สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มองดีเอสไออดีต-ปัจจุบัน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ นับว่ามีบทบาทโดดเด่นในช่วงสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมา ก่อนถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ากุมอำนาจทั้งหมด  ทำให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ ต้องถูกพิษการเมืองโยกพ้นเก้าอี้ไปตามทิศทางการเมืองที่เปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่  ทางคสช.ได้ส่ง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตต์ รองผบ.ตร.เข้ามาปฏิบัติหน้าที่รักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแทนชั่วคราว   หากไล่ย้อนกลับไปก่อน คสช.เข้ายึดอำนาจ  ลีลาออกหน้าออกตาในการทำงานของดีเอสไอแห่งนี้ ไม่ธรรมดา ที่เดินหน้ารักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 อย่างทุ่มเท พร้อมออกหมัดต่อยคู่ต่อสู้ไม่ยั้ง

ทว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 โดยอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม ผ่านมากว่า 12  ปี ปัจจุบันแทบไม่มีใครไม่รู้จักหน่วยงานนี้ เพราะทำคดีมากมาย มีข่าวให้เห็นแทบทุกวันแต่  "ดีเอสไอ"  ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานอยู่ไม่น้อยว่า ที่ผ่านมาทำหน้าที่ได้ดีมากน้อยแค่ไหน มีการรับทำคดีที่ผิดแบบไปจากวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งหน่วยงานนี้ เพื่อทำ "คดีพิเศษ" หรือไม่

โดยหลักแล้วดีเอสไอต้องทำคดีที่เข้าข่ายเป็น "คดีพิเศษ" เท่านั้น ซึ่งคดีที่จะเข้าข่ายเป็น "คดีพิเศษ" จะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 ข้อ คือ 1.คดีมีความสลับซับซ้อน 2.คดีมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ, ความมั่นคงของรัฐ 3.คดีที่กระทำในลักษณะองค์กรอาชญากรรม และ 4.คดีที่มีผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้อง

อย่างคดีที่ไม่เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษแต่ดีเอสไอกับหยิบยกเป็นคดีสำคัญเร่งด่วน  คือคดีทนายความคนเสื้อแดงเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ว่ามีการตัดต่อภาพถ่ายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ซึ่งถ่ายรูปคู่กับป้ายจุดชมวิวช้างป่า กระทิง กุยบุรี โดยตัดต่อภาพให้เป็น "เสือ สิงห์ กระทิง นายกฯ"  โดย "ธาริต เพ็งดิษฐ์" อธิบดีดีเอสไอ  กับรับคดีเช่นนี้เป็นคดีพิเศษ  พร้อมให้เหตุผลที่รับทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษว่า เนื่องจากเป็นการกระทำผิดต่อนายกฯ ซึ่งเป็นผู้นำประเทศ ดีเอสไอจึงต้องให้ความสำคัญมากกว่าคดีปกติทั่วไป!!!!    เพราะเป็นการตัดต่อภาพและเผยแพร่ภาพผ่านอินเทอร์เน็ต เข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จึงสามารถรับเป็นคดีพิเศษได้อัตโนมัติ ไม่ต้องขอมติบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ

หากดูจุดประสงค์ของการตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา  แท้จริงดีเอสไอตั้งขึ้นมาก็เพื่อคานอำนาจกับตำรวจโดยให้ดีเอสไอทำคดีใหญ่ คดีสำคัญ คดีที่ต้องใช้เทคนิคและความเชี่ยวชาญที่ตำรวจทำไม่ได้ หากไม่เข้าคดีประเภทนี้  ดีเอสไอจะต้องไม่รับทำ และตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ กำหนดให้มี "บอร์ดคดีพิเศษ"  ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะรับคดีใดเป็นคดีพิเศษให้ดีเอสไอทำหรือไม่ ดังนั้นหากเห็นว่าดีเอสไอไปรับทำคดีใดที่ไม่น่ารับทำ ก็ต้องโทษบอร์ดคดีพิเศษ

ภาพที่ฉายชัดคือ ช่วงที่ผ่านมาองค์กรนี้ถือเป็นหนึ่งในอาณาจักร เครือข่ายของนักการเมืองอย่างต่อเนื่อง ข้องเกี่ยวเชื่อมโยงใยกับผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นหลักอย่างไม่ต้องสงสัยในช่วงที่ผ่านมา เนื้องานหลักวนเวียนอยู่ในภารกิจมุ่งตอบสนองนักการเมืองมากกว่ารับใช้ประชาชนที่จ่ายภาษีแปรเป็นเงินเดือนให้กับข้าราชการเหล่านี้   อย่างไรก็ตามช่วงยุคของ  “ธาริต”  มีการร้องเรียนเมื่อไร รับเป็นคดีพิเศษเมื่อนั้น   นั่นคือความรู้สึกของสังคมและฝ่ายการเมืองบางกลุ่มที่มีทัศนะคดิต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ  เพราะต้องยอมรับว่า ดีเอสไอในยุคที่มี นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี เป็นยุคที่รับทำคดี รับสืบสวนสอบสวนคดี และรับคดีเป็น "คดีพิเศษ" มากที่สุดในยุคหนึ่ง  นั่นคือภาพลักษณ์การปฏิบัติงานของดีเอสไอยุค “ธาริต”  ที่แม้เวลาจะผ่านนานเพียงใด มันจะเป็นเงาตามติดตัวไปตลอดกับวีรกรรมที่ก่อไว้

ช่วงปีที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่บนเส้นทางความเสื่อม ไร้ศักดิ์ศรี เกียรติยศ ซื่อสัตย์  เรียกได้ว่าดีเอสไอมีชื่อเสียงให้ลือลั่นไปทั่วประเทศ  เป็นนัยว่าคือองค์กรค่อยรับใช้นักการเมือง  แล้วองค์กรแห่งนี้ไม่มีพื้นที่ว่างเพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชนคนธรรมดา  กระทั่งการเข้ามาเก็บกวาดรื้อเครื่องในใหม่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ  โดยพล.ต.อ.ชัชวาลย์  เหยียบคันเร่งเครื่องมอบนโยบายการทำงานกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ  แบ่งการทำงานเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย งานบริหาร งานด้านคดีพิเศษ งานคดีพิเศษภาค 1-9  และงานสนับสนุนคดีพิเศษ

ล่าสุดปฏิบัติหน้าที่อธิบดีดีเอสไอ  ได้สั่งยุบศูนย์บริหารคดีน้อยใหญ่ที่ไม่จำเป็นทั้งหมดเกือบ 30 ศูนย์ เหลือไว้แค่ 3 ศูนย์ คือ ศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพล ศูนย์สืบสวนสะกดรอย และศูนย์บริหารคดีพิเศษ โดยคดีที่ค้างการพิจารณาทั้งหมดของทุกศูนย์ รวมถึงดีเอสไอศูนย์ภาคต่างๆ ให้โอนไปให้  พ.ต.อ.วรรณพงษ์  คชรักษ์  รองอธิบดีดีเอสไอ  รับผิดชอบ แถมสั่งรื้อสำนวนคดีก่อการร้ายปี 53 มาปัดฝุ่นใหม่  พร้อมกำชับนักหนาหลังจากนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษต้องปลอดการรีดเงินผู้ประกอบการเด็ดขาด  หากลองไปสืบดูจะตกใจว่า กรมสอบสวนฯมีสิ่งเร้ามากมายจากการใช้อำนาจหน้าที่มิชอบเกินขอบเขต  

หวังว่า คสช.จะสางปมปัญหาในระบอบเอื้อนักการเมือง ภายในกรมแห่งนี้ตามแนวทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะมีข้าราชการจำนวนไม่น้อยเบื่อหน่ายระบบเส้นสายนักการเมือง 


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มองดีเอสไอ อดีต-ปัจจุบัน

view