สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

NGO สับเละแผน PDP สำรองไฟล้น ใครรับผิดชอบ

จากประชาชาติธุรกิจ

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้จัดสัมมนารับฟังความเห็น "แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่" หรือ Power Development Plan 2558-2579 หรือ PDP จากประชาชนทั่วไปเป็นรอบสุดท้าย ก่อนที่จะนำเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในเร็ว ๆ นี้



กำลังผลิตใหม่ 57,467 MW

โดย หัวใจสำคัญของแผน PDP ฉบับใหม่ก็คือ การกระจายเชื้อเพลิง ด้วยการ "ลด" การพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลัก (สัดส่วนสูงถึง 65%) อยู่ในปัจจุบัน มาเป็นการเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหิน การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

จากสมมติฐานในการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า 3 ประการคือ

1)พิจารณาถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐและนโยบายเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนทางราง 2)ความต้องการใช้ไฟฟ้ากรณีปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) เฉลี่ยที่ร้อยละ 3.94 ต่อปี ในขณะที่แผนเดิมเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.41 และ 3)การเพิ่มขึ้นของประชากร การเติบโตของชุมชนเมือง (Urbanization) และจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้ารายสาขาเศรษฐกิจ (Sector)

จากสมมุติฐานข้างต้น สนพ.ได้จัดทำ ภาพรวมกำลังผลิตไฟฟ้า (กรณีฐาน) จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามาในระบบทั้งสิ้น 57,467 เมกะวัตต์ (MW) เมื่อรวมกับกำลังผลิตติดตั้งรวมในปัจจุบันที่ 37,612 MW ทำให้ กำลังผลิตติดตั้งในปี 2579 อยู่ที่ 70,410 MW โดยกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่รวม 57,467 MW จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วง

คือ 1)กำลังผลิตใหม่ช่วงปี 2558-2579 ที่มีสัญญาผูกพันแล้วรวม 26,754 MW กับ 2)กำลังผลิตใหม่ช่วงปี 2569-2579 รวม 30,713 MW ที่มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด-ก๊าซ-นิวเคลียร์-กังหันแก๊ส-โคเจเนอเร ชั่น-พลังงานหมุนเวียน-พลังน้ำสูบกลับและการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ

NGO สับเละสำรองไฟสูงเกินไป

ในช่วงของการแลกเปลี่ยนความเห็นนั้นนั้นปรากฏ ตัวแทนจากภาคประชาชน องค์กรเอกชน (NGO) และภาคอุตสาหกรรม ให้ตั้งคำถามกลับไปยัง สนพ.ในทิศทางเดียวกันว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin) ที่สูงมากที่ระดับร้อยละ 30 นั้น

"ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มกำลังผลิตใหม่ (โรงไฟฟ้า) หรือไม่" และต้องการให้กระทรวงพลังงานทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในกรณีที่ต้องมีการปรับเลื่อนการเข้าระบบของโรงไฟฟ้า และทำอย่างไรให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับผลกระทบจากสำรองที่สูงมากมายให้น้อยที่สุด

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า กระทรวงพลังงานควรกำหนดปริมาณสำรองไฟฟ้าให้ชัดเจนจากเดิมระบุว่า "ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15"

คำว่า "ไม่ต่ำกว่า" จะต้องกำหนดลงไปเลยว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงสุดได้เท่าไหร่ ที่สำคัญคือ กำลังผลิตในส่วนของกลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลอปเมนท์ ผู้ชนะการประมูลโรงไฟฟ้า IPP รอบล่าสุดรวม 5,000 MW ที่ระบุ จะเข้าระบบตั้งแต่ปี 2564-2566 นั้น หากต้องการแก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นเกินในแผน PDP จะ "ถอด" โรงไฟฟ้ากัลฟ์ออกไปได้หรือไม่ ?

"หาก กพช.อนุมัติแผน PDP โดยไม่มีการแก้ไขก็เท่ากับว่า สนพ.กำลังจะเป็นตรายาง ให้โรงไฟฟ้ากัลฟ์ที่ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซไปโดยปริยาย ทั้ง ๆ ที่วัตถุประสงค์ของแผน PDP ก็บอกอยู่แล้วว่า ต้องการลดการใช้โรงไฟฟ้าจากก๊าซลง ส่วนการใช้ตัวเลขฐานพยากรณ์ GDP ที่ 3.94% มันสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันหรือไม่ เพราะในปี 2556 และ 2557 GDP ของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 1 เท่านั้น" นายอิฐบูรณ์กล่าว

ในขณะที่ นางบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เห็นพ้องว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ปรากฏอยู่ในแผน PDP ฉบับดังกล่าว สูงเกินความจำเป็นจากค่ามาตรฐานที่ร้อยละ 15 และ "ใคร" จะเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนจากสำรองที่ล้นเกินแบบนี้

ที่ผ่านมาประชาชนต้องรับภาระส่วนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1 บาท/หน่วย นอกจากนี้การระบุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไว้ในช่วงท้าย ๆ ของแผน PDP ก็ไม่เคยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งควรให้ประชาชนร่วมแสดงความเห็นด้วย

"เรากลัวเรื่องความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศมาจากข้อมูลปัจจุบันพบว่ากฟผ.มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 43.28% แต่กัลฟ์มีกำลังผลิตรวมกันถึง 44% แซงหน้า กฟผ.ไปแล้ว โดยกำลังผลิตที่เหมาะสมของ กฟผ.ควรจะต้องไม่น้อยกว่า 50%" นางบุญยืนกล่าว

เอกชนจี้แก้ปัญหาสายส่ง

ด้านมุมมองจาก ผู้ผลิตไฟฟ้า นายบุญชัย ถิราติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี้ กล่าวว่า แผน PDP ฉบับนี้ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะนำเสนอต่อ กพช.ใน 8 ประเด็นคือ 1)แผนไม่ครอบคลุมด้านสายส่ง ที่สำคัญปัจจุบันระบบสายส่งได้เป็นปัญหาใหญ่ของระบบผลิตไฟฟ้าเพราะสายส่งมี ข้อจำกัดที่ไม่สามารถรับกำลังผลิตใหม่ได้โดยเฉพาะพลังงานทดแทน ต้องแก้ปัญหาให้ชัดเจน 2)แผนอนุรักษ์พลังงานที่ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 100

ในขณะที่แผน PDP ฉบับเดิมตั้งเป้าหมายไว้แค่ร้อยละ 20 แต่ไม่เคยมีบทสรุปว่าทำได้จริงหรือไม่ 3)ไม่ควรจำกัดการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไว้ที่ ประเภทโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพราะ บางพื้นที่อาจมีศักยภาพสูงกว่าที่กำหนด 4)สัดส่วนของปริมาณสำรองไฟฟ้าควรฟังความเห็นจากผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยว่า ระดับที่เหมาะสมของประเทศควรเป็นอย่างไร

5)โรงไฟฟ้ากังหันแก๊สที่ระบุไว้ในแผน PDP นั้นถือเป็นเทคโนโลยีที่ประสิทธิภาพต่ำและมีต้นทุนสูง หากต้องการคงสัดส่วนดังกล่าวไว้ในแผนเพื่อรักษาความมั่นคงในช่วงที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ควรใช้โรงไฟฟ้าอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 6)การกำหนดสัดส่วนรับซื้อจากเพื่อนบ้านไว้ที่ 700 MW/ปี ต้องชัดเจนว่า เป็นโครงการใด และ 7)กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่ระบุว่า เป็นของ กฟผ.และโรงไฟฟ้าเอกชนนั้น หากต้องการให้ธุรกิจไฟฟ้าแข่งขันอย่างเสรี ควรนำมาเปิดประมูลเพื่อให้ได้ค่าไฟฟ้าถูกที่สุด

ขณะที่ นายศุภกิจ นันทวรการ นักวิจัยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ นำเสนอว่า ภาครัฐควรใช้การเปิดรับฟังความเห็นแผน PDP นี้เพื่อ "ลดความขัดแย้ง" ของประชาชนในพื้นที่ที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยเฉพาะ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่กระบี่ และที่ อ.เทพา จ.สงขลา แต่เมื่อพิจารณาจากปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูง

ในขณะนี้ควร "ยกเลิก" โครงการไปก่อนได้หรือไม่ และหากยกเลิกได้จริง ปริมาณสำรองยังอยู่ที่ร้อยละ 20-33 ซึ่งยังถือว่าปริมาณสำรองยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก

นอกจากนี้แผนอนุรักษ์พลังงานที่มีต้นทุนถูกที่สุดเพียง0.5 บาท/หน่วย หากไม่สามารถทำได้จริงเท่ากับว่า ค่าไฟฟ้าจะมีราคาแพงขึ้นประมาณ 100,000 ล้านบาท "ห่วงว่าภาครัฐจะไม่จริงจังในการทำแผน"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : NGO สับเละ แผน PDP สำรองไฟล้น ใครรับผิดชอบ

view