สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อย่าให้-ระบบบริการ-เข้าสู่กลไกตลาดเสรี

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

กว่า 12 ปี แห่งความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ซึ่งพิสูจน์ทราบแล้วจากการขยายความครอบคลุมประชาชนร่วม 48 ล้านคน การเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัว และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ จนกลายมาเป็น “ต้นแบบ” ให้นานาประเทศเข้ามาศึกษา

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยอมรับว่า แม้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สปสช.จะประสบความสำเร็จ แต่ในทศวรรษหน้ายังมีความท้าทายอีก อย่างน้อยๆ 4 ประเด็นสำคัญ

ประเด็นแรก ลดความเหลื่อมล้ำ เริ่มจากความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุน ซึ่งทำให้การเข้าถึงบริการมีความแตกต่างกันออกไป นั่นคือใครถือเงินมากกว่าก็จะได้รับการบริการส่วนใหญ่ไป รวมถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างภูมิภาค ระหว่างการเข้าถึงบริการปฐมภูมิกับระดับสูงขึ้นไป

สิ่งที่สามารถดำเนินการได้ทันที เช่น “อุบัติเหตุฉุกเฉิน” ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรของภาคเอกชนที่มีอยู่ และต้องลงทุนตัวระบบเพื่อรองรับภาวะฉุกเฉิน หรือ “โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง” ไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไตวาย ต้องทำให้สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นได้โดยเท่าเทียม หรือแม้แต่ “การจัดระบบดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ติดบ้านติดเตียง” ที่ภายใน 5 ปีนี้ จำเป็นต้องจัดบริการดูแลโดยมียุทธศาสตร์อยู่ที่ชุมชน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัดการ และรัฐบาลกลางเป็นผู้สนับสนุน

ต่อมาคือ การทำให้ระบบนี้ครอบคลุมคนไทยทุกคน รวมถึงคนที่อยู่ในประเทศไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชายขอบ ด้อยโอกาส แรงงานข้ามชาติ ประเด็นที่สามคือ การสร้างความยั่งยืนให้กับระบบ โดยเฉพาะความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ความยั่งยืนทางด้านประสิทธิภาพของการจัดการทั้งหลาย ความยั่งยืนด้วยมีภาควิชาการนำไม่ใช่ถูกอำนาจทางการเมืองยึดโยง

สุดท้ายคือ การปฏิรูประบบบริการ ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีการปฏิรูปอำนาจของผู้ซื้อบริการ หรือประชาชนมาตลอด แต่กลับไม่เคยมีการปฏิรูประบบบริการ

ระบบบริการส่วนใหญ่เป็นของภาครัฐโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีลักษณะรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง อยู่ภายใต้กฎระเบียบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ จึงไม่สามารถขยายการบริการที่หลากหลายและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของผู้ซื้อบริการได้

ประสิทธิภาพต้องควบคู่คุณภาพ

ว่ากันเฉพาะ “การปฏิรูประบบบริการ” เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง ซึ่งแปรเปลี่ยนมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา น่าสนใจว่าแนวทางการปฏิรูปควรจะเป็นอย่างไร

“ระบบบริการที่ดียังคงต้องอยู่ภายใต้ ‘ภาครัฐ’ และต้องไม่ปล่อยให้เข้าสู่ ‘ตลาดเสรี’ นั่นเพราะเรื่องระบบสุขภาพเป็นเรื่องความมั่นคงของสังคมและประเทศ ประกอบกับเป็นสินค้าเฉพาะที่ซับไพรม์มีผลต่อดีมานด์”

อย่างไรก็ดี ระบบที่เป็นของรัฐนั้นจะต้องแก้ปัญหาเรื่อง “ความไร้ประสิทธิภาพ” ด้วยการ “กระจายอำนาจ” ออกไป

ทางเลือกของการกระจายอำนาจ แบ่งได้เป็น 1.การกระจายให้ท้องถิ่น แต่คำถามคือขณะนี้ท้องถิ่นเข้มแข็ง หรือพร้อมดูแลระบบบริการหรือไม่ 2.กระจายให้ผูกโยงอยู่กับคนในพื้นที่ อาจไม่ต้องอยู่กับรัฐบาลท้องถิ่น ทำเป็นองค์การมหาชนหรือองค์กรอิสระก็ได้ แต่ต้องยึดโยงให้คนในพื้นที่กำหนดทิศทาง หรือมีสิทธิเลือกผู้บริหาร

“ถ้าทำเช่นนี้ได้ การปฏิรูปการซื้อบริการกับการปฏิรูประบบบริการก็จะมาเจอกันในพื้นที่ ในทางกลับกันหากไม่ดำเนินการปฏิรูปตามแนวทางข้างต้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ก็คือ สถานการณ์การเผชิญหน้า ความขัดแย้ง กับการไร้ประสิทธิภาพของตัวระบบ”

สำหรับความคิดในเรื่องระบบบริการนั้น จะมีอยู่ 2 แนวคิด ควบคู่กันมาโดยตลอด ที่สำคัญทั้งสองแนวคิดนี้ พร้อมจะตีกลับไปมาได้เสมอ

แนวคิดแรก คือการสร้างระบบบริการสุขภาพให้เป็น “รัฐสวัสดิการ” ที่ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับ กับอีกแนวคิด คือแนวคิด “ตลาดเสรี” แต่มีการสังคมสงเคราะห์ร่วมอยู่ ซึ่งถือเป็นแนวคิดระบบใหญ่ของประเทศในขณะนี้

ถ้าแนวคิดของรัฐสวัสดิการอ่อนลงเมื่อไร กระแสหลักก็จะขึ้น

ทั้งหมดก็กลับสู่คำถามที่ว่าในเรื่องของ “ประสิทธิภาพ” กับ “คุณภาพ” เราควรให้น้ำหนักสิ่งใดก่อน โดยหลักการแล้วระบบสุขภาพที่ดีต้องมีทั้งสองอย่าง แต่ในประเทศไทยที่เป็นตลาดเสรีที่มีการแข่งขันนั้น ทิศทางเรื่อง “คุณภาพ” จะได้รับการดูแลอุ้มชูโดยตัวระบบอยู่แล้ว เพราะเป็นกระแสหลัก

แต่เรื่อง “ประสิทธิภาพ” จะค่อยๆ ต่ำลงถ้ารัฐบาลไม่ช่วยเหลือ ดังนั้นกลไกของสังคมที่ดี หรือนโยบายแห่งรัฐที่ดี น่าจะต้อง “ดูแลกระแสรองเป็นหลัก” เพื่อให้เกิดความสมดุล เป้าหมายคือต้องไปควบคู่กัน

“นโยบายรัฐต้องดูแลเรื่องประสิทธิภาพเป็นหลัก เป้าหมายไม่ใช่เพื่อให้ประสิทธิภาพแซงหน้าคุณภาพ แต่ต้องการให้ประสิทธิภาพเคียงคู่ขึ้นมา เพื่อเดินควบคู่กันไปได้”

ถ้ากระแสหลักขึ้นมา ประสิทธิภาพสูง จีดีพีเกิด แต่คนส่วนหนึ่งถูกทอดทิ้ง คนเหล่านั้นก็ถูกรองรับด้วยระบบสังคมสงเคราะห์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ช่องว่างทางสังคมก็ถ่างออก เมื่อมีช่องว่างทางสังคมมากๆ การเผชิญหน้าก็จะเกิดขึ้น สงครามก็จะเกิดขึ้น

‘สถานการณ์พิเศษ’ ปฏิรูประบบสุขภาพ

หากพิจารณาประวัติศาสตร์การปฏิรูประบบสุขภาพ พบว่าส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงใน “สถานการณ์พิเศษ” คำถามคือเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

1.การปฏิรูประบบสุขภาพ เมื่อเทียบกับการปฏิรูปด้านอื่นๆ จะพบว่าสถานการณ์ยังไม่วิกฤต ยังคอยได้ ซึ่งแตกต่างกับเรื่องเศรษฐกิจที่จะนำมาซึ่งการเผชิญหน้า ดังนั้นในรัฐบาลปกติจึงไม่ให้ความสำคัญ

2.แนวคิดการปฏิรูปด้านสุขภาพ “ฝืนแนวคิดระบบใหญ่” กล่าวคือ ระบบสุขภาพเป็นเรื่องของความมั่นคง เป็นเรื่องความเป็นธรรม คู่ขนานไปกับเรื่องประสิทธิภาพ แต่กระแสสังคมระบบใหญ่เป็นเรื่องของประสิทธิภาพเรื่องการหากำไรส่วนเกินต่างๆ ดังนั้นการปฏิรูประบบสุขภาพในภาวะปกติจึงเป็นการฝืนตลาด หรือฝืนระบบใหญ่ ที่สุดแล้วจึงไม่ได้รับการสนับสนุน

3.การปฏิรูประบบสุขภาพเป็นเรื่องระยะยาว จำเป็นต้องมีการวางแผน ขณะที่ในภาวะปกติสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือนโยบายที่ “เห็นผล”“สถานการณ์พิเศษ ซึ่งถูกนำโดยฝ่ายวิชาการจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ในที่นี้เป็นแค่การวางรากฐานเอาไว้ ส่วนรูปธรรมอื่นๆ อาจเกิดขึ้นในรัฐบาลปกติก็ได้” นพ.ประทีประบุ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อย่าให้ ระบบบริการ เข้าสู่กลไกตลาดเสรี

view