สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่าปมวินมอเตอร์ไซค์ เบื้องลึกส่วยมหาศาล

ผ่าปมวินมอเตอร์ไซค์ เบื้องลึกส่วยมหาศาล

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล


ย้อนกลับไปเมื่อ 31 ปีก่อนในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู สังคมขยายตัว ประชากรเพิ่มมากขึ้น ตามด้วยหมู่บ้านจัดสรร ตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทางทุกเส้นทุกสายเชื่อมโยงถึงกัน

เมื่อบริการขนส่งมวลชนไม่เพียงพอ "มอเตอร์ไซค์รับจ้าง" จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2526 ก่อนจะขยายออกไปในทุกตรอกซอกซอยทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนหัวเมืองต่างๆในทุกภูมิภาคดังเช่นทุกวันนี้

เจาะลึกอาชีพไม่ธรรมดา"มอเตอร์ไซค์รับจ้าง"

จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ปัจจุบันเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้งสิ้น 6,330 วิน รวม 97,620 คัน ไม่นับวินเถื่อนที่จัดตั้งใหม่โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกมากมายนับไม่ถ้วน    

จำนวนของผู้ประกอบอาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้งหมดน่าจะมีมากกว่า 1.9 แสนคัน!!!

ผู้ประกอบอาชีพนี้ส่วนใหญ่มีทั้งชาวไร่ชาวนาในต่างจังหวัด อดีตกรรมกรก่อสร้าง กลุ่มคนจนในเมือง พนักงานและลูกจ้างที่ตกงาน นักเรียนนักศึกษาที่หางานทำไม่ได้ พวกนี้จะเข้าสู่ธุรกิจด้วยการไปซื้อมอเตอร์ไซค์ ผ่อนค่าเช่าเป็นรายเดือน ก่อนจะมาสมัครเข้าอยู่ในวินมอเตอร์ไซค์วิ่งรถตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงดึกดื่นมืดค่ำ

คาดการณ์กันว่ามีเงินสะพัดหมุนเวียนอยู่ในธุรกิจมอเตอร์ไซค์รับจ้างราว 1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นรายได้ในการรับ-ส่งผู้โดยสารที่อยู่ระหว่าง 300-600 บาทต่อคนต่อวัน หรือประมาณ 2 หมื่น - 4 หมื่นบาทต่อเดือน

ที่เหลือคือ "ส่วย" ที่ต้องจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย

"ส่วย" ค่าอำนวยความสะดวก

ปัญหาเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์จากวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีมานานแล้ว แต่มาปรากฏเป็นข่าวใหญ่โตเมื่อปี 2546 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์และปราบปรามผู้มีอิทธิพล เพื่อแก้ปัญหามาเฟียรีดไถ แย่งผู้โดยสาร และไร้ระเบียบ

ผลงานวิจัยเรื่อง "หวย ซ่อง บ่อน ยาบ้า:เศรษฐกิจนอกระบบกับนโยบายสาธารณะในประเทศไทย" (2543) โดยผาสุก พงษ์ไพจิตร สังศิต พิริยะรังสรรค์ และนวลน้อย ตรีรัตน์ ระบุว่า 14.5 % ของรายได้มอเตอร์ไซค์รับจ้างคือ "ส่วย" ที่ต้องจ่ายให้ "กลุ่มคนมีอำนาจนอกระบบ" หรือ "กลุ่มที่มีอำนาจแฝงจากระบบราชการโดยตรง" เช่น หัวหน้าวินที่อาจเป็นได้ทั้งนักเลงขาใหญ่ ลิ่วล้อนักการเมือง ทหารนอกรีต รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐบางคน

หากดื้อดึงไม่ยอมจ่าย อย่าหวังจะได้ดำเนินชีวิตอย่างสงบสุข

"เขาเรียกว่า "ค่าอำนวยความสะดวก" ยกตัวอย่างถ้าวินคุณตั้งอยู่บนฟุตบาทก็ต้องเสียแป๊ะเจี๊ยะ ให้เทศกิจจ่ายเป็นค่าปรับไป ไม่งั้นตั้งวินตรงนี้ไม่ได้ ถ้าคุณตั้งวินบนพื้นผิวจราจรก็ต้องจ่ายให้ตำรวจ ไหนจะปัญหาหยุมหยิมเล็กๆน้อยๆอย่างเรื่องเลี้ยวรถกลับรถ ผู้โดยสารไม่มีหมวกกันน็อก พวกเราเลยยอมจ่ายตรงนี้ไปโดยตกลงกันเป็นรายเดือน ตั้งแต่ 3 พันถึง 1 หมื่น แล้วแต่ละพื้นที่"เฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังอย่างตรงไปตรงมา

ทั้งนี้กลุ่มผู้เรียกเก็บส่วยเหล่านี้เป็นกลุ่มเดิมกับที่เคยถูกกวาดล้างในช่วงรัฐบาลปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพล เมื่อปี 2546 แต่ภายหลังก็หวนกลับมาอีก

"แต่กลับมาคราวนี้ก็จะเก็บในราคาที่มากเท่าเดิมไม่ได้ เนื่องจากช่วงจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ หลายวินได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เลยเปลี่ยนมาขอเป็นค่าน้ำร้อนน้ำชาแทน ทีนี้พอเก็บได้น้อย บางคนก็ไปตั้งวินเถื่อนใหม่ขึ้นมาทับซ้อน ปัญหาเรื่องส่วยเรื่องมาเฟียมันถึงเกิดขึ้นซ้ำซากไม่รู้จบ"

เสียงจากคนสองล้อ

หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศขับเคลื่อนนโยบายจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ภายใต้ 3 แนวทาง ประกอบด้วย ติดป้ายกำหนดราคาให้ชัดเจนตามกฎหมาย ตรวจสอบวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้ง 50 เขต ในกทม.ว่าได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งหรือไม่ และเร่งดำเนินการให้วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างทุกที่จะต้องเป็นวินที่ถูกต้องตามกฎหมายและได้รับการจดทะเบียนตามกระบวนการของกรมการขนส่งทางบก

ถึงบรรทัดนี้ เรามาทำความเข้าใจกันว่าการที่จะมาทำอาชีพขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง

หนึ่ง คนขับรายใหม่ต้องสอบถามไปยังวินที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายว่ามี "เสื้อว่าง" หรือไม่ ถ้ามีผู้ขับคนเก่าต้องการจะเลิกพอดี ทั้งคู่ต้องตกลงราคาขายเสื้อวินกันเอง ไม่ก็ปล่อยเช่าเป็นรายเดือน

สอง เขียนใบสมัคร พร้อมบัตรประชาชน ใบขับขี่สาธารณะ โดยต้องให้สมาชิกจำนวน 1 ใน 3 ต้องเป็นผู้รับรอง

สาม ส่งเรื่องขออนุญาตไปยังกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้อนุมัติ เพื่อทำป้ายเหลือง ซึ่งเป็นแผ่นทะเบียนสำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นลำดับต่อไป

"หลายคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปติดต่อกับวินเถื่อน โดนผู้มีอิทธิพลเรียกค่าเสื้อวินตัวละ 2 หมื่นถึงหลักแสน ไหนจะค่ากินเปล่า ค่าแป๊ะเจี๊ยะอะไรต่อมิอะไรอีกสารพัด เสียเงินมาก แต่สะดวกกว่า เร็วกว่า ก็คนขับใหม่บางรายก็ยอม แต่สุดท้ายได้เสื้อ แต่ขับรถป้ายดำขาว ซึ่งก็ถือว่าเป็นวินมอเตอร์ไซค์ผิดกฎหมายอยู่ดี"

อย่างไรก็ตาม ผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าที่ผ่านมา ตำรวจไม่ได้มีการปราบปรามจับกุมวินมอเตอร์ไซค์ผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด

ว่ากันว่าราคาเสื้อวินที่สูงที่สุดในกทม.ขณะนี้ มีราคาถึง 5 แสนบาท!!!

"ทำเลทองของวินมอเตอร์ไซค์คือที่ที่มีคนพลุกพล่าน ใกล้รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน เช่น สุขุมวิท สีลม รัชดาภิเษก ค่าเสื้อตัวละ 4-5 แสน กลางๆอย่างลาดพร้าวก็ 2-3 แสน ขณะที่เขตรอบนอกอย่างมีนบุรี หนองจอกก็ 2-3 หมื่น"วินมอเตอร์ไซค์ปากซอยลาดพร้าว 101 บอก

ขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่องราคาค่าโดยสาร ตามกฎกระทรวงคมนาคมระบุไว้ชัดเจนว่าภายใน 2 กิโลเมตรแรกห้ามเกิน 25 บาท กิโลเมตรต่อไปให้คิดเพิ่มไม่เกิน 5บาท หากระยะทางเกินกว่า 5 กิโลเมตรขึ้นไปผู้รับจ้างต้องตกลงกับประชาชนเอง หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับ 5,000 บาท 

"ปกติมอเตอร์ไซค์รับจ้างจะวิ่งในซอย ถ้าออกนอกเส้นทางไปไกล เรียกว่า"เหมา" ก็ต้องตกลงราคากับผู้โดยสาร บางคนก็ต่อราคา บางคนไม่ไปก็เรียกคันอื่น ผมว่าต่อรองราคาให้เรียบร้อยกันก่อน ไร้ปัญหาแน่นอนครับ ยุติธรรมต่อทั้งสองฝ่าย"วินมอเตอร์ไซค์ปากซอยวิภาวดี 20 ให้ความเห็น

อีกปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก นั่นคือจุดจอดของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เนื่องจากแต่ละพื้นที่มักตั้งจุดจอดตามใต้สะพานลอย ปากซอย บนทางเท้า จนถึงบนพื้นผิวถนน สร้างปัญหาไร้ระเบียบ กีดขวางการจราจรเป็นอย่างยิ่ง  

ปฏิรูปวงการเสื้อกั๊กส้ม

เฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ฝากถึงคสช.ว่า "อยากให้ตรวจสอบประวัติ พฤติกรรม และเปิดอบรมคนที่จะมาขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พูดตรงๆว่าจะมีวินสักกี่คนรู้กฎระเบียบจราจร สักกี่คนที่รู้ว่าต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ต้องติดแผ่นทะเบียนสีเหลือง สวมหมวกกันน็อก มารยาทก็สำคัญเช่นกันบางคนยังใส่กางเกงขาสั้น สูบบุหรี่ปุ๋ยวิ่งรับส่งผู้โดยสารอยู่เลย พอโดนตำหนิก็ไปทำร้ายเขา พวกนี้กำจัดออกไปซะ อย่าเห็นใจคนไม่ดี ลงโทษให้หนัก ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด"

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้อง"ยกเลิกระบบส่วยทั้งหมด"

"ปัญหาอันหนึ่งก็คือในตอนเริ่มต้นของการทำวินมอเตอร์ไซค์ คนที่ดูแลก็คือตำรวจ ทำให้สามารถหารายได้โดยการขายเสื้อวินและเก็บส่วยรายเดือน  ฉะนั้นการจัดระเบียบของวินมอเตอร์ไซค์ตอนเริ่มต้นอยู่ในมือตำรวจหมด รัฐบาลสมัยคุณทักษิณไม่ได้ไปแตะเรื่องนี้ สมัยคุณอภิสิทธิ์พยายามจะเข้าไปจัดการเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ช่วงเวลาสั้นไปหน่อย จึงไม่สำเร็จ

สิ่งสำคัญคือจะทำยังไงให้เสื้อวินมีราคาเท่ากับศูนย์ และคนที่จะเข้ามาประกอบอาชีพนี้จะไม่ถูกรีดไถจากคนที่มีอิทธิพล คสช.ควรกำชับไปยังผบ.ตร.ให้ยกเลิกระบบส่วยทั้งหมด ลดค่าส่วยได้ ก็ลดค่าบริการให้แก่ประชาชนได้ ขณะเดียวกันถ้ายังมีตำรวจคนใดเรียกรับส่วยอีกก็ควรตั้งศูนย์ร้องเรียนเพื่อให้มีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด

การจัดระเบียบครั้งใหญ่ในแวดวงวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างครั้งนี้ ถือเป็นนโยบายจัดระเบียบสังคมที่ประชาชนทุกคนกำลังให้ความสนใจ ทั้งยังคาดหวังด้วยว่าจะสำเร็จเห็นผลในเร็ววัน


ยึดทรัพย์-คสช-เอาจริงล้างมาเฟียวิน

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

“ได้เลยครับท่าน ท่านจะจัดระเบียบแบบไหนพวกผมก็ยินดีให้ความร่วมมือด้วย แต่อย่าไล่พวกผมออกจากตรงนี้ไปก็พอ”

สุนทร บุญสอน คนขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างวินหน้าห้างเซ็นทรัล สาขาพระราม 9 ยืนนอบน้อมพูดคุยกับบิ๊กสีเขียวอย่าง พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) ขณะที่เพื่อนๆ ร่วมวินราว 10 คน ยืนร่วมวงสนทนาในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

การพูดคุยครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะคำสั่งของ คสช. ที่ต้องการให้จัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป้าประสงค์ต้องการขจัดมาเฟียคุมวิน หยุดเอารัดเอาเปรียบผู้โดยสาร และให้วินมีความเป็นระเบียบมากขึ้นกว่าเดิม

ถือเป็นครั้งแรกที่บิ๊กทหารอย่าง พล.ต.อภิรัชต์ จับมือกับ พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา รักษาราชการแทน ผบช.น. อัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เดินหน้าแก้ปัญหา

บทสนทนาจากนี้ ระหว่างผู้ใหญ่ที่มีอำนาจของบ้านเมืองกับคนขับวินหาเช้ากินค่ำ คือสิ่งสะท้อนที่การจัดระเบียบครั้งนี้ จะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ต้องติดตาม

“มาเฟียมีหรือเปล่า มีใครเรียกเก็บเงินบ้างหรือไม่ เอาความจริงนะ ไม่ต้องกลัว หรือกลัวมาบอกผมนอกรอบได้จะส่งพวกมาช่วย” พล.ต.อภิรัชต์ ซักถามชาววินหน้าห้างเซ็นทรัล พระราม 9

สุนทร ตอบกลับทันทีอย่างหนักแน่นว่า ไม่มี หมายความว่าไม่มีมาหลายเดือนแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ถ้ามีการเรียกเก็บจะร้องเรียนกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลทันที เพียงแต่มีเก็บกันเองบ้างเพื่อเป็นค่าน้ำให้คนในวินได้ดื่มกินขณะระหว่างทำงาน

“แน่นะ ไม่มีแน่นะ แล้วอยากให้ทางการทำอะไรให้บ้างล่ะ บอกมาเลย อย่าเกรงใจ นี่ผู้ใหญ่มากันทั้งนั้น รับเรื่องโดยตรงเลย” พล.ต.อภิรัชต์ ซักต่อ

“ผมเข้าใจดีครับว่าพวกท่านอยากมาช่วย อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น พวกผมมีไม่กี่เรื่อง ก็จะมีเรื่องขายเสื้อ ผมรู้ว่าขายกันไม่ได้ เพราะจะต้องเสียเวลาไปจดทะเบียนผู้ขับขี่กันใหม่ซึ่งมันยุ่งยาก แต่ให้สิทธิพวกผมขายกันเถอะครับ เพราะจำเป็นจริงๆ ถึงจะขาย อย่างผมถ้าวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุขับขี่ต่อไม่ได้ เสื้อก็ยังเป็นสมบัติได้เปลี่ยนมือนำเงินทองไปลงทุนอย่างอื่น”

สุนทร ร้องขออีกว่า อีกเรื่องคือการทำใบขับขี่สาธารณะ ขณะนี้กลุ่มคนที่มีประวัติอาชญากรแต่พ้นผิดรับโทษมาแล้ว อยากกลับตัวกลับใจทำงานอย่างสุจริตชน แต่กรมขนส่งฯ ไม่อนุญาตให้ทำได้ ขอร้องเรื่องนี้ด้วยถือเป็นการให้โอกาสคนที่สำนึกผิดกลับตัวกลับใจ

“ได้ ไม่มีปัญหา เดี๋ยวผมประสานให้จัดการเรื่องนี้ให้เลย ถือเป็นเรื่องดีมาก การให้โอกาสคน ผมชอบเรื่องนี้” ผบ.พล.1 รอ. จับมือแน่นกับสุนทร พร้อมรับปากจะนำเรื่องไปแก้ไขให้

ขณะเดียวกัน พล.ต.ท.จักรทิพย์ ที่ลงพื้นที่ด้วย ขอร้องชาววินอย่าทำตัวเป็นมาเฟียเสียเอง การให้บริการประชาชนต้องมีราคาติดประกาศให้ชัดเจน และเป็นธรรม รวมถึงควรเพิ่มป้ายราคาเป็นภาษาอังกฤษด้วย พื้นที่ทางเท้าหากจำเป็นต้องตั้งวินก็จะพิจารณาให้ไม่ขับไล่แน่นอน แต่ต้องมีพื้นที่ให้ประชาชนได้ใช้ด้วย ส่วนเรื่องผู้มีอิทธิพล ยืนยันว่าตำรวจและทหารจะดำเนินการปราบปรามให้อย่างเต็มที่

“ก่อนหน้านี้ผมไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ใครเข้ามาเอี่ยวหรือมีอิทธิพลแบบไหน แต่จากนี้ 4 ขาทั้งหมด คือ ทหาร ตำรวจ ขนส่ง และกทม. จะทำงานเต็มที่ร่วมกัน ไม่ยอมให้กรุงเทพฯ มีมาเฟียวินมารีดไถเด็ดขาด ผมให้สัญญาเลย” พล.ต.ท.จักรทิพย์ ย้ำ

พล.ต.อภิรัชต์ เสริมเรื่องมาเฟีย โดยยืนยันว่า ส่วนตัวมีรายชื่อผู้มีอิทธิพลทั้งหมด และได้เรียกมาบางคนแล้ว ทั้งมีสีและไม่มีสี ถ้ายังไม่หยุดหรือไม่เข้าใจ ยังมารีดไถผิดๆ กันอีก ถึงเวลานั้นจะมาว่าทหารหรือตำรวจหากเข้าไปจัดการ ไม่ได้ ถือว่าเตือนกันแล้ว และหากสอบสวนว่าผิดจริงจะยึดทรัพย์พวกผู้มีอิทธิพลอีกด้วย

“แต่หากมีเจ้าหน้าที่มาขอเล็กน้อย ครั้งละ 100-200 บาท เป็นค่าทำความสะอาดแต่ละวินให้เป็นระเบียบ ก็ขอให้ทางวินให้ความร่วมมือ หรือแล้วแต่จะพิจารณาก็ได้ ตรงนี้ไม่ว่ากัน แต่หากมีใครมาเรียกผิดๆ หรือมาตั้งวินเถื่อนทับที่วินที่ถูกต้องหรือได้จดทะเบียน เดินเข้ามาหาผมที่ พล.1 รอ.ได้เลย ผมช่วยเต็มที่” พล.ต.อภิรัชต์ ย้ำหนักแน่น

การสนทนาเพื่อหาทางออกในการจัดระเบียบวินร่วมกันครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่พื้นที่หน้าห้างเซ็นทรัล พระราม 9 แต่ในวันเดียวกัน ทหารยังได้ปูพรมทำความเข้าใจกับเหล่าคนขับวินรับจ้างในพื้นที่สำคัญๆ ทั่วกรุงเทพฯ ทั้งย่านอโศก ถนนสีลม รวมถึงย่านประตูน้ำ

จับตาดูการจัดระเบียบวินจักรยานยนต์รับจ้างครั้งนี้ ว่าจะมีผลเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ไฟไหม้ฟางอย่างที่ผ่านมา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผ่าปม วินมอเตอร์ไซค์ เบื้องลึก ส่วยมหาศาล

view