สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การลงทุนในพม่า : โอกาสและข้อควรพิจารณา

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์เปิดมุมมอง ดร.พรศักดิ์ ศุภธราธาร ทีม กรุ๊ป

พม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีประชากร 60 ล้านคน ขนาดพื้นที่ 676,557 ตารางกิโลเมตร (ไทยมีประชากร 67 ล้านคน พื้นที่ 513,120 ตารางกิโลเมตร) ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) 59,430 ล้านเหรียญสหรัฐ (ไทย 400,900 ล้านเหรียญสหรัฐ) และอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของ GDP 5.5%

มีอาณาเขตติดประเทศไทยมากที่สุดด้วยระยะทางถึง 2,401 กิโลเมตร เป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานจำนวนมากและราคาถูก ต่ำที่สุดในประเทศเพื่อนบ้าน CLMV และเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากที่สุดถึงกว่า 1 ล้านคน

ประชาชนชาวพม่านิยมใช้สินค้าไทย ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ (94.6%) มีวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตคล้ายคลึงกับคนไทย สถาบันอุดมศึกษาของไทยเป็นที่นิยมของชาวพม่าในการส่งลูกหลานมาเรียน (ปี 2555 มีนักศึกษาพม่า 805 คน คิดเป็นสัดส่วน 7.8% สูงสุดในอาเซียน) และด้วยศักยภาพด้านการแพทย์ และราคาที่ไม่สูงนัก ทำให้มีผู้ป่วยชาวพม่าเข้ามารักษาในโรงพยาบาลชั้นนำของไทยจำนวนมากนับเป็นลำดับต้น ๆ ของผู้ป่วยชาวต่างชาติ 

ภาพจาก : www.commons.wikimedia.org/wiki

ด้านการค้าก็มีลักษณะเกื้อกูลกัน โดยเป็นการค้าผ่านชายแดน อาทิ เกาะสอง-ระนอง เมียวดี-แม่สอด ท่าขี้เหล็ก-แม่สาย โดยในปี 2556 ไทยนำเข้าสินค้า 4,032.93 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ส่งออกไป 3,788.64 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีมูลค่าการค้าที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ มีอัตราการขยายตัวมากกว่า 20% ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา นับว่ามีการขยายตัวสูงสุดในกลุ่มประเทศ CLMV นอกจากนี้ พม่ายังเป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศใหญ่ ๆ ของโลก เช่น จีน (ประชากร 1,400 ล้านคน) อินเดีย (ประชากร 1,250 ล้านคน) และบังกลาเทศ (ประชากร 156 ล้านคน)

พม่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศไทยเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา การผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ การเปิดประเทศและให้สิทธิพิเศษประโยชน์ทางภาษี การส่งเสริมการลงทุนให้แก่นักลงทุนชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนในพม่าจึงนับเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนชาวไทย ที่จะนำประสบการณ์ที่ผ่านมา ประกอบกับปัจจัยดังกล่าวข้างต้นเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในประเทศพม่า

ธุรกิจ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและน่าสนใจเข้าไปลงทุนได้แก่อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรง งานในการผลิตและใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติสินค้าอุปโภคบริโภคเช่นสิ่งทอเสื้อ ผ้าสำเร็จรูปการประมง อาหารแปรรูป อุตสาหกรรมด้านพลังงาน เขื่อน ท่าเรือ อุตสาหกรรมด้านการเกษตร ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม โรงพยาบาล การดูแลสุขภาพและผลิตภัณฑ์ด้านความงาม การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการก่อสร้าง

พื้นที่ที่น่าสนใจเข้าไปลงทุน ได้แก่ ย่างกุ้ง เมืองเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด มีประชากร 6 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากที่สุด มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภครองรับดีกว่าพื้นที่อื่น เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (รวมทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา) เป็นแหล่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่หลากหลาย เช่น เสื้อผ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ อีกทั้งยังมีท่าเรือหลายแห่งสามารถใช้เป็นฐานในการส่งออก

มัณฑะเลย์ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจทางตอนเหนือ และเป็นเขตอุตสาหกรรมใหญ่อันดับ 2 เนย์ปิดอว์ เป็นเมืองหลวงของพม่า เป็นศูนย์กลางการบริหารและศูนย์กลางทางทหารของประเทศ ที่ตั้งของหน่วยงานรัฐบาล

พื้นที่เมียวดี-แม่สอด เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนที่สำคัญ เขตเศรษฐกิจพิเศษและโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นแหล่งลงทุนด้านพลังงาน อุตสาหกรรมหนัก-เบา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เมืองพุกาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

รัฐยะไข่และแถบชายฝั่งทะเลด้านใต้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและประมง พะสิน อิรวดี เป็นพื้นที่เกษตร เป็นแหล่งปลูกข้าวของประเทศ และ มาเกว แหล่งอัญมณีทับทิมที่สำคัญและมีชื่อของพม่า

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในพม่ามีข้อจำกัดหลายด้าน อย่างเช่น การลงทุนพัฒนาโครงการหรือก่อสร้างโรงงาน ที่ต้องคำนึงถึงความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา แหล่งน้ำ ระบบสื่อสาร และถนน ว่ามีรองรับเพียงพอหรือไม่ หรืออาจจะต้องลงทุนเพิ่ม เพราะแม้แต่ในเมืองย่างกุ้งที่มีความพร้อมที่ดีที่สุด ไฟฟ้าก็ยังดับอยู่บ่อยครั้ง จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีระบบไฟฟ้าสำรองเพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงัก

น้ำประปาก็มีเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เนย์ปิดอว์ พื้นที่อื่นส่วนใหญ่ยังใช้น้ำบาดาล แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ที่ต้องพัฒนาทักษะ จึงต้องจัดแผนรองรับในการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือ ข้อจำกัดอื่น ๆ ก็มี เช่น ที่ดินมีราคาแพง กฎหมายและกฎระเบียบยังไม่ชัดเจน และอยู่ระหว่างการปรับปรุง รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ยังไม่เข้าใจแนวทางปฏิบัติงานและระเบียบต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดความล่าช้า รวมถึงระบบการเงินและธนาคารที่ยังไม่สมบูรณ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีค่อนข้างสูงในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพายุไซโคลน และแผ่นดินไหว เนื่องจากพม่าได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และพายุไซโคลนจากอันดามันสู่อ่าวเบงกอล เข้าไปทางตะวันตกของประเทศ ตั้งแต่รัฐคะฉิ่นเขตชิน เขตสะกาย รัฐยะไข่ และเขตอิรวดี ประเทศพม่าโดยรวมมีปริมาณฝนที่สูงมากกว่าไทยถึง 2 เท่า และพายุลมแรง จึงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และแผ่นดินถล่ม อยู่บ่อยครั้งในเขตพื้นที่เชิงเขา ส่วนน้ำท่วมขังอยู่ในที่ราบลุ่ม รัฐอิรวดี (เมืองพะสิน) นอกจากนี้ยังมีพื้นที่แห้งแล้งอยู่ตอนกลางของประเทศ บริเวณรัฐมัณฑะเลย์ โดยมีฝนตกเฉลี่ยต่อปีต่ำกว่า 1,000 มม.

ในด้านแผ่นดินไหว พบว่ายังมีรอยเลื่อนสะกายที่พาดในแนวเหนือ-ใต้ ทำให้มีแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง โดยเมืองที่อยู่ในแนวนี้ ได้แก่ มัณฑะเลย์ เนย์ปิดอว์ พะโค และแนวพื้นที่ด้านตะวันออกของประเทศ เมืองย่างกุ้ง (30-50 กม.ไปทางตะวันตก)

เพื่อดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ รัฐบาลพม่าได้ปฏิรูปในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งการออก กฎหมายการลงทุน ในประเทศพม่า โดย คณะกรรมการการลงทุนพม่า หรือ MIC (Myanmar Investment Commission) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลพม่าในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ

คณะกรรมการ MIC ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการตอบรับหรือปฏิเสธโครงการลงทุนเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ ภายใต้กฎหมายการลงทุนต่างชาติภายใน 15 วัน นับจากวันที่ยื่นข้อเสนอ และหากรับข้อเสนอก็ต้องดำเนินการขอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อ "รับรอง" หรือ "ปฏิเสธ" โครงการลงทุนดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน หาก ได้รับอนุญาต ก็จะต้องไปดำเนินโครงการก่อสร้าง และเริ่มการผลิตตามระยะเวลาที่กำหนด

นอกจากนี้แล้วยังมีการ ยกเลิกข้อจำกัดการลงทุนขั้นต่ำ โดยให้นักลงทุนต่างชาติและท้องถิ่น กำหนดสัดส่วนการลงทุนโครงการได้เอง จากเดิมที่กำหนดขั้นต่ำของนักลงทุนต่างชาติไว้ร้อยละ 35 ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพิ่ม โดยขยายเวลายกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็น 5 ปีแรกของการดำเนินโครงการ ยกเว้นภาษีเงินได้จากการนำผลกำไรกลับไปลงทุนใหม่ภายใน 1 ปี ภาษีนำเข้าเครื่องจักร อะไหล่ และวัตถุดิบที่ยกเว้นในการก่อสร้างหรือขยายการลงทุน นอกจากนี้ยังผ่อนคลายข้อกำหนดการเช่าที่ดิน โดยขยายเวลาการเช่าเพิ่มเป็น 50 ปี และสามารถต่อสัญญาเช่าได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี

อย่างไรก็ตาม กฎหมายยังได้ให้อำนาจ MIC ในการตอบรับหรือปฏิเสธสถาบันการเงิน/ธนาคารพาณิชย์ ที่นักลงทุนต่างชาติใช้ทำธุรกรรมทางการเงิน การกำหนดพื้นที่การผลิต กำหนดบทลงโทษนักลงทุนต่างชาติที่ทำผิด/ฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ ข้อปฏิบัติต่าง ๆ ตั้งแต่การตักเตือน การระงับสิทธิประโยชน์การลงทุนชั่วคราว การขึ้นบัญชีดำ ตลอดจนประเภทต้องห้าม (21 สาขา) หรืออุตสาหกรรมที่สงวนไว้ไม่อนุญาตแก่นักลงทุนต่างชาติ (42 สาขา) อาทิ ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม สุขอนามัย ชาวพม่า รวมถึงมาตรฐานการใช้ดุลพินิจในการกำหนดสัดส่วนแรงงานพม่า เช่น 25% ในช่วง 2 ปีแรก 50% ในปีที่ 4 และ 75% ในปีที่ 6 พม่าจึงเป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจเข้าไปลงทุน สำหรับนักธุรกิจนักลงทุนชาวไทย ไม่ว่าจะเพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่งออก หรือขยายตลาด

การตัดสินใจเข้าไปลงทุนในพม่า สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคำนึงถึง นอกเหนือจากสาขาธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขัน พื้นที่ ข้อจำกัดต่าง ๆ ตามเงื่อนไขที่ MIC ได้กำหนดไว้แล้ว ก็คือ การหาผู้ร่วมทุนท้องถิ่นที่เหมาะสมและไว้ใจได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การลงทุนในพม่า โอกาส ข้อควรพิจารณา

view