สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คน จนตรอก -ศก.ตกต่ำ อาชญากรหน้าใหม่พุ่ง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ภาวะเศรษฐกิจขาลงได้สร้างความกระสับกระส่ายแก่ประชาชนทั่วทุกหัวระแหง สะท้อนผ่านปรากฏการณ์การเลิกจ้างพนักงานนับพันรายของบริษัทเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ รวมทั้งการลดต้นทุน เลิกจ้าง หรือระส่ำถึงขั้นปิดกิจการก็มีให้เห็นบ้างแล้ว

ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซามีปัญหา ผลพวงที่ตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงก็คือปัญหา “อาชญากรรม” ซึ่งเพิ่มสูงมากขึ้น

หากย้อนไปให้เห็นภาพนับตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ระบุถึงสถิติการเกิดเหตุร้ายเกี่ยวกับทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ วิ่งราว หรือแม้แต่การประทุษร้ายเพื่อหวังต่อทรัพย์

พบว่าทั่วประเทศเกิดเหตุไปแล้วกว่า 1.2 หมื่นครั้ง ในจำนวนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุมารับอาญาได้เพียง 5,646 คดี เท่านั้น

หากจำแนกจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นต้นมา ในแต่ละเดือนมีอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์พุ่งสูงขึ้นทุกเดือน คือเดือน ม.ค.-ก.พ. เกิดเหตุรวม 3,918 คดี จับได้ 1,898 คดี

เดือน มี.ค.-เม.ย. เกิดเหตุรวม 3,951 คดี จับได้ 1,872 คดี เดือน พ.ค.-มิ.ย. เกิดเหตุรวม 4,453 คดี จับได้ 1,832 คดี และล่าสุดช่วงเดือน ก.ค.-ต้นเดือน ส.ค. เกิดเหตุ 123 คดี จับได้เพียง 44 คดี

ขณะที่กลุ่มคดีที่น่าสนใจ อันประกอบด้วยโจรกรรมรถยนต์ รถแท็กซี่ เครื่องมือการเกษตร ฉ้อโกง เรียกค่าไถ่ ยักยอก พบว่าตัวเลขของคดีก็เพิ่มมากเช่นกัน โดยมีเหตุรวมทั้งสิ้น 8,438 คดี ติดตามจับกุมมาได้ 2,757 คดี

จำแนกตัวเลขให้เห็นเป็นรายเดือนอีกครั้ง คือเดือน ม.ค.-ก.พ. เกิดเหตุรวม 2,421 คดี จับได้ 753 คดี เดือน มี.ค.-เม.ย. เกิดเหตุรวม 3,124 คดี จับได้ 1,316 คดี เดือน พ.ค.-มิ.ย. เกิดเหตุรวม 2,825 คดี จับได้ 676 คดี และเดือน ก.ค.- ต้นเดือน ส.ค. เกิดเหตุแล้ว 65 คดี จับได้เพียง 12 คดี

พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก สตช. ระบุว่า ตัวเลขปัญหาอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้น ตำรวจยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ หรือสาเหตุจะมาจากภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาอย่างเดียวหรือไม่ เพราะตำรวจไม่ได้ทำการวิจัยออกมา

พล.ต.ท.ประวุฒิ บอกอีกว่า การเกิดปัญหาอาชญากรรมในห้วงเวลานี้ถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว

ด้าน นัทธี จิตสว่าง รองผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา ได้วิเคราะห์แนวโน้มอาชญากรรมในห้วงเศรษฐกิจซบเซาในขณะนี้ว่า ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาอาชญากรรมต่างๆ โดยเฉพาะอาชญากรรมพื้นฐาน ลักวิ่งชิงปล้น และอาชญากรรมเกี่ยวกับเครื่องมือการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น

มากไปกว่านั้น ยังรวมไปถึงปัญหายาเสพติดที่พบว่าจะมีผู้ค้าเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม และคนกลุ่มนี้จะไปก่อเหตุลักวิ่งชิงปล้นเพิ่มขึ้นอีก จึงยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มเข้าไปอีก นั่นหมายความว่าปัญหาเศรษฐกิจจะนำไปสู่ปัญหายาเสพติด และปัญหายาเสพติดก็นำไปสู่คดีเกี่ยวกับทรัพย์

“อาชญากรรมที่เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจมักจะเป็นอาชญากรหน้าใหม่ ในขณะที่ยังมีอาชญากรมืออาชีพซึ่งพร้อมก่อเหตุตลอดไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยในสังคมมาก” ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา กล่าวชัด  

นัทธี สำทับอีกว่า เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีส่งผลให้หลายคนหมดทางเลือก ที่สุดแล้วก็จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับวงจรอาชญากรรม โดยเฉพาะวัยรุ่นซึ่งถือว่าเป็นอันตรายมาก เห็นได้จากตัวเลขผู้ต้องขังในเรือนจำที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน

“เมื่อเทียบกับสถิติปีที่ผ่านมาจะพบว่าปัญหาอาชญากรรมหนักมากขึ้น มีการก่อเหตุชุกชุมและถี่กว่าช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติหรือดี ถ้าปีนี้เศรษฐกิจยังคงไม่กระเตื้องหรือไม่ดีขึ้น อาชญากรหน้าใหม่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีแน่นอน” นัทธี คาดการณ์อนาคตอันใกล้

สอดคล้องกับ สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่บอกว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจภาพรวมตกต่ำลงทั้งหมด ทำให้คนไม่มั่นใจในการลงทุน ไม่มั่นใจที่จะใช้จ่าย และเศรษฐกิจไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในเศรษฐกิจโลกจึงมีผลกระทบเข้ามา คนที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือคนที่มีรายได้น้อย

“คนระดับล่างได้รับผลกระทบมากสุด ทำให้ธุรกิจที่ไม่ถูกกฎหมายขยายตัว และจะพบว่ามีการจี้ ปล้น ค้ายาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเวลาเศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจถูกกฎหมายก็จะทำยากขึ้น คนเลยหันไปก่ออาชญากรรม นั่นเพราะคนไม่มีทางออก โอกาสทำมาหากินน้อยลง จะหาอาชีพสุจริตได้ยากขึ้น”อาจารย์สังศิต ระบุ

สังคมไทยในขณะนี้จึงสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คนจนตรอก ศก.ตกต่ำ อาชญากรหน้าใหม่พุ่ง

view