สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เบื้องลึกค่ายรถเสียงแตก หนุน-ค้าน ปลดล็อกรถคันแรก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

เบื้องลึกค่ายรถเสียงแตก "หนุน-ค้าน" ปลดล็อกรถคันแรก

แนวคิดปลดล็อกเงื่อนไขการถือครองรถยนต์ในโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรกจาก 5 ปี เหลือ 3 ปี ที่บริษัทรถยนต์จุดพลุขึ้นมาเสนอต่อรัฐบาล เพื่อเป็นการเปิดทางให้เจ้าของรถยนต์คันแรกได้มีโอกาสปลดภาระหนี้ก่อนกำหนด และคาดหวังลึกๆ ว่าจะเกิดดีมานด์ใหม่ๆ ในตลาดมาช่วยผลักดัน ยอดขายที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลโดย รมว.คลัง จะรับลูกเห็นด้วยในหลักการ พร้อม กับส่งต่อไปให้หน่วยงานที่ไปดูในรายละเอียด

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองกลับมาที่บริษัทรถยนต์ยังมีความเห็นที่แตกไปคนละทาง ทั้งที่สนับสนุนและที่ไม่เห็นด้วย ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวไม่มีเอกภาพเพียงพอ และมีโอกาสที่จะพลิกผันได้ในบั้นปลาย ขึ้นอยู่กับว่ากำลังภายในของใครจะมีมาก กว่ากัน ที่น่าสนใจคือ เพราะเหตุใดความเห็นของค่ายรถจึงไม่สอดรับเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้าการปลดล็อกเงื่อนไขการถือครองรถยนต์คันแรกเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งผู้ประกอบการและกับผู้บริโภคจริงๆ อะไรคือ เบื้องลึก เบื้องหลังของความเห็น 2 ขั้วครั้งนี้

รายงานจากกรมสรรพสามิต ระบุว่า ผู้ครอบครองรถยนต์ในโครงการรถคันแรกที่ครบ 3 ปี ในล็อตแรก (ถือครองตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554-20 ก.ค. 2558) มีจำนวน 3.95 แสนราย จากผู้ได้รับสิทธิทั้งสิ้นราว 1.3 ล้านราย ขณะผู้ที่ได้รับสิทธิจากโครงการที่มีความต้องการขายโอนรถยนต์ก่อนถือครองครบ 5 ปี จะต้องนำเงินยกเว้นภาษีที่ได้รับไปมาคืนเพื่อทำการยกเลิกการใช้สิทธิ โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2558 มีผู้นำเงินภาษีมาคืนและยกเลิกการใช้สิทธิ จำนวน 4,942 ราย ส่วนกรณีที่กรมได้เรียกเงินคืนจากผู้ขาดคุณสมบัติมีจำนวน 4,337 ราย

ปรับเงื่อนไขช่วยปลุกดีมานด์

สำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่สนับสนุนให้มีการปรับเงื่อนไขการถือครองอย่าง วัลลภ ตรีฤกษ์งาม ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ได้ให้เหตุผลว่า ปัจจุบันความเชื่อมั่น การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังมีอยู่ แต่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ จึงไม่จูงใจให้เกิดกำลังซื้อใหม่ ในขณะที่เงื่อนไขของโครงการรถยนต์คันแรกดังกล่าวก็ไม่ส่งผลให้เกิดความต้องการซื้อซ้ำเช่นกัน จึงมองว่าหากปลดล็อกดังกล่าวจะช่วยให้กระตุ้นกำลังซื้อจากกลุ่มซื้อซ้ำเปลี่ยนคันใหม่ได้บ้าง

ขณะที่ สมภพ ปฏิภานธาดา ผู้จัดการทั่วไปส่วนการตลาด บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) มองว่า หากสถานการณ์ตลาดไม่ดีขึ้น เชื่อว่าการแข่งขันของโปรโมชั่นจะมีความรุนแรงต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นตลาดต่อไป และเชื่อว่า การปลดล็อกดังกล่าวคงจะดีที่ช่วยตลาดให้ฟื้นตัวขึ้นได้บ้าง แต่กระนั้นความมั่นใจและความพร้อมของผู้บริโภคเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องพิจารณา

ด้าน ปนัดดา เจณณวาสิน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ กล่าวว่า การผ่อนปรนเงื่อนไขถือครองรถยนต์คันแรกน่าจะทำให้ตลาดยืดหยุ่น ได้ขึ้นบ้าง ลดความเครียดของสถานการณ์ตลาดในเวลานี้ได้บางส่วน แต่อาจไม่ได้มากนัก เพราะการปลดล็อกไม่ได้หมายความว่าคนจะเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่เสียทีเดียว

เช่นเดียวกับ ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) ที่เห็นว่า แม้แนวทางดังกล่าวยังยากที่จะเห็นผลตอบรับที่เป็นรูปธรรม แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้เลยในการกระตุ้นตลาด

ฝ่ายสนับสนุนเห็นสอดคล้องกันว่า การปลดล็อกอาจเป็นการกระตุ้นตลาดได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่อย่างไรก็ตามเหตุจูงใจเบื้องลึกไปกว่านั้น เชื่อได้ว่า ส่วนหนึ่งผู้ที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่อยู่ในมือที่ต้องการผลักดันยอดขาย และอีกส่วนหนึ่งคือ “ผู้ที่ไม่มีอะไรจะเสีย” เพราะไม่ได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อะไรในปีนี้ จึงต้องการกระตุ้นยอดขายของรถยนต์ที่มีอยู่ในมือออกสู่ตลาดให้ได้มากที่สุด

มองต่างมุมปลดล็อกไม่ช่วยอะไร

ด้านผู้ประกอบการที่มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการปลดล็อกเงื่อนไขรถยนต์คันแรก ส่วนใหญ่เชื่อว่า ไม่น่าเกิดประโยชน์อะไร

เคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า การปลดล็อกจะมีประโยชน์ไม่มากนัก เพราะผู้บริโภคในโครงการดังกล่าวเป็นผู้ซื้อรถยนต์คันแรกในชีวิต ซึ่งอาจจะยังไม่ต้องการเปลี่ยนรถก็เป็นได้ โดยมองว่าไปเตรียมการกับโครงการอีโคคาร์ 2 เพราะการเร่งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นต่างๆ ในช่วงนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจยังยากที่จะประมาณการได้

ขณะที่ ประพัฒน์ เชยชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสการตลาดและขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เป็นห่วงความเชื่อถือเรื่องกติกาในการออกนโยบายของรัฐบาล หากมีการเปลี่ยน แปลงจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ หากพิจารณาลงไปในรายละเอียด มองว่าค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ในระดับที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 5 ปี หากเปลี่ยนเร็วกว่ากำหนดใน 2-3 ปี อาจจะเกิดการขาดทุนมากกว่า

เหตุผลก้ำกึ่งระหว่างการ ฟื้นตัวของตลาดกับแผนเปิดตัว รถใหม่ หากการปลดล็อกถือครอง รถคันแรกถูกประกาศชัดเจนทำให้ “โอกาส” เก็บเกี่ยวยอดขายแต่ละรายไม่เท่ากัน งานนี้จึงมีความเห็นต่างเกิดขึ้นนั่นเอง!!!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เบื้องลึก ค่ายรถเสียงแตก หนุน-ค้าน ปลดล็อกรถคันแรก

view