สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถกแก้ปม ค้ามนุษย์ เห็นพ้องเร่งขึ้นทะเบียนต่างด้าว

ถกแก้ปม'ค้ามนุษย์'เห็นพ้องเร่งขึ้นทะเบียนต่างด้าว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เวทีถกแก้ปม'ค้ามนุษย์'เห็นพ้องเร่งขึ้นทะเบียนต่างด้าว ชี้ต้องมีระบบจัดการแรงงานเข้าถึงการจดทะเบียน

ภายหลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาประกาศผล "รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์" หรือ TIP Report ประจำปี 2557 โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในสี่ประเทศในปีนี้ที่ถูกลดระดับความพยายามตอบสนองต่อการค้ามนุษย์ลงไปอยู่ในบัญชี 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด หมายความว่า ไทยเป็นประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายด้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐ และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

การตกลงไปสู่บัญชี 3 อาจทำให้ไทยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯในด้านต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการค้า และอาจเผชิญหน้ากับการถูกสหรัฐคัดค้านความช่วยเหลือจากสถาบันสำคัญระหว่างประเทศ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ตลอดจนไม่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ระหว่างประเทศ

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นในสังคมว่าจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูหรือไม่ โดยต่างจับตาว่า หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนแล้ว จะมีการขับเคลื่อนการทำงานอย่างไรเพื่อให้การแก้ปัญหาเห็นผลเป็นรูปธรรม

ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้จัดสัมมนาในหัวข้อ "ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน...โจทย์ที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไข" เมื่อวานนี้ (24 มิ.ย.) เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายสะท้อนปัญหา ทบทวนผลงานที่ผ่านมา และร่วมกันหาทางแก้ไข

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เห็นว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงานนั้นมองใน 3 ประเด็น ประเด็นแรก ปัญหาแรงงานทั้งขาเข้า-ขาออก โดยขาเข้าถือเป็นประเด็นที่สำคัญ ดังนั้นต้องมีการจัดระบบแรงงานให้เข้ามาทำงานที่ถูกกฎหมาย เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเหมือนแรงงานไทยทุกประการ

ประเด็นที่ 2 แรงงานประมงที่ถูกจับตาเป็นพิเศษว่ามีการบังคับใช้แรงงานอย่างมากนั้น เป็นประมงนอกน่านน้ำซึ่งที่ผ่านมามีการจัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงขึ้นมาเพื่อจะได้เป็นสื่อกลางระหว่างเจ้าหน้าที่กับสมาคมประมงในทุกๆ เรื่อง

ประเด็นที่ 3 การตรวจแรงงานที่จะให้ความคุ้มครองเรื่องการจ้าง สภาพการจ้าง ชั่วโมงทำงาน ซึ่งแรงงานประมงย่อมมีปัญหามาก เนื่องจากมีการตรวจสอบยาก จึงต้องหามาตรการต่อไป

นอกจากนี้ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ยังเสนอถอดรายการสินค้า 4 รายการจากทั้งหมด 5 รายการที่ถูกกล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานเด็ก ประกอบด้วย กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม ยกเว้น สื่อลามก โดยเตรียมทำเอ็มโอยูกับผู้ประกอบการเพื่อยืนยันว่าจะร่วมแก้ปัญหานี้ด้วยกัน โดยการไม่จ้างแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ จ่ายค่าจ้างถูกต้อง มีระบบเรื่องการคุ้มครองที่ดีตามกฎหมายและมาตรฐานสากล

"ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปีหน้าไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น จะไม่ให้อยู่ในระดับ 3 ตลอดไป"

ด้าน พ.ต.ท.มนตรี เบ้าทอง พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กองกำกับการ 5 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับการบังคับใช้กฎหมายในคดีค้ามนุษย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้แรงงานประมง

พ.ต.ท.มนตรี บอกว่า ตำรวจทำงานที่ปลายเหตุ บางครั้งเหตุเกิดไปแล้วทำให้การทำงานยากและไม่สามารถจัดการปัญหาได้ โดยเฉพาะกับคดีแรงงานประมงซึ่งปัญหาเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น เรื่องความซับซ้อนของกฎหมายและการบังคับใช้

พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษยังเห็นว่า เรื่องการจดทะเบียนแรงงานให้ถูกต้องเป็นเรื่องใหญ่ เพราะแรงงานที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและส่งผลเสียหายต่อการสอบสวนดำเนินคดี

"การดำเนินคดีเอาผิดต่อผู้ละเมิดสิทธิโดยเฉพาะอาชีพประมง ส่วนใหญ่ไม่สามารถเอาผิดกับไต้ก๋งและเจ้าของเรือได้เนื่องจากไม่มีการขึ้นทะเบียนเรือ หรือขึ้นทะเบียนเรือก็เป็นชื่อเดียวกันหลายสิบลำ ข้อมูลของลูกเรือแรงงานต่างด้าวก็มีปัญหาที่ไม่สามารถพิสูจน์ตัวบุคคล ไม่มีฐานข้อมูลที่เป็นทางการ เมื่อเกิดปัญหาร้ายแรงไม่สามารถเอาผิดได้ทันที"

ความยากลำบากในการทำคดีอีกประการหนึ่งคือ กลุ่มแรงงานต่างด้าวมีปัญหาการอ่านหนังสือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บางคนอ่านไม่ออก หรือไม่รู้แม้กระทั่งชื่อนามสกุลของเจ้าของเรือและไต้ก๋ง เรียกกันแต่ชื่อเล่น เมื่อเกิดปัญหาจึงไม่สามารถชี้ตัวได้

ด้าน นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน เสนอว่า ต้องมีระบบจัดการที่แรงงานสามารถเข้าถึงการจดทะเบียนแรงงานได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน

ที่สำคัญต้องสามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อเอาผิดกับกลุ่มนายหน้า และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง พร้อมกับสะท้อนปัญหาการบูรณาการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาด้วยว่า ยังขาดการมีส่วนร่วมของกลุ่มเครือข่ายด้านแรงงานจึงควรเปิดโอกาสให้กับกลุ่มที่ทำงานด้านนี้ได้เข้ามาร่วมหารือและวางแนวทางแก้ปัญหาโดยตรง

"แม้จะมีนโยบายแก้ปัญหาที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติงานระดับล่าง ซึ่งเรื่องนี้ผู้บริหารแต่ละหน่วยงานจะต้องกวดขันและเอาใจใส่อย่างจริงจัง รวมทั้งต้องดูแลไม่ให้มีการคอร์รัปชัน"

ขณะที่ ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติชุดที่ 16 เชื่อว่า อุตสาหกรรมประมงและเครื่องนุ่งห่มที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นจะกระทบหนัก

โดยเฉพาะลูกจ้างที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานรายวัน และแรงงานนอกระบบ ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามระบบประกันสังคม หากเกิดผลกระทบจนต้องถูกเลิกจ้าง จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือกรณีว่างงาน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรอดูท่าทีของสหรัฐอเมริกาว่าจะออกมาตรการใดมากดดันไทยซึ่งส่วนตัวเห็นว่าไม่น่าจะถึงขั้นคว่ำบาตรเพราะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย

จากความคิดเห็นของหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำให้เห็นว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมายังมีปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการ ซึ่งทุกฝ่ายต้องกลับมาระดมความเห็นและปรับรูปแบบการทำงานกันอีกครั้ง

ทว่าในระยะเร่งด่วนนั้นต่างเห็นตรงกันว่า ควรเร่งจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวและส่งเสริมการใช้แรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมาย รวมทั้งเตรียมมาตรการรองรับการดูแลลูกจ้างสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกดดันของประเทศคู่ค้า ส่วนแรงงานต่างด้าวก็ต้องเร่งสร้างความเข้าใจและความมั่นใจ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามไปกระทบเศรษฐกิจในภาพรวม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ถกแก้ปม ค้ามนุษย์ เห็นพ้อง เร่งขึ้นทะเบียน ต่างด้าว

view