สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปลี่ยนบอร์ดกันใหญ่...แล้วยังไงต่อ

เปลี่ยนบอร์ดกันใหญ่...แล้วยังไงต่อ?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เดือนมิถุนายนปีนี้ มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ประธานกรรมการ และกรรมการ ลาออกจำนวนมาก

อย่าไปตีความอะไรเลยครับ ว่าทำไมจึงลาออกในเวลาใกล้กันแบบนี้ เอาเป็นว่าเมื่อลาออกหลายแห่ง ก็จะต้องมีการตั้งประธานและกรรมการใหม่อีกหลายคน ผมจึงอยากจะพูดถึงประเด็นว่า แล้วคนใหม่ๆเหล่านี้ ควรเข้าไปทำงานอย่างไร เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกับองค์กร โดยผมจะเน้นคนสำคัญที่สุด นั่นคือ “ประธานกรรมการ”

จากประสบการณ์ของผมในเรื่องบอร์ด รวมทั้งการเป็นวิทยากรในเรื่องนี้ (ซึ่งทำให้ได้รับข้อคิดเห็นจากผู้เข้าอบรมจำนวนมาก) ผมอยากขอเสนอข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นว่า ประธานคนใหม่ ที่กำลังเข้ามารับหน้าที่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจนั้น อาจจะเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง และควรทำหน้าที่อย่างไร

ประการแรก คืออาจจะต้องคำนึงถึงความกังขาของสังคมที่มีมานาน ว่าประธานและกรรมการนั้น โดยทั่วไปมักจะถูกผู้มีอำนาจ “สั่งได้” ซึ่งผมคิดว่าไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน ก็ไม่มีใครออกมายอมรับหรอก ว่าตนเองนั้นยอมให้นักการเมือง หรือผู้มีอำนาจ “สั่งได้” แต่ในความเป็นจริง เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในสังคมที่เน้นบุญคุณและการตอบแทนบุญคุณ นั้น ในเบื้องต้นที่สุด การโอนอ่อนผ่อนตามบ้างเท่าที่จะพอทำได้ ก็มักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ส่วนจะหนักหนาสาหัสมากกว่าระดับนี้สักเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ทั้งตัวประธานและกรรมการเอง รวมทั้งตัวผู้มีอำนาจ

แต่ผมก็อยากจะบอกว่าการ “สั่งได้” นั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่ดีเสมอไปนะครับ ประชาชนคงจะมีความสุขอย่างยิ่ง ถ้าทราบว่าประธาน ได้รับ “คำสั่ง” มาว่า “ให้ทำงานตรงไปตรงมาที่สุด สร้างความโปร่งใส และทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพที่สุด ไม่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวของคนใด ตระกูลใดทั้งสิ้น” ถ้าหากสั่งมาอย่างนี้ แล้วท่านก็รับคำสั่ง และทำตามเต็มร้อย ผู้คนจะยกย่องสรรเสริญทั้งผู้สั่งและผู้รับคำสั่งครับ

ประการต่อมา คือท่านจะต้องเข้ามานั่งอยู่ที่หัวโต๊ะการประชุม โดยมีคนอีกประมาณ 10 คนหรือกว่านั้น นั่งอยู่ในฐานะกรรมการ และหลายคนก็เป็นกรรมการใหม่ ส่วนอีกหลายคนอยู่ในตำแหน่งซีอีโอ บางครั้งก็มีผู้บริหารอยู่ด้วย ตรงนี้ ท่านจะบริหารการประชุมอย่างไรให้ดีที่สุด

มีคนพูดกันว่าประธานบอร์ด “ควรจะต้องมีความรู้ในเรื่องธุรกิจนั้นๆ เป็นอย่างดี” ประเด็นนี้ผมก็ไม่ปฏิเสธเสียทีเดียว แต่ที่อยากจะย้ำก็คือนั่นเป็นเพียงคุณสมบัติข้อเดียวเท่านั้น ผมเองกลับคิดว่าไม่จำเป็น ที่ประธานบอร์ด จะต้องมีความรู้ขนาดเป็น “ผู้รู้ในธุรกิจนั้นๆ เป็นอย่างดี” เพียงมีความรู้เบื้องต้น

แต่ตั้งใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว ถ้ารู้มาก และมั่นใจมาก อาจมีแนวโน้มไปสู่การแทรกแซงทางความคิด หรือการปิดกั้นความเห็นของกรรมการอื่น โดยประธานไม่รู้ตัว ด้วยซ้ำไป

แต่ที่ผมมองว่า สำคัญกว่าการมีความรู้อย่างมากในธุรกิจนั้นๆ ก็คือประธานบอร์ด จะต้องมีทักษะเป็นอย่างดีในการทำงานร่วมกับกรรมการคนอื่น เริ่มตั้งแต่การกำหนดวาระการประชุม ที่มีความสำคัญต่อองค์กร การให้เวลาอันเหมาะสมในการพิจารณาแต่ละวาระ การกำกับการอภิปรายปัญหาให้ตรงประเด็นและไม่เยิ่นเย้อ

การกระตุ้นให้กรรมการที่ไม่แสดงความเห็น (รับเบี้ยประชุมอย่างเดียว) ได้แสดงความเห็น การกำกับกรรมการบางคนที่พูดมากแต่ไม่มีสาระหรือไม่ตรงประเด็น เพื่อไม่ให้ใช้เวลามากเกินไป การโยงใยและสรุปความเห็นที่แตกต่างของกรรมการแต่ละคน ให้ออกมาเป็นความเห็นร่วมที่ทุกฝ่ายหรือส่วนใหญ่ยอมรับได้ ฯลฯ

ในการพิจารณาแต่ละวาระนั้น ประธานบอร์ด ควรเป็นผู้พูดคนสุดท้ายหรือคนท้ายๆ หลังจากที่ได้รับฟังความเห็นจากกรรมการอื่นไปทั้งหมดหรือเกือบหมดแล้ว เพราะถ้ามีวาระใดเข้ามา แล้วประธานก็เริ่มให้ความเห็นในเรื่องนั้นเป็นคนแรกทันที กรรมการอื่น คงไม่มีใครอยากแสดงความเห็นที่แย้งกับประธานมากนัก ซึ่งทำให้ที่ประชุมไม่ได้รับความเห็นที่กลั่นกรองเป็นอย่างดี

หากมีกรรมการคนใด ประพฤติไม่เหมาะสมเป็นประจำ เช่นมาสายและออกก่อน หรือเข้าๆออกๆ จากห้องเพื่อรับโทรศัพท์ และไม่ค่อยจะมีสมาธิในการประชุม หรือบางครั้งก็ใช้วาจาที่อาจรุนแรงเกินไปกับฝ่ายบริหาร ประธาน ควรจะต้องรู้จักวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้น ได้อย่างแยบยล และไม่ปล่อยให้บรรยากาศ หรือวัฒนธรรมการประชุม เป็นไปในทางที่ระส่ำระสาย เช่นนั้น

คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต และคนที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปเป็นประธานบอร์ด รัฐวิสาหกิจ ย่อมเป็นบุคคลที่ผ่านชีวิตมามาก และน่าจะมีทักษะที่ผมกล่าวข้างต้น แต่ก็ไม่เสมอไปทุกราย เพราะผู้เข้าอบรมในหลักสูตรที่ผมเป็นวิทยากรมานานหลายปีบอกว่า บางครั้งประธานกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง เช่นพูดมากนอกประเด็น หรือจับประเด็นการอภิปรายไม่ได้ หลงประเด็น หรือปล่อยให้การอภิปรายดำเนินไป โดยกรรมการพูดกันไปคนละทางสองทาง แล้วประธานก็ปล่อยให้เป็นเช่นนั้น ไม่สามารถนำกลับมาสู่ประเด็นหลักได้ ฯลฯ อย่างนี้นับว่าเสียเวลาเป็นอย่างยิ่งและอาจเสียหายต่อองค์กร

แน่นอนว่า สไตล์ของประธานแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน บางคนชอบลงรายละเอียด ในขณะที่บางคนก็รวบรัดและใส่ใจในประเด็นสำคัญ น้อยเกินไป ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ทำให้กรรมการคนอื่น ตกอยู่ในภาวะลำบากเหมือนกัน เพราะไม่กล้าที่จะเตือนท่านประธาน หรือเตือนได้ไม่เต็มปากเต็มคำ เพราะอาจจะเหมือนไม่ให้เกียรติกัน

ต้องย้ำว่าการเป็นประธานนั้น สำคัญยิ่งนัก ไม่ใช่เพราะวัยวุฒิหรือคุณวุฒิของท่าน หรือเพราะใครส่งท่านมา แต่เพราะประธานเป็นผู้กำหนดประเด็นและทิศทางการประชุมเพื่อการตัดสินใจที่สำคัญ ดังนั้นใครก็ตาม ที่ได้รับความไว้วางใจให้ไปเป็นประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ในช่วงเวลาที่สำคัญอย่างนี้ ก็หวังว่าท่านจะเข้าไปทำหน้าที่ในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานของคณะกรรมการ ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและอย่างยั่งยืน

ถ้าท่านทำให้การประชุมบอร์ด มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส ใช้ระบบคุณธรรม ก็จะเป็นกุศลแก่ชีวิตของคนรอบด้านท่าน ได้แก่กรรมการที่เหลือทั้งหมด รวมทั้งฝ่ายบริหาร และพนักงานทุกคนด้วย

ที่สำคัญมากก็คือ ท่านจะต้องไม่ปล่อยให้มีวาระซ่อนเร้นใดๆ เกิดขึ้น และทำให้เจ้าของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้แก่ประชาชนที่จ่ายเงินเดือนให้ท่าน ปีละหลายแสนบาท หรือบางแห่งนับล้านบาทนั้น รู้สึกว่าได้รับผลตอบแทนคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป


ประธานใหม่ท่านใด มุ่งมั่นที่จะทำให้ได้เช่นนี้ ....ประชาชนจะปรบมือให้เป็นกำลังใจ และถ้าเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ท่านสามารถทำได้จริง ประชาชนก็จะปรบมือให้อีกหลายๆครั้ง

เป็นการขอบคุณดังๆ ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปลี่ยนบอร์ดกันใหญ่ แล้วยังไงต่อ

view