สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจี้รัฐสาง15คดีโกง-ลุยจับ ปลาใหญ่

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

จี้รัฐสาง15คดีโกง มี4กลุ่ม "ไร่ส้ม"ติดโผ เร่งศึกษาโมเดล"คดีทุจริตไม่มีอายุความ" จับปลาตัวใหญ่ให้ได้

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯเร่งหน่วยงานรัฐดำเนินการ 15 คดีโกงที่สังคมจับตาให้เป็นรูปธรรม เหตุล่าช้า ไม่คืบหน้า ทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว เปิดข้อมูลคดีจับโกงโยงผู้มีอิทธิพลการเมือง ใช้เวลาร่วม 20 ปี "ไร่ส้ม" อยู่ในกระบวนการ ป.ป.ช. 7 ปี แนะลุยจับ "ปลาใหญ่" ให้เห็นเป็นตัวอย่าง เชื่อผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลประยุทธ์เอาจริง แต่ฝ่ายปฏิบัติยังไม่ตอบสนอง

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยเมื่อวานนี้ (9 ธ.ค.) ว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและดำเนินคดีการทุจริตและประพฤติไม่ชอบ ให้เร่งดำเนินการพิจารณาและดำเนินคดี 15 คดีสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ แต่มีความล่าช้าและไม่มีความคืบหน้า เพื่อให้เกิดรูปธรรมและมีผลงานให้ประชาชนได้ประจักษ์

"แม้ประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับด้านการต่อต้านคอร์รัปชันดีขึ้น 17 อันดับ โดยมาอยู่ที่ 85 ของโลก (จากเดิม 102) และมีความตื่นตัวของภาคเอกชนที่จะต่อต้านความไม่ถูกต้องมากขึ้น แต่จากการติดตามพบว่าคดีคอร์รัปชันหลายคดีไม่มีความคืบหน้าและเงียบหายไป โดยเฉพาะ 15 คดีที่ประชาชนจับตามอง ทำให้องค์กรฯ ต้องออกมาเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาคดีให้รวดเร็วขึ้น" นายประมนต์ ระบุ

จำแนก15คดี4กลุ่ม-"ไร่ส้ม"ติดโผ

สำหรับ 15 คดีที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ระบุ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคดีที่รอคำอธิบาย ได้แก่ กรณีไมโครโฟนทองคำ กรณีป้ายโฆษณาบนป้อมจราจร กรณีการทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คดีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน คดีโกงลำไยในปี 2547-2548 และคดีไฟไหม้รถหรู

กลุ่มที่ 2 คดีที่คาราคาซังและคาใจ ได้แก่ คดีการทุจริตจำนำข้าวทั้งระบบ กรณีอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับสินบนแลกให้สิทธิการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ กรณี นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม กรณีทุจริตการก่อสร้างโรงพักทั่วประเทศ และกรณีโครงการไทยเข้มแข็ง

กลุ่มที่ 3 คดีที่รออัยการดำเนินคดี กรณี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการปล่อยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

กลุ่มที่ 4 คดีที่องค์กรฯให้ความสำคัญและอยากให้ประชาชนจับตามองมากที่สุด คือ กลุ่มคดีที่ต้องไม่กะพริบตา ได้แก่ กรณี บริษัท ไร่ส้ม ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรณี พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และกรณีจดหมายน้อยของเลขาธิการศาลปกครอง

จี้ตัดสินคดีโกงหวังปรามการกระทำผิด

นายประมนต์ กล่าวต่อว่า การจับตาการดำเนินคดีในช่วงที่ผ่านมา พบว่าปัญหาของประเทศไทยคือมีขั้นตอนการดำเนินคดีหลายขั้นตอน การดำเนินคดีตามลำดับเวลามาตรฐานจะเริ่มจากการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้เวลา 2-5 ปี ขั้นตอนอัยการถึงศาล 1-2 ปี ขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา ใช้เวลา 6-8 ปี ทำให้ใช้เวลามากกว่า 10 ปี หากผู้ถูกดำเนินคดีเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางการเมือง หรือมีอำนาจทางราชการ บางคดีใช้เวลายาวนานกว่า 17-20 ปี กว่าจะดำเนินคดีแล้วเสร็จ

"เราจะเห็นกรณีต่างๆ มากมายที่การดำเนินคดีล่าช้า อย่างคดีไร่ส้ม เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีตั้งแต่ปี 2550 อัยการเพิ่งมีความเห็นสั่งฟ้องเมื่อเดือน พ.ย.2557 ส่วนคดีทุจริตโครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มีการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณา ใช้เวลากว่า 9 ปีกว่าคดีจะสิ้นสุด"

นายประมนต์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ทางองค์กรฯ จะรวบรวมข้อมูลคดีทั้งหมดเสนอต่อศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นการเร่งรัดและทำให้เกิดการตัดสินคดี โดยเฉพาะคดีของคนที่มีฐานะทางสังคมสูง หรือมีอำนาจทางการเมือง หรือภาคราชการ เพราะหากไม่ลงโทษ คนจะไม่เกรงกลัวการกระทำผิด

เร่งศึกษาโมเดล"คดีทุจริตไม่มีอายุความ"

ส่วนความคืบหน้าของการขยายเวลาอายุความคดีทุจริต ไม่ให้มีอายุความนั้น ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ บอกว่า ยังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยแนวทางการเสนอให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ มีอยู่ 2-3 วิธี หากไปดูในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (ยูเอ็นซีเอซี) มีวิธีปฏิบัติว่าคดีต่างๆ ควรมีอายุความเท่าไร ตั้งแต่ 5 ปีถึง 25 ปี หากแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับนานาชาติ คดีขนาดใหญ่จะทำให้มีอายุความยาวขึ้น

และอีกมาตรการที่น่าสนใจ คือ หากผู้ต้องหาหลบหนีไม่มาถูกดำเนินคดีตามเวลา จะไม่นับอายุความ จนกว่าจะกลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม

สำหรับการประเมินการต่อต้านการคอร์รัปชันของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น นายประมนต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาระดับผู้บริหารมีความเอาจริงเอาจังในการเอาผิดผู้คอร์รัปชันอย่างแข็งขัน แต่สิ่งที่ทางองค์กรเป็นห่วง คือ เจ้าหน้าที่ระดับล่างยังไม่เอาจริงเอาจังเท่าที่ควร ดังนั้นควรมีการกวดขันให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างลงมือปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น

ยกคดีอดีตผบช.ก.ตัวอย่างทุจริตราชการ

ด้าน นายมานะ นิมิตมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า 3 คดีทุจริตที่องค์กรฯจับตามองและอยากให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน (กลุ่มที่ 4) นั้น มีความสำคัญแตกต่างกัน อย่างคดี บริษัทไร่ส้มฯ เกิดขึ้นมานานตั้งแต่ปี 2547 เข้าสู่กระบวนการ ป.ป.ช. ปี 2550 ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะมีความคืบหน้า เป็นตัวอย่างของพฤติกรรมโดยทั่วไปของคดีที่เกี่ยวข้องการทุจริตในเมืองไทยที่ใช้เวลาดำเนินคดีนานมาก บางคดีใช้เวลา 16-17 ปีกว่าจะถึงที่สุด ซึ่งเป็นช่องทางให้มีการโอนถ่ายทรัพย์สินเพื่อหลบหนีการเอาผิดได้

ส่วนคดีของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ เป็นคดีที่ทำให้คนไทยเห็นว่า การทุจริตแบบเป็นขบวนการในภาคราชการเป็นเรื่องจริง การเรียกสินบน ซื้อขายตำแหน่งมีอยู่จริง จึงต้องเร่งขจัดการกระทำผิดพวกนี้ให้หมดไป

จี้จับปลาตัวใหญ่ให้ได้

นายสมพล เกียรติไพบูลย์ รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การดำเนินคดีคอร์รัปชันในปัจจุบันอยู่ในบรรยากาศที่กระตือรือร้นและมีความชัดเจนมากขึ้น แต่การเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ไม่รวดเร็วเท่าที่ควร ขณะที่ต่างประเทศจะมีช่องทางดำเนินคดีที่รวดเร็วจะตอบโจทย์การเอาผิด

"สิ่งที่สำคัญคือต้องจับปลาตัวใหญ่ให้ได้ เอาผู้ที่กระทำความผิดมาลงโทษให้ประชาชนเห็นชัดเจน จะช่วยปรามการทุจริตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ แต่ตราบใดที่ปลาตัวใหญ่ยังลอยนวลอยู่ หรือเกิดคดีแล้วหนีไปอยู่ต่างประเทศได้ กลับมาเมื่อคดีหมดอายุความ ใช้ชีวิตได้ตามปกติ จะไม่ก่อให้เกิดความเกรงกลัวในการกระทำความผิด" นายสมพล ระบุ

เขากล่าวด้วยว่า โลกทุกวันนี้พัฒนาเลยคำว่าการปราบปรามคอร์รัปชันแล้ว แต่ไปถึงขั้นที่ว่าหากคุณมีหน้าที่รับผิดชอบ แต่คุณละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ก็ถือว่าเป็นการทุจริตอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องถูกลงโทษด้วย


ปปช.สอบทุจริตฟุตซอลอีสาน โยง92'ผอ.-บิ๊กสพฐ.-เอกชน'

ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการ 31 คน ไต่สวนคดีทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอลภาคอีสาน เผยมีผู้ถูกร้องเรียน 92 ราย

ทั้งผอ.โรงเรียนประถมและมัธยมศึกษา-บิ๊กสพฐ.-บริษัทเอกชน ให้เวลา 15 วัน ยื่นคัดค้านอนุฯ พร้อมเตรียมตั้งอนุฯ สอบพื้นที่ภาคเหนือ มอบ"วิชัย-ภักดี"ร่วม ยันไม่หนักใจแม้มีนักการเมืองเกี่ยวข้อง

นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในฐานะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตสนามฟุตซอล (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เปิดเผยว่า คำสั่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนในกรณีนี้มีออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ประกอบด้วยอนุกรรมการ จำนวน 31 คน โดยมีนายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ และยังเป็นครั้งแรกที่ได้มีรองผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการไต่สวนฯ ร่วมด้วย

ทั้งนี้ทางคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้ส่งหนังสือไปยังผู้ถูกร้อง จำนวน 92 ราย เพื่อเปิดโอกาสให้คัดค้านรายชื่ออนุกรรมการฯ แล้วเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ทั้งนี้ผู้ถูกกล่าวหา มีทั้งระดับผู้อำนวยการโรงเรียน ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ระดับผู้บริหารสูงสุดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และบางรายเป็นบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ที่ถูกกล่าวหามีระยะเวลาในการยื่นคัดค้านได้ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ส่งหนังสือ

นายประสาท กล่าวว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้นัดประชุมครั้งแรก ในวันจันทร์ที่ 22 ธ.ค.นี้ เพื่อวางกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ และวางกรอบในการทำงาน โดยหลังจากการประชุมนัดแรกเสร็จสิ้น จะลงพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครราชสีมา มุกดาหาร และอำนาจเจริญ ซึ่งหากลงพื้นที่สำรวจและพบข้อมูลเชิงลึกก็จะมีการขยายผลต่อไป

"การดำเนินการขณะนี้ถือว่ารวดเร็ว ผมต้องขอขอบคุณข้อมูลและความร่วมมือจาก สตง. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และขอชมเชยการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ.) และ สตง.จังหวัด อย่างมากที่รวบรวมข้อมูลได้ทันเวลา"

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากข้อมูลที่พบพื้นที่ภาคเหนือ ก็มีการทุจริตมากกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางป.ป.ช.จะดำเนินการอย่างไร นายประสาท กล่าวว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้แต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนฯ ในภาคเหนือตอนบนและตอนล่างแล้ว แต่ยังไม่มีคำสั่งอย่างเป็นทางการ โดยมีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ร่วมเป็นอนุกรรมการไต่สวน คือ นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. และนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. "อนุกรรมการไต่สวนทุกคนไม่เกรงกลัว ไม่หนักใจในการทำงานครั้งนี้ ถึงแม้จะมีนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้องด้วย เพราะมาทำความถูกต้องให้ปรากฏ ไม่เกรงกลัวอำนาจใดๆ แม้จะสูงส่งเพียงไหน" นายประสาท กล่าว

ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช.กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของนายบุญทรง เตริยาภิรมณ์ อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวก ที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่า ในเดือนธ.ค.นี้จะสรุปคดีนี้ได้แน่ ป.ป.ช.จะดำเนินการโดยเฉพาะผู้ที่ถูกกล่าวหาหลักให้เสร็จสิ้นก่อน แต่หากดำเนินการในส่วนผู้เกี่ยวข้องทันก็จะสรุปไปพร้อมกัน ส่วนคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะชี้มูลเมื่อไหร่ ยังไม่สามารถกำหนดเวลาได้ อาจจะส่งให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไปศึกษาสำนวนคดีนี้ในช่วงปีใหม่ก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร

"ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดเวลาที่แน่นอนได้ว่าจะสามารถชี้มูลได้เมื่อใด เนื่องจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องมีจำนวนมาก ส่วนจะมีการเรียกข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ก็คงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการป.ป.ช.ที่จะต้องพิจารณา"

เมื่อถามว่าหลักฐานที่ทางป.ป.ช.มีการประสานกับทางการจีนนั้นครบถ้วนแล้วหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะกำลังตรวจสอบ อยู่ในขั้นตอนลับ แต่ยืนยันว่าพยายามจะนำข้อมูลในส่วนนั้นมาให้ครบถ้วน และในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อเข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตรวจสอบ ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ทางป.ป.ช.จะได้รับ โดยข้อมูลมีทั้งของภาครัฐและเอกชน

ส่วนความคืบหน้าการไต่สวนคดีการระบายข้าวไปยังประเทศอินโดนีเซีย (บูล็อก) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรมว.พาณิชย์ เป็นผู้ถูกกล่าวหานั้น นายวิชา กล่าวว่า อยู่ระหว่างการสอบสวน ซึ่งก็สลับกับการสอบระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ก็ทำไปเรื่อย ๆ ยังต้องการข้อมูลที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี ภายหลังเชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี มาให้ถ้อยคำในฐานะพยาน ก็ได้รับความรู้เพิ่มเติมอีกมาก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จี้รัฐสาง คดีโกง ลุยจับ ปลาใหญ่

view