สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชี้ตุลาการต้องปราศจากอคติ ไม่สยบยอมทุนนิยม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-นักวิชาการ ชี้ ตุลาการต้องปราศจากอคติ ไม่สยบยอม ทุนนิยม-อำนาจรัฐแทรกแซง กระทบประชาชน.-ประเทศชาติ

ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ชั้น 7 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 3 มิ.ย.58 เวลา 09.00 น. นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรมนูญ , นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายวินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( ประวัติศาสตร์) ร่วมอภิปรายในนิติเสวนา หัวข้อ “อิสระตุลาการ : ประวัติศาสตร์ศาลยุติธรรม”

โดยนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้กล่าวเปิดงานว่า หลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่าง ยิ่ง ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจากสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันที่เป็นช่วงเวลาของการปฏิรูปการเมือง มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีแนวคิดจะครบคุมการตรวจสอบการทำงานของผู้ พิพากษาและศาลยุติธรรมให้มากขึ้น เช่น การจัดมีตัวแทนฝ่ายการเมืองมาเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แนวทางดังกล่าวนั้น อาจกระทบกระเทือนต่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและจากข้อเท็จจริงในประวัติ ศาสตร์ที่มีความพยายามแทรกแซงอิสระของตุลาการ ดังนั้นสำนักงานศาลยุติธรรมโดยสถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญปัญหาดังกล่าวและได้จัดนิติเสวนาดังนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นทางวิชาการของผู้ที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวอภิปรายถึงความเป็นอิสระตุลาการว่า หากตุลาการไม่มีความเป็นอิสระแล้ว ผลกระทบที่เกิดไม่ใช่กับตัวตุลาการ ซึ่งหากตุลาการสยบยอมต่ออำนาจใดๆ ที่มาแทรกแซง ไม่ว่าจะอำนาจทุน อำนาจรัฐ ผู้ที่ได้ความเสียหายคือ ประชาชน 64 ล้านคน และประเทศชาติ และจะทำให้ต่างชาติมองว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ใช้ไม่ได้ ในอดีตมีทุนนิยม นำเงิน 2 ล้าน มาคุกคามเจ้าหน้าที่ศาลฎีกา ซึ่งครั้งนั้นประธานศาลฎีกาก็ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง จนนำมาสู่การไต่สวนคดีกระทำละเมิดอำนาจที่มีลงโทษจำคุกไป แต่ผลสุดท้ายผู้นั้นกลับได้มีชื่อเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ก็ไม่ทราบเป็นไปได้อย่างไร ซึ่งเราหากยอมรับอำนาจเงิน หรืออำนาจรัฐที่มาแทรกแซงประเทศชาติจะเดินสู่หายนะ ขณะที่ความเป็นอิสระของตุลาการไม่ใช่เพียงอิสระจากการแทรกแซงอำนาจภายนอก แต่ความเป็นอิสระของตุลาการจะต้องปราศจากอคติ 4 ด้วย

ด้านนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อำนาจตุลาการ ที่มีอำนาจนั้น ไม่ใช่เพราะความเป็นตุลาการ แต่อำนาจนั้นมาจากการแสดงออกโดยปราศจากอคติซึ่งเป็นอำนาจที่มีการถ่ายทอดมา จากพระมหากษัตริย์ ที่ตุลาการมีหน้าที่ตัดสินคดีอย่างเที่ยงตรง ปราศจากอคติ และกระทำโดยอิสระ แต่ไม่ใช่อำเภอใจ หากความเป็นอิสระสิ้นสุดเมื่อใด ความเป็นตุลาการก็ไม่มีอยู่ ซึ่งในประวัติศาสตร์เมื่อครั้งยุคล่าอาณานิคม ต่างชาติพยายามที่จะคุกคามราชอาณาจักรโดยอ้างถึงความไม่ชอบธรรมการใช้อำนาจ ทางกฎหมายอย่างอิสระ เที่ยงธรรม ซึ่งประเทศไทยเราได้มีการปรับหลักการใช้กฎหมายจนเป็นที่ยอมรับในเรื่องของ RULE OF LAW ที่ทุกคนจะเสมอกันต่อหน้ากฎหมาย ดังนั้นความมีอยู่ของตุลาการ จะต้องไม่ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน เมื่อมีการแทรกแซงใดๆ เพราะเหมือนไม่มีตัวตนและจะทำให้ไม่สามารถตัดสินใดๆ ได้

ด้านนายวินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ประวัติศาสตร์) กล่าวว่า ค่านิยมสังคมไทยกำลังเปลี่ยนไป คือ การนับถือกฎหมายลดลง โดยมีการแทรกแซงทั้งจากทุนนิยม และอำนาจระดับสูง ที่จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม เช่น ในอดีตที่มีผู้พยายามนำถุงขนมเงินล้าน คุกคามศาล ดังนั้นนอกจากตัวบทกฎหมายที่จะมีความศักดิ์สิทธิแล้วคุณสมบัติของตุลาการผู้ รักษากฎหมาย ก็จะต้องมีความตั้งใจ มีศีล มีสัตย์ มีความเป็นธรรม มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถเป็นจัตุรัสเที่ยงธรรม ที่จะเป็นสี่เหลี่ยมเท่ากันได้ทุกด้าน และจะต้องไม่มีอคติ 4 ที่จะเบี่ยงเบนความเป็นธรรมได้ คือไม่กลัวเมื่อมีผู้เอาปืนเอ็ม 16 มายิงขู่ ไม่โลภเมื่ออดีตมีคนพยายามเอาเงินมาวางไว้ 2 ล้านที่ศาลฎีกา และจะต้องไม่รักจนลำเอียง หรือไม่โกรธจนคดีเบี่ยงเบนไป

ขณะที่ภายหลังการร่วมอภิปราย นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงรัฐธรรมนูญกับการแก้ปัญหาของชาติ และสิทธิประชาชน ในรัฐธรรมนูญฯ ว่า การแก้ปัญหาไม่สามารถแก้ด้วยเพียงลายลักษณ์ รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด คนไทยส่วนใหญ่รู้หน้าที่สิทธิของตนเอง รัฐธรรมนูญฉบับอดีตเคยบัญญัติปกป้องคุ้มครองคนไทยก็จะไม่ถูกริดรอนให้น้อยลง ถึงใครจะเป็นคนทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่อย่างน้อยที่สุดก็ต้องคงรักษามาตรฐาน เดิมไว้ รัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีแต่เพิ่มสิทธรีภาพให้แก่คนไทย ปัญหาในเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่สิทธิเสรีภาพแต่อยู่ที่ประชาชนส่วนหนึ่งไม่ ตระหนักในหน้าที่ต่อสังคม โดยหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักกฎหมายในเวลานี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ

เมื่อถามถึงกรณีปัญหาขั้นตอนกฎหมายการจับและฟ้องคดีเด็กแว้น ที่ล่าสุดมีจับกุมแต่ไม่สามารถฟ้องคดีได้ทันตามกฎหมายภายใน 24 ชั่วโมง จนต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาหลายร้อยคนไปก่อน นายจรัญ กล่าวว่า เป็นส่วนที่ดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เอาใจใส่ดูแลสวัสดิภาพของสังคม สำหรับเรื่องกระบวนการทางกฎหมายที่ล็อกเวลาไว้สั้นเกินไป เป็นปัญหาที่ต้องกลับมาดูแลแก้ไขกัน เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีกสังคมก็จะเดือดร้อน เจ้าหน้าที่กำลังลงทุนลงแรงกำลังปราบปรามอย่างเคร่งครัดก็จะเสียใจ ส่วนนี้เป็นจุดอ่อนที่เราอาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข กฎหมายวิธีพิจารณาเพื่อแก้ไขความไม่พร้อมของคนทำงานหรือบุคลากรในคดีที่ผู้ ต้องหาเยอะๆ แบบนี้จะต้องใช้วิธีพิจารณายังไง

นายจรัญ กล่าวอีกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ผู้ต้องหาทั้ง 100 กว่าคนพ้นข้อหาทางกฎหมายไปเสียทีเดียว เพราะการที่ผลัดฟ้องยื่นฟ้องไม่ทัน ก็เพียงแค่ไม่สามารถคุมขังผู้ต้องหาได้ แต่ไม่ได้ทำให้ความผิดหมดไป ซึ่งเปรียบเหมือนกับผู้ต้องหาคดีใหญ่ๆ ที่ศาลอนุญาตให้ได้ประกันตัว เพียงแต่ผู้ต้องหากลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในหลักประกันที่จะไปปรับเวลาเขาหนี ประกันได้ แต่ว่ามี ชื่อ-ที่อยู่ ภูมิลำเนา ที่-อยู่ของพ่อ-แม่พี่น้องที่ได้ถูกบันทึกไว้แล้ว ดังนั้นก็สามารถออกหมายเรียกเข้าสู่กระบวนการต่อไปได้ และถ้าฝ่าฝืนหมายเรียก เจ้าหน้าที่ก็สามารถใช้อำนาจขอศาลออกหมายจับเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีได้ แต่ถ้าเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ก็ต้องมาใช้กระบวนการพิเศษสำหรับเด็กและเยาวชน ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ที่ดำเนินการจะมีการผ่อนปรนให้เล็กน้อยสำหรับเด็กที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พฤติกรรมใดอันตราย ก็ต้องช่วยกันที่จะระงับยับยั้งปราบปรามให้เต็มที่ แต่ไม่ต้องถึงขนาดที่ว่าล้างแค้น เพราะว่าไม่ได้เป็นอาชญากรรมร้ายแรงหรือทุจริต คอรัปชั่น ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะที่เรื่องวัยรุ่นคึกคะนองเราก็ต้องปราบปราม เพราะต้องทำเพื่อปกป้องสังคมและตัวเด็กเอง เพราะฉะนั้นต้องอยู่ในระดับที่พอเหมาะพอควร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ชี้ตุลาการ ปราศจากอคติ ไม่สยบยอมทุนนิยม

view