมริกา ซึ่งฟื้นตัวได้ดีกว่าในยุโรปมาก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเริ่มทยอยผ่อนคันเร่งนโยบาย QE ซึ่งมีผลโดยตรง ทำให้ เม็ดเงินที่เคยอัดเต็มท่อการเงินมาที่เอเชียนั้นลดลงอย่างรวดเร็ว

ส่วนหนึ่งก็ดี เพราะเครื่องยนต์ในหลายประเทศนั้น Overheat อยู่ แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจในประเทศรวมถึงประเทศไทยชะลอตัวหนักและเข็น ไม่ขึ้น อย่างที่ผมได้เคยอธิบายในบทความก่อนเรื่อง "การจะหมดไปของ QE แปลว่าอะไรสำหรับเศรษฐกิจอาเซียน" (กูเกิลชื่อนี้หาอ่านได้ครับ)

ใน ทางกลับกัน ท่อการค้า นั้นพึ่งพาทั้งอเมริกาและยุโรปด้วยกัน และจริง ๆ แล้วสำหรับเอเชีย ยุโรปมีความสำคัญกว่าด้วยซ้ำ หากไปดูสถิติการค้าที่เจาะลึกของ WTO ว่าประเทศต่าง ๆ ในเอเชียพึ่งพากำลังซื้อของแต่ละภูมิภาคเท่าไหร่ รวมไปถึงชิ้นส่วน อุปกรณ์ที่เราอาจจะส่งไปประเทศจีนเพื่อประกอบเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain และสุดท้ายถูกส่งไปขายให้ผู้บริโภคในยุโรปกับอเมริกา (เป็นการดูว่า "สถานีสุดท้าย" ของสินค้าเราอยู่ที่ไหน ไม่เหมือนสถิติการค้ากระทรวงพาณิชย์ประเทศต่าง ๆ ที่จะบอกแค่ "สถานีแรก" เท่านั้น ทำให้ประเทศจีนที่เป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมดูสำคัญเกินจริง)

เราจะเห็นเลยว่ายุโรปนั้นเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญกว่าอเมริกา สำหรับประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียรวมทั้งไทยด้วย เพราะ ฉะนั้น ต่อให้อเมริกาฟื้นตัวเร็ว ถ้ายุโรปไม่ค่อยฟื้น ไม่จำเป็นต้องหกล้มอีกแค่ไม่ค่อยฟื้นก็จะมีผลทำให้ "น้ำมัน" ท่อการค้านั้นไม่ไหลมา "เติมพลัง" ให้การส่งออกของไทยอย่างเต็มที่

ข่าวดีสำหรับอเมริกาอาจเป็นข่าวร้ายของเรา ข่าวร้ายของยุโรปก็เป็นข่าวร้ายของเรา สุดท้ายเลยกลายเป็นว่า ถ้เศรษฐกิจอเมริกาดีขึ้นอาจเป็นข่าวร้ายสำหรับเอเชีย เพราะแปลว่าท่อการเงินจะเหือดแห้งจากการถอน QE และสถานการณ์ที่แย่ที่สุด

คือถ้าในขณะเดียวกันยุโรปไม่ฟื้น แปลว่า การส่งออกของเอเชียก็วิ่งไม่ออก กลายเป็นว่าทั้งท่อการค้าและท่อการเงินเหือดแห้ง ทำให้เครื่องจักรเศรษฐกิจเอเชียทั้งการส่งออกและกำลังซื้อในประเทศติดหล่ม

ในกรณีนี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เงินสกุลต่าง ๆ ในเอเชีย รวมทั้งบาทจะอ่อนลงไปอีกเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยเฉพาะประเทศที่ขาดดุลการค้าอย่างอินเดียและอินโดนีเซียก็จะยิ่งเดือดร้อน เพราะต้องการเงินตราต่างประเทศมาช่วยไฟแนนซ์การขาดดุล ข้าวของก็ขายไม่คล่อง เงินทุนก็ไม่ค่อยไหลเวียนเข้ามา ทำให้ค่าเงินต้องอ่อนหนักกว่าเพื่อนบ้านเสียอีก

ส่วนประเทศที่จะมี ภูมิคุ้มกันหน่อยสำหรับสถานการณ์โลกแบบนี้ คือ ประเทศที่ไม่ค่อยมีการใช้จ่ายเกินตัวเท่าไหร่ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา (เศรษฐกิจเลยไม่ค่อยOverheat มากนัก) และประเทศที่เศรษฐกิจมีสัดส่วนการส่งออกไปอเมริกามากกว่าไปยุโรป อย่างเช่น เกาหลีใต้ หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่นักลงทุนต่างประเทศนั้นให้ความสนใจกับเกาหลีใต้พอสมควรในปีนี้

สรุปปัจจัยเสี่ยงที่น่าห่วงที่สุดในปีนี้คือ "ยุโรป" จริงหรือ ?

ถึงตรงนี้แล้วคงพอเดาได้ว่า ที่ผมบอกว่าปัจจัยเสี่ยงที่สุดนั่นคือ "ยุโรป" แท้จริงแล้วเป็นการบอกทางอ้อมว่า สิ่งที่น่ากังวลที่สุดในปีนี้ คือ "ปัจจัยอะไรก็ตามที่ทำให้การส่งออกของเอเชียไม่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกา"

แต่ที่อยากเน้นเรื่องยุโรป เพราะว่าหลายคนดูเหมือนจะหันไปโฟกัสที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกามาก จนเหมือนลืมไปว่ายุโรปนั้นเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการฟื้น ตัวของการส่งออกเอเชีย และถ้าการส่งออกไม่ฟื้น ก็แทบไม่มีทางที่เศรษฐกิจจะโตได้อย่างมีประสิทธิภาพในปีนี้

ส่วน อีกข้อหนึ่งที่ผมห่วงอยู่เหมือนกัน และอยากฝากไว้ก็คือ ที่การฟื้นตัวในโลกตะวันตกที่ผ่านมานั้น ยังไม่เน้นการลงทุนภาคธุรกิจ (Business Investment) เท่าไรนัก

ในอเมริกาภาคเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดี เป็นเรื่องบ้าน พลังงาน (นำโดย Shale Gas) กับผู้บริโภค ในยุโรปแม้เศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้นบ้าง แต่ภาคธุรกิจยังซบเซาไม่ค่อยมีการลงทุน

ถ้าเทรนด์นี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในปีนี้ก็ น่าห่วงทีเดียว เพราะสินค้าส่วนใหญ่ที่ประเทศตะวันตกนำเข้าจากเอเชีย คือ สินค้าทุน หรือพวกเครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ ที่ขึ้นอยู่กับอัตราการเจริญเติบโตของการลงทุนภาคธุรกิจโดยตรง

สุดท้ายปีม้าปีนี้เราคงต้องเตรียมรับมือกับความเป็นไปได้ ที่ทั้งช่อง การค้า และ การเงิน จะฝืดทั้งคู่ ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียจะยังค่อนข้างอ่อนแอ แม้เศรษฐกิจโลกจะค่อย ๆ ฟื้นตัวแล้ว และค่าเงินที่น่าจะอ่อนลงอย่างต่อเนื่องเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ

ฟังดูแล้วในทางเศรษฐกิจปี 2557 คงเป็นปี "ม้าเดิน" มากกว่า "ม้าวิ่ง" ของเอเชีย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปัจจัยเสี่ยง เศรษฐกิจเอเชีย ปี 2557 ยุโรป

view