สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กลไกใหม่ๆ สำหรับ การเงินเพื่อสังคม (4) : ได้เวลาของ ประกันดัชนีสภาพอากาศ

กลไกใหม่ๆ สำหรับ "การเงินเพื่อสังคม" (4) : ได้เวลาของ "ประกันดัชนีสภาพอากาศ"

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2557 นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตกเป็นประเด็นอื้อฉาวและลุกลามใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ

ขยายวงจากชาวนาผู้เดือดร้อนทยอยเดินทางเข้ากรุงมาประท้วง จนถึงมหกรรมคนแห่ถอนเงินจากธนาคารออมสินถึงสามหมื่นล้านบาท หลังจากที่ธนาคารออมสินยอมปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ หรือสินเชื่อระหว่างธนาคาร ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) สองหมื่นล้านบาท ร้อนถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ต้องประกาศลาออก บอร์ดธนาคารออมสินมีมติยกเลิกเงินกู้ดังกล่าว

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการที่กลุ่มผู้ชุมนุมบางคนไปถอนเงินจากธนาคารออมสิน (อีกฝ่ายที่ไปฝากเงินสร้างภาพผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน) เพราะนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหา ยังอันตรายเพราะธนาคารต่างๆ โยงใยสัมพันธ์กัน ถ้าหากคนแห่ถอนเงินจนสภาพคล่องในระบบธนาคารสั่นคลอน คนเดือดร้อนก็จะไม่ได้มีแต่ผู้ฝากเงิน แต่ลามไปนักธุรกิจน้อยใหญ่ที่พึ่งพาสินเชื่อธนาคารในการประกอบธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าต้นตอหลักของปัญหาทั้งปวงคือการที่รัฐบาลยังกัดฟันไม่ยอมรับว่าตัวเอง “ผิด” และ “พลาด” ยังกล่าวหากลุ่มผู้ประท้วงว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวนาไม่ได้เงิน ถึงแม้ก่อนยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 รัฐบาลน่าจะรู้อยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไรให้พ้นข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญที่ห้ามรัฐบาลรักษาการก่อหนี้เพิ่ม เช่น ก่อนยุบสภา รัฐมนตรีคลังจะสั่งกู้เงินมาเตรียมจ่ายชาวนาก็ย่อมทำได้ แต่เลือกไม่ทำเพราะเหตุใดไม่ทราบ

เมื่อยังยืนกระต่ายขาเดียว ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดและพลาด รัฐบาลจึงไม่แก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาด้วยวิธีที่ดูเหมือนจะ “ง่าย” ที่สุด นั่นคือ เปิดโกดังข้าวออกมาเร่ง “เลหลัง” ขาย โดยทำใจยอมรับผลขาดทุน (เพราะข้าวปริมาณมหาศาลน่าจะเสื่อมคุณภาพไปแล้ว)

แต่แน่นอน ถ้ารัฐเปิดเผยว่าข้าวในสต็อกที่แท้จริงเหลืออยู่เท่าไร ยอมขายข้าวขาดทุน ก็เท่ากับรัฐบาลยอมรับว่าตนเอง “ผิด” (ปริมาณข้าวจะบ่งชี้ว่าทุจริตประมาณเท่าไรแน่) และ “พลาด” (ยิ่งขายในราคาต่ำกว่าราคาจำนำ ยิ่งบ่งชี้ว่าบริหารจัดการพลาดเพียงใด)

การยืนกระต่ายขาเดียวแสดงว่ารัฐบาลอาจจะอยากรักษาหน้าตัวเองมากกว่าช่วยเหลือชาวนา แต่ไม่ว่าสถานการณ์สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร สังคมไทยก็น่าจะได้บทเรียนที่ชัดเจนร่วมกันจากกรณีนี้แล้วว่า นโยบายนี้อันตรายเกินกว่าที่ควรดำเนินต่อไปในรูปเดิม

บางคนอาจมองว่า รัฐบาลมีทางเลือกไม่มาก ถ้ายังอยากช่วยเหลือชาวนาก็ต้องจำใจขาดทุน แม้แต่ทางเลือกที่ดูดีที่สุดเมื่อเทียบกับนโยบายจำนำข้าวคือนโยบายประกันราคา ซึ่งเคยใช้ในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ใช่ว่าเป็นนโยบายที่ดีไร้ที่ติ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่าที่ผ่านมามีปัญหาการแจ้งพื้นที่ทำนาเท็จ แต่ที่สำคัญคือ เปิดช่องให้โรงสี “กดราคา” ชาวนา เพราะรู้อยู่แล้วว่ารัฐจะจ่ายแต่ส่วนต่างให้กับเกษตรกร สุดท้ายอาจกลายเป็นว่ารัฐเอาเงินภาษีไปอุดหนุนกำไรของโรงสีไป

อันที่จริง นโยบายอุดหนุนราคาผลผลิตทางการเกษตรนั้นไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน จะพลิกแพลงให้แยบคายอย่างไร สังคมจะเห็นพ้องกันว่า “จำเป็น” เพียงใด ถึงที่สุดก็ยังไม่แตะสองประเด็นสำคัญที่เป็นเรื่องใหญ่ของเกษตรกรมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมทุนนิยม (กึ่ง) ผูกขาดยุคโลกร้อน นั่นคือ “ต้นทุน” และ “ความเสี่ยง”

ปัจจุบันการทำนามีต้นทุนหลายอย่าง ถ้าเป็น “ผู้จัดการนา” สมัยใหม่ คือว่าจ้างให้คนอื่นทำแทนทุกขั้นตอน ต้นทุนอยู่ที่ 4-5 พันบาทต่อไร่ (อ้างอิงจากบทความ “ต้นทุนการปลูกข้าวของ “ผู้จัดการนา” ยุคดิจิตอล กำไรที่แท้จริงของชาวนา”, ไทยพับลิก้า http://thaipublica.org/2014/02/cost-of-famer/)

ต้นทุนที่สำคัญที่สุดคือปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ สองรายการนี้รวมกันคิดเป็นต้นทุนเกือบหนึ่งในสามของต้นทุนการทำนาทั้งหมด ฉะนั้นยิ่งต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น กำไรจากการทำนายิ่งลดลง ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ราคาปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้น 5-8% ต่อปี

การศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างตลาดปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ และใช้อำนาจรัฐจัดการกับอำนาจเหนือตลาด (ถ้ามี) จึงน่าจะช่วยชาวนาจัดการกับต้นทุนได้ดีขึ้น

“ต้นทุน” ว่าอันตรายแล้ว “ความเสี่ยง” ยิ่งอันตรายกว่าหลายเท่า เพราะถ้าหากความเสี่ยงบางอย่าง อาทิ ภัยแล้ง หรืออุทกภัย เกิดกลายเป็นความจริงขึ้นมา ก็สุ่มเสี่ยงที่เกษตรกรจะสูญเงินลงทุนทั้งหมดไป ไม่ได้ผลผลิตกลับคืนมา หรือถ้าได้ก็น้อยเกินคาดมาก

ในยุคที่ผลพวงจากภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรง นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อมโยงให้เห็นผลพวงได้อย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เพียงแต่คาดการณ์ว่า ภาวะโลกร้อน “อาจ” ทำให้เกิดภัยแล้งมากขึ้น แต่ในวารสาร เนเจอร์ เดือนตุลาคม 2013 ตีพิมพ์บทสรุปงานวิจัย (http://www.nature.com/nclimate/journal/v4/n2/full/nclimate2100.html) ซึ่งระบุชัดเจนว่า ประเทศที่เผชิญกับปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” สุดขั้วอยู่แล้วน่าจะประสบเหตุเอลนีโญขั้นสุดขั้วมากกว่าเดิมถึงสองเท่า เป็นผลจากภาวะโลกร้อน นั่นแปลว่าภัยธรรมชาติขั้นรุนแรงจะเกิดถี่กว่าเดิม และเอลนีโญจะเกิดถี่กว่าเดิมด้วย

เมื่อเกษตรกรไทยมีแนวโน้มต้องเผชิญกับภัยแล้งและอุทกภัยที่รุนแรงและถี่กว่าในอดีต จะมีนโยบายอะไรช่วยพวกเขา “ลด” และ “จัดการ” กับความเสี่ยงได้?

เรื่องนี้นักการเงินมีคำตอบ และคำตอบหนึ่งซึ่งปรากฏผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจมาแล้วทั่วโลก คือ “ประกันดัชนีสภาพอากาศ” (weather index insurance)

ผู้เขียนเขียนถึงเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อหกปีที่แล้ว ปี 2550 ในคอลัมน์ “ล่องคลื่นโลกาภิวัตน์” สรุปแนวคิดและความสำเร็จของเครื่องมือทางการเงินตัวนี้ไว้ว่า

“...วงการประกันภัยร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์ เพื่อการพัฒนาได้ออกแบบและใช้แนวคิด "ประกันภัยผลผลิตทางเกษตร" มานานนับ 10 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมา บริษัทประกันมักไม่รับทำประกันชนิดนี้ เนื่องจากต้องคำนวณมูลค่าความเสียหายของไร่นาแต่ละผืน ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและการบริหารจัดการสูง มีขั้นตอนซับซ้อนและใช้เวลานาน ...ยังไม่รวมปัญหาด้านแรงจูงใจ 2 ประเด็น ที่ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่าปัญหา moral hazard กล่าวคือ เกษตรกรที่ทำประกันภัยผลผลิตแล้วอาจไม่ดูแลไร่นาตนเองดีเท่าที่ควร เพราะคิดว่าถึงอย่างไรก็จะได้รับเงินค่าชดเชยจากบริษัทประกัน และปัญหา adverse selection กล่าวคือ เกษตรกรอาจอยากปลูกแต่พืชที่ได้ประกัน แม้ว่าพืชชนิดนั้นอาจไม่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศในละแวกนั้น หรือตรงต่อความต้องการของตลาด

“ปลายปี 2548 นักเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาของธนาคารโลก ได้ประสบความสำเร็จในการค้นคว้าวิจัยกรมธรรม์แบบใหม่ โดยใช้ "ดัชนีภูมิอากาศ" (weather index) เป็นตัวกำหนดเงื่อนไขประกัน แทนที่จะเป็นผลผลิตหรือมูลค่าความเสียหายในไร่นาเหมือนประกันแบบดั้งเดิม ดัชนีสภาพอากาศคือตัวแปรที่มีมูลค่าแปรผันเป็นเหตุปัจจัยกับระดับผลผลิตในไร่นา แต่ผู้เอาประกันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ปริมาณน้ำฝน, อุณหภูมิ, ระดับน้ำในแม่น้ำ ฯลฯ

“ดัชนีภูมิอากาศเป็นตัวเลขที่สังเกตได้และวัดง่าย เป็นข้อมูลอัตวิสัย (objective) มีความโปร่งใส ตรวจทานได้โดยผู้ประเมินอิสระ...และเป็นตัวแปรสากลที่ไม่ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของไร่นาแต่ละผืน ทำให้น่าจะมีบริษัทรับประกันภัยต่อหลายรายที่สนใจรับประกันภัยต่อ ตลอดจนลดปัญหาด้าน moral hazard และ adverse selection ของเกษตรกรรายย่อย ที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้นได้เป็นอย่างดี

“ธนาคารโลกได้นำแนวคิดดังกล่าวมาพัฒนากรมธรรม์ดัชนีสภาพอากาศ และได้ดำเนินการไปแล้วในหลายประเทศ อาทิ แคนาดา มาลาวี ยูเครน เอธิโอเปีย อินเดีย และเม็กซิโก อินเดียถือเป็นกรณีที่ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 250,000 ราย และมีสถาบันการเงินชุมชน และบริษัทประกันเอกชน เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก”

ในประเทศไทย ธนาคารโลกได้มาริเริ่มโครงการนำร่องของกรมธรรม์ชนิดนี้แล้วตั้งแต่ ปี พ.ศ.2549 โดยใช้กับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก่อน มีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นตัวกลางในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทประกันไทย 8 แห่ง แต่คืบหน้าไปค่อนข้างช้า เท่าที่ดำเนินการมาถึงปี 2553 ครอบคลุม 7 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สระบุรี นครราชสีมา น่าน และพิษณุโลก มีจำนวนเกษตรกรทำประกัน 4,434 ไร่ พื้นที่เอาประกัน 82,342 ไร่ เงินเอาประกัน 94,387,669 บาท เบี้ยประกัน 8,272,410 บาท ค่าสินไหม 5,259,841 บาท

พื้นที่เอาประกันแปดหมื่นไร่เศษนี้ยังนับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เพียง 1.3 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 6 ล้านไร่ นับว่ายังมีโอกาสขยายได้อีกมาก รวมถึงขยายไปครอบคลุมพืชเพาะปลูกชนิดอื่นๆ อาทิ ข้าว และมันสำปะหลังด้วย

ถ้ารัฐอยากสนับสนุนเรื่องนี้ก็ทำได้ตั้งแต่ ออกเงินค่าเบี้ยประกันให้กับเกษตรกร ส่งเสริมให้บริษัทประกันและบริษัทรับประกันภัยต่อ (reinsurer) เข้ามาแข่งกันให้บริการ ตลอดจนกำหนดให้สอดแทรกประเด็นความรู้เรื่องทางการเงิน (financial literacy) ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยง เข้าไปในกระบวนการขายกรมธรรม์ เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะทางการเงิน อันเป็นแก่นสำคัญในการพึ่งตนเองของเกษตรกร ไปด้วยในเวลาเดียวกัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กลไกใหม่ๆ สำหรับ การเงินเพื่อสังคม (4) ได้เวลา ประกันดัชนีสภาพอากาศ

view