สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กสทช. หน่วยงานที่ครองแชมป์ ผิด และ พลาด มากที่สุด!?!

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“ผิดพลาด” คือ สิ่งที่มีให้เห็นเด่นชัดที่สุดสำหรับการทำงานของ “กสทช.” ไม่ว่าจะมีความเคลื่อนไหวอะไรออกมา เรียกง่ายๆ ว่าแทบไม่เคยได้รับคำชม โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “ทีวีดิจิตอล” ที่ดูไม่มีความคืบหน้าเอาเสียเลย จนทำผู้ชนะการประมูลช่องหวั่นๆ กลัวเจ๊งกันไปเป็นทิวแถว
       
       ลามมาจนถึงเรื่อง “ลิขสิทธิ์การฉายฟุตบอลโลก” ซึ่งดูเหมือนจะล้มไม่เป็นท่าอีก ทำให้หลายฝ่ายต้องกลับมาตั้งคำถามกับองค์กรนี้ว่า มีไว้เพื่ออะไรกัน?

       
       



       
       หน่วยงานแห่ง “ความสับสน”?
       


        “องค์กรอิสระที่ชื่อว่า กสทช. ตั้งแต่มีหน่วยงานนี้มายังไม่เคยมีข่าวดีให้กับประชาชนเลย ทุก ครั้งที่เป็นข่าว หน่วยงานนี้นำมาซึ่งความสับสน ข่าวร้ายให้กับประชาชน ตั้งแต่เรื่องฟุตบอล Euro เรี่อง Digital TV แล้วเรื่องล่าสุดคือเรื่อง ฟุตบอล World Cup ผมเลยขอตั้งคำถามกับคนในองค์กรนี้ว่า Are you an asset or a hindrance for this country?
       

        นี่คือ Status บนแฟนเพจ “แกะดำทำธุรกิจ blacksheep” ซึ่งรู้กันว่าโพสต์ในนามของ “ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์” ผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจ เจ้าของบริษัท แกะดำ ทำธุรกิจ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจที่มีลูกค้าระดับบิ๊กทั่วประเทศใช้บริการ ได้โพสต์แสดงจุดยืนและตั้งคำถามเกี่ยวกับองค์กรนี้เอาไว้อย่างชัดเจน
       

        แม้แต่ผู้ที่ทำงานด้านการเผยแพร่ความรู้เรื่อง “ทีวีดิจิตอล” ร่วมกันกับองค์กรอิสระที่มีนามว่า “กสทช. (กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ)” ยังออกปากเองเลยว่า “น่าหนักใจ” โดยเฉพาะเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั้งประเทศเข้าใจ พูดง่ายๆ ว่าหน่วยงานนี้แทบจะสอบตกอยู่รอมร่อ
       

        “เรื่องแบบนี้ปกติแล้วก็ทำความเข้าใจยากอยู่แล้ว และยิ่งไม่ได้มีกระบวนการประชาสัมพันธ์ที่ใช้ภาษาเข้าใจง่าย ยิ่งทำให้เรื่องเหล่านี้ยากต่อการเข้าใจ เพราะประชาชนมีหลายระดับ ทำให้คนที่เข้าใจส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีพื้นฐานการศึกษาค่อนข้างดี แต่สำหรับคนที่การศึกษาน้อยนิดนึงจะยิ่งงง ซึ่งหน้าที่หลักในเรื่อง การสื่อสารตรงนี้ น่าจะเป็นของ กสทช. นะครับ เพราะเป็นหน่วยงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบตรงนี้
       

        พูดถึงอนาคตทีวีดิจิตอลเมืองไทย (ถอนหายใจ) พูดแล้วก็น่าหนักใจครับ ผมว่าคนที่น่าหนักใจที่สุดตอนนี้คือผู้ประกอบการ หนักใจมากว่าการที่เขาลงทุนครั้งนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ เขาเฝ้ามองกระบวนการต่างๆ อยู่นะครับ สัปดาห์ที่ผ่านมาก็เพิ่งมีตัวแทนไปคุยกับทาง กสทช. เป็นระยะๆ ว่าเมื่อไหร่กระบวนการคูปองจะออกมาสักที เพราะยิ่งคูปองออกมาช้า คนดูก็น้อย พอคนดูน้อยก็ส่งผลกระทบต่อเรื่องเรตติ้ง โฆษณาก็ไม่เข้า ก็กังวลกันอยู่” วิศรุต ปิยกุละวัฒน์ อุปนายกสมาคมสื่อดิจิตอลเพื่อผู้บริโภค (ประเทศไทย) เปิดใจให้รายละเอียด
       

        อีกประเด็นนึงก็คือปัญหาเรื่องการแจกคูปอง 1,000 บาทเพื่อจูงใจให้ซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล (Box Top Set) ซึ่งมีรายละเอียดหลายอย่างที่หลายฝ่ายมองว่าไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการกำหนดว่า “นอกจากจะนำคูปองไปแลกกล่องทีวีดิจิตอลได้แล้ว ยังสามารถนำไปแลกกล่องรับสัญญาณดาวเทียม และกล่องรับสัญญาณเคเบิลได้ด้วย” ยิ่งทำให้ปัญหาที่มีอยู่ยุ่งเหยิงและเข้าใจยากไปกันใหญ่
       

        “ประเด็นเรื่องการที่ไปแจกคูปองเพื่อแลกกล่องรับสัญญาณดาวเทียม ผมมองว่ามันไม่ได้เพิ่มจำนวนคนดู เพราะค่าจาน ค่าติดตั้งมันสูง คูปองที่ออกมาจึงไม่น่าจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มคนที่เราต้องการที่สุดก็คือ “กลุ่มคนดูระบบอะนาล็อกแบบเก่า” ให้เขาเปลี่ยนมาดูระบบดิจิตอลแบบใหม่ แต่ผลประโยชน์เรื่องคูปองตรงนี้ น่าจะไปตกอยู่กับ คนที่มีจานและมีกล่องรับสัญญาณดาวเทียมอยู่แล้ว มีทางเลือกในการดูหลากหลายช่องอยู่แล้ว แต่อยากได้ช่องเพิ่ม จะเอาคูปองนี้ไปแลกกล่องใหม่มาไว้ที่บ้าน สรุปคือ จำนวนคนที่มาดูทีวีดิจิตอลก็จะไม่เพิ่มขึ้น
       

        สุดท้าย ก็จะกลายเป็นปัญหาเรื่อง “การเข้าถึงคูปอง” จากเดิม ทาง กสทช. อาจจะแจกคูปองตามทะเบียนบ้าน แจกตามจำนวนประชากร แต่คนที่มีรายได้น้อยหลายๆ คนที่ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง เขาจะตกสำรวจหรือไม่ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่เราต้องให้ความสำคัญ เพราะเขาคือกลุ่มคนที่ดูอะนาล็อก 6 ช่องอยู่ (3, 5, 7, NBT, MCOT, ThaiPBS) เราควรทำให้เขาได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลได้อย่างสมบูรณ์ แต่พอไปปิดติดขัดอยู่ตรงที่สัมมะโนประชากร คุณต้องมีบ้านเป็นของตัวเองก่อนถึงจะได้รับคูปอง ซึ่งส่วนใหญ่ คนที่มีบ้านเป็นของตัวเองคือคนที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป เพราะ ฉะนั้น ถามว่าคนกลุ่มรายได้น้อยจะมีคูปองได้ยังไง ผมก็คิดอยู่ว่าการแจกคูปองของ กสทช. ด้วยวิธีนี้ จะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ตรงจริงหรือเปล่า
       

        ตกลงแล้ว เรื่องนโยบายก็ยังไม่แน่ชัดว่า จะแจกคูปองเมื่อไหร่, แจกเพื่อไปแลกกับกล่องรับสัญญาณแบบไหน และจะทำได้ตรงกลุ่มเป้าหมายหรือเปล่า ส่วนเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจได้ก็ยังคลุมเครือ ดูๆ แล้ว “ทีวีดิจิตอล” ในบ้านเราคงจะ “เกิดยาก” อยู่พอสมควร
       
       



       
       เหมาะไหม? เงินเดือนที่ได้ กับ ผลงานที่ทำ
        “กสทช. ขึ้นเงินเดือนประธานบอร์ด จากเดิม 120,000 บาท เป็น 225,000 บาท และของกรรมการบอร์ด จากเดิม 100,000 บาท เป็น 180,000 บาท”
       
       คือข้อมูลในข่าวซึ่งถูกเผยแพร่ผ่านสำนักข่าวแห่งหนึ่งที่น่าเชื่อถือ ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 30 พฤษภาคม 2557 ทำให้หลายคนที่ได้รับรู้ข่าวนี้ถึงกับตาถลนกับการประกาศขึ้นเงินเดือนให้ตัว เองของ กสทช. ยิ่งเมื่อมองผลงานที่ทำมาช่วงหลังๆ ยิ่งทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เงินเดือนที่บอร์ดได้สูงเกินไปหรือเปล่า? เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสทช.) ขอเป็นคนไขความกระจ่างให้เอง
       

        “ข่าวที่ออกมาว่าขึ้นเงินเดือนนั้น ไม่ใช่การขึ้นเงินเดือนให้ทางบอร์ด กสทช.ครับ แต่เป็นการขึ้นเงินเดือนให้บอร์ดที่มีชื่อเรียกว่า “ซูเปอร์บอร์ด” หรือ “คณะกรรมการติดตามและประเมินผลปฏิบัติงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กตป.)” ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของบอร์ด กสทช.
       

        เรื่องเข้าใจผิดมันเกิดขึ้นเพราะ เขามีมติให้ขึ้นเงินเดือนให้ “ซูเปอร์บอร์ด” แต่ ตอนเขียนกติกา เขาเขียนให้ทางซูเปอร์บอร์ดมาเอาเงินทาง กสทช.ไปใช้เบิกเงินงบประมาณ ทาง กสทช.ก็เลยตั้งเงินเบิกให้เข้าไป แต่ทางซูเปอร์บอร์ดไม่พอใจ จนสุดท้าย พล.อ.ธวัชชัย (สมุทรสาคร อดีตประธานซูเปอร์บอร์ด) ทนไม่ไหว ขอลาออก บอกว่าเงินเดือนก็น้อย (ขณะนั้นได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 120,000 บาท) ออฟฟิศก็ไม่ดี ไม่สมศักดิ์ศรี ตอนหลังเราก็เลยอนุมัติขึ้นเงินเดือนให้ ซึ่งทางเราก็ไม่ได้อยากจะขึ้นให้ แต่ไม่ขึ้นให้ก็ถูกด่า ให้คนก็กดดันก็ถูกด่า แล้วก็กลายเป็นข่าวออกมาว่า กสทช.ขึ้นเงินเดือนตัวเองเป็น 2 เท่า มั่วไปหมดเลย
       

        “200,000 กว่าบาท” คือเงินเดือนของบอร์ด กสทช.ทุกวันนี้และ ยังไม่เคยมีการขึ้นเงินเดือน ซึ่งหลายคนในสังคมอาจจะยังมองว่าก็ถือเป็นอัตราที่สูงอยู่ดีเมื่อเทียบกับผล งาน ได้ยินอย่างนั้น ผศ.ดร.ธวัชชัย ในฐานะหนึ่งในบอร์ด กสทช.จึงได้แต่ถอนหายใจแล้วระบายความคิดเห็นให้ฟัง
       

        “เงินเดือนที่ได้ไม่เยอะเลยครับ คุณต้องดูรายละเอียดก่อนนะ ค่ารักษาพยาบาลก็ไม่มี สมมติไปโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ กสทช.คนอื่นไป เบิกได้ 50,000 บาท แต่ถ้าบอร์ดไป เบิกไม่ได้เลยสักนิดเดียว เสียเองหมด ที่บอกว่า 200,000 นี่รวมหมดทุกอย่างแล้วครับ
        เทียบกับคนทำงานเป็นบอร์ดที่อื่นๆ ถือ ว่าได้เงินเดือนน้อยมากนะครับ และบอร์ด กสทช.เป็นบอร์ดบริหารด้วยนะครับ ไม่เหมือนบอร์ดที่อื่น ไม่เหมือนบอร์ดการบินไทยนะ บอร์ดการบินไทยคอยอนุมัติเรื่องใหญ่ๆ แต่ให้คนอื่นบริหาร แต่บอร์ด กสทช.ต้องบริหารด้วย
       
       เพราะฉะนั้น เงินเดือน 200,000 บาทนี่ถือว่าน้อยมาก เพราะถ้าเป็นบอร์ดบริหารที่อื่นเขาได้ 500,000-600,000 บาท คุณลองไปดู CEO ของแบงก์เทียบกันดูนะครับ ส่วนถ้าจะไปเทียบกับบอร์ดกรมพลังงาน เขาไม่ได้เป็นบอร์ดบริหารแบบเรา เทียบไม่ได้และงานไม่ได้เยอะขนาดนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะบอกว่าเงินเดือนบอร์ด กสทช.มากนี่ ผิดเลยครับ”
       

        ส่วนเรื่องการทำงานของทางบอร์ดบริหารที่ได้รับแต่ “คำติ” จากประชาชนนั้น ทาง กสทช.ขอยอมรับในทุกความผิดพลาด แต่ยืนยันว่าทำงานกันอยู่ตลอดจริงๆ เพียงแต่ไม่ค่อยมีผลงานปรากฏออกมาให้เห็นเท่านั้นเอง
       

        “เราทำงานกันอยู่เรื่อยๆ นะครับ เพียงแต่ข้อเสียอยู่ที่เรื่องการประชาสัมพันธ์เลยครับ ต้องยอมรับว่าด้อยมาก แต่เรื่องอื่นๆ ที่เราทำอยู่ หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ อีกอย่าง ไม่ใช่ว่าคิดจะทำอะไรแล้วจะทำได้ทันทีเลย เราต้องคอยฟังความเห็นจากคนรอบข้างด้วย ตอนนี้แค่เรื่องคูปองอย่างเดียว ดี เลย์มาเรื่อย เถียงกันไม่จบสิ้น คนนู้นจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ต้องฟังความเห็นหลายๆ ด้านครับ ไม่สามารถเอาแต่ใจเราได้ ก็เลยทำให้การดำเนินการดูล่าช้าไป
       

        แล้วที่มีปัญหาเรื่องทีวีสมัยก่อน ทั้งทีวีเสื้อแดง-เสื้อขาว ทำให้วุ่นวายไปหมดเลย คนเขาก็ด่า กสทช.ไปด้วยว่ากำกับดูแลไม่ดี ทั้งๆ ที่จริงแล้ว กสทช.ไม่ได้มีอำนาจอะไรขนาดนั้น คุณต้องเข้าใจว่าเวลามีเรื่องของ ทีวีการเมือง กสทช.ไปจับไม่ได้เพราะตำรวจเขาไม่ให้ความร่วมมือ บางเรื่องมันไม่ใช่ว่ามันเกินอำนาจ แต่เราถูกด่าไปเยอะเหมือนกัน หลายเรื่อง อันนี้ต้องเข้าใจว่าใครก็ทำไม่ได้แน่นอน แต่ตอนนี้ทำได้แล้วเพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลง
       

        ส่วนเรื่องทีวีดิจิตอล ทางเราก็หาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการอยู่ครับ มีมาตรการเยอะแยะไปหมด เราก็ช่วยตั้งแต่เรื่องเรตติ้ง ช่วยประสานงานเรื่องเรตติ้งให้ ให้ครอบคลุมทีวีทั้ง 24 ช่อง มีการสนับสนุนเรื่องเงินที่ดำเนินการเพื่อให้รายการสามารถไปออกผ่านดาวเทียม ได้ เพื่อให้คนที่มีจานรับดาวเทียมเขาสามารถดูทีวีดิจิตอลได้ทันทีเลยโดยที่ไม่ต้องรอกล่อง ก็มีหลายอย่างที่ทำอยู่นะครับ
       

        ที่ผ่านมา ผมก็มีออกเดินสายตามจังหวัดต่างๆ เพื่อไปบรรยายสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ฟัง เอาของไปโชว์ ซึ่งมันไม่ใช่หน้าที่บอร์ดนะครับ ไปจัดการเรื่องโครงข่ายทีวีดิจิตอล เพราะถ้าไม่มีโครงข่ายก็ดูไม่ได้ครับ เราก็จะไปตามที่ต่างๆ เพื่อเอาโครงข่ายไปติด เรื่องการทำโครงข่ายครับ การประสานงานและกระจายโครงข่ายดิจิตอล เป็นเรื่องที่ทำเยอะมาก แต่คนมองไม่เห็น เพราะเป็นงานเบื้องหลัง
       

        ส่วนเรื่องคูปอง ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ออกมาเร็วๆ แต่มันติดอยู่ที่มีคนแย้งครับเลยยังออกมาไม่ได้ ซึ่งคนก็แย้งกันทุกเรื่องนั่นแหละ บางคนก็บอกว่าราคาแพงไปบ้าง บางคนก็บอกว่าถูกไป เรื่องมันไม่จบน่ะ แต่เดี๋ยวเราก็เอาเรื่องเข้าที่ประชุม เข้าบอร์ดวันที่ 18 มิ.ย.นี้ เราวาง Plan เอาไว้ว่าทีวีดิจิตอลน่าจะโตได้ภายใน 4-5 ปี ผมดูแนวโน้มแล้ว เพราะมันทั้งชัดกว่าระบบเดิม คุณภาพก็ดีกว่ากันทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าไม่น่าจะใช้เวลาเปลี่ยนแปลงนานนะ ปีนี้ก็ได้สัก 50 เปอร์เซ็นต์แล้วครับ หลังจากนี้ 2-3 ปี น่าจะครบทั้งประเทศ”
       

        ถ้าทำสำเร็จได้อย่างที่พูด สามารถทำให้ประชาชนหายงงงวยกับคำว่า “ทีวีดิจิตอล” ได้ เมื่อไหร่ ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นผลงานชิ้นโบแดงชิ้นแรกที่จะช่วยกู้ชื่อให้ภาพ “กสทช.” น่าเชื่อถือมากขึ้นก็เป็นได้... ก็ได้แต่ช่วยภาวนา ขออย่าให้ทำ “ผิด” และ “พลาด” ซ้ำๆ จนมีเสียงด่าทอตามมาหลอกหลอน ให้เป็นชนักติดหลังเพิ่มขึ้นอีกอันเลย
       
       ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กสทช. หน่วยงาน ครองแชมป์ ผิด พลาด มากที่สุด

view