สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สภาการนสพ.ตั้งกก.สอบบริษัทใหญ่ตั้งงบจ่ายสื่อ

สภาการนสพ.ตั้งกก.สอบบริษัทใหญ่ตั้งงบจ่ายสื่อ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สภาการนสพ.เตรียมตั้งคกก.สอบบริษัทยักษ์ใหญ่ตั้งงบจ่ายสื่อใช้นำเสนอและแก้ไขข่าว

นายจักร์กฤษ เพิ่มพูลประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการรายงานข่าวและเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งได้จัดงบประมาณประชาสัมพันธ์เพื่อจ่ายให้กับสื่อมวลชนใช้นำเสนอและแก้ไขข่าวนั้น ส่วนตัวได้ตั้งข้อสังเกต 3 ประเด็น คือ 1.วิธีการจัดการพีอาร์ ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสังคมวงกว้างอาจไม่รับทราบ 2.การระบุชื่อถึงผู้สื่อข่าวและหน้าที่รับผิดชอบในหนังสือพิมพ์สองฉบับ พร้อมที่อยู่ซึ่งถือเป็นข้อมูลส่วนตัว ต้องทำแบบนั้นเพื่ออะไร และ 3.กรณีอ้างว่ามีการจ่ายเงินให้กับสื่ออาวุโสเพื่อเป็นค่าโฆษณาคิดได้ 2 แบบ คือ 1.จ่ายเพื่อเป็นค่าโฆษณาตามปกติ แต่ถูกขึ้นชื่อไว้เป็นผู้รับ หรือใช้ถ้อยคำจนอาจมองได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง และ 2.หากมีการจ่ายเป็นการส่วนตัวให้กับบุคคลที่มีรายชื่อจริง ถือว่าไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่รับผิดชอบด้านจริยธรรมสื่อสารมวลชน โดยในช่วงบ่ายวันที่ 14 ก.ค. จะหารือร่วมกับ นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เพื่อออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยร่วมกัน นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย


สองสภาวิชาชีพสื่อตั้ง “กล้านรงค์” ประธานกรรมการสอบบริษัทเกษตรยักษ์ตั้งงบซื้อสื่อ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตั้งคณะกรรมการอิสระ สอบสวนกรณีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรจ่ายเงินสื่อมวลชนอาวุโสเป็นงบพิเศษ “กล้านรงค์” นั่งเป็นประธาน “จักร์กฤษ” ชี้วิธีจัดการพีอาร์ปกติ แต่ระบุข้อมูลส่วนตัวนักข่าวทำแบบนั้นเพื่ออะไร ส่วนการจ่ายเงินสื่ออาวุโสเป็นไปได้ทั้งจ่ายค่าโฆษณา แต่หากจ่ายส่วนตัวไม่ถูกต้อง
       
       วันนี้ (14 ก.ค.) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรื่อง ข้อกล่าวหาสื่อมวลชนรับเงินบริษัทเอกชนเพื่อปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่ตามวิชาชีพ ระบุว่า จากกรณีที่ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนสิทธิพลเมือง (TCIJ) ได้เผยแพร่เอกสารโดยอ้างว่าเป็นของฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำ ธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร มีเนื้อหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือของสื่อทั้งระบบ โดยเอกสารบางตอนระบุว่า มีการจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้กับสื่อมวลชนอาวุโสเฉพาะรายรวม 19 ราย เป็น “งบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน” ทั้งนี้อาจเป็นการให้ในลักษณะต่างตอบแทน ซึ่งขัดต่อหลักการแห่งวิชาชีพ ที่สื่อมวลชนต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด อันจะขัดต่อการปฎิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน
       
       นอกจากนี้ เอกสารยังปรากฏข้อความที่แสดงถึง การละเมิด “ข้อมูลส่วนบุคคล” ของสื่อมวลชน โดยระบุสถานะการทำงาน สภาพที่พักอาศัย ทัศนคติ วิธีการทำงาน และการใช้ชีวิต ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานตามปกติ
       
       องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความกังวลและห่วงใยในเรื่องนี้อย่างยิ่ง ไม่แต่เพียงผลกระทบต่อความเชื่อถือในองค์กรสื่อและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเท่า นั้น หากแต่บริษัทเอกชนที่ถูกกล่าวอ้างถึงก็ได้รับผลกระทบและจำเป็นจะต้องให้ความ กระจ่างในเรื่องนี้ต่อสาธารณชนด้วย
       
       เพื่อให้การพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปด้วยความโปร่งใส สุจริต ตรงไปตรงมา สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” ขึ้นมาชุดหนึ่งโดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน ร่วมกับคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคคลภายนอก เพื่อพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และจะได้แถลงต่อสาธารณชนทราบต่อไป
       
       ก่อนหน้านี้ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์"โพสต์ทูเดย์" ว่า โดยส่วนตัวได้ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีนี้ไว้ 3 ประเด็น คือ 1.วิธีการจัดการพีอาร์ ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสังคมวงกว้างอาจไม่รับทราบ 2.การระบุชื่อถึงผู้สื่อข่าวและหน้าที่รับผิดชอบในหนังสือพิมพ์สองฉบับ พร้อมที่อยู่ซึ่งถือเป็นข้อมูลส่วนตัว ต้องทำแบบนั้นเพื่ออะไร และ 3.กรณีอ้างว่ามีการจ่ายเงินให้กับสื่ออาวุโสเพื่อเป็นค่าโฆษณาคิดได้ 2 แบบ คือ 1.จ่ายเพื่อเป็นค่าโฆษณาตามปกติ แต่ถูกขึ้นชื่อไว้เป็นผู้รับ หรือใช้ถ้อยคำจนอาจมองได้ว่ามี ส่วนเกี่ยวข้อง และ 2.หากมีการจ่ายเป็นการส่วนตัวให้กับบุคคลที่มีรายชื่อจริง ถือว่าไม่ถูกต้อง


“ซีพีเอฟ” แจงข่าวจ่ายเงินหนุนสื่อข้อมูลคลาดเคลื่อน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

หน่วยสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ชี้แจงข่าวการจ่ายเงินให้สื่อเป็นการซื้อโฆษณาตามปกติของหน่วยงานประชา สัมพันธ์ และเป็นข้อมูลที่ใช้เป็นการภายในเท่านั้น ผู้นำไปเผยแพร่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน และตัดต่อข้อมูลบางส่วนเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด
       
       ตามที่มีข่าวบนเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ว่า ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของธุรกิจยักษ์ใหญ่จ่ายเงินให้สื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรนั้น นางพรรณินี นันทพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ ชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวซึ่งเป็นการให้ข้อมูลโดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่สามารถเปิดเผยนาม เพื่อเปิดเผยข้อมูล พาดพิงการทำงานของหน่วยงานประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ หน่วยสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีการประสานงานกับสื่อและผู้สื่อข่าวอย่างใกล้ชิด ขอชี้แจงในหลักการและบทบาทของการประชาสัมพันธ์ว่า การทำแผนประชาสัมพันธ์ค่าใช้จ่ายในการซื้อโฆษณาในสื่อต่างๆ เป็นเรื่องต้องปฏิบัติเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดทำงบประมาณประจำปี และมีความจำเป็นต้องเก็บรายละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบในทางบัญชีได้อย่างถูกต้อง
       
       อย่างไรก็ตาม หน่วยงานประชาสัมพันธ์ยังต้องจัดทำงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการสนับสนุน กิจกรรมของสื่อมวลชนในกรณีพิเศษ เช่น การจัดกอล์ฟการกุศลเพื่อระดมทุนไปใช้ในกิจกรรมพิเศษของสื่อนั้นๆ หรือการจัดงานสัมมนาต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้ถือเป็นงบปกติที่องค์กรขนาดใหญ่มีการจัดสรรงบประมาณไว้รองรับ และจำเป็นต้องระบุชัดเจนเป็นงบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ไม่ได้มีวงเงินสูง
       
       นอกจากนี้ การทำงานในเชิงรุกเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกับสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจใน องค์กร เป็นเรื่องจำเป็นที่สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ต้องทำหน้าที่อย่างเคร่ง ครัดเพื่อรักษาภาพลักษณ์อันดีขององค์กร ดังนั้น การติดต่อกับสื่อที่เกี่ยวข้องนำข้อความหรือกระทู้ที่ทำให้เกิดความเสื่อม เสียแก่บริษัทและไม่เป็นความจริงถือเป็นเรื่องจำเป็นที่หน่วยงานประชา สัมพันธ์ต้องปฏิบัติ
       
       หน่วยสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ ซีพีเอฟ ขอยืนยันว่า การปฏิบัติต่อสื่อมวลชนและการดำเนินการเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามงบประมาณที่นำเสนอไว้กับบริษัทและสามารถตรวจสอบได้ จึงขอเรียกร้องให้พิจารณาในเรื่องนี้อย่างเป็นธรรมกับวิชาชีพการประชา สัมพันธ์
       
       “เราขอยืนยันว่าเราไม่เคยใช้เงินเพื่อซื้อสื่อในการปิดข่าวหรือบิดเบือนเนื้อหาข่าวไม่ให้เป็นความจริง” นางพรรณินีกล่าวย้ำ
       
       อนึ่ง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ออกแถลงการณ์ร่วม แสดงความห่วงใยต่อกรณีดังกล่าวนี้ และเพื่อให้การพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปด้วยความโปร่งใส สุจริต ตรงไปตรงมา สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” ขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน ร่วมกับคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคคลภายนอก เพื่อพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว


แฉเอกสารprธุรกิจยักษ์จ่ายสื่อ-ลบกระทู้

จาก โพสต์ทูเดย์

เว็บไซต์TCIJเผยเอกสารฝ่ายประชาสัมพันธ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ พบจัดงบพิเศษจ่ายสื่อ ตามแก้ข่าวเชิงลบ ล็อบบี้ลบกระทู้ออนไลน์

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. เว็บไซต์ TCIJ (http://tcijthai.com) ได้เผยแพร่เอกสารที่ระบุว่าเป็นข้อมูลบันทึกจากผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศแห่งหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจรทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยTCIJ ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวได้รับมาจากแหล่งข่าวที่ไม่สามารถเปิดเผยนาม

รายงานข่าวระบุว่าข้อมูลทั้งหมดมีเนื้อหาเกี่ยวกับรายงานการทำงานในหน้าที่ การแก้ข่าว การติดตามลบกระทู้เชิงลบในเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงการเจรจากับกูเกิลเพื่อให้นำเนื้อหาที่ยังค้างในกูเกิลออก

นอกจากนี้ยังมีรายชื่อนักข่าวและตัวเลขการจ่ายเงินสื่อมวลชน 19 ราย ตลอดจนความเห็นต่อตัวนักข่าว รวมทั้งรายละเอียดกลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักข่าว

"ข้อมูลภายในยังบันทึกรายการใช้จ่ายรายเดือนที่เรียกว่า “งบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน” ระบุชื่อจ่ายให้แก่สื่อมวลชนอาวุโส จำนวน 19 ราย ซึ่ง TCIJ ไม่แน่ใจว่างบพิเศษนี้ จริงๆแล้ว หมายถึงอะไรและอย่างไร เพียงแต่คาดการณ์ว่า อาจเป็นการจ่ายแบบให้เปล่า โดยมีสัญญาหรือข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้ เพื่อให้สื่อที่ได้รับการสนับสนุนเหล่านี้ พร้อมที่จะเปิดพื้นที่ให้แก่การแก้ข่าว การตีพิมพ์หรือการนำเสนอบทความ เพื่อตอบโต้แก้ต่าง หรือนำเสนอกิจกรรมเพื่อภาพลักษณ์ของบริษัท ทั้งนี้ TCIJ มีข้อสังเกตว่า รายชื่อที่ปรากฎเป็นสื่อมวลชนระดับอาวุโสที่มีสถานะเป็นผู้บริหารระดับกลางจนถึงระดับสูงขององค์กรสื่อ"รายงานของTCIJระบุ

TCIJรายงานด้วยว่าข้อมูลที่ได้รับมา ยังมีรายงานการเขียนบทความตอบโต้ประเด็นข่าวเชิงลบในสถานการณืต่างๆเช่น กรณีไข่แพง ราคาสุกรตกต่ำ โดยเอกสารระบุการจัดการด้วยวิธีใช้ชื่อนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญ พื่อให้บทความมีความน่าเชื่อถือ มีการจ่ายค่าตอบแทนและการใช้นามแฝงให้เป็นเสมือนหนึ่งข้อเขียนของบุคคลภายนอก รวมไปถึงการจัดม็อบเกษตรกรปลอมเพื่อมาสนับสนุนบริษัท เมื่อมีเกษตรกรจริงมาประท้วงหน้าบริษัท

TCIJยังนำเอกสารการประชุมประจำสัปดาห์ด้านสื่อสารองค์กรและการประชาสัมพันธ์ของบริษัทแห่งนี้มาเผยแพร่พร้อมระบุว่า เพื่อให้เห็นถึงวิธีคิดและวิธีการทำงานขององค์กรนี้อีกด้วย

ที่มา : http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4559



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สภาการนสพ. ตั้งกก.สอบ บริษัทใหญ่ ตั้งงบจ่ายสื่อ

view