สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลพวงจาก นักเรียนนักเลง

ผลพวงจาก'นักเรียนนักเลง'?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผลพวง"นักเรียนนักเลง" ทำไทยขาด"ช่างฝีมือ"รับเออีซี

ปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงในหมู่นักเรียนนักศึกษา "สายอาชีพ" ไม่ว่าจะเป็นเหตุยกพวกตีรันฟันแทงไปจนถึงการใช้อาวุธร้ายแรงอย่างปืน หรือระเบิดเพื่อหวังเอาชีวิตนักเรียนนักศึกษาสถาบันคู่อรินั้นได้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังซึ่งไม่เพียงก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงสังคม และการศึกษาเท่านั้น

แต่ขณะนี้ปัญหากำลังลุกลามไปสร้างความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยอย่างที่เราคาดไม่ถึง!

เมื่อเร็วๆ นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน จัดสัมมนา "พัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน" เพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานเข้าสู่การเปิดเสรีภายใต้กรอบเออีซี ซึ่งหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงต่อปัญหาขาดแคลน "ช่างฝีมือ" ในภาคอุตสาหกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 ที่จะถึงนี้

โดยในการอภิปรายเรื่อง "การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สู่ความยั่งยืน" นั้น นายวีรศักดิ์ ลดาคม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แสดงความเป็นห่วง "แรงงานไทย" ที่มีจำนวนน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในเกือบทุกสาขา

นายวีรศักดิ์ บอกว่า ในปลายปี 2558 จะเข้าสู่อาเซียน แต่สถานะของแรงงานไทยไม่สู้ดี เนื่องจากไทยมีอัตราการเกิดต่ำ เพียง 19 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามองไปข้างหน้าอีก 5-10 ปี ไทยจะมีแรงงานน้อยกว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า และเวียดนาม

"บ้านเรามีปัญหามากในเรื่องช่างฝีมือในภาคอุตสาหกรรม ขาดแคลนแรงงานมานานแล้ว และเกือบจะทุกสาขาเลยก็ว่าได้ อีกทั้ง เรามีช่างฝีมือระดับ ปวช. ปวส. ค่อนข้างน้อยมาก ซึ่งที่จริงแล้วในภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานระดับนี้ถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์"

หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน บอกว่า ที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ และออกมาตรการหลายๆ อย่าง เช่น ค่าจ้างตามมาตรฐาน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ภาคการจ้างงาน ระดับ ปวช. ปวส. เมื่อเทียบกับเอนจิเนียถือว่าค่อนข้างต่ำ ทำให้ค่านิยมของเด็กไทยหนีไปเรียนสายสามัญ

อย่างไรก็ดีเขาเชื่อว่า การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ รวมทั้งมาตรฐานแรงงานในระดับอาเซียนซึ่งเอื้อต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือแล้วก็จะช่วยดึงแรงงานกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบได้

นายจิระพันธ์ กัลลประวิทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสริมว่า เรามีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เริ่มตั้งแต่ครอบครัวที่ไม่อยากมีลูกจึงเป็นการขัดแย้งระหว่างการอยากก้าวหน้าในการงานกับการมีลูก ซึ่งเรากำลังคิดทางด้านนโยบายว่าจะทำอย่างไรให้ความขัดแย้งนี้ลดลง ทำให้คนสามารถมีลูกและทำงานไปด้วยได้ ดังนั้นภาครัฐต้องเข้ามาช่วย

ขณะที่เรื่องแรงงานไทยก็มีปัญหาทั้งเรื่องปริมาณและคุณภาพ โดยเชิงปริมาณ มีการขาดแคลนช่างวิชาชีพ อาชีวะ เนื่องจากค่านิยมของสังคมไทยที่ทุกคนอยากเรียนจบปริญญาตรี เพราะฉะนั้นค่านิยมเหล่านี้จึงทำให้เกิดปัญหาในตลาดแรงงานของไทยกลุ่มนี้

"เรามีโรงเรียนอาชีวะเยอะแยะ แต่ไม่มีคนเรียน พอมีเหตุการณ์ตีกัน พ่อแม่ก็ไม่อยากส่งให้ลูกไปเรียนสายอาชีพ ทำให้สายอาชีพมีเด็กเข้าเรียนเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สายสามัญมีถึง 60 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้เรามีปัญหา"

ทั้งนี้เขาเสนอให้มีการสนับสนุนเงินกู้เรียนกับกลุ่มวิชาสายอาชีพหรืออาชีวะเพื่อปรับทิศทางของการเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

ส่วนการพัฒนาคุณภาพแรงงานนั้นคงต้องพึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพราะเมื่อบุคลากรจบการศึกษาแล้ว หน่วยงานที่จะมีส่วนดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ก็คือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำ "มาตรฐานฝีมือแรงงาน" (จัดทำแล้ว 44 สาขาอาชีพ ขณะนี้กำลังจัดทำเพิ่มอีก 44 สาขาอาชีพ) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวแรงงาน และตลาดแรงงานเพราะทำให้เกิดโอกาสการศึกษาเพิ่มเติมและสามารถทำงานไปด้วยได้

"ตอนนี้ไม่ห่วงเรื่องปฏิรูปการศึกษา แต่ห่วงคนที่กำลังทำงานในระบบ ภาษาก็ไม่ได้ ทักษะก็แย่ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ยิ่งจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อาจจะทำให้เราแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้"

นายสุรัตน์ จั่นแย้ม ที่ปรึกษาศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ชี้ว่า ศูนย์ศึกษาแบบทวิภาคีที่ให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานกับสถานประกอบการกึ่งหนึ่งของหลักสูตรซึ่งจะช่วยแก้ปัญหานักเรียนจบการศึกษาแล้วไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานนั้นมีมาตั้งแต่ปี 2531 แต่เพิ่งเห็นผลเป็นรูปธรรมเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา

เขาบอกว่า หลักสูตรปวช. ที่เรียน 3 ปี หลักสูตร ปวส.ที่ต่อจากปวช. 2 ปี ปัจจุบันก็มีหลักสูตรถึงปริญญาตรี ซึ่งเป็นปริญญาตรีด้านสายปฏิบัติการ แตกต่างจากปริญญาตรีของระบบมหาวิทยาลัย เป็นหลักสูตรต่อเนื่องจาก ปวส. อีก 2 ปี เพราะฉะนั้น 2 ปี เพื่อให้ได้ปริญญาตรี หลักเกณฑ์ก็มีอยู่ว่า นักศึกษาต้องไปอยู่ในสถานประกอบการกึ่งหนึ่งของหลักสูตร ไปฝึกปฏิบัติให้มีความชำนาญการ เชี่ยวชาญในอาชีพนั้นๆ

ดังนั้นสถานประกอบการอยากได้ผู้ที่จบการศึกษาแล้วมีสมรรถนะและทักษะอย่างไรก็สามารถฝึกได้ตั้งแต่ช่วงนี้ เพราะผู้ประกอบการมีเครื่องมือพร้อมที่จะให้นักศึกษามีศักยภาพตามที่ต้องการ ช่วยประหยัดเวลาที่จะให้นักเรียนนักศึกษาเหล่านี้ออกไปหาประสบการณ์เอง

นอกจากนี้เขายังเห็นว่า ควรมีการ "ประชาสัมพันธ์" ให้มากขึ้น โดยให้ข้อมูลแก่ผู้ที่จบสายอาชีพว่ามีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพอย่างไร มีโอกาสที่เรียนจบแล้วจะได้ทำงานอย่างไร วิชาชีพไหนเป็นวิชาชีพที่ตลาดแรงงานหรือสถานประกอบการมีความต้องการ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผลพวง นักเรียนนักเลง

view