สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดแผน ปฏิรูปภาษี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ดันพรบ.ทรัพย์สิน-ทยอยเก็บดีเซล-ทบทวน'แวต'-เพิ่มภาษีบาป เปิดแผนปฏิรูปภาษี ปรับกรมจัดเก็บเป็น'องค์กรกึ่งอิสระ'ตั้งหน่วยงานดูแลกลุ่มรายได้สูง

คลังเสนอ'แพ็คเกจ'ปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ ชงมาตรการระยะสั้น ไม่เกิน 1 ปี ทยอยเพิ่มภาษีดีเซล ดันกฎหมายทรัพย์สิน เก็บเพิ่มสินค้ากระทบสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม-ภาษีบาป พร้อมทบทวน"แวต" ปรับกรมจัดเก็บเป็นหน่วยงาน"กึ่งอิสระ" ขณะ"นักวิชาการ" หนุนเต็มที่ แนะปรับตามยุทธศาสตร์ประเทศ

กระทรวงการคลังเตรียมเสนอปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใน 1 เดือน โดยมีเป้าหมายทั้งการสร้างรายได้เข้ารัฐ ความเป็นธรรมและสิ่งแวดล้อม การเพิ่มขีดการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ

การปรับโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอทั้งมาตรการที่สามารถทำได้ระยะสั้น กล่าวคือ ใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี กับมาตรการระยะยาวที่ใช้เวลามากกว่า 1 ปี โดยมาตรการทั้งหมดจะมีตั้งแต่การแก้กฎระเบียบของหน่วยงานจัดเก็บภาษี จนถึงการเร่งออกกฎหมายใหม่เพื่อบังคับใช้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าการปรับโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ จะแบ่งเป็น 4 หมวด คือ 1. สร้างฐานรายได้ภาษีที่ยั่งยืนในระยะยาว 2. การสร้างความเป็นธรรม ส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาสิ่งแวดล้อม 3. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ 4. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บภาษี

ในส่วนของการสร้างฐานรายได้ จะมีการเสนอมาตรการระยะสั้นใน 1 ปี คือ ปรับลดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20% และการปรับปรุงอัตราการจัดเก็บภาษีป้าย นอกจากนี้จะมีการทยอยปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อให้เข้าสู่อัตราปกติ

จากข้อมูลของกรมสรรพสามิต ชี้เห็นว่ารายได้รัฐลดลงอย่างมากจากการลดจัดเก็บภาษีดีเซล โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา หรือ ตั้งแต่ปี 2551-2557 (เม.ย.2557) การจัดเก็บรายได้ภาษีน้ำมันดีเซลในช่วงปี 2551-2553 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 34,465 ล้านบาท ในปี 2551 เพิ่มเป็น 49,647 ล้านบาท ในปี 2552 ส่วนในปี 2553 การจัดเก็บรายได้ภาษีส่วนนี้กลับเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยสามารถจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ซึ่งมาอยู่ที่ 95,056 ล้านบาท แต่ในปีถัดไป หรือปี 2554 ความสามารถในการจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลกลับลดลงเหลือ 57,961 ล้านบาท

รายได้ภาษีลดลงอย่างมากในปี 2555 และ ปี 2556 ซึ่งจัดเก็บได้เพียง 136 ล้านบาท และ 149 ล้านบาทตามลำดับ และในปี 2557 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี สามารถจัดเก็บได้เพียง 80.19 ล้านบาท "สาเหตุที่จัดเก็บได้ลดลง เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายอุดหนุนราคา ตั้งแต่ 24 เม.ย.2554 จนถึงปัจจุบัน อัตราภาษีน้ำมันดีเซลจัดเก็บในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร จากเดิมในปี 2553 อัตราภาษีดีเซลจัดเก็บเต็มอัตราที่ 5.310 บาทต่อลิตร เท่ากับว่ารัฐบาลอุดหนุนดีเซลไปแล้วเกือบ 2 แสนล้านบาท"

สำหรับมาตรการระยะยาวกว่า 1 ปี ในการสร้างฐานรายได้ จะมีการทบทวนอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับฐานะการคลังและรองรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บที่ 7% จากอัตราตามกฎหมาย 10%

นอกจากนี้ จะทบทวนการยกเว้นและลดหย่อนต่างๆ และจะขยายฐานและปรับปรุงอัตราภาษีสรรพสามิต คือ ภาษีบาป ที่จัดเก็บจากบุหรี่และสุรา

ชงภาษีทรัพย์สิน-ปรับภาษีเงินได้

ในส่วนที่สอง การสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยในระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี จะเสนอร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าที่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องดื่มที่มีความหวานสูง น้ำมันหล่อลื่น การปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เป็นการถาวรหลังจากที่ใช้ไปเมื่อปี 2556 และเสนอร่างพระราชบัญญัติภาษีมลพิษทางน้ำ

สำหรับมาตรการที่มากกว่า 1 ปี จะนำระบบภาษีและเงินโอนมาใช้ ขยายฐานภาษีมลพิษประเภทอื่น และปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ลดภาษีเอสเอ็มกำไร1-3ล้านเหลือ15%

ในส่วนที่สาม เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ในระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี จะเสนอให้ปรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20% เป็นการถาวร ปรับปรุงโครงสร้างภาษีนิติบุคคลสำหรับเอสเอ็มอี ปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรกลุ่มสินค้าวัตถุดิบขั้นต้นและปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคกับการดำเนินธุรกิจ เช่น ภาษีพาณิชนาวี เศษซากอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับภาษีเอสเอ็มอีนั้น รัฐบาลได้รับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นการทั่วไปลง 10% จาก 30% ในปี 2554 เหลือ 20% ในปี 2556 แต่ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีกำไรสุทธิ 1-3 ล้านบาท กลับได้รับการปรับลดเพียง 5% จาก 25% ในปี 2554 เหลือ 20% ในปี 2556

ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นภาคธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศ จึงควรปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีกำไร 1-3 ล้านบาท เหลือ 15% ซึ่งปัจจุบันมีเอสเอ็มอีที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ประมาณ 32,000 ราย

ส่วนมาตรการระยะยาวมากกว่า 1 ปี จะมีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีทางการค้า และปรับปรุงอัตราภาษีและหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ตั้งหน่วยงานใหม่ดูแลกลุ่มรายได้สูง

ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บ ในระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี จะเร่งจัดทำฐานข้อมูลระหว่างกรมจัดเก็บภาษี และจัดตั้งหน่วยงานดูแลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้สูง ส่วนมาตรการระยะยาวเกิน 1 ปี จะร่างประมวลรัษฎากรฉบับใหม่ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายภาษีประเภทอื่นด้วย

ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือเสนอเปลี่ยนรูปแบบองค์กรจัดเก็บภาษีไปเป็นองค์กรกึ่งอิสระ และทบทวนการจัดกลุ่มของกรมจัดเก็บภาษี

นักวิชาการหนุนปรับใหม่ทั้งระบบ

นายตีรณ พงศมฆพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งระบบถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งควรทำมานานแล้ว เพราะการปรับระบบภาษีในช่วงที่ผ่านมา มักทำแค่เฉพาะบางส่วน ไม่ได้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมมากนัก

"ที่ผ่านมาการปรับระบบภาษี มักมองกันเป็นเสี้ยวๆ แล้วแต่ว่าช่วงไหนมีกระแสเรื่องอะไร หรือมีความจำเป็นเรื่องใด ก็มักปรับในเรื่องนั้น ตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อนทางการคลังบ้านเรา และการปฏิรูปก็ควรดูทั้งรายจ่ายและรายรับควบคู่กันด้วย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลแทบไม่ได้แตะต้องภาษีที่เป็นรายรับเลย" นายตีรณ กล่าว

อย่างไรก็ตามแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีใหม่นั้น กระทรวงการคลังควรต้องกำหนดเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ของประเทศที่ชัดเจนก่อนว่า ต้องการเห็นอะไร จึงสามารถวางโครงสร้างภาษีใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันโครงสร้างภาษีใหม่ ต้องไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับประชาชนหรือภาคธุรกิจ

"เป้าหมายถือว่ามีความสำคัญ คือ ปรับแล้วต้องทำให้เกิดศักยภาพในการแข่งขัน ขณะเดียวกันภาระภาษีควรต้องต่ำลง ไม่ใช่ปรับแล้วภาระของภาคธุรกิจและประชาชนสูงขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าปรับปรุงภาษีเพื่อให้กระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้มากขึ้นเท่านั้น อย่างนี้ไม่ใช่การปฏิรูปที่แท้จริง" นายตีรณ กล่าว

ต้องตอบโจทย์เป้าหมายประเทศ

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เห็นด้วยหากกระทรวงการคลังจะมีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งระบบ เพียงแต่การปรับโครงสร้างดังกล่าว กระทรวงการคลังต้องตอบโจทย์ให้ได้ก่อนว่า อยากเห็นภาพอนาคตของประเทศไทยเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้โครงสร้างภาษีใหม่ที่ออกมา เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

"การปรับภาษีต้องไม่มองเป็นตัวๆ เพราะจะทำให้หลงทางได้ แต่ก่อนอื่นกระทรวงการคลังต้องตอบโจทย์ก่อนว่า ต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมแบบไหน หรือเป็นประเทศเกษตรกรรมแบบไหน หรือแม้กระทั่งว่าจะให้เป็นรัฐสวัสดิการอย่างไร ต้องตอบโจทย์พวกนี้ให้ได้ก่อน แล้วค่อยมาออกแบบโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการ เพราะถ้าทำเป็นตัวๆ จะไม่รู้เลยว่า ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร" นายสกนธ์กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังต้องยอมรับว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นจึงควรดูด้วยว่าจะใช้มาตรการภาษีด้านใดมาจูงใจให้เกิดการพัฒนาหรือเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านแรงงาน ซึ่งในเวลานี้เราควรต้องมองถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานของคนในประเทศด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดแผน ปฏิรูปภาษี

view