สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สะพัด แกรมมี่ บีบร้านอาหาร-ร้านค้าจ่ายลิขสิทธิ์เปิดเอ็ม.วี.จากยูทิวบ์ - หยิบคำพิพากษาตอกกลับยกฟ้องมาแล้ว

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - วิจารณ์สนั่น "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" เข้มเปิดเอ็ม.วี.เพลงจากยูทิวบ์ในร้านอาหาร ผับ บาร์ คาราโอเกะ แม้แต่ร้านค้าทั่วไป ต้องขอลิขสิทธิ์ไม่ให้ถูกจับ พบอัตราค่าลิขสิทธิ์สุดโหด เหมาจ่ายปีละ 8 พัน สูงสุด 1.65 หมื่น ด้านทนายความยกคำพิพากษาศาลฎีการะยอง ระบุพิพากษายกฟ้อง เพราะไม่ได้เก็บค่าเปิดเพลงจากลูกค้า และไม่ได้ชาร์จรวมไปกับอาหารและเครื่องดื่ม
       
       วันนี้ (18 มี.ค.) หลังจากที่ค่ายเพลงจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ขึ้นข้อความท้ายมิวสิควีดีโอแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือร้านค้าทั่วไป ว่า "หากมีการเปิดเพลงในสถานประกอบการ ถือว่าท่านกำลังเผยแพร่ลิขสิทธิ์เพลง จำเป็นต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีภายหลัง เปิดเพลงให้ถูกต้อง ถูกใจ ไม่ถูกจับ" พร้อมระบุหมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อสอบถามเรื่องลิขสิทธิ์เพลง โดยได้เริ่มขึ้นข้อความกับมิวสิควีดีโอเพลง "ทำไมต้องรัก" ซึ่งเป็นเพลงประกอบละครเรื่อง น้ำตากามเทพ ขับร้องโดยศิลปินดูโอ นิว จิ๋ว เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการแสวงหาผลกำไรอย่างกว้าง ขวาง
       
       ทั้งนี้ ในโซเชียลมีเดียได้มีการส่งต่อบทความในหัวข้อ "เปิดฎีกา ตอกหน้าค่ายเพลง เจ้าของร้านอาหาร ร้านกาแฟ เปิดเพลงผ่าน Youtube ไม่ผิด" โดยเว็บไซต์ "ตั๋วทนาย.com" ซึ่งเขียนโดย นายกฤษดา ดวงชอุ่ม ทนายความ ระบุว่า จากกรณีที่บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงรายใหญ่ของไทย ขึ้นข้อความหลังคลิปมิวสิคโวดิโอที่เพิ่งอัพโหลดใหม่ แจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือร้านค้าทั่วไป ว่าการเปิดเพลงที่เป็นลิขสิทธิ์ของแกรมมี่ให้ลูกค้าฟังผ่าน Youtube ก็ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากต้องการเปิดแบบถูกต้อง จะต้องติดต่อขอสิทธิ์กับทางบริษัท ซึ่งโดยทั่วไปการเปิดผ่าน Youtube จะอนุญาตให้รับชมได้เฉพาะเป็นการส่วนตัวหรือในที่อยู่อาศัยเท่านั้น
       
       กรณีนี้เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องซึ่งพอจะเทียบเคียงได้ กล่าวคือ
       
       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553
       พนักงานอัยการจังหวัดระยอง
       โจทก์
       
       นางสุรินทร์ XXX
       จำเลย
       
       กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
       
       ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
       
       พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31, 70 วรรคสอง
       
       พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธี พิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26

       
       โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่ม จำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง “กำลังใจที่เธอไม่รู้” อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยฟัง ไม่ปรากฎว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าฟังเพลงโดยการ เรียกเก็บค่าตอบแทนหรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่าง ใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าว ซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดี ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
       
       ________________________________
       
       โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 29, 30, 31, 69, 70, 75, 76 ริบโทรทัศน์สี เครื่องเล่นซีดี ดีวีดี และให้แผ่นซีดีเพลงจำนวน 19 แผ่น ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ของกลางตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่ง เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
       
       จำเลยให้การรับสารภาพ
       
       ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนให้แก่เจ้าของ
       
       โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
       
       ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน...” ความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน “เพื่อหากำไร” ซึ่งหมายความว่า กำไรนั้นหากจำเลยได้มาหรือจะได้มาจะต้องเกิดจากการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่า จำเลย ประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่ม จำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง “กำลังใจที่เธอไม่รู้” อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยฟัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลง โดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลง หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อ หากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธี พิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
       
       พิพากษายืน
       
       สาระสำคัญในคำวินิจฉัยคือ
       
       กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร คือกำไรโดยตรงไม่ได้มาจากการเปิดเพลง แต่มาจากอาหาร
       
       ซึ่งคีย์เวิร์ดให้จำง่ายๆ นะครับ ”ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อ หากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลง โดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลง หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด”
       
       ซึ่งทางเว็บมองว่าการกระทำดังกล่าวมิได้ทำเพื่อการหากำไรจากงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์จึงไม่เข้าข่ายความผิดอยู่ดี

       เปิดราคาลิขสิทธิ์เพลงแกรมมี่ "ผับ-ร้านอาหาร" จ่ายอ่วม
       
       จากการตรวจสอบข้อมูลการจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงของค่ายเพลงจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ พบว่าได้มอบหมายให้บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงของนักแต่งเพลงในสังกัด และบริษัทค่ายเพลงในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ รวมทั้งค่ายเพลงและครูเพลงที่เป็นสมาชิก จำนวน 24,074 เพลง
       
       โดยพบว่า อัตราการจัดเก็บค่าเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงคาราโอเกะ ประเภทตู้หยอดเหรียญคาราโอเกะ บูทคาราโอเกะ ร้านคอมพิวเตอร์คาราโอเกะ (มิดิไฟล์) อัตราค่าจัดเก็บต่อตู้ปกติ 600 บาทต่อปี หากเหมาจ่าย 6 เดือน ลด 3% และ 12 เดือน ลด 7% และในรายที่มีตู้หยอดเหรียญคาราโอเกะจำนวนมาก มีส่วนลดระยะยาวเมื่อชำระแบบราย 3 เดือน
       
       ประเภทร้านคาราโอเกะ (คอนโทรลรูม) แบบจดไม่ครบห้อง ไม่มีส่วนลดจำนวนจอ อัตราค่าจัดเก็บ 700 บาทต่อเดือน หากเหมาจ่าย 6 เดือน ลด 3% และ 12 เดือน ลด 7% โดยต้องชำระค่าแรกเข้าจอละ 500 บาท 5 จอ 1,500 บาท 10 จอ 3,000 บาท และ 11 จอขึ้นไป 4,000 บาท โดยจะแถมแผ่นวีซีดีคาราโอเกะให้ด้วย ส่วนค่าแรกเข้า ประเภทร้านคอมพิวเตอร์คาราโอเกะ (มิดิไฟล์) ราคา 6,900 บาท
       
       ส่วนอัตราค่าเผยแพร่ลิขสิทธิ์เพลงออดิโอ (Audio) ประเภทธุรกิจโรงแรม (Hotel) เรียกเก็บ 40% ของจำนวนห้องทั้งหมด โดยคิดอัตราค่าจัดเก็บ 80 บาทต่อห้อง ส่วนห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่น้อยกว่า 5,000 ตารางเมตร คิดอัตราเหมาจ่าย 25,000 บาทต่อปี ส่วนพื้นที่ตั้งแต่ 5,001 คิดเพิ่ม 2 บาทต่อตารางเมตร ทุกชั้นทุกแผนก ยกเว้นแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าและร้านค้าเช่า
       
       ส่วนสายการบิน นับจากการเทคออฟในแต่ละครั้ง อัตราค่าจัดเก็บ 600 บาทต่อปี โดยดูจากตารางการบินในแต่ละปี, ศูนย์จำหน่ายเครื่องใช้ ไฟฟ้าและ เครื่องเสียง เรียกเก็บต่อสาขา 3,000 บาทต่อปี ตู้เพลงหยอดเหรียญ เรียกเก็บต่อตู้ 600 บาทต่อเดือน, ศูนย์การขายและบริการ เรียกเก็บตามจำนวนสาขา อัตราค่าจัดเก็บ 3,500 บาทต่อปีต่อสาขา
       
       ร้านอาหาร คิดต่อสาขา จำนวนที่นั่ง 1- 80 ที่นั่ง อัตราค่าจัดเก็บเหมาจ่าย 8,000 บาทต่อปี, 81- 150 ที่นั่ง อัตราค่าจัดเก็บเหมาจ่าย 9,000 บาทต่อปี, 151- 250 ที่นั่ง อัตราค่าจัดเก็บเหมาจ่าย 10,500 บาทต่อปี, 251- 400 ที่นั่ง อัตราค่าจัดเก็บเหมาจ่าย 12,500 บาทต่อปี และเกินกว่า 400 ที่นั่งขึ้นไป อัตราค่าจัดเก็บเหมาจ่าย 16,500 บาทต่อปี หากมีตู้เพลงหยอดเหรียญจะคิดเพิ่มเป็นค่าทำซ้ำ
       
       การจัดนิทรรศการ และเทศกาล จัดงานตั้งแต่ 1-15 วัน อัตราค่าจัดเก็บเหมาจ่าย 3,000 บาทต่อสถานที่ หากจัดงานเกิน 15 วันขึ้นไป คิดเพิ่ม 200 บาทต่อวันต่อสถานที่ และสถานโบว์ลิ่ง เรียกเก็บต่อเลน (ราง) อัตราค่าจัดเก็บ 740 บาทต่อปีต่อเลน (ราง)
       
       ส่วนกิจการโทรทัศน์แบบตอบรับเป็นสมาชิก (เคเบิลทีวี) ปริมาณการใช้เพลงต่อช่องต่อวันไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง ราคา 40 บาท น้อยกว่า 12 ชั่วโมง ราคา 30 บาทต่อช่องต่อวัน หากรับคอนเทนต์จากฮาร์ดดิสก์ สมาชิกไม่เกิน 300 ราย เดือนละ 2,400 บาท และสมาชิก 301 รายขึ้นไป เดือนละ 3,000 บาท
       
       สำหรับอัตราค่าเผยแพร่ลิขสิทธิ์เพลงวิทยุกระจายเสียง การจัดเก็บจะจัดเก็บจากรายการวิทยุ ในอัตรา 7.5% จากรายได้รวมค่าโฆษณาก่อนหักค่าใช้จ่ายทั้งปี โดยมีส่วนลดตามความเหมาะสม, ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ จัดเก็บในอัตราเพลงละ 150 บาท ต่อปก (ชื่อหนังสือ) ต่อการจัดพิมพ์หนึ่งครั้ง เป็นต้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สะพัด แกรมมี่ บีบร้านอาหาร ร้านค้า จ่ายลิขสิทธิ์ เปิดเอ็ม.วี. ยูทิวบ์ หยิบคำพิพากษา ตอกกลับ ยกฟ้องมาแล้ว

view