สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สงครามชิงน้ำ สงครามชิงน้ำมัน

สงครามชิงน้ำ สงครามชิงน้ำมัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ณ วันนี้คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การกำจัดซัดดัม ฮุสเซน ของมหาอำนาจตะวันตกนั้น หนึ่งในเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การช่วงชิงน้ำมันปิโตรเลียม

แต่คงไม่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าสงครามและความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอลกับชาวอาหรับนั้นหนึ่งในปัจจัยสำคัญอยู่ที่การช่วงชิงน้ำจืดในเขตปาเลสไตน์ ส่วนสงครามที่นำไปสู่การแยกประเทศซูดานมีต้นเหตุจากการช่วงชิงน้ำมัน และในขณะนี้ สงครามกลางเมืองในประเทศที่แยกตัวออกไปเป็นซูดานใต้นั้นเกิดจากการช่วงชิงทั้งน้ำมันและการช่วงชิงน้ำซึ่งมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตกว่าน้ำมันเสียอีก ทั้งนี้เพราะคนเราสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้หากไม่มีน้ำมัน แต่จะตายภายในเวลาอันสั้นหากขาดน้ำ

ย้อนไปไม่นานอาจจำกันได้ว่าผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนเรื่องน้ำมันปิโตรเลียมกำลังจะหมด การเตือนนั้นมักวางอยู่บนฐานของการทำนายตามแนวคิดและทฤษฎีเรื่อง Peak Oil ของ M. King Hubbert เมื่อปี 2499 จริงอยู่เหตุการณ์ตั้งแต่นั้นมาดูเหมือนว่าคำทำนายของเขาจะเป็นจริง แต่ตอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้การสูบน้ำมันมีประสิทธิภาพสูงขึ้นจนทฤษฎีนั้นดูจะใช้การไม่ได้แล้ว เทคโนโลยีใหม่ ได้แก่ การเจาะบ่อน้ำมันต่อจากบ่อแนวดิ่งไปตามแนวนอนแล้วอัดน้ำผสมทรายและสารเคมีเข้าไปในบ่อด้วยแรงดันสูง เพื่อให้หินที่มีน้ำมันแทรกอยู่แตกและน้ำมันไหลออกมาตามกระบวนการที่เรียกกันว่า Induced Hydraulic Fracturing ซึ่งมักอ้างถึงกันสั้นๆ ว่า Fracking กระบวนการนี้กำลังมีผลสำคัญต่อการผลิตน้ำมันของสหรัฐและหลายประเทศทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญทำนายว่า อีกเพียงไม่กี่ปีสหรัฐจะสามารถผลิตน้ำมันได้มากกว่าซาอุดีอาระเบีย

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีใหม่นั้นกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างเข้มข้นว่าจะมีผลกระทบทางลบมากน้อยเพียงไรโดยเฉพาะต่อแหล่งน้ำ ทั้งนี้เพราะสารเคมีที่ใช้มีโอกาสไหลซึมเข้าไปในแหล่งน้ำ นอกจากนั้น ยังมีกัมมันตภาพรังสีที่อาจถูกปล่อยออกมาทั้งจากสารเคมีและจากหินที่แตกออกอีกด้วย เรื่องนี้มีรายงานเป็นครั้งคราวแล้วว่าบ่อน้ำของชาวบ้านเปลี่ยนสีและมีกลิ่นน้ำมัน แต่ยังไม่มีการพิสูจน์อย่างแจ้งชัดว่าสิ่งเหล่านั้นมาจากกระบวนการสูบน้ำมันหรือไม่ สิ่งที่เทคโนโลยีใหม่อาจจะทำให้เกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอนคือ การช่วงชิงน้ำมันจะลดความเข้มข้นลง แต่การช่วงชิงน้ำจะสูงขึ้น ทั้งนี้จากเหตุปัจจัยสำคัญสองประการด้วยกัน นั่นคือ แหล่งน้ำอาจถูกทำลายดังที่อ้างถึงและการมีน้ำมากขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวซึ่งจะนำไปสู่การใช้น้ำมากขึ้นอีก

สภาพการณ์ที่เล่ามานี้มีนักวิชาการมองเห็นและประเมินว่าการขาดแคลนน้ำจะเป็นปัญหามากกว่าการขาดแคลนน้ำมันในคริสต์ศตวรรษที่ 21 พวกเขาเขียนหนังสือออกมาหลายเล่ม บางเล่มได้รับการคัดย่อเป็นภาษาไทยและรวมไว้ในหนังสือชื่อ “ธาตุ 4 พิโรธ” ซึ่งอาจดาวน์โหลดฟรีได้จากเว็บไซต์ของสโมสรหนอนหนังสือ www.bookishclub.com ในบรรดาหนังสือที่นำมาคัดย่อ มีสองเล่มซึ่งใช้ชื่อเหมือนกันว่า Water Wars หรือ สงครามชิงน้ำ หลังจาก “ธาตุ 4 พิโรธ” พิมพ์ออกมา มีหนังสือเกี่ยวกับน้ำพิมพ์ออกมาเรื่อยๆ รวมทั้งเล่มที่เพิ่งพิมพ์เมื่อปีที่แล้วชื่อ Water, Peace, and War: Confronting the Global Water Crisis เขียนโดย Brahma Chellaney ซึ่งชี้ให้เห็นสภาพการขาดแคลนน้ำในหลายส่วนของโลก

ชื่อของหนังสือเล่มนี้มีคำว่า “สงคราม” รวมอยู่ด้วย แต่สงครามตามที่เราเข้าใจกันจะเกิดขึ้นหรือไม่ผู้เขียนมิได้ทำนายไว้อย่างแจ้งชัด แต่มันคงเกิดขึ้นได้ในบางกรณี อาทิเช่น อินเดียกับปากีสถานซึ่งมีแม่น้ำเพียงสายเดียวหล่อเลี้ยงและแม่น้ำสายนั้นมีต้นน้ำอยู่ในอินเดีย เนื่องจากสองประเทศนี้มีอาวุธนิวเคลียร์ด้วยกันทั้งคู่ ฉะนั้น หากอินเดียคิดจะปิดต้นน้ำ มันอาจลุกลามไปเป็นสงครามนิวเคลียร์ได้ หรือในกรณีของแม่น้ำไนล์ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ในเอธิโอเปีย ทุกครั้งที่เอธิโอเปียพูดถึงการสร้างเขื่อนกั้นน้ำไว้ใช้ อียิปต์จะส่งสัญญาณเรื่องการจะโจมตีเอธิโอเปียทันที แม้โดยทั่วไปสงครามระหว่างประเทศจะไม่เกิดขึ้น แต่การแย่งชิงน้ำจะนำไปสู่ความขัดแย้งในระดับชุมชนและในระดับบุคคลมากขึ้นแน่นอน

เมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลก เมืองไทยโชคดีที่มีน้ำจืดมากจากน้ำฝนทุกปี ด้วยเหตุนี้ พวกเศรษฐีน้ำมันในย่านตะวันออกกลางจึงพูดว่า ถ้าแลกได้ พวกเขาจะเอาน้ำมันของเขามาแลกเอาน้ำของไทย น้ำที่นี้พวกเขาอ้างถึงนั้นมิใช่เพื่อการนำไปใช้อุปโภคบริโภคเท่านั้น หากยังเพื่อการปลูกพืชอาหารอีกด้วย การแก้ปัญหาความขาดแคลนน้ำของเขาจึงรวมทั้งการกลั่นน้ำทะเลและการออกไปกว้านซื้อ หรือเช่าที่ดินจากประเทศที่มีแหล่งน้ำ ตามรายงาน เมืองไทยเป็นเป้าหมายของเขาด้วย

บริษัทผลิตน้ำมันต้องการครอบครองเมืองไทยไม่ต่างกับครอบครองประเทศที่มีน้ำมันทั้งหลายโดยมีรัฐบาลของพวกเขาสนับสนุน แต่เท่าที่ผ่านมา น้ำมันในเขตของไทยมีไม่มากนัก เมืองไทยจึงไม่ถูกคุกคามจนเกิดสงครามเช่นในกรณีของอิรัก กระนั้นก็ตาม สงครามชิงน้ำมันของไทยจะเป็นไปในรูปอื่นรวมทั้งการเข้ามาจุ้นจ้านในด้านนโยบายพลังงานของไทยโดยบริษัทผลิตน้ำมันและประเทศของบริษัทเหล่านั้นด้วย การปฏิรูปภาคพลังงานที่เรียกร้องกันอยู่ในปัจจุบันนี้จึงควรมีมาตรการป้องกันด้านนี้ไว้ด้วย ส่วนการแย่งชิงน้ำคงจะไม่นำไปสู่สงครามแบบอิสราเอลกับปาเลสไตน์ แต่จะเกิดในรูปของการเข้ามากว้านที่ดินของต่างชาติเพื่อหวังใช้น้ำทำการเกษตรและในรูปของการขัดแย้งระหว่างชุมชน หรือคนไทยในแนวที่เกิดมาแล้วโดยเฉพาะการแย่งน้ำกันทำนา ประเด็นเหล่านี้จึงควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังเมื่อเราร่างนโยบายในด้านบริหารจัดการน้ำ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สงครามชิงน้ำ สงครามชิงน้ำมัน

view