สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่าทางตันจำนำข้าว-ช่วยชาวนาต้องไม่ฝ่ากม

ผ่าทางตันจำนำข้าว-ช่วยชาวนาต้องไม่ฝ่ากม

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ที่ประชุมวงเสวนาหัวข้อ “ช่วยชาวนาอย่างไรโดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และรักษาวินัยการเงิน การคลัง” โดยคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา มีหลายข้อเสนอเพื่อผ่าทางตันวิกฤตการณ์จำนำข้าว ที่รัฐบาลเป็นหนี้ชาวนาครั้งประวัติศาสตร์ถึง 1.3 แสนล้านบาท โดยหลายฝ่ายต่างเสนอแนวทางต่างๆ ทั้งในด้านการเงิน การคลัง และการตลาด เพื่อเร่งหาเงินจ่ายหนี้ชาวนาโดยเร็วที่สุด

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ทางออกการจ่ายเงินชาวนา 1.3 แสนล้านบาทนั้น มี 3 แนวทาง ได้แก่ 1.แนวทางการเงิน ซึ่งทำได้ยากเพราะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) ทำให้สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยกู้ และไม่กล้าซื้อ หากกระทรวงการคลังออกพันธบัตรโดยตรง ส่วนวิธีการให้โรงสีจำนำใบประทวนชาวนา โดยกระทรวงการคลังจ่ายดอกเบี้ยให้นั้นก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีระเบียบรองรับให้คลังจ่ายเงินโรงสี ซึ่งไม่ได้เป็นสถาบันการเงิน

สำหรับแนวทางที่ 2 นั้น คือ แนวทางการตลาด ซึ่งต้องมีการระบายข้าวที่ไม่ใช้วิธีแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) หรือระบายครั้งละไม่กี่แสนตันต่อเดือน แต่ต้องระบายเดือนละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตัน แม้ว่าจะทำให้ขาดทุนมากแต่ก็ต้องดำเนินการ ซึ่งต้องใช้เวลาราว 6-8 เดือน จึงจะได้เงินมาจ่ายชาวนาได้ครบ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีปัญหาเช่นกัน เพราะรัฐบาลอาจมีข้าวในสต๊อกไม่ครบตามจำนวนที่แจ้งไว้

ขณะที่แนวทางที่ 3 ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุดนั้น คือ แนวทางการเมือง โดยรัฐบาลรักษาการต้องคุยกับ กปปส.และผลักดันให้การเลือกตั้งจบลง โดยเร็ว เนื่องจากรัฐบาลชุดใหม่สามารถกู้เงินจ่าย ชาวนาได้โดยไม่ขัดกฎหมาย ซึ่งการที่จะได้รัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วที่สุดนั้น ก็คือ รัฐบาลรักษาการควรลาออก

ด้าน อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการเงินการคลังฯ วุฒิสภา กล่าวว่า ในทางการเงินนั้น รัฐบาลสามารถนำข้าวที่มีอยู่ในสต๊อกมาทำซีเคียวริไทเซชั่น หรือนำข้าวมาออกเป็นตราสารทางการเงินได้ ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ ธ.ก.ส.ออกตราสารทางการเงินขายให้กับธนาคารพาณิชย์นั้นสามารถทำได้เช่นกัน แต่การที่จะแปลงให้เป็นสินทรัพย์ดำรงสภาพคล่องนั้น ต้องตรวจสอบกับ ธปท.อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ธีระชัย กล่าวถึงการออกซีเคียวริไทเซชั่น ว่า เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ แต่ปัญหาคือข้าวในสต๊อกของรัฐที่จะนำมาเป็นแบ็กอัพการออกซีเคียวริไทเซชั่นนั้น  ซึ่งไม่มีใครสามารถรับรองได้ว่าข้าวดังกล่าวมีจริงหรือไม่

ขณะที่ อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอทางออกว่า รัฐบาลน่าจะสามารถกู้เงินมาจ่ายชาวนาได้ สำหรับข้าวที่จำนำก่อนวันที่ 9 ธ.ค. 2556 แต่สำหรับหนี้หลังวันที่ 9 ธ.ค.นั้น เป็นหนี้ที่สร้างขึ้นใหม่หลังยุบสภา จึงต้องหาทางอื่นๆ ซึ่งต้องถามผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่

“ปัญหาการเงินที่เกิดขึ้น เป็นหนี้ชาวนา 1.3 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลไม่มีสภาพคล่องจ่ายเป็นเรื่องที่น่าอับอาย การให้ใบประทวนที่โรงสีออกให้ไปกู้เงินจากโรงสีเป็นเรื่องตลก วินัยการเงินการคลังพังไปแล้ว ระบบวินัยการเงินการคลัง โครงการรับจำนำข้าวจริงๆ เป็นโครงการที่โปร่งใสเพราะมีใบเสร็จแต่ไม่มีการทำบัญชี รัฐบาลจงใจไม่ให้เกิดการลงบัญชี ไม่ต้องการให้เกิดตัวเลขการขายการระบายข้าว เพราะไม่ต้องการให้มีความโปร่งใส เหมือนถ้ำที่มืดมิดที่จะเข้าต้องมีไฟฉายและต้องได้รับการอนุญาตจากคนในรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง”อัมมาร กล่าว

ขณะที่ นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า การขายข้าวแบบจีทูจีทำได้ยากและรัฐบาลไม่กล้าทำแล้ว เนื่องจากภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย ปริมาณข้าวในสต๊อกทั่วโลกมีจำนวนมาก ซึ่งฉุดข้าวในตลาดโลกให้มีราคาถูก

สำหรับวิธีที่กระทรวงพาณิชย์จะให้โรงสีรับจำนำ ใบประทวนชาวนา ก็มีปัญหาว่าจะรับจำนำในราคา ใบประทวนที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน หรือราคาตลาด 8,000 บาทต่อตัน และโรงสีก็มีปัญหาสภาพคล่อง   ไม่พอ ในส่วนข้อเสนอที่ให้มีการคืนข้าวในสต๊อกให้กับชาวนา 1.5 เท่าของที่มีจำนำ เห็นว่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะข้าวเปลือกที่ชาวนานำมาจำนำได้ ถูกสีเป็นข้าวสารหมดแล้ว


5 กูรูคลัง ชำแหละกู้เงิน 2 ล้านล้านขัด รธน. ทำลายวินัยการคลัง ลดเครดิตประเทศ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

5 กูรูการคลัง แจงศาล รธน. พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านขัด รธน. ทำลายวินัยการเงินการคลัง ลดเครดิตความเชื่อมั่นประเทศ ระบุชัดเงินกู้ก็เป็นงบประมาณแผ่นดิน ย้ำหากเดินหน้าอาจกลายเป็นแบบอยากให้ทุกกระทรวงขอออกกฎหมายพิเศษเพื่อหวัง ให้ได้กู้เงิน โดยไร้โครงการแผนงานที่ชัดเจน ส่งผลอนาคตรัฐคุมเพดานหนี้สาธารณะไมได้ ด้านศาลสั่ง “คำนูณ-อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์” ยื่นคำแถลงปิดคดีปมกู้เงิน 2 ล้านล้าน ภายใน 27 ก.พ.นี้ แต่ยังไม่กำหนัดนัดวินิจฉัยเมื่อใด
       
       วันนี้ (12 ก.พ.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานในคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของ สมาชิกรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งของประเทศ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีพยานผู้เชี่ยวชาญมาให้ถ้อยคำเพิ่มจำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายภัทรชัย ชูช่วย ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะผู้แทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต ส.ส.ร. น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง และนายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง
       
       นายภัทรชัยได้ตอบคำถามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับคำนิยามของเงินกู้ว่าเป็นเงินแผ่นดินหรือไม่ โดยหยิบยก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา 4 โดยระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ได้มาในลักษณะใดก็ตาม ถ้าเข้ามาในความรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรมใดก็ตาม ถึงแม้จะไม่นำเงินเข้าคลัง ก็ถือเป็นเงินแผ่นดินทั้งสิ้น ซึ่งหลักการการตรวจสอบของ สตง.จะยึดหลักตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว แม้จะมีมติ ครม.ออกมาว่าไม่ให้ตรวจสอบในโครงการดังกล่าวก็ตาม สตง.ก็มีความชอบในการตรวจสอบโครงการดังกล่าว
       
       ส่วนอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้ คตง.ออกระเบียบเพื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการทุจริต และมีมาตรการป้องกันควบคุมได้ ซึ่งในกรณีร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้าน คตง.ยังไม่มีคำเตือนเพราะยังเป็นเพียงร่าง พ.ร.บ.อยู่ แต่ได้มีการสั่งการไปยังกระทรวงการคลังว่า ถ้า พ.ร.บ.นี้ออกมา หน่วยรับตรวจในกระทรวงจะต้องตรวจสอบเงินจำนวนดังกล่าว เพื่อไม่ให้ใช้ไปในทางที่ส่อทุจริตได้
       
       ด้านนายพิสิฐกล่าวว่า การกระทำอะไรก็ตามสิ่งสำคัญต้องยึดถืออนาคต เคารพวินัยการเงินการคลัง ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐบาลใดๆ ออกกฎหมายพิเศษโดยไม่มีการตรวจสอบจากรัฐสภา ซึ่งจะทำให้ประเทศเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 50 หมวดที่ 8 เปรียบเสมือนลูกจ้างคือฝ่ายการเมืองที่มีนายจ้างคือประชาชน การที่ลูกจ้างจะแก้กฎหมายหรือกระทำการใดๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายจ้างเสียก่อน และถ้าลูกจ้างออกกฎหมายใดที่ส่อขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่ากฎหมายเป็นโมฆะ
       
       นายพิสิฐกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ปี 50 เขียนขึ้นมาป้องกันการบริหารงานทางด้านเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาเห็นตัวอย่างจากต่างชาติที่ใช้จ่ายเงินเกินตัว จึงมีรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ขึ้นมา ซึ่งมาตรา 166 และ167 ระบุชัดเจนว่า การกระทำใดต้องมีกฎหมายรองรับ หรือมีการออก พ.ร.บ.ที่ต้องให้รัฐสภา กรรมาธิการตรวจสอบและสามารถเรียกชี้แจงได้ พร้อมทั้งมีการถ่วงดุลอำนาจ เปิดเผยข้อมูลให้องค์กรตรวจสอบ เช่น สตง. และ ป.ป.ช.รับรู้ได้ และในมาตรา 169 ก็ระบุชัดเจนว่า การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ ต้องประกอบไปด้วย 4 ส่วน ได้แก่ กฎหมายงบประมาณว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย, กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ, กฎหมายเกี่ยวด้วยวิธีการโอนงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เพื่อไม่ให้รัฐบาลออกกฎหมายมาใช้จ่ายนอกกรอบการเงินการคลัง และไม่ยินยอมให้รัฐบาลใช้จ่ายโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะจะส่งผลต่อการใช้หนี้ของประชาชนในอนาคต
       
       “เงินกู้เมื่ออยู่ในมือของรัฐบาลแล้วถือเป็นเงินแผ่นดิน เพราะต้องชดใช้ภาษีในอนาคต การที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการก็เท่ากับว่าเงินนี้เป็นเงินแผ่นดิน หากเปรียบเทียบ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านกับ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2556 ที่วงเงินเกือบใกล้เคียงกัน แต่ พ.ร.บ.งบประมาณมีเอกสารข้อมูลนับ 1,000 แผ่น แต่ พ.ร.บ.กู้เงินมีเอกสารเพียง 8 แผ่น และเงินครึ่งหนึ่งของเงินกู้นี้ เป็นการลงทุนในเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่ไม่มีการแสดงรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับตัวโครงการ อีกทั้งเป็นการกู้ถึง 7 ปี ซึ่งใช้ระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดภาระผูกพันต่อรัฐบาลชุดต่อไป เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน”
       
       นายพิสิฐกล่าวว่า ตนไม่ขัดว่าถ้าประเทศไทยจะมีระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าความเร็วสูงมีการ เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นการพัฒนาความเจริญของประเทศไปในทางที่ดี แต่การดำเนินการใดๆ ต้องมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้การจะสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงยังไม่ได้มีการศึกษาและรับฟัง ความคิดเห็น มีแต่เพียงการกู้เงินก่อนที่จะคิดโปรเจ็ค เท่ากับเป็นการปิดทางในการตรวจสอบอย่างชัดเจน
       
       อีกทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปียังสามารถให้รัฐบาลกู้ได้ถึง 20% และรัฐบาลสามารถลงทุนน้อยมากหากดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน ดังนั้นตนคิดว่ารัฐไม่ควรรบกวนเงินของคนทั้งประเทศเพื่อนำไปสร้างรถไฟความ เร็วสูงให้คนในบางจังหวัดที่มีรถไฟความเร็วสูงผ่านใช้ อย่างไรก็ตาม มองว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ขัดต่อ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะปี 2548 แต่เนื่องจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีศักดิ์เป็น พ.ร.บ.ด้วยกัน ขณะที่วงเงินกู้ 2 ล้านล้านใหญ่กว่า พ.ร.บ.หนี้สาธารณะที่จะควบคุมได้ พ.ร.บ.เงินกู้จึงน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ให้จัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงหลัก เศรษฐกิจพอเพียง
       
       ขณะที่นายทนง พิทยะ กล่าวชี้แจงว่า เงินกู้เป็นเงินแผ่นดินหรือไม่นั้น พ.ร.บ.เงินกู้รัฐบาลได้ให้คำจำกัดความว่า ไม่เป็นเงินแผ่นดิน เพราะไม่ให้เข้าในรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปี จึงไม่ใช่รายจ่ายแผ่นดิน ถือเป็นเงินนอกงบประมาณที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคมสามารถใช้จ่ายโดยที่ไม่ต้องมีการตรวจสอบจากรัฐสภาได้ เพียงแค่รายงานให้รัฐสภารับทราบเท่านั้น
       
       โดยส่วนตัวคิดว่า แม้จะเป็นเงินนอกงบประมาณก็ถือเป็นเงินแผ่นดิน ตนจึงไม่แน่ใจว่ามีความจำเป็นอะไรที่จะไม่ให้เป็นเงินแผ่นดิน ผลกระทบสามารถแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ ในส่วนหนึ่งของเงินกู้มีการศึกษาอย่างละเอียดผ่านวิธีการงบประมาณปกติ แต่อีกส่วนยังไม่มีการศึกษาอย่างละเอียด คือ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งถือเป็นครึ่งหนึ่งของวงเงินกู้ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการผิดวิสัยทางธุรกิจและการบริหารเงินของรัฐ ดังนั้น หาก พ.ร.บ.นี้ผ่านไปได้ก็เชื่อว่ากระทรวงต่างๆ ก็จะเอาเป็นตัวอย่าง จึงสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงในการบริหารหนี้ การใช้งบประมาณที่ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด ถือเป็นการผิดวินัยการเงินการคลังอย่างชัดเจน และจากที่ตนศึกษาในภาคผนวกของโครงการนี้เชื่อว่าโครงการนี้มีข้อดีน้อยกว่า ข้อเสีย
       
       “รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า การที่ภาครัฐจะวางแผนงานทางเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจพอเพียง และประโยชน์ของประเทศชาติให้มากที่สุด ขณะนี้รถไฟความเร็วสูงยังไม่ถึงเวลาที่ประเทศเราควรจะมี ควรนำเงินก้อนนี้ไปพัฒนาระบบรถไฟฟ้ามวลชน และพัฒนาภาคการเกษตร ภาคการศึกษาจะดีกว่า อีกทั้งเส้นทางการเดินรถไฟความเร็วสูง 220 กม.ต่อชั่วโมง ต้องเป็นเส้นทางตรงปกติจริงๆ คดเคี้ยวอย่างสภาพบ้านเราทำไม่ได้ ถ้าเอาเงินส่วนนี้ไปพัฒนาระบบรถไฟฟ้ามวลชนให้ออกไปถึงจังหวัดรอบนอก จะช่วยประหยัดเงินและมีเงินเหลืออีก 4-5 แสนล้าน”
       
       ต่อมานายธีระชัยกล่าวยืนยันว่า ขณะที่ตนดำรงตำแหน่ง รมว.คลังร่วมกับรัฐบาลชุดนี้ ไม่เคยมีแนวคิดที่จะออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ มาทราบภายหลังพ้นตำแหน่ง ถ้ามีการดำเนินการจริง จะมีผลเสียต่อระบบการเงินการคลังของประเทศมาก กระทบต่อกรอบวินัยการเงินการคลัง สร้างปัญหาต่อฐานะเครดิตของประเทศที่เราต้องระมัดระวัง ประเทศต้องมีการกู้ยืมโดยวิธีการออกพันธบัตร หากเราไม่รักษาเครดิตของประเทศไว้ให้ดี พันธบัตรจะขายไม่ได้ ต่อไปจะไม่มีใครมาลงทุน
       
       ทั้งนี้ การรักษาเครดิตประเทศเป็นอำนาจและหน้าที่โดยตรงของ รมว.คลัง ซึ่งวิธีการรักษาเครดิตของประเทศ ในทุกประเทศทั่วโลกจะเน้นการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และเราต้องมีกลไกการตรวจสอบ ควบคุมการใช้จ่ายซึ่งเป็นที่ประจักษ์เพื่อทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น แต่สำหรับโครงการนี้บัญชีแนบท้ายประกอบการดำเนินโครงการมีรายละเอียดแค่ 3 หน้า บอกการใช้จ่ายงบประมาณเป็น 3 ส่วน โดยไม่มีรายละเอียดว่าแต่ละโครงการจะมีการดำเนินการอย่างไร เมื่อเทียบกับโครงการเงินกู้ สร้างถนนของกระทรวงคมนาคน ตาม พ.ร.บ.งบประมาณ วงเงินแค่ 2 หมื่นล้าน ยังมีเอกสารประกอบกว่า 200 หน้า ดังนั้น ถ้าพิจาณาจากหลักความน่าเชื่อถือจึงไม่ถือว่าเข้าข่ายความน่าเชื่อถือ ขั้นตอนการดำเนินโครงการ ไม่ผ่านการถกเถียงว่าคุ้มค่ากับการลงทุน และเหมาะสมกับฐานะของประเทศหรือไม่ การเบิกจ่ายก็ไม่เข้าหลักรัดกุม เปิดช่องให้อำนาจ รมว.คลัง สามารถเบิกเงินเอาไปให้ใครก็ได้
       
       นายธีระชัยกล่าวอีกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงไม่สร้างความเชื่อมั่นหรือสร้างเครดิตให้กับประเทศได้ เลย หากเดินหน้าจะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากขึ้น และโดยหลักเศรษฐศาสตร์การกู้เงิน กู้แล้วต้องนำส่งคลังก่อน เว้นแต่จะเป็นการกู้ในสถานการณ์เร่งด่วนพิเศษ และตามมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.นี้กำหนดว่าเงินกู้ไม่จำเป็นต้องส่งเข้าคลัง ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหากปล่อยให้ทำได้ต่อไปงบประมาณในระบบจะไม่มีความหมาย จะเหลือแต่งบเงินเดือน ส่วนงบฯ ก่อสร้างใหญ่ๆ จะออกนอกระบบทั้งหมด หากรัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายให้มีความต่อเนื่อง ตนคิดว่ารัฐบาลควรแก้ไขระเบียบงบประมาณให้มีช่องกำหนดที่สามารถดำเนิน โครงการในแต่ละปีโดยไม่สะดุดและต่อเนื่องได้ โดยแนวทางนี้จะมีการตรวจสอบอย่างรัดกุมตั้งแต่การอนุมัติงบฯ การใช้จ่ายงบฯและการติดตามดูแล
       
       นายธีระชัยยังได้ตอบข้อซักถามของตุลาการว่า เงินกู้ถือเป็นเงินแผ่นดินหรือไม่ว่า กรณีเช่นนี้น่าจะเป็นเงินแผ่นดิน และนิยามของกรอบวินัยการเงินการคลัง ถ้าถามนักเศรษฐศาสตร์ 10 คน ก็จะได้ 10 นิยาม แต่เชื่อว่าทุกคนต้องยึดหลักการบริหารประเทศและต้องรักษาความน่าเชื่อถือของ ประเทศ มาตรการใดๆ ก็ตามที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศลดลงก็ไม่ใช่กรอบวินัยการเงินการคลัง
       
       ส่วนคำถามที่ว่ารถไฟความเร็วสูงมีความเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ นายธีระชัยกล่าวว่า ในแง่นักลงทุนสากลหากจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องคำนึงถึงนโยบายการ คลังควบคู่กับนโยบายคมนาคม ที่ต้องเน้นในเรื่องความก้าวหน้าทางวิศวกรรมประกอบกับความพอดีในฐานะประเทศ หากประเทศมีฐานเงินเดือนสูง จะมีค่าเสียเวลาก็จำเป็นต้องมีระบบคมนาคมที่มีความเร็วสูงเพื่อชดเชยค่าเสีย เวลา แต่ถ้าประเทศมีค่าจ้างต่ำความคุ้มค่าในการสร้างรถไฟความเร็วสูงก็จะน้อย ซึ่งใน 5-10 ปี ประเทศไทยอาจอยู่ในฐานะที่มีค่าจ้างที่ดีขึ้นก็ได้ ดังนั้นหากนโยบายด้านคมนาคมพอดีกับฐานะประเทศ แต่กรอบวินัยการเงินเหลวแหลกก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศอยู่ดี
       
       ด้าน น.ส.สุภา กล่าวถึงข้อดีข้อเสียถ้ากฎหมายฉบับนี้มีการบังคับใช้ว่า กฎหมายนี้จะสร้างปัญหาให้กระทรวงการคลังควบคุมการก่อหนี้ไม่ได้เลย เพราะถ้ารัฐบาลชุดต่อไปออก พ.ร.บ.ทำนองนี้อีก กรอบวินัยการเงินการคลังตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ปี 2548 จะถูกเพิกเฉย ทั้งนี้ กรอบวิธีงบประมาณได้ให้อำนาจรัฐบาลกู้ขาดดุล และกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้อยู่แล้ว โดย ครม.จะอนุมัติเป็นรายโครงการ ไม่ใช่ออกเป็นเซตใหญ่ๆ อย่างนี้ ที่สำคัญโครงการต้องผ่านความเห็นของคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนมันสมองของประเทศที่ได้กลั่นกรองอย่างรอบครอบ แต่ พ.ร.บ.กู้เงินฉบับนี้ เอาโครงการกู้เงินมาโดยไม่ผ่านคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
       
       จากนั้น น.ส.สุภาได้อธิบายถึงระบบรับ-ระบบจ่าย ของกระทรวงการคลังหมายถึงอะไรว่า เป็นเรื่องการบริหารเงินสด รายรับจะนำส่งเข้าคลัง เพื่อรอเข้าบัญชีคงคลังของธนาคารแห่งประเทศไทย (บัญชีที่ 1) โดยบัญชีนี้เปิดไว้รับอย่างเดียว ไม่จ่ายออก ถ้าจะจ่ายเงินจะผ่านบัญชีเงินคงคลังที่ 2 บัญชีเดียว ซึ่งบัญชีนี้มีไว้จ่ายอย่างเดียว ซึ่งเป็นหลักบริหารรายรับ-รายจ่ายในทางแคบ เพื่อป้องกันมิให้นำรายรับไปใช้ในทางอื่น ที่ไม่เป็นประโยชน์ของประเทศ
       
       ส่วนขออ้างที่ว่า เป็นเงินนอกงบประมาณไม่ต้องส่งคลังนั้น โดยปกติแล้วการจะไม่ส่งคลังต้องเป็นกฎหมายของตัวมันเองที่กำหนดว่าไม่ต้อง ส่ง เช่น เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ยกเว้นไม่ต้องส่งคลัง เพื่อใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์อย่างคล่องตัว คือ กู้มาแล้วจ่ายให้เจ้าหนี้เลย เพื่อไม่ต้องเสี่ยงกับการผันแปรของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ขนาดเงินกู้ชดเชยการขาดดุล กฎหมายก็กำหนดว่าต้องส่งคลัง เพื่อรอการจ่าย
       
       “เรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้านนี้ ทำลายกระบวนการพิจารณาขององค์กรที่มีหน้าที่โดยตรง อย่างกระทรวงการคลัง และยังสวนทางกับกระบวนการปกติทั้งหมด คนที่มีหน้าที่ไม่ได้ทำหน้าที่ สภาไม่ได้กลั่นกรอง และโครงการนี้มีอายุการดำเนินการถึง 7 ปี จึงต้องถามว่ามีความเร่งด่วนอย่างไร ส่วนตัวมองว่าเงินกู้ 2 ล้านล้านเป็นเงินแผ่นดิน เพราะคนทำนิติกรรมคือรัฐบาล คนใช้เงินก็คือรัฐบาล เงินจึงถือเป็นเงินแผ่นดิน”
       
       น.ส.สุภาตอบข้อซักถามของตุลาการว่า หากเงินกู้นอกระบบงบประมาณแผ่นดิน และโครงการทำไม่สำเร็จในอนาคตจะนำเงินไปใช้ในโครงการอื่นได้หรือไม่ว่า ในทางปฏิบัติทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานต้นเรื่อง เช่น ตอนกู้จะมาทำโครงการ ก. แต่ต่อไปไม่เข้ากับภาวะปัจจุบัน จึงขอเปลี่ยนแปลงไปทำเป็นโครงการ ข.
       
       ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น คณะตุลาการได้มีคำสั่งให้นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้เสนอความเห็น, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้อง และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้อง ยื่นคำแถลงปิดคดีภายในวันที่ 27 ก.พ.นี้ หากไม่ยื่นถือว่าไม่ติดใจ โดยคณะตุลาการยังไม่ได้ระบุว่าจะมีการอ่านคำวินิจฉัยในคำร้องดังกล่าวในวัน ใด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผ่าทางตัน จำนำข้าว ช่วยชาวนา ไม่ฝ่ากม

view