สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

4กุญแจเปิดโลก ดิจิทัลแบงกิ้ง โอกาสปั้นรายได้เพิ่ม50%

จากประชาชาติธุรกิจ

"เศรษฐกิจดิจิทัล" กำลังก่อเป็นรูปเป็นร่างในประเทศไทย พร้อมกับการจัดโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านกฎหมาย หน่วยงานรัฐ และการขยับขยายการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจ ไม่เว้นแต่ภาคการเงินการธนาคาร ที่นับวันการเดินเข้าแบงก์ไปฝากเงิน-ถอนเงิน หรือทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่แบงก์แทบจะลดลงเรื่อย ๆ

"โจนาธาน อัลลาเวย์"
กรรมการผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน ภูมิภาคอาเซียน บริษัทเอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า โลกการเงินในปัจจุบันมีธุรกิจอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น กลุ่มค้าปลีก โทรคมนาคม ที่เข้ามาให้บริการชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านโทรศัพท์มือถือ อิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้ง กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) รวมถึงแบงก์ต่าง ๆ ก็ได้พัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อให้บริการลูกค้าได้สะดวก รวดเร็ว และเป็นช่องทางหนึ่งในการเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อต่อยอดไปสู่การให้บริการและการนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

ทั้งนี้ เอคเซนเชอร์วิจัยพบว่า ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ไม่ปรับตัวกับยุคดิจิทัล มีความเสี่ยงจะสูญเสียรายได้ถึง 30% ต่างกับธนาคารที่สามารถปรับตัวและยกระดับให้การบริการของธนาคารเกิดขึ้นในทุก ๆ วันของชีวิต ที่เขาเรียกว่า Everyday Banking ที่สามารถมีรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มถึง 50%

ขณะเดียวกัน ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในเอเชียมีคนกว่า 800 ล้านคนยังไม่มีบัญชีธนาคาร และยังใช้วิธีส่งเงินข้ามพื้นที่แบบดั้งเดิม ทั้งที่ปัจจุบันมีบริการโอน-ฝาก-ถอนเงิน ผ่านโทรศัพท์มือถือได้โดยตรงแล้ว

สิ่งเหล่านี้เป็นช่องโหว่และเป็นโอกาสการพัฒนาธุรกิจธนาคารผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งมี 4 ปัจจัยสำคัญสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาต่อยอด ประกอบด้วย 1) โซเชียลมีเดีย ที่จะเป็นฐานข้อมูลในโลกออนไลน์ที่ทำให้องค์กรธุรกิจต่าง ๆ รับรู้ถึงไลฟ์สไตล์ พฤติกรรมผู้บริโภค ความต้องการของลูกค้า เพื่อนำไปวิเคราะห์วางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทั้งในระดับ Mass (ทั่วไป) หรือเฉพาะบุคคลได้

2) นวัตกรรม โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน และมีแนวโน้มจะเข้ามามีอิทธิพลในการดำเนินชีวิตเพิ่มขึ้น จนทำให้ธนาคารบางแห่งในต่างประเทศปรับตัวตั้งเป็นธนาคารดิจิทัลเต็มตัวโดยไม่มีการตั้งสาขาธนาคาร แต่ให้บริการและนำเสนอสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น เอ็มแบงก์ในโปแลนด์ เป็นต้น 3) การวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งแต่ละธนาคารมีฐานข้อมูลทางการเงินของลูกค้าอยู่แล้ว ดังนั้นหากสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์หาความต้องการของลูกค้า ก็จะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่นนอกเหนือผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิมได้

และ 4) คลาวด์คอมพิวติ้ง หรือการเก็บข้อมูลบนระบบออนไลน์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขยายพรมแดนการบริการของธนาคารและสถาบันการเงินเพื่อครอบคลุมชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น

"ยกตัวอย่างหากมีลูกค้าต้องการซื้อบ้าน แบงก์ส่วนใหญ่คงมุ่งขายสินเชื่อ แต่ถ้าแบงก์สามารถวิเคราะห์ต่อยอดการบริการให้กว้างขึ้น เช่น เสนอบริการประกันการขนย้ายทรัพย์สิน หากลูกค้าสินเชื่อต้องการย้ายบ้านด้วย หรือบริการอื่น ๆ เพื่อเชื่อมโยงความต้องการลูกค้าและพันธมิตรธุรกิจได้ ก็จะทำให้เกิดเครือข่ายการบริการทางการเงินที่เข้มแข็งได้" โจนาธานกล่าว

อีกด้านหนึ่ง "นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี" กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอคเซนเชอร์ ประเทศไทย ชี้ช่องโหว่ของการพัฒนาระบบดิจิทัลในภาคการเงินการธนาคารว่า แม้ปัจจุบันแบงก์ไทยจะปรับตัวกับการเป็นดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้น แต่หลายแห่งยังไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าในเชิงไลฟ์สไตล์ได้อย่างครอบคลุมนัก และทำให้หลายแห่งไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ที่อิงกับเทคโนโลยีดิจิทัลได้

"สำหรับคอนเซ็ปต์ Everyday Banking ไม่ได้ใช้กับลูกค้ารายย่อยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงลูกค้ากลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ที่ใช้บริการแบงก์มากกว่าการกู้เงิน แต่การเสนอบริการที่เป็นโซลูชั่น สร้างเครือข่าย (อีโคซิสเต็ม) การบริการเพื่อเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ เช่น ประกันภัย การวางแผนทางการเงิน เพย์โลว์ (โอนเงินเดือน) ก็สามารถเกิดขึ้นได้ และสิ่งเหล่านี้จะทำให้ธุรกิจแบงก์ไม่ต้องแข่งขันกันที่มาร์จิ้นดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว" นนทวัฒน์กล่าว

ดังนั้น จึงอยู่ที่แต่ละแบงก์ที่จะตัดสินใจลงทุนก้อนใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัลแบงกิ้งเต็มรูปแบบในระยะสั้น เพื่อสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจในระยะยาวอย่างไร เพราะโลกแห่งอนาคต การเดินเข้า-ออกแบงก์อาจไม่ใช่พฤติกรรมปกติของผู้ใช้บริการทางการเงินอีกต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 4กุญแจเปิดโลก ดิจิทัลแบงกิ้ง โอกาสปั้น รายได้เพิ่ม

view