สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไทยดิ้นหนีตกขบวน TPP

ไทยดิ้นหนีตกขบวน TPP

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคบุตร

นับเป็นธรรมชาติของ รัฐบาลไทยจริง ๆ ถึงความตื่นตระหนกในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกเศรษฐกิจ แม้ว่าจะรับรู้มาตั้งนานแล้วว่า มันจะต้องเกิดขึ้น ยกตัวอย่างกรณีล่าสุดถึงการอุบัติขึ้นของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้น แปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership Agreement หรือ TPP การรวมกลุ่มเปิดเสรีทางการค้า-การลงทุนของ 12 ประเทศที่นำทีมโดยขั้วเศรษฐกิจใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา

ความตกลงเขตการค้าเสรีล่าสุดของโลกถูกพัฒนามาจาก "ความเฉื่อยชา" ของความร่วมมือทางเศรษฐกิเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2532 หรือ 26 ปีล่วงมาแล้ว แต่มีพัฒนาการแค่การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน หรือ ไร้ข้อผูกมัดประเทศสมาชิก เกิดภาวะ "ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้" จนเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา สหรัฐซึ่งเป็น 1 ในสมาชิก APEC เห็นแล้วว่า โลกทางการค้ากำลังเปลี่ยนไป เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเพื่อเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การเจรจาการค้าโลกในองค์การการค้าโลก (WTO) ก็ประสบความล้มเหลวตราบเท่าถึงปัจจุบันนี้

ดังนั้นสหรัฐจึงชักชวน สมาชิก APEC 4 ประเทศในขณะนั้น (ปี 2008) ได้แก่ บรูไน-สิงคโปร์-นิวซีแลนด์-ชิลี หรือเรียกกันว่า กลุ่ม 4P เข้ามาเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน และชักชวนสมาชิกอื่นอีก 8 ประเทศเข้าร่วมในปี 2013 แน่นอนว่า ไม่มีประเทศไทยอยู่ในกลุ่มสมาชิกเริ่มต้น โดยมีความเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยในขณะนั้นอาจจะ "กลัว" คำว่า การเปิดเสรีทางการค้า และเลือกที่จะอยู่ใน "ความร่วมมือทางการค้า" กับ APEC ที่ไร้พัฒนาการต่อไป

โดยประเทศไทยเริ่มที่จะมาตื่นตัวและรู้ว่าตัวเองกำลัง "ตกขบวน" ความ ตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เอาเมื่อไม่เกิน 5 ปีที่ผ่านมานี้ เมื่อเขตการค้าเสรีนี้เริ่มที่จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ที่สำคัญก็คือ มีประเทศสมาชิกอาเซียนที่ "มองไกล" มากกว่าประเทศไทยในขณะนั้น ได้แก่ บรูไน-มาเลเซีย-สิงคโปร์ และเวียดนาม เข้าร่วมในการเจรจาเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้ สะท้อนออกมาจากคำพูดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในช่วงนั้นที่ว่า "ประเทศไทยสนใจที่จะเข้าร่วมข้อตกลง TPP"

แต่มันเป็นไปได้แค่ "ความสนใจ" เพราะถึงไทยอยากจะเข้าร่วมในขณะนั้น ประเทศสมาชิกเดิม 12 ประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สหรัฐ" ก็ยังไม่มีท่าทีที่จะตอบรับคำขอของประเทศไทย

เท่า กับว่า ประเทศไทยถูกกันให้อยู่ "วงนอก" ของการเจรจา TPP ในขณะที่สมาชิกอาเซียนถึง 4 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาเลเซียกับเวียดนามที่ผลิตสินค้าส่งออกคล้าย ๆ กับไทยได้พาตัวเองเข้าไปอยู่ "วงใน" ของการเจรจาเพื่อเปิดเสรีทางการค้ากับขั้วเศรษฐกิจใหญ่อย่าง สหรัฐ-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์-ญี่ปุ่น และแคนาดา


อย่างไรก็ตามมี รายงานผลการศึกษาและวิจัยหลายชิ้นที่กระทรวงพาณิชย์ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชน ศึกษาถึงผลดี-ผลเสียของการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ล้วนบ่งชี้ว่า ประเทศไทยควรเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าฉบับนี้ จากข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยไม่สามารถเปิดการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-สหรัฐ (Thai-US FTA) ที่ประสบกับความชะงักงันมาตั้งแต่ปี 2006

เท่า กับช่องทางที่เหลือเพียงประตูเดียวในการเปิดเสรีทางการค้ากับสหรัฐที่ขีด เส้นเดินไว้ให้กับประเทศไทยก็คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เพียงแต่สถานการณ์ในขณะนี้จะไม่หมือนกับปี 2006 เพราะการเข้าร่วมข้อตกลงฉบับนี้ของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นการเข้าร่วมในสิ่งที่ทั้ง 12 ประเทศสมาชิก TPP ชุดก่อตั้งเขาได้เจรจาต่อรองผลประโยชน์จนบรรลุข้อตกลงกันแล้ว

การ มาทีหลังในกรณีของประเทศไทยจึงเป็นภาวะ "จำยอม" ที่เราอาจจะไม่ได้ประโยชน์สูงสุด "มากกว่า" 11 ประเทศที่ร่วมหัวจมท้ายกับสหรัฐมาตั้งแต่ต้น


นักวิชาการชี้ไทยเสียเปรียบศก.TPP เหตุภาษีสูง

โดย :

"พิชิต"ระบุไทยเสียเปรียบ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจTPP เพราะหลายประเทศเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ขณะที่ไทยยังเสียภาษีสูง หวังอาเซียน แต่บริษัทย้ายฐานการผลิตไป

์ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊คว่า การเกิดขึ้นความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement :TPP) จะมีผลกระทบอย่างมากต่ออาเซียน เมื่อสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม (และต่อไปจะรวมอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) สามารถเข้าถึงตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก ในอัตราภาษีศูนย์หรือใกล้ศูนย์ ขณะที่ไทยยังเสียภาษีสูง

"สถานะของอาเซียน ลดความสำคัญลงอย่างมาก แม้ประเทศไทยยังหวังอาเซียนอยู่ แต่อีก 4-5 ประเทศอาเซียนข้างต้นกลับมองไปที่อื่น หมึกบนเอกสาร TPP ยังไม่ทันแห้ง บรรดาบริษัทก็เตรียมย้ายฐานการผลิตไปมาเลเซืยและเวียดนามแล้ว"ดร.พิชิต กล่าว

ดร.พิชิต กล่าวว่า เวียดนามจะได้อสก.สิ่งทอเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ อาหารทะเล ขณะที่มาเลเซียจะได้อสก.อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อสก.ไฮเท็ค เสื้อผ้า รองเท้า ยาง น้ำมันปาล์ม 

บริษัทที่ย้ายไปมาเลเซียและเวียดนามจะมาจากนอกเขต TPP ทั้งจากจีน ใต้หวัน และประเทศไทย โรงงานในไทย ทั้งของต่างชาติและของคนไทย ได้ทะยอยปิดตัวแล้วย้ายไปเวียดนามต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว นิคมอสก.รอบๆ โฮจิมินห์ซิตี้ปัจจุบันก็มีโรงงานจากไทยเต็มไปหมด การเกิด TPP จะยิ่งเร่งให้มีการย้ายออกมากขึ้น ขณะที่เวียดนามก็กำลังเร่งขยายระบบรถไฟความเร็วสูง รถไฟใต้ดิน โรงไฟฟ้า สนามบินและท่าเรือใหม่

นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวเพิ่มจากเดิมอีก 10% ถึงปี 2025 ขณะที่มาเลเซืยจะโตเพิ่มอีก 5%

"วันก่อนเห็น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า เมื่อไทยขยายระบบรถไฟเสร็จ ก็จะได้เป็น "ฮับ" Hub ของอาเซียนใครก็ได้ช่วยไปปลุกคุณดร.สมคิดทีให้ตื่นได้แล้ว"ดร.พิชิต กล่าวย้ำ


คาดข้อตกลงทีพีพีถล่มเศรษฐกิจของแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงอ่วมหนัก

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

      เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ปักกิ่งคาดเศรษฐกิจจีนและฮ่องกงกระทบกระเทือนหนักจากการทำข้อตกลงหุ้นส่วน ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ทีพีพี ภายใต้การนำของสหรัฐฯ และไม่มีจีนเข้าร่วม
       
       นายหม่า จวิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สำนักวิจัยของธนาคารกลางจีนคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ของแผ่นดินใหญ่จะลดการเติบโตลงร้อยละ 2.2 จากการทำข้อตกลงทีพีพี ซึ่งชาติผู้เจรจาบรรลุร่วมกันได้เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2558
       
       การคาดการณ์ของนานหม่าสูงกว่า ที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 0.14-0.5 ขณะที่รัฐบาลจีนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของจีนจะโตประมาณร้อยละ 7 ในปีนี้ จากร้อยละ 7.4 ในปีที่แล้ว ซึ่งชะลอการเติบโตมากที่สุดในรอบ 25 ปี
       
       ด้านนาย เกา หู่เฉิง รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุว่า รัฐบาลปักกิ่งจะประเมินผลกระทบอย่างครอบคลุมทั้งหมด จากการทำข้อตกลงทีพีพี
       
       ทั้งนี้ จีนแผ่นดินใหญ่และเขตปกครองพิเศษฮ่องกงตกอยู่ในกลุ่มผู้สูญเสียมากที่สุดจาก ข้อตกลงทีพีพี ซึ่งครอบคลุมเศรษฐกิจในโลกมากถึงร้อยละ 40 และรวมบรรดาชาติคู่ค้าระดับบิ๊ก อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เวียดนาม และออสเตรเลีย โดยเป็นการเปิดเสรีการค้าในเกือบทุกด้าน ตั้งแต่ด้านการลงทุน สิ่งแวดล้อม แรงงาน และทรัพย์สินทางปัญญา ไปจนถึงในส่วนของรัฐวิสาหกิจ
       
       ข้อตกลงทีพีพี ได้รับฉายาว่า ข้อตกลง “ เอบีซี” หรือข้อตกลง “ใครก็ได้ยกเว้นจีน” ( Anyone but China) โดยมีการมองกันว่า ข้อตกลงฉบับนี้เป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เพื่อสกัดกั้นการผงาดอำนาจของจีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นอกจากนั้น ยังเกิดความวิตกกันว่า จะซ้ำเติมให้การส่องออกและเศรษฐกิจแดนมังกรแย่ลงไปอีก
       
       นายเสิ่น เจี้ยนกวง นักเศรษฐศาสตร์ของมิซูโฮ เสนอว่า จีนควรใช้ยุทธศาสตร์ “ One Belt, One Road” ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการค้าใหม่ของจีน ตลอดจนข้อตกลงเขตการค้าเสรี ที่มีอยู่ในขณะนี้ถ่วงดุลทีพีพี
       
       ด้านโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของฮ่องกงกล่าวแสดงความยินดี ที่มีการบรรลุข้อตกลงทีพีพี โดยฮ่องกงจะศึกษาเนื้อหาของข้อตกลงอย่างละเอียด เมื่อได้รับเอกสารแล้ว
       
       อย่างไรก็ตาม นายสแตนลีย์ เลา ชิน-โฮ ( Stanley Lau Chin-ho) ประธานกิตติมศักดิ์สมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกงเตือนว่า ข้อตกลงทีพีพีอาจเร่งให้โรงงานของฮ่องกงย้ายจากแผ่นดินใหญ่ไปยังชาติสมาชิก ทีพีพี เช่น เวียดนาม และบรูไน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อฮ่องกง โดยรัฐบาลปักกิ่งควรส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งถดถอยไป จากภาวะค่าแรง ที่เพิ่มขึ้น กฎระเบียบด้านแรงงาน ที่เข้มงวด และการดำเนินการปฏิรูปด้านอุตสาหกรรมของจีน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไทย ดิ้นหนี ตกขบวน TPP

view