สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประสาร ในวงล้อมสื่อนอก ย้ำไทยยึดโมเดล ตลาดเสรี

จากประชาชาติธุรกิจ

หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการใน 3 บอร์ด โดยคำสั่งและประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งในคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (กนร.), คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)


"ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากที่ถูกไฟส่องหลายกำลังวัตต์อยู่แล้ว ยิ่งถูกจับจ้องและถูกซักถามอีกหลายเรื่องนอกเหนือนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงินและการชำระเงิน

โดยล่าสุด สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ได้เชิญ ดร.ประสารร่วมเสวนาในเรื่องทิศทางเศรษฐกิจไทย และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง ภายใต้ยุค คสช. ในฐานะที่ดร.ประสารเป็นกรรมการและผู้ที่น่าจะมีส่วนในการให้คำแนะนำประเด็น เศรษฐกิจแก่คณะผู้ยึดอำนาจ

ดร.ประสารกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน โดยหลังเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อมองในระยะสั้นก็เห็นแนวโน้มที่ทำให้มองโลกในแง่ดีมากขึ้นหลังจากมีการ ดำเนินการเรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ที่จะเกิดขึ้นทันเวลา จากที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงล่าช้าช่วงสุญญากาศทางการเมือง จนทำให้หวั่นใจว่าไทยจะประสบปัญหาหน้าผาการคลัง หรือ Fiscal Cliff หรือไม่

ดังนั้น เมื่อการใช้จ่ายภาครัฐมีความชัดเจน ย่อมมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่แผนการลงทุนภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐานที่กลับเข้าสู่แผนงานอีกครั้ง ด้วยการตระหนักถึงประสิทธิภาพสูงสุดในแต่ละโครงการ ก็ย่อมเป็นแนวโน้มที่ดี

"ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ ธปท.ปรับประมาณเศรษฐกิจปีนี้ว่าน่าจะเติบโตที่ระดับ 1.5% แม้ว่าจะต่ำกว่าศักยภาพที่น่าจะทำได้ถึง 4-5% แต่เนื่องจากไตรมาสแรกของปี เศรษฐกิจหดตัวมากอย่างที่ทราบ ดังนั้นครึ่งปีหลังโดยเฉพาะในไตรมาสนี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีก ครั้ง จึงทำให้เชื่อว่าจะมีการฟื้นตัวในรูปวี-เซฟได้"

อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้ายังมีความท้าทายต่อเศรษฐกิจภายใต้ภารกิจการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ ต้องพูดถึงใน 2 ส่วน ได้แก่ นโยบายสาธารณะต้องช่วยปลดข้อติดขัดต่าง ๆ ให้ภาคเอกชนมีความพร้อมต่อการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ต้องสร้างความน่าเชื่อถือของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเพื่อให้เกิดสถาบันที่แข็งแกร่งเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ส่วนนโยบายการเงินนั้นมีกฎที่ยึดหลักการเอกฉันท์เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาและการ เงิน ซึ่งในการประชุมรอบกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2% โดยตระหนักถึงการสนับสนุนเพื่อให้เกิดสินเชื่อที่เพียงพอต่อการฟื้นตัวทาง เศรษฐกิจ พร้อมกับการดูแลด้านราคาและเสถียรภาพการเงินบนพื้นฐานการทำงานที่เป็นอิสระ

"ดังนั้น การทำงานของ กนง.จึงยังอยู่ในหลักการความเป็นอิสระ และที่ผ่านมา คสช.ก็ไม่ได้เข้ามากดดันในการตัดสินใจอะไร จากที่เคยได้ร่วมประชุมร่วมกับ คสช.และหน่วยงานเศรษฐกิจ ก็มีความเห็นร่วมกันว่าประเทศไทยสนับสนุนนโยบายตลาดเสรี และเชื่อมั่นในปรัชญาเรื่องนี้ ส่วนการปฏิรูปเศรษฐกิจต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด" ดร.ประสารกล่าว

เป็นคำตอบชัดๆ ว่าไทยขอเวลา "ปฏิรูปประเทศ" และยังไม่ได้จะละทิ้ง "หลักคิดสากล"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประสาร วงล้อมสื่อนอก ย้ำไทย ยึดโมเดล ตลาดเสรี

view