สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักวิจัยTDRI ชี้ 6เดือนรัฐบาล บิ๊กตู่ เดินหน้าต้านทุจริตได้ไม่ถึงครึ่งทาง แนะเลิกกม.ล้าสมัย

จากประชาชาติธุรกิจ

วันนี้ (18 มี.ค. 2558) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) จัดงานเสวนาเรื่อง “เกาะติดมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐบาลประยุทธ์” ณ โรงแรม ดิ แอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก โดยมีผู้ร่วมบรรยายในงานเสวนาทั้งหมด 5 คน ได้แก่ นายบรรยง พงษ์พานิช , นายธิปไตร แสละวงศ์ , ดร.มานะ นิมิตมงคล , นายธนกร จ๋วงพานิช และ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

ในงานเสวนาครั้งนี้ วัตถุประสงค์ต้องการติดตามความคืบหน้าของมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในช่วง6เดือนที่ผ่านมาและจะเน้นติดตามมาตรการการต่อต้านคอร์รัปชั่นใน4ส่วนหลัก คือ มาตรการในการจำกัดและควบคุมอำนาจในการใช้ดุลพินิจของรัฐ  มาตรการกำกับและควบคุมการใช้เงินแผ่นดิน  มาตรการควบคุมการใช้อำนาจผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ และมาตรการเพิ่มต้นทุนและความเสี่ยงให้กับพฤติกรรมคอร์รัปชัน

@ชี้แก้คอร์รัปชั่นต้องมองให้ลึกมากกว่าเรื่องความดี-ความเลว

นายบรรยง พงษ์พานิช กรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ กล่าวบรรยายใน หัวข้อ "ภาพรวมของมาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน"  ว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นต้องทำเป็นกระบวนการไม่ใช่แค่ความตั้งใจของบุคคลใด บุคคลหนึ่งแม้ในประเทศไทยจะมีการประกาศต่อต้านคอร์รัปชั่นแต่ปัญหานี้ก็ยัง มีอย่างต่อเนื่องตลอดมาซึ่งจะมีเป็นการคอร์รัปชั่นโดยการโกงจากทางภาครัฐและ การโกงจากภาคประชาชนเช่นผู้ให้สินบนต้องการซื้อหาความสะดวกซื้อหาความ ยุติธรรมให้พ้นจากความผิด หรือซื้อหาความได้เปรียบในผลประโยชน์ที่จะได้รับของภาคเอกชน ซึ่งจะ มีแรงจูงใจที่ต่างกันไป ต้องมองให้ลึกซึ้งมากกว่าความดีความเลว  ความสำเร็จของการต่อต้านคอร์รัปชันไม่ได้มาจากความมุ่งมุ่นของคนใดคนหนึ่ง เท่านั้นเผด็จการจะมีอำนาจล้นฟ้าขนาดไหนและแม้ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้นำที่มี อำนาจเด็ดขาดก็ตาม เเต่ต้องขึ้นอยู่กับภาคสังคมว่าจะช่วยกันส่งเสริมและรู้เท่าทันกระบวนการคอร์รัปชันนั้นหรือไม่

นาย บรรยง กล่าวว่า การคอร์รัปชันเกิดจากอำนาจผูกขาดทั้งทางอำนาจการตลาดและอำนาจของรัฐทั้งหมด ซึ่งเป็นอำนาจที่อนุญาตให้รัฐใช้ดุลยพินิจกำหนดนโยบายและกฎหมายต่างๆและ เนื่องจากรัฐไทยโดยตลอด10ปีที่ผ่านมามีการเติบโตถึง3เท่าในส่วนของรัฐ วิสาหกิจและในส่วนภาครัฐก็มีจำนวนข้าราชการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากถ้าจะให้การ ต่อต้านคอร์รัปชันมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องเริ่มจากจัดระเบียบอำนาจรัฐก่อน ที่จะไปลดการคอร์รัปชัน

นายบรรยงได้ตั้งข้อสังเกต ในเรื่องการออกข้อกฎหมายภายใต้อำนาจดุลยพินิจของรัฐนั้นสามารถนำไปใช้เป็น”สินค้า”ได้ และได้เเนะนำเเนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันที่ใช้กันทั่วโลก3 เรื่อง ได้แก่ (1)ความโปร่งใส ในการเปิดเผยข้อมูลที่ต้องเปิดเผยแบบที่ได้มาตรฐานคนติดตามสามารถติดตามได้อย่างสะดวกอีกด้วย (2) ความเชี่ยวชาญ ต้องมีผู้ที่เชี่ยวชาญมากพอที่จะเข้าไปตรวจสอบ และมีการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมให้แก่ผู้ที่เข้ามาตรวจสอบทั้งจากหน่วยงาน ภาครัฐ และองค์กรอิสระ และ (3)การมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งประชาชนต้องตระหนักและเข้าใจถึงโทษของการ คอร์รัปชันว่ามีผลกระทบต่อตนเองอย่างไรจะนำไปสู่การต่อต้านคอร์รัปชั่น สำเร็จ

นายบรรยง ยังกล่าวอีกว่า การ คอร์รัปชันเป็นเรื่องใหญ่เป็นสิ่งที่กัดกร่อนประเทศ ทำให้ประเทศไทยติดอยู่ในกับดักเป็นภัยร้ายแรงต่อทางการเมือง ก็หวังว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธที่มีทั้งอำนาจและได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้าน คอร์รัปชันไปแล้วจะมีความจริงใจในการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจังต่อไป

@นักวิจัยเผย 6 เดือน รัฐบาล "ประยุทธ์" เดินหน้ามาตรการต้านคอร์รัปชั่นคืบหน้า 30%

จากนั้น นาย ธิปไตร แสละวงศ์  นักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ได้บรรยายในหัวข้อ การ “สำรวจความคืบหน้าการออกมาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน" โดยนายธิปไตร ได้ทำการสำรวจข้อมูลและติดตามความคืบหน้าของมาตรการในการต่อต้านการคอร์รัปชันของรัฐบาลพลเอกประยุทธ จากทางเว็บไซต์ เเละจากสำนักข่าวต่างๆ อิงการเข้าถึงข่าวสารในฐานะประชาชน   ตั้งแต่วันที่12 ก.ย. 2557 จนถึง 17 มี.ค. 2558 เป็นเวลาราว 6 เดือน พบว่า กระบวนการการต่อต้านคอร์รัปชันจะมีข้อเสนอผ่าน3 ช่องทาง คือ (1)ครม./คสช.(2.)สปช. (3)กมธ ร่าง รธน.

ซึ่งความความคืบหน้าในแต่ละด้าน โดยภาพรวมแล้ว ยังมีความคืบหน้าไม่ถึงครึ่งทาง นับโดยเฉลี่ยได้ประมาณ 30เปอร์เซ็นต์  แบ่งเป็นด้านต่างๆ ได้ ดังนี้ความคืบหน้าในการควบคุมดุลยพินิจ 33% การควบคุมการใช้เงินแผ่นดิน 38% การควบคุมอำนาจผูกขาด25% และเพิ่มต้นทุนและความเสี่ยงต่อพฤติกรรมคอร์รัปชั่น 35 %  ตามลำดับ

โดยนาย ธิปไตร ได้บรรยายในหัวข้อ “การเพิ่มต้นทุนและความเสี่ยงให้กับพฤติกรรมคอร์รัปชัน” เพิ่มเติมอีกว่า ในเรื่องความเป็นอิสระขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันนั้น ในประเทศไทยมีหลายองค์กรเช่น ปปช. สตง. ดีเอสไอ เป็นต้น พบว่า องค์กรเหล่านี้ มีงบประมาณและบุคลากรไม่เพียงพอในการตรวจสอบการคอร์รัปชัน เเม้จะมีการป้องกันการเเทรกเเซงทางการเมืองได้เข้มแข็งดี เเต่ในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นมีน้อยมาก เพราะไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลเเก่ภาคประชาชน

นายธิปไตร เสนอแนะให้องค์กรอิสระเหล่านี้ เปิดเผยข้อมูลแก่กลุ่มเอ็นจีโอและภาคประชาชนให้นำไปใช้ได้ เช่น เปิดเผยในระบบออนไลน์  ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ของไทยนั้น โดยรวมในทางข้อมูลได้มาตรฐานสากลแต่บังคับใช้ได้จริงได้น้อย เป็นความอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมายในเชิงสถาบัน  ส่วนการแทรกแซงสื่อนั้นไม่ใช่การใช้อำนาจรัฐแบบสมัยก่อนแล้วแต่จะแทรกแซงทางอ้อมที่มากับการใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์

@เผยรัฐบาลที่ผ่านมา 6 รัฐบาลในรอบ 10 ปี มีนโยบายแก้คอร์รัปชั่นแบบ "นามธรรม" ปฏิบัติไม่ได้จริง

ดร.มานะ  นิมิตมงคล  เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) บรรยายในหัวข้อ “การควบคุมอำนาจใช้ดุลยพินิจของรัฐ” ว่า ในทุกช่วงรัฐบาลที่ผ่านมาการต่อต้านการคอร์รัปชันนั้นไม่มีแนวทางและการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน 10 ปีที่ผ่านมา มีสถานการณ์การคอร์รัปชันในไทยเลวร้ายมาโดยตลอดซึ่งเมื่อต้นปีที่แล้วมีผลวิจัยจากรัฐสภาฉบับหนึ่ง พบว่า รัฐบาลที่ผ่านมา ในรอบ10ปี จำนวน 6รัฐบาลนั้น  ล้วนแล้วแต่มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่เป็น “นามธรรม” ซึ่งยากแก่การนำไปปฏิบัติจริงได้ อีกทั้งยังขาดความจริงจังในการต่อต้านคอร์รัปชันที่แท้จริงเป็นการใช้อำนาจในการบริหาร เพื่อขยายบทบาทของรัฐ โดยอ้างว่าเป็นการแก้ปัญหา 

การใช้อำนาจดุลยพินิจของรัฐในการคอร์รัปชัน ในด้านการวางแผนเชิงนโยบายและการจัดซื้อจัดจ้างผ่านการออก มติ ครม. ให้หลุดออกไปจากระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างปกติและยังมีข้อยกเว้นในการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว ซึ่งมีการดึงงบประมาณและผลประโยชน์ออกจากรัฐและดึงงบประมาณออกจากประชาชนเช่น การ รีดไถภายใต้กฎของคนไทยเรื่องการติดสินบนและการเป็นหนี้บุญคุณที่ได้ช่วยเหลือ

@เสนอยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย เอื้อเปิดช่องให้ทุจริตได้ง่าย

เหตุ ที่การจัดซื้อจัดจ้างของทางภาครัฐเป็นช่องทางการคอร์รัปชั่นได้คือกระบวนการ การจัดซื้อจัดจ้างเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดผู้ค้าต้องแย่งชิง เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบนั้นจึงต้องมีการโกงกิน ต้องชื่นชมรัฐบาลชุด นี้ที่มีการออกมาตรการผลักดัน“พรบ.อำนวยความสะดวก”ซึ่งเป็นหนึ่งใน กฎหมาย8ฉบับแรกเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนใน การติดต่อราชการกับภาครัฐซึ่งจะเป็นการลดการให้สินบนต่อเจ้าหน้าที่ และเป็นการปฎิรูปการให้บริการแก่ประชาชนครั้งใหญ่ซึ่งจะอาจจะต้องใช้เวลานานและเชื่อว่าคนไทยอดทนรอได้

ดร.มานะ เสนอเเนะให้รัฐบาล ยกเลิกการใช้กฎหมายที่หมดความจำเป็นและซ้ำซ้อนหรือล้าสมัยไปแล้ว ให้พิจารณายกเลิกไปเลยโดยร่วมพิจารณาโดยการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

นายธนกร จ๋วงพานิช อนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติได้บรรยายในหัวข้อ “การควบคุมการใช้เงินแผ่นดิน” ว่า การควบคุมทางการเงินก็เป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมการใช้ดุลยพินิจของรัฐ ซึ่งจะเสนอให้นำเอา "ระบบการโปร่งใส" ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้านรัฐบาลมีความผลักดัน 2 เรื่องคือ (1)การนำเอาองค์การระหว่างประเทศมาพัฒนาความโปร่งใส่ในภาคก่อสร้าง ซึ่งเป็นองค์กรจากทั้ง 3 ภาคส่วน เพื่อมาทำหน้าที่เพื่อตรวจสอบการทุจริตในโครงการใหญ่ๆ และมีการเปิดเผยข้อมูลตามหลักสากล ทำหน้าที่แปรรูปข้อมูลสู่ประชาชนให้เข้าใจ  (2)ข้อตกลงคุณธรรม เวลาที่มีการจัดซื้อจัดจ้างทุกประเภทเช่นการจัดซื้อรถเมล์ การต่อขยายรถไฟฟ้า เป็นต้น จะต้องมีการทำสัญญากันว่า คนซื้อและคนขายจะไม่มีการให้เงินสินบนในการลงทุนนั้นๆโดยมีกลุ่มที่มีความ เป็นกลางเข้ามาตรวจสอบว่าเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่แล้วส่งต่อให้ องค์การอิสระตรวจสอบต่อไปซึ่งเป็นการฝากความหวังไว้ว่าในกรณีที่หน่วยงานไม่ ปฎิบัติหน้าที่แต่ถ้าประชาชนมีข้อมูลอยู่ในมือแล้วนั้นจะทำให้ประชาชนสามารถ จะสามรถเรียกร้องและตรวจสอบภาครัฐได้

@ชี้โครงสร้างภาคธุรกิจไทยกระจุกตัว เกิดระบบเส้นสาย-16 ปี ไม่เคยดำเนินคดีผู้ประกอบการรายใดได้

ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวบรรยายในหัวข้อ “การควบคุมอำนาจผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ” ว่า ยิ่งมีกำไรส่วนเกินในภาครัฐมากเท่าไหร่ยิ่งมีการคอร์รัปชันมากขึ้นเท่านั้น ประเทศไทยมีการจะกำไรส่วนเกินจากหลายด้านเช่นการสัมปทานการออกใบอนุญาตเป็น ต้นจะต้องออกกฎหมายการผูกขาดทางการค้าซึ่งไทยเองก็มีมาตั้งแต่ปี2542แล้วแต่ ด้วยโครงสร้างภาคธุรกิจของประเทศไทยในปัจจุบันมีการกระจุกตัวมากขึ้นเรียก ได้ว่าบริษัทใหญ่ก็ยิ่งใหญ่ขึ้น และบริษัทเล็กก็ยังเล็กอยู่อาจแสดงให้เห็นว่าเป็นไปตามทฤษฎี ปลาใหญ่กินปลาเล็กหรือไม่  ซึ่งปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทยล้วนแล้วแต่เป็นรัฐวิสาหกิจแทบทั้งสิ้นต่างจากเกาหลีใต้ที่เป็นเอกชนทั้งหมด

อีกทั้ง บริษัทรายใหญ่ระดับท็อปยังเป็นบริษัทเครือเสียส่วนมากทำให้เกิดระบบเส้นสาย แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการออกกฏหมายป้องกันการผูกขาดทางการค้าขึ้นมา แต่ไม่มีการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการรายใดสักรายเดียวใน 16 ปีมานี้ และยังมีกฎหมายที่ยกเว้นให้แก่รัฐวิสาหกิจอีกด้วยจึงอยากเสนอให้ยกเลิกกฎหมายยกเว้นนี้เสีย

@ถามทีดีอาร์ไอ-องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นเคยตั้งคำถามกับรัฐบาลประยุทธ์หรือไม่

ในช่วงสุดท้ายของการเสวนา ซึ่งมีการเปิดให้ผู้ร่วมเสวนาซักถาม-ตอบ มีผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่งร่วมเเสดงความคิดเห็นว่า ทางทีดีอาร์ไอเเละองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น มีการตั้งคำถามกับการคอร์รัปชันของรัฐบาลพลเอกประยุทธเองบ้างหรือไม่ เเละกรณีที่ สปช.เเต่งตั้งเครือญาติของตนเองมาดำรงตำเเหน่งด้วยนั้น ถือเป็นการคอร์รัปชันอย่างหนึ่งหรือไม่ จึงอยากให้ทางองค์กรอิสระช่วยกันติดตามในประเด็นเหล่านี้ด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นักวิจัยTDRI  6เดือนรัฐบาล บิ๊กตู่ เดินหน้า ต้านทุจริต ไม่ถึงครึ่งทาง แนะเลิกกม.ล้าสมัย

view