สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Share Value มุมมองใหม่ในการทำธุรกิจ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ CSR Talk โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช ผู้เชี่ยวชาญ ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 การเติบโตของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในโลกสร้างรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวให้กับ ประชากร เปลี่ยนโฉมหน้าของเศรษฐกิจโลก และด้วยมูลค่าที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลนี้เอง ทำให้ภาพของอุตสาหกรรมในยุคแรก ๆ แยกส่วนออกจากสังคมโดยสิ้นเชิง

ด้วยมุมมองทางเศรษฐกิจเพียงด้าน เดียว อุตสาหกรรมจึงอยู่ในฐานะผู้ยกระดับเศรษฐกิจในเกือบทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย นโยบายต่าง ๆ ในแต่ละประเทศจึงให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมทั้งสิ้น

จนกระทั่งประมาณ คริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงเริ่มมีการตื่นตัวมองเห็นด้านลบของอุตสาหกรรม เมื่อพบว่าทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อมของโลกเสื่อมโทรมลง จนเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ขึ้น เริ่มมีการเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสังคมของอุตสาหกรรม หรือองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิด CSR นั่นเอง

อย่างไร ก็ตาม ที่ผ่านมาองค์กรที่มีการทำ CSR ยังคงทำแบบแยกส่วนกับกระบวนการธุรกิจ และหลายองค์กรทำไปตามกระแส หรือตามกฎหมายเท่านั้น ขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมถึงจุดวิกฤต พร้อมกับการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น

เพื่อ ให้โลกนี้ยังคงดำรงอยู่ได้ แนวคิด Share Value จึงเกิดขึ้น เพราะเพียงแค่ CSR นั้นไม่เพียงพอเสียแล้วที่จะแก้วิกฤตที่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า มุมมองใหม่คือการมองให้เห็นความเป็นจริงว่า การดำรงอยู่ของโลกใบนี้คือการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ มีหน้าที่ต้องรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน การที่ฝ่ายหนึ่งอยู่ได้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ไม่ได้ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และฝ่ายที่อยู่ได้ คงไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน

การสร้างคุณค่าร่วมกันในสังคม หรือ Share Value จึงเป็นแนวคิดที่กำลังแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน พร้อม ๆ กับการสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการทางสังคม (Social Entrepreneur) โดยหลักการคือการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจด้วยการตอบสนองความต้องการ และการแก้ไขปัญหาของสังคม เช่น การค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) ที่ให้การสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยด้วยการรับซื้อผลผลิตในราคาที่สูงกว่าราคา ตลาด จนทำให้รายได้ของเกษตรกรรายย่อยเพิ่มขึ้น

"Michael E. Porter" และ "Mark R. Kramer" นำเสนอแนวทางของการทำธุรกิจในแนวคิด Share Value ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2011 3 แนวทาง คือ

1.ผลิตภัณฑ์และการตลาดในแนวคิดใหม่ ซึ่งมองความต้องการของสังคมเป็นเป้าหมาย ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจไปพร้อมกัน เช่น WaterHealth International จำหน่ายน้ำสะอาดให้แก่ผู้บริโภค 1 ล้านคนในชนบทของอินเดีย, กานา และฟิลิปปินส์ในราคาต่ำที่สุด Revolution Foods จำหน่ายอาหารที่สด ถูกสุขอนามัย และมีคุณค่าทางโภชนาการให้แก่เด็กนักเรียนวันละ 60,000 คนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสร้างผลกำไรให้แก่องค์กรมากกว่าคู่แข่งที่จำหน่ายอาหารให้แก่ลูกค้า กลุ่มอื่น เป็นต้น

2.การเพิ่มผลิตภาพในกระบวนการผลิต ด้วยการลดของเสีย การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มุ่งเน้นที่สุขอนามัยและความปลอดภัย เช่น Wal-Mart เปลี่ยนวิธีการกำหนดเส้นทางเดินรถบรรทุกที่ใช้ขนสินค้าในปี 2009 ลดบรรจุภัณฑ์ของสินค้าในห้าง และกำจัดซากบรรจุภัณฑ์พลาสติกด้วยนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้น เป็นต้น

3.การ พัฒนา Cluster ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น Suppliers สถาบันการศึกษา และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ด้วยวิธีการนี้ธุรกิจสามารถให้การสนับสนุน และสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจชุมชนได้พร้อมกัน เช่น Yara ซึ่งเป็นบริษัทปุ๋ยรายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการสร้าง Shared Value ด้วยการปรับปรุงเงื่อนไขแวดล้อมของ Cluster

กล่าวคือ Yara บริษัทปุ๋ยรายใหญ่ของโลก พัฒนาท่าเรือ และถนน ในโมซัมบิกและแทนซาเนีย ด้วยเงินจำนวน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลนอร์เวย์ ทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่ต่ำกว่า 200,000 รายเข้าถึงปุ๋ย ทำให้เกิดการจ้างงานใหม่ 350,000 ตำแหน่ง และสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของ Yara ในเวลาเดียวกัน

Shared Value จึงเป็นความท้าทายใหม่ขององค์กรธุรกิจ ด้วยการนำเสนอคุณค่าที่แตกต่างจากคู่แข่ง ทำให้องค์กรค้นพบความต้องการใหม่ ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ ลูกค้ากลุ่มใหม่

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือการ ร่วมกันสร้างสังคมใหม่บนพื้นฐานของแนวคิดการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นความจริงยิ่งกว่าความจริงใด ๆ เพราะการที่บ้านของคุณจะอยู่อย่างเป็นสุขได้ เพื่อนบ้านของคุณต้องอยู่เป็นสุขด้วยเช่นกัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Share Value มุมมองใหม่ การทำธุรกิจ

view